จับจ่ายใช้สอยด้วยมือถือ

ไม่ต้องพกเงินสด ไม่ต้องมีบัตรเครดิต มีโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว ก็สามารถซื้อสินค้า ชำระค่าอาหาร ค่าน้ำค่าไฟ หรือแม้แต่รถยนต์

นี่คือ คอนเซ็ปต์บริการ mPAY ของ AIS ที่ประเดิมเปิดให้บริการเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2547 และจะเป็นทางเลือกใหม่ที่จะเข้าถึงไลฟ์สไตล์ ในโลกของ Mobile Society

ในสายตาของค่ายมือถือยักษ์ใหญ่อย่าง AIS แล้ว การพัฒนาบริการใหม่ๆ ออกมาให้กับตลาด ถือเป็นกลยุทธ์การทำตลาดที่สำคัญต่อจากนี้ เพราะเอไอเอสมองว่าตลาดเริ่มจะอิ่มตัวตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป หนทางเดียวที่จะเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทได้ที่ดีที่สุด นอกเหนือจากการมองหาผู้ใช้มือถือหน้าใหม่ ก็เห็นจะเป็นตัวบริการเหล่านี้นี่เอง

ขณะที่ตัวบริการที่เอไอเอสเองยังเปิดวิสัยทัศน์เด่นชัดด้วยว่า “ซิมการ์ด” จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้บริการของเอไอเอสนั้นเกิดความหลากหลายและล้ำหน้ามากที่สุด และนี่เองเป็นที่มาของการยอมควักกระเป๋าเพิ่มงบลงทุนให้กับหน่วยงานวิจัยและพัฒนาอย่าง ฟิวเจอร์ แล็บ ในปีถัดไปกว่า 500 ล้านบาท มากกว่าปีที่แล้วถึง 300 ล้านบาท เพื่อหวังให้ปีหน้าจะมีบริการที่เด่นๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง และเตรียมหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาบริการจากต่างประเทศเข้ามาร่วมมือด้วยในปีหน้า

นวัตกรรมที่เกิดจากการใช้ประโยชน์จากซิมการ์ดของเอไอเอสนั้นเริ่มมีให้เห็นกันบ้างแล้วก่อนหน้านี้หลายปี ทั้งบริการที่เรียกว่า อินเทอร์เน็ตซิม ซิมที่ออกมาเอาใจลูกค้าที่ต้องการท่องอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะ, จัมโบ้ซิม ซิมที่มีความจุในการบันทึกเลขหมายโทรศัพท์ได้มากกว่าปกติ, ซิมแบงก์ บริการรับฝากข้อมูลเลขหมายเอาไว้เพื่อป้องการสูญหายด้วยเหตุต่างๆ ,มัลติ-ซิม หนึ่งเบอร์หลายซิมที่ออกมาสำหรับกลุ่มผู้ใช้มือถือหลายเครื่อง และล่าสุด คือ การใช้จ่ายผ่านมือถือที่เรียกว่า mPAY

mPAY ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ล่าสุดของการใช้จ่ายผ่านมือถือ หรือที่เรียกกันว่า m-commerce ที่เป็นภาพการใช้งานได้จริงๆ เสียที หลังจากที่เป็นเพียงแต่คอนเซ็ปต์มานานหลายปี งานนี้เอไอเอสต้องลงทุนไปมากกว่า 200 ล้านบาท เพื่อทำการต่อยอดจากบริการฟรีดอม ไลฟ์ของตนจนมาเป็นบริการใหม่ และใช้ไปกับการหาพันธมิตรที่เป็นร้านค้ากว่า 200 ร้าน ให้ยอมรับเงื่อนไขและเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในระบบการจับจ่ายด้วยมือถือ และพันธมิตรสำคัญอย่างสถาบันธนาคารอีก 4 แห่ง

แนวคิดหลักๆ ของบริการแบบนี้ก็คือ การทำให้มือถือกลายเป็นกระเป๋าเงินของผู้ใช้มือถือ ไม่ว่าจะไปที่ไหน หากพกมือถือไว้เครื่องเดียวก็สามารถซื้อสินค้าที่ต้องการได้ เอไอเอสได้ให้ข้อเสนอในการผูกติดกระเป๋าเงินของคุณทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เงินสด หมายเลขบัญชีธนาคารกรุงเทพ, เอเชีย, กสิกรไทย และไทยพาณิชย์ บัตรเดบิตและเครดิตของวีซ่า และมาสเตอร์การ์ดเอาไว้ในโทรศัพท์

เมื่อถึงยามจับจ่าย ต้องเดินเข้าไปในร้านที่ติดสัญลักษณ์ mPAY วิธีการใช้งาน เริ่มตั้งแต่ แจ้งความต้องการกับทางร้านว่าจะจ่ายเงินด้วยมือถือ ทางร้านจะทำการส่งข้อความไปยังระบบตรงกลางของเอไอเอส เพื่อขอรหัสของสินค้ากลับมา พนักงานนำรหัสสินค้าที่ได้รับการยืนยันให้กับลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าได้ส่งข้อความกลับไปหาเอไอเอสอีกครั้งเพื่อยืนยันว่าได้ทำการจ่ายเงินไปแล้ว ระบบยังส่งข้อความกลับมาและบอกถึงยอดเงินที่ซื้อ พร้อมบอกยอดเงินที่เหลือ ในกรณีที่เป็นการผูกติดเงินสด โดยที่ผู้ใช้จะไม่เสียค่าบริการในการส่งข้อความ เอไอเอสยอมแบกรับต้นทุนเหล่านี้เอง เพื่อผลักดันให้มีการใช้งานได้จริง

