ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นประเภทเบอร์สำรอง หรือเป็น “เบอร์ลับ” ที่มีไว้ให้กับบางคน หรือใช้เป็นประเภทเบอร์ส่วนตัว ไม่ปะปนกับ “เบอร์หลัก”
“เราพบว่า นักธุรกิจทั่วไปไม่รู้จักการเติมเงิน หรือ Prepaid เพราะส่วนใหญ่ใช้เป็นแบบบริการรายเดือน จนพบว่าบัตรเติมเงินก้าวเข้ามามีบทบาทในแง่ของการเป็นเบอร์ที่สอง ที่เอาไว้ใช้ส่วนตัว ใช้ที่บ้าน ทำงาน หรือแม้แต่ใช้เป็นเบอร์ลับก็ยังได้” ธนา เธียรอัจฉริยะ ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจพรีเพด บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด เจ้าของฉายา มิสเตอร์ Happy บอกที่มาของบริการ “ซิมกิ๊ก”
ในอีกด้านหนึ่ง ธนาพบว่า พฤติกรรมการใช้งานของกลุ่มวัยรุ่นเปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยจัดกลุ่มผู้โทรเข้าด้วยเสียงริงโทน แต่ทุกวันนี้ วัยรุ่นเหล่านั้นได้เปลี่ยนมาใช้วิธีแยกกลุ่มคนโทรเข้าด้วยหมายเลขโทรศัพท์แทน
“ถ้าเป็นเบอร์หลัก มักจะใช้หมายเลขที่ขึ้นต้นด้วย 01 แต่ถ้าติดต่อกับคนที่ไม่คุ้นเคย จะให้เบอร์ที่ขึ้นต้นด้วยหมายเลข 09 หรือ ถ้าคบไปแล้วถูกใจ ก็อาจจะอัพเกรดให้หมายเลข 01” ธนาบอกถึงพฤติกรรมการใช้งานของวัยรุ่นยุคนี้
บริการนี้ธนาตั้งใจให้เป็นทางเลือกใหม่สำหรับ “ลูกค้าในเมือง” ให้หันมาเลือกใช้บริการบัตรเติมเงิน เพื่อใช้เป็นเบอร์ไว้ใช้ส่วนตัว ใช้เป็นเบอร์ติดต่อกับ “บ้าน” หรือใช้เป็นเบอร์ลับส่วนตัว ข้อดีของการนำพรีเพดไปใช้เป็นซิมกิ๊ก ไม่ได้ส่งบิลกลับมาเก็บเงินที่บ้าน และหาซื้อได้ง่ายๆ ราคา 199 บาทเท่านั้น
แม้จะตั้งชื่อตั้งขึ้นให้จดจำง่ายๆ เช่น “ซิมกิ๊ก” แต่เมื่อนำมาใช้โปรโมตทางการตลาดก็ต้องคิดกันมากหน่อย ประโยคที่ว่า “ซิมกิ๊ก” เอาไว้คุยกับ “กิ๊ก” ก็อาจจะไม่เหมาะสมนัก และอาจต้องหาบริการเสริมมาช่วยสร้างจุดขาย เช่น การผนึกเอา “ผู้จัดการแฮปปี้” บริการเสริม Happy ของดีแทค จับมือกับค่ายผู้จัดการ ให้บริการข้อมูล “ผู้จัดการออนไลน์” เป็นแพ็กเกจพิเศษให้บริการแก่ลูกค้ากลุ่มนี้โดยเฉพาะ
นับว่าเป็นบริการเสริมอีกรูปแบบหนึ่งที่ดีแทคทำขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการ และให้ตรงกับ lifestyle ของลูกค้ามากที่สุด
1 sim 2 เบอร์
ด้วยขีดความสามารถของ sim ที่ปัจจุบันพัฒนาให้บรรจุข้อมูลได้ถึง 32 K ทำให้ AIS เชื่อมั่นว่า sim จะเป็น “หัวใจ” ของการสร้างบริการที่ตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ดีกว่าการใช้กลยุทธ์ CRM แบบเดิมๆ เช่น การจัดกิจกรรม ให้ลูกค้าดูหนังฟังเพลง
“เราเจาะเข้าไปที่หัวใจของบริการ คือ sim card เราต้องการให้คนรู้สึกว่า ถ้าถอด sim card ออก แล้ว เขาจะไม่ได้บริการอื่นๆ จะเห็นว่าทุกอย่างในวันนี้เราทำบนซิม เราต้องการล็อกหัวใจไว้ ไม่ให้เขาเปลี่ยนไปใช้บริการของคู่แข่ง” กฤษณัน งามผาติพงศ์
บริการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นของ AIS จึงทำอยู่บน sim card เป็นหลัก เริ่มตั้งแต่ บริการ sim bank มัลติซิม จัมโบ้ซิม จนมาถึง mPAY และล่าสุด AIS เตรียมออกบริการ “sim เดียวใช้ได้ 2 เลขหมาย” โดยมุ่งไปที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เป็นนักธุรกิจเป็นหลัก
“ถ้ามีคนโทรมาจาก 2 เลขหมาย จะได้รับทุกสาย จะรู้ว่าเบอร์ไหนโทรเข้า เบอร์ไหนโทรออก เราก็เลือกรับ หรือไม่รับเบอร์ไหน บริการนี้น่าจะเหมาะกับนักธุรกิจ จะใช้เป็นเบอร์ธุรกิจ เบอร์ส่วนตัว หรือเบอร์กิ๊กก็แล้วแต่”
กฤษณัน เล่าว่า ที่มาของของบริการซิมเดียว 2 เบอร์ ประเมินมาจากการใช้งานของตัวเอง “ทำไมต้องมีเบอร์ตรง กับเบอร์เลขาฯ ก็เลยโยนโจทย์นี้ไปให้ ฟิวเจอร์แล็ปเขาไปทำ เวลานี้ก็ทำใกล้เสร็จแล้ว”
เขาเชื่อว่า ต่อไป sim จะเป็นหัวใจ สร้าง stickiness ดึงดูดลูกค้าเฉพาะบุคคลได้ดีกว่าการจัดกิจกรรมดูหนัง ฟังเพลงฟรี เพราะกิจกรรมเหล่านี้ นอกจากคู่แข่งสามารถทำได้เหมือนกันแล้ว ต้นทุนของการจัดกิจกรรมลักษณะนี้นับวันจะเพิ่มสูงขึ้น
“ดูอย่างเราจัดคอนเสิร์ตนอก ค่าตัวเคยอยู่ในหลัก 5 ล้านบาท แต่มาวันนี้ ค่าตัวสูงถึง 25 ล้านบาท ถ้าจะทำก็ต้องทำแบบที่คนอื่นทำไม่ได้” กฤษณันบอกถึงแนวโน้มของการจัดคอนเสิร์ต เป็นกิจกรรมที่เริ่มไม่สร้างมนต์ขลังเหมือนในอดีต
Did you know?
