รอบรั้วมหาวิทยาลัย ABAC กลายอีก 1 เป็นสถานที่สร้างสังคมแบบ “ Online society” นักศึกษาของที่นี่ ไม่เพียงแต่จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ทุกที่ทุกเวลาเท่านั้น ต้นปีนี้พกเพียง “สมาร์ทการ์ด” ใบเดียว ใช้เป็นบัตรประจำตัว ห้องสมุด และชำระค่าเทอม
อัสสัมชัญหรือเอแบค มหาวิทยาลัยเก่าแก่อายุ 35 ปี เติบโตมาจาก Assumption School of Business (ASB) ด้วยชื่อเสียงของหลักสูตรการบริหารธุรกิจ และการเป็นสถาบันแห่งแรกที่เปิดหลักสูตรนานาชาติ ปัจจุบันกำลังปรับเข็มทิศไปสู่ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้วยการเปิดหลักสูตรออนไลน์ และการนำระบบไอทีเข้ามาเสริมการทำงานในทุกด้าน
ศักยภาพด้านไอทีของเอแบคนั้น ก่อนหน้านี้เพิ่งได้รับก่อตั้งให้เป็น Sunsite สาขาที่ 9 ของโลก และเป็น Cisco Networking Academy แห่งแรกของภูมิภาคเอเชีย เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้วก็ลงทุนราว 600 ล้านบาทสร้างตึกศรีศักดิ์จามรมาน ศูนย์กลางระบบไอทีของมหาวิทยาลัยขึ้น ซึ่งไม่มีผลให้ขนหน้าแข้งร่วงแต่อย่างใด เพราะมีกำไรจากการดำเนินงานปีละประมาณ 500 ล้านบาท ล่าสุดก็จับมือกับธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะเปิดใช้ระบบสมาร์ทการ์ดตั้งแต่ปีใหม่นี้เป็นต้นไป
ศ.ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานผู้บริหารวิทยาลัยการศึกษาทางไกลทางอินเทอร์เน็ต มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เล่าให้ฟังเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมด้านการจัดการของมหาวิทยาลัยว่า เอแบคกำลังทำ ePayment System ซึ่งจะเริ่มปี 2548 โดยนักศึกษาทุกคนจะมีสมาร์ทการ์ด สำหรับใช้ดำเนินการต่างๆ ผ่านระบบคอมพิวเตอร์และระบบอินเทอร์เน็ตทั้งหมด ตัวบัตรใช้เป็นบัตรประจำตัว บัตรห้องสมุด และการชำระค่าเทอม ค่าอุปกรณ์ต่างๆ เป็นระบบ Prepaid ที่นำเงินเข้าบัญชีไว้ล่วงหน้า
“โปรเจกต์ ePayment จะเริ่มล้อนช์ปีใหม่นี้ ตอนแรกใช้การ์ดอย่างเดียว ต่อไปจะสามารถใช้จ่ายผ่านมือถือได้ด้วย ระบบสมาร์ทการ์ดมีบางมหาวิทยาลัยใช้มาก่อนแล้ว เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ก็ยังไม่เต็มระบบมากนัก ในอนาคตต่อไปทุกมหาวิทยาลัยก็ต้องตามกระแสนี้ หันมาใช้สมาร์ทการ์ดกันหมดเพราะสะดวก แม้แต่ประชาชนทั่วไป ทุกคนก็จะใช้สมาร์ทการ์ดหมด”
ขั้นตอนการลงทะเบียนผ่านอินเทอร์เน็ต เริ่มจากเข้าไปที่เว็บไซต์ www.au.edu แล้วล็อกอินด้วยชื่อและรหัสผ่านประจำตัวนักศึกษาแต่ละคน จากนั้นเข้าไปที่หน้าลงทะเบียน เลือกวิชาที่ต้องการลงเรียน เครื่องจะบอกว่าวิชานั้นๆ ที่นั่งเต็มแล้วหรือยัง เมื่อดำเนินการไปตามขั้นตอนจนเสร็จกระบวนการ เดิมนักศึกษาต้องพรินต์ออกมาแล้วไปจ่ายเงินที่เคาน์เตอร์ธนาคาร แต่ปัจจุบันด้วยระบบ ePayment ช่วยให้จ่ายผ่านเว็บได้เลย โดยนักศึกษาทุกคนต้องคีย์หมายเลขสมาร์ทการ์ดเข้าไปในเว็บ ที่ผูกกับบัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งปีหน้าจะติดตั้งตู้คีออสให้อ่านบัตรด้วยระบบ Contactless
