Visual Radio : RS New Media ; The Whole Year of Mobile Entertainment

Visual Radio โมเดลใหม่ของธุรกิจวิทยุ ที่กำลังสร้างทางเลือกใหม่ ไม่เพียงแต่ทำให้คนฟังเพลงได้ตามหน้าโทรศัพมือถือ ยังสามารถร่วมสนุกต่างๆ กับสถานีวิทยุได้แบบสองทาง โดยไม่จำเป็นต้องหมุนมือถือ หรือส่ง sms ใดทั้งสิ้นอีกแล้ว

“เทคโนโลยีมันทำให้ไลฟ์สไตล์ของเรามีความเป็นตัวของตัวเองได้มากขึ้น (personalize) ทำไมคนถึงอยากจะมีริงโทนไม่เหมือนคนอื่น เมื่อสามสี่ปีที่แล้ว เวลาคนสี่ห้าคนเจอกัน ไปนั่งทานอาหารแล้วปรากฏว่าเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น ทุกคนจะต้องหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดูเพราะไม่รู้ว่าเป็นเสียงโทรศัพท์ของใคร เพราะทุกคนไม่มี personalize ไม่มีไอดีของตัวเอง แต่พอเทคโนโลยี (โทรศัพท์) เปิดโอกาสให้เราได้เลือกอย่างที่เราต้องการ เราก็รู้ว่าอันไหนเป็นของเรา อย่างที่เราต้องการ” วรพจน์ นิ่มวิจิตร ผู้อำนวยการสายงานนิวมีเดีย บริษัท อาร์.เอส. โปรโมชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าว

การพกพาความบันเทิงติดตัวไปได้ในทุกที่กำลังเริ่มมีอิทธิพลต่อการใช้เทคโนโลยี เพราะปัจจัยความก้าวหน้าของระบบที่รองรับได้มาถึงจุดที่สามารถทำให้ความต้องการของผู้บริโภค ทั้งส่วนประสมทางการตลาด และเนื้อหาที่รวมเอาสินค้าที่เป็นเทคโนโลยีมาไว้ในที่เดียวกัน (digital convergence) ไม่น่าแปลกหากเกมบนโทรศัพท์มือถือจะเริ่มนิยมในปีนี้ และจะนิยมมากขึ้นในปีหน้าทั้งที่เป็นเกมแบบ off line ในขณะที่ระบบออนไลน์ของมือถือก็กำลังมีอิทธิพลขึ้นทุกที ดังนั้นไม่ว่า Mobile TV และ Visual Radio จึงเป็นความจริงที่เรากำลังจะได้เห็นเป็นรูปธรรมอันใกล้

โนเกียได้เปิดตัวมือถืออัจฉริยะ “สมาร์ทโฟน” รุ่น 7700 กับ รุ่น 3230 ในไทย เมื่อปีก่อน ที่ได้รับความร่วมมือจากอาร์เอสโปรโมชั่นในการผลิตเนื้อหา (content) เป็นเจ้าแรกของความบันเทิงสายวิทยุ ก่อนที่จะมีแผนด้าน Mobile TV ตามมาอีก เนื่องจากธุรกิจของอาร์เอสนั้นเกี่ยวข้องในธุรกิจทั้งรายการโทรทัศน์ ละคร หนัง และเพลงอย่างครบวงจร

คงไม่น่าแปลกถ้าจะมีใครกล่าวว่า “มือถือจะกลายเป็นโทรทัศน์ วิทยุ หรือสื่อความบันเทิงส่วนตัวแห่งโลกอนาคต” และเป็นมาตรฐานที่โทรศัพท์มือถือแต่ละรายตั้งเป้าว่าจะตามให้ทันกัน ซึ่งในยี่ห้ออื่นๆ ก็จะมีแอพพลิเคชั่นเพื่อตอบสนองตรงนี้อีกหลายรุ่นในปีนี้

“Visual Radio เป็นแอพลิเคชั่นอันหนึ่งที่อยู่กับโทรศัพท์มือถือ แล้วทำให้ความที่เป็นวิทยุที่มีแต่เสียงเพียงอย่างเดียวมันหายไป มีความสามารถในการอินเตอร์แอ็กทีฟ แบบเรียกว่า One2Many หรือ Many2one ได้ด้วย เพราะสามารถเปิดโอกาสให้กับคนขอเพลงได้ตามหน้าโทรศัพมือถือ และร่วมสนุกต่างๆ กับสถานีวิทยุโดยไม่ต้องใช้โทรศัพท์โทรไปสถานี ไม่จำเป็นต้องหมุนมือถือ หรือส่ง sms ใดทั้งสิ้นอีกแล้ว”