หัวใจอยู่ที่ “sim”
sim เป็นอุปกรณ์ชิ้นเอก ที่บรรดาโอเปอเรเตอร์โทรศัพท์มือถือเชื่อว่าจะสามารถเข้าถึง lifestyle ของผู้บริโภคที่มีความหลากหลาย
ดร.วิชชุดา ณ สงขลา Department Director INNOVative nEXT Lab Department Product and Services Group บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ว่า วิวัฒนาการทางด้าน sim เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนบริการ โดยจะแบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 ส่วนคือ ขนาดหน่วยความจำใน sim ที่ขยายใหญ่ขึ้น จากเดิม 16 K เพิ่มเป็น 32K และ 64K และพัฒนาเทคโนโลยีของ sim ให้สร้างความเป็น personalize ได้
การสร้าง sim ให้เป็น personalize คือการใส่ application ที่ลูกค้าคนนั้นสนใจเข้าไป ซึ่งลูกค้าแต่ละรายจะมีความสนใจที่แตกต่างกัน โดยลูกค้าจะต้องทำการแจ้งกับ DTAC ก่อนว่ามีความสนใจในด้านใด เช่น กีฬา ข่าว บันเทิง เป็นต้น เมื่อมีข้อมูลในเซิร์ฟเวอร์ของ DTAC ที่เกี่ยวกับสิ่งที่ลูกค้าคนนั้นสนใจอัพเดตขึ้นมา ระบบจะส่งข้อมูลนั้นไปให้ลูกค้าคนนั้นทันที
แนวคิดนี้ไม่ต่างไปจากค่ายสีส้ม Orange อาจกิจ สุนทรวัฒน์ Chief of Wireless Multimedia Business บริษัท TA Orange company Limited กล่าวว่า sim เป็นพลาสติกอันหนึ่งที่สามารถมี application บรรจุอยู่ภายในที่แตกต่างกัน โดยแนวทางในการพัฒนาจะเป็นไปตามวิธี segmentation ของตลาด แล้วให้ application เข้ามารองรับทำให้เกิดความแตกต่าง ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่ได้อยู่แค่ในตัว sim แต่อยู่ใน profile ของลูกค้าด้วย
ณ วันนี้ sim ยังทำงานได้อย่างจำกัด เพราะขนาดความจุยังน้อยเกินไป ซึ่ง sim ของ Orange ที่ให้บริการเป็น sim ที่มีขนาด 32 K และกำลังจะพัฒนาให้ดีขึ้น สามารถนำ application ใส่เข้าไปใน sim มากขึ้นเรื่อยๆ
เสียงสะท้อนจากผู้ใช้
“ส่วนเรื่องของบริการ sim กิ๊ก หรือเครื่องเดียว 2 เบอร์ ถ้ามีออกมาก็คงใช้ คิดว่ามันเป็นความคิดที่ดี แต่ตอนนี้ไม่มีกิ๊ก ก็อาจจะใช้เป็น sim พ่อ sim แม่ก่อน” พลอยพฤนท์ วิเศษสินธพ เรียนอยู่คณะ TIM ปี 2 มหาวิทยาลัยมหิดล
“ถ้ามี sim กิ๊กหรือว่าเครื่องเดียว 2 เบอร์ออกมา ก็ใช้นะ ดีทีเดียว 5 เบอร์ยังได้เลย เราจะได้แบบว่า swap ได้หลายคน คิดว่าวัยรุ่นบางคน บาง lifestyle คงชอบ โดยส่วนตัวแล้ว เป็นคนชอบติดตามข่าวสารเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ นะ แต่ไม่ซื้อ คิดว่ามันสนุกดี แต่มันไม่ได้จำเป็นต้องซื้อ แล้วเราก็ยังเป็นนักศึกษาอยู่” กิติพงษ์ วงศ์อาษา คณะศิลปศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ (BAS) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 3 อายุ 20 ปี