อาจารย์ศรีศักดิ์ อธิบายได้อย่างเห็นภาพถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นภายหลังนำทุกอย่างเข้าสู่ระบบออนไลน์ เริ่มจากความสะดวกของการลงทะเบียนออนไลน์ ช่วยให้นักศึกษาสามารถดำเนินการต่างๆ ได้จากทุกแห่งทั่วโลก เช่นระหว่างที่เดินทางอยู่ต่างประเทศ ก็ลงทะเบียนผ่านเว็บได้ นอกจากนั้นยังใช้เช็กตารางบรรยายของอาจารย์ได้ด้วย บางครั้งมีการประกาศงด นักศึกษาจะได้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ส่วนการฟังบรรยายจากเว็บนั้น ต้องรอหลังหลักสูตร eLearning ได้รับอนุมัติแล้ว ซึ่งต่อไปก็จะมี mLearning คือ เปิดให้ฟังการบรรยายย้อนหลังผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่
“สำหรับนักศึกษาวิทยาลัยการศึกษาทางไกลทางอินเทอร์เน็ต ที่ตั้งเป้าไว้ 100,000 คน สามารถเรียนจากบ้านหรือที่ทำงานได้ทุกเวลาแล้วแต่สะดวก การสอบจะกำหนดวันสอบ 1 วัน ภายใน 24 ชั่วโมงนักศึกษาเข้ามาล็อกอินทำข้อสอบเมื่อใดก็ได้ ข้อสอบจะถูกสุ่มเลือกออกมาจากธนาคารข้อสอบ แต่ละคนไม่สามารถลอกกันได้ จากนั้นจะรู้ผลสอบได้ภายใน 7 วัน ต่อไปก็จะทำระบบ SMS แจ้งเตือนวันลงทะเบียน วันสอบ ด้วยเช่นกัน”
แต่ปัจจุบันการจัดทำระบบ eLearning ตอนนี้เป็นบางรายวิชาเนื่องจากหลักสูตรยังไม่ได้รับการอนุมัติ ก็จึงนำระบบที่วางไว้พร้อมแล้วมาเสริมการเรียนการสอนปกติ โดยจะใช้ระบบออนไลน์เข้ามาช่วยเสริมในการให้แบบฝึกหัด การส่งการบ้าน ส่งรายงาน ติวข้อสอบ ส่งข้อสอบ และมีเว็บไซต์เพื่อการเรียนรู้ด้วยตัวเองที่นักศึกษาจะเข้าไปเรียนเสริมได้ตลอดเวลา เรียกว่า eCourses และ iLearn Center
ทางด้าน Wireless LAN หรือ Hot spot ตอนนี้เอแบคให้บริการสัญญาณ 12 จุด ได้แก่ ที่อาคาร P, E, ห้องสมุด ชั้น 1 และอาคาร Q ชั้น 9 ของวิทยาเขตหัวหมาก ส่วนที่วิทยาเขตบางนา มีที่ชั้น 7 อาคาร SCIT และหอพัก โดยการใช้งาน Wireless Access สามารถใช้งานได้เลย เพราะนักศึกษาแต่ละคนมีอินเทอร์เน็ตแอคเคานต์อยู่แล้ว ด้วยอัตราค่าบริการคนละ 200 บาท/เดือน (ไม่จำกัดการใช้งาน แต่จะตัดทุก 3 ชั่วโมง)
“ความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ใช้ระหว่างประเทศ เราใช้ความเร็วการเชื่อมต่อที่ 26 Mbps ซึ่งจะขยายขึ้นเรื่อยๆ อีกตามการใช้งานที่เพิ่มขึ้น ส่วนการเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ ในเมืองไทย ใช้ความเร็ว 36 Mbps และการเชื่อมโยงระหว่างหัวหมากกับบางนา ความเร็ว 4 Mbps สนับสนุนระบบ Voice Over IP ที่ช่วยประหยัดค่าโทรศัพท์ระหว่างสองวิทยาเขต ส่วนระบบ LAN ตอนนี้เราติดตั้งจุดเชื่อมต่อกว่า 6,000 จุดทั่วมหาวิทยาลัย เช่นในหอพัก ก็มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ใช้ นักศึกษาสามารถต่อสายเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ของตัวเองได้เลย หรือจะใช้เครื่องของมหาวิทยาลัยก็ได้ ตอนนี้เรามี PC ไว้บริการถึง 4,000 เครื่อง”
ทั้งนี้ โครงสร้างระบบสารสนเทศของเอแบค แบ่งออกเป็น 1. RMIS ใช้ในระบบการลงทะเบียน การให้คำแนะนำทางการเรียน การขอจบ การออกเกรด 2. AMIS ใช้ในระบบบริหารจัดการ เช่น การจัดที่นั่งสอบ การบริการที่นั่งให้ค้นคว้า การคำนวณค่าใช้จ่าย เช่น การเก็บค่าแอร์จากนักศึกษา คนละ 100 บาทต่อวิชา 3. HRIS เป็นระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการทรัพยากรบุคคล 4. LMIS ระบบสารสนเทศของห้องสมุด การยืม-คืน การเช็กสต็อกหนังสือ 5. FMIS ใช้ในการจัดการระบบบัญชี/การเงิน และ 6. SAIS ใช้เพื่อกิจการนักศึกษา กิจกรรมของชมรมต่างๆ ซึ่งข้อมูลจะถูกจัดเก็บไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ทั้งหมด
ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั้งหมดภายในมหาวิทยาลัย เรียกว่า OneNet ทุกคนเรียกใช้งานจากเดสก์ท็อปได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Indentity Management, Desktop Management, Security Management ส่วนระบบการจัดการและบูรณาการข้อมูล จะถูกนำมารวมกันเป็น Information Pool แล้วสร้าง Data Warehouse เพื่อเอาฐานข้อมูลที่มีมาวิเคราะห์ใช้ประโยชน์ เป็นระบบสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหาร (Decision Support System)
“ภาพรวมเมื่อการทำระบบสมบูรณ์เต็มที่แล้วในปี พ.ศ. 2554 ข้อมูลและการสื่อสารทุกอย่างจะผ่านคอมพิวเตอร์ทั้งหมด สำหรับโมบิลิตี้ นักศึกษาใช้โทรศัพท์มือถือ พีดีเอ ต่อเข้าอินเทอร์เน็ตได้ ปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้แล็ปท็อปต่อเข้าอินเทอร์เน็ตกันมาก ตอนนี้ยังไม่ถือว่าเต็มระบบ ต้องเพิ่มต่อไปเรื่อยๆ จะมี Hot Spot ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด และความเร็วการต่อเน็ตต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นจากแค่ 26 Mbps อาจเป็นกิ๊กกะบิต เพื่อความเร็วในการค้นคว้าข้อมูล ประโยชน์จากการวางระบบออนไลน์และโมบิลิตี้ ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา จากทุกสถานที่ เราถือเป็นมหาวิทยาลัยที่ทุ่มเงินลงทุนด้านระบบไอทีมากที่สุด และจะขยายวงออกไปให้บริการคนภายนอกด้วย” อาจารย์ศรีศักดิ์กล่าว
ธิดารัตน์ มโนมัยรัตน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะบริหารธุรกิจ
“ใช้ระบบออนไลน์ของมหาวิทยาลัยในการหาแหล่งข้อมูลมาทำรายงาน ส่วนการลงทะเบียนออนไลน์จะใช้เป็นบางครั้ง โดยจะใช้เครื่องของมหาวิทยาลัยออนไลน์เพราะเน็ตเร็วกว่า วันนี้ใช้ Hot spot จุดบริการ Wireless Internet Access ที่หัวหมาก สะดวกมาก ปกติที่ใช้อยู่บ้านต้องต่อสายโทรศัพท์ อย่างนี้ไม่ต้องต่ออะไรเลย ใช้ได้ทุกที่มีบริการสัญญาณ ซึ่งในหัวหมากมีอยู่ 4 จุด
ในชีวิตประจำวันก็ใช้บ้างถ้าไปในบางสถานที่ที่มีบริการสัญญาณเช่น ที่พันธุ์ทิพย์ และที่โรงเรียนเก่าคือ เซนต์ ฟรังซิสซาเวียร์ คอนแวนต์ ที่สามารถใช้ไวร์เลสอินเทอร์เน็ตได้ การใช้ส่วนใหญ่ใช้เพื่อเข้าเว็บไซต์หาข้อมูล ดูตารางสอบ ตารางรถโค้ช ดูเกรด แต่น่าจะดีกว่านี้ถ้ามหาวิทยาลัยเปิดให้ใช้ไวร์เลสได้ทั่วทุกที่ คงทำให้สะดวกขึ้นอีกมาก อยากใช้ตรงไหนก็นั่งเล่นได้”
ณัฐญา อนันต์คุณาสิน นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะบริหารธุรกิจ
“วันนี้มาใช้ Hot spot ที่ใต้ตึก P ที่หัวหมาก ปกติไม่ได้ใช้ประจำ ใช้แค่ช่วงนี้ที่ทำรายงานกลุ่ม ทำให้สามารถนั่งรวมกันช่วยกันทำได้สะดวก ถือว่ามหาวิทยาลัยวางระบบเทคโนโลยีไว้ดีมาก เอื้อต่อการทำงานของนักศึกษา ส่วนการลงทะเบียนออนไลน์ก็ใช้บ้าง แต่บางครั้งถ้าคนเข้าไปใช้งานพร้อมกันมากๆ จะทำให้เซิร์ฟเวอร์มีปัญหาบ้าง ซึ่งถ้าไม่มีปัญหาเรื่องนี้ก็นับว่าสะดวกมากที่ทุกอย่างเข้าสู่ระบบออนไลน์ ส่วนโมบิลิตี้อื่นๆ เช่น การเข้าเว็บไซต์ด้วยมือถือ ปกติไม่ได้ใช้เพราะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ในขณะที่ค่าธรรมเนียมการใช้อินเทอร์เน็ตมหาวิทยาลัยเก็บ 200 บาท/เดือน ใช้ได้ไม่จำกัด ถือว่าคุ้มค่าที่สุดแล้ว”
Website
http://www.au.edu/
http://cai.au.edu/index.html
http://www.kms.au.edu/
http://www.eLearning.au.edu