“ปัจจุบันนี้ถามผมว่า แม้ตอนนี้เราก็ฟังวิทยุจากตรงไหนก็ได้ เพราะโทรศัพท์ตอนนี้ก็มีวิทยุที่ให้ฟังได้มีหลายรุ่นมาก แน่นอนว่าคุณก็ต้องปิดวิทยุมาเพื่อที่จะโทรศัพท์ หรือจะส่ง sms ทำอย่างอื่น แต่คราวนี้ไม่ต้อง ฟังไปด้วยคุณก็ร่วมสนุกกับเขา ไม่ต้องมานั่งเปลี่ยน ปิดวิทยุก่อนค่อยโทรไปขอเพลง” ซึ่งเป็นการใช้ทั้งคลื่นวิทยุ และ GPRS พร้อมๆ กัน คือการใช้คลื่นวิทยุ การฟังวิทยุ ก็ฟังผ่านระบบเอฟเอ็มปกติ แต่การติดต่อสื่อสาร โต้ตอบ หรืออินเตอร์แอ็กทีฟก็ผ่านจีพีอาร์เอส

“ส่วนในแง่ของโฆษณาก็เป็นไปได้ที่เขาจะเลือกสถานีที่มีการให้บริการส่วนนี้ เพราะว่าในมุมหนึ่งบริการนี้ทำให้เกิดการโต้ตอบระหว่างกันได้มาก สามารถนำมาทำอะไรได้หลายรูปแบบ ทั้งในแง่ของการโหวต หรือการ Chat ก็ได้ หรือแม้แต่การคอมเมนต์ผลิตภัณฑ์ ที่จะเป็นเครื่องมือสร้างช่องทางการตลาดแบบใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นของเจ้าของสินค้า เจ้าของคลื่น หรือผลิตภัณฑ์ที่มาลงโฆษณา”

“ตอนนี้ยังไม่สรุปว่าเป็นของอาร์เอสแต่เพียงอย่างเดียว ต่อไปก็คงน่าจะมีหลายๆ สถานีที่จะมีบริการตรงนี้ แต่ เราเองก็มีบริษัทที่ทำวิทยุให้กับเราสกายไฮเน็คเวิร์ค ซึ่งมีระบบการออกอากาศที่เป็นดิจิตอล 100 เปอร์เซ็นต์ ก็น่าจะเรียกว่าเป็นสถานีวิทยุที่มีความพร้อมมากที่สุดในปัจจุบัน ที่จะเป็น Visual Radio”

จึงเป็นความพยายามของทั้งสองทาง ทั้ง “เนื้อหา” ที่มีอยู่ พยายามดิ้นรนเพื่อสร้างมูลเพิ่มเนื่องจากภาวะผันผวนรุมเร้าวงการอย่างต่อเนื่อง ในด้าน “เทคโนโลยี” ก็สร้างจุดแข็งเพื่อสร้างให้เกิดความต้องการใหม่ๆ “ในแง่ของคอนเทนต์เองคนทำวิทยุเองก็มีความฝัน แต่ก็ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยเช่นกัน”

วรพจน์ ได้ประมาณการเอาไว้ว่า ในจำนวนผู้ใช้บริการที่จะเกิดในปีนี้อาจจะมีจำนวนถึงหลักแสนคน …

มือถืออัจฉริยะกำลังทำหน้าที่เสมือนกับเครื่องรับสัญญาณโดยตรง เหมือนโทรทัศน์หรือวิทยุเครื่องหนึ่ง ทำงานผ่านการรับส่งสัญญาณจากเสาอากาศ ในขณะที่ยังสามารถต่อเชื่อมระบบอินเทอร์เน็ตผ่านระบบ GPRS โดยแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคตของระบบนี้ไม่ว่าจะเป็น EDGE ก็ทำให้สามารถชมรายการโทรทัศน์แบบเปลี่ยนช่องได้ ซึ่งหมายความว่าต้องมีคอนเทนต์มากพอกับความต้องการ จึงเป็นสองส่วนที่ต้องพัฒนาให้สอดคล้องซึ่งกันและกัน

“ไตรมาสแรกที่น่าจะเห็นจากอาร์เอสของเราก็คือ Online Music Store เราก็กำลังทดสอบระบบอยู่ จะคล้ายๆ กับโมเดลของ Apple หรือ i-pod แล้วก็บริการที่ผ่านบรอดแบนด์ ไม่ว่าจะมีคาราโอเกะออนดีมานด์ หรือมูฟวี่ออนดีมานด์ ที่จะเปิดคอมเมอร์เชียล คงจะมีการพัฒนาคอนเทนต์เฉพาะสำหรับบรอดแบนด์ และก็ Visual Radio”

วรพจน์กล่าวว่าในปีหน้าเป้าหมายรายได้ของนิวมีเดียของอาร์เอสจะเพิ่มขึ้นอีก 50 เปอร์เซ็นต์ มีการขยายงานอีกประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ที่เน้นด้านการตลาดโดยเฉพาะมากกว่าทางไอที

“เราวางแผนมีเป้าหมายของเราประมาณ 5 ปีหน้าแล้ว แต่ก็คงต้องปรับไประหว่างทาง เพราะสิ่งที่เราคาดไว้บางทีก็มาเร็ว บางทีก็มาช้ากว่าที่เราคิดไว้… เทคโนโลยีมันเปลี่ยนแปลงเร็วมากๆ”

“บางทีในมุมของการตลาดก็มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ให้เขาผลิตมาเพื่อตอบสนองกับส่วนของเราในตัวนี้ ตัวอย่างตอนนี้ก็มี เรากำลังจะมีอัลบั้มอยู่ชุดหนึ่งคือ อัลบั้ม “The Message” เป็นอัลบั้มที่เอาข้อความหรือเรื่องราวที่มีการติดต่อถึงกันอยู่บ่อยๆ ผ่านมือถือ เช่นเรื่องเพื่อนไม่สบาย ก็จะมีข้อความต่างๆ “หายไวไว” หรือเพื่อนจะสอบ ซึ่งก็จะกลายเป็นริงโทน ตัวเพลง ตัวภาพของเรา”

บทพิสูจน์ความสามารถของเทคโนโลยีว่า มีประสิทธิภาพ ทำได้จริง และเกิดประโยชน์ต่อการใช้งานของผู้บริโภค ต่อไปในอนาคตที่เราเองต้องรอดูกัน…

Did you know?

วิทยุอินเทอร์เน็ต ไร้สัมปทาน ไร้พรมแดน

เราเคยเห็นหลายคนมีเว็บหรือโฮมเพจส่วนตัวกันมามากแล้ว จากนี้ไปเป็นยุคของสถานีวิทยุส่วนตัว! เมื่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือ broadband แพร่หลาย ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไปสามารถโหลดข้อมูลเสียงมาฟังได้สดๆ โดยแทบไม่สะดุดรอ และก็เป็นผู้ใช้ทั่วๆ ไปอีกเช่นกันที่จะลองเป็นดีเจหรือเจ้าของสถานีวิทยุน้อยๆ ส่วนตัวของตัวเองได้เพียงแค่ลงซอฟต์แวร์ง่ายๆ

และเช่นกัน สำหรับบริษัทธุรกิจไม่ว่าประเภทไหนก็สามารถจะเปิดสถานีวิทยุมาพูดแต่เรื่องของธุรกิจตัวเองได้ (ถ้ามีคนฟัง) ที่มีความหมายกว่านั้นคือบริษัทที่ทำธุรกิจรายการวิทยุโดยตรง ที่ถูก “เขี่ย” หลุดสัมปทานผังรายการ หรือหาสถานีลงไม่ได้ ก็สามารถเปิดสถานีวิทยุของตัวเองบนอินเทอร์เน็ตได้ทันทีด้วยสมรรถนะคอมพิวเตอร์ ความเร็วเครือข่าย และคุณภาพเนื้อหาที่ดีกว่า จริงจังกว่าผู้ใช้ทั่วๆ ไปที่เราพูดถึงไปข้างต้น

วงการวิทยุอินเทอร์เน็ตไทยปัจจุบัน แทบทุกสถานียังเป็นเพียงช่องที่ถ่ายทอดเสียงจากวิทยุ AM หรือ FM มาเท่านั้น เพื่อให้คนที่ไม่อยู่ในพื้นที่ที่จะรับคลื่นได้ได้ฟัง เช่นสถานีวิทยุ FM ที่เคยฟังได้เฉพาะในกรุงเทพฯ ก็สามารถฟังได้จากต่างจังหวัดและต่างประเทศ ส่วนสถานีวิทยุอินเทอร์เน็ตแท้ๆ แทบทุกแห่งยังเป็นเพียงสถานีส่วนตัวหรือทดลองทำกันเองฟังกันเองในองค์