ไม่เพียงแต่จะซื้อของในสังกัดจากร้านค้าที่เข้าร่วมเท่านั้น ผู้ใช้สามารถจ่ายค่าบริการสาธารณูปโภคทั้งหมด ทั้งค่าไฟ ค่าประปา ค่าโทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์มือถือ และซื้อของผ่านเว็บไซต์ในความร่วมมือได้โดยใช้มือถือทันที เช่นเดียวกันกับการซื้อเครื่องดื่มผ่านตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติที่ตั้งตามจุดต่างๆ กว่า 100 ตู้ ที่เอไอเอสต้องจับมือกับบริษัทผู้ผลิตตู้แบบนี้ให้ผลิตออกมาโดยเฉพาะ

ในวันเปิดตัวนั้น ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และสมประสงค์ บุญยะชัย ผู้บริหารคนสำคัญของเอไอเอสถึงกับออกมาเปิดตัวบริการนี้ด้วยตนเอง เลือกเอาบริเวณลานด้านล่าง เซ็นทรัลเวิลด์พลาซ่า เป็นสถานที่แถลงข่าว พร้อมทั้งกล่าวเน้นไว้ตอนหนึ่งว่า สิ่งที่ถือว่าเป็นเจตนารมณ์หลักของบริการแบบนี้ก็คือ การเพิ่มความสะดวกและประสิทธิภาพของการให้บริการในทุกรูปแบบเท่าที่เอไอเอสจะทำได้ เช่นเดียวกันกับความพยายามที่จะเพิ่มจำนวนร้านค้าให้ได้มากกว่านี้โดยใช้ฐานเดิมของร้านค้าในบริการฟรีดอม ไลฟ์ที่มีอยู่แล้วกว่า 7,000 ราย เช่นเดียวกันกับการระบุตัวตนของการใช้งานด้วยรหัสเพื่อป้องกันความปลอดภัยโดยผู้ใช้สามารถแก้ไขหรือเปลี่ยนได้เอง แม้มือถือหายระบบก็จะหายไปด้วย เพราะลูกค้าสามารถแจ้งยกเลิกผ่านคอลเซ็นเตอร์ ที่สามารถเรียกดูรายการย้อนหลังได้ด้วย

เอไอเอสเองยังไม่มั่นใจว่า บริการแบบนี้จะได้รับความนิยมมากแค่ไหน เพราะเชื่อว่าผู้บริโภคเองอาจจะต้องใช้เวลาในการยอมรับบริการแบบนี้ เพราะการเปลี่ยนพฤติกรรมให้ยอมรับว่าการจ่ายเงินด้วยมือถือไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะประเด็นหลักอยู่ที่ความปลอดภัยนั่นเอง

สิ่งที่ AIS จะได้รับจากบริการนี้ คือ ส่วนแบ่งจาก “ค่าธรรมเนียม” ที่จะได้รับจากร้านค้า จากการทำหน้าที่เป็นตัวกลางสร้างระบบนี้ เชื่อมโยงระหว่างระบบโทรศัพท์มือถือ ร้านค้า และธนาคาร 3 ปาร์ตี้ ที่เกี่ยวข้องกับบริการ

ค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บ ใช้หลักการเดียวกับ “บัตรเครดิต” อัตราเฉลี่ยร้อยละ 2 ของยอดชำระ โดยที่ AIS จะนำค่าธรรมเนียมไปแบ่งกับธนาคาร

ทุกครั้งที่มีการชำระเงินผ่าน mPAY เงินที่ลูกค้าชำระจะถูกโอนไปที่ Server กลางของ AIS ก่อน จากนั้น AIS จะโอนไปให้กับธนาคารในเช้าวันถัดมา บริการนี้ กฤษณันท์ งามผาติพงศ์ ผู้บริหารของ AIS ไม่ได้มองเรื่องของรายได้ แต่มองเรื่องของบริการให้กับลูกค้าเป็นหลัก

ร้านค้าที่เข้าร่วมกับ AIS ในครั้งนี้ มองว่า นอกจากเป็นการเพิ่มช่องทางชำระเงินให้กับลูกค้าแล้ว ยังได้ในแง่ของการเพิ่มความสะดวกในการชำระเงิน และรวมถึงการสร้างแบรนด์ให้กับร้านค้า

ส่วนค่ายคู่แข่งอย่าง DTAC ยังไม่กระโดดลงมาร่วม แต่ก็ได้ศึกษามาได้พักใหญ่แล้ว มองว่า สิ่งที่เป็นเงื่อนไขสำคัญอยู่ที่จำนวนร้านค้าที่เข้าร่วมจะต้องมีไม่ต่ำกว่า 10,000 ร้านค้า หากน้อยกว่านี้โอกาสสำเร็จยาก

เวลายังเป็นเครื่องพิสูจน์ต่อไปว่า AIS จะคว้าความสำเร็จไปครอง ผู้ใช้จะพกมือถือแทนเงินสด หรือบัตรเครดิต จริงหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คำว่า โทรศัพท์มือถือไม่ได้มีแค่พูด เกิดขึ้นจริงแล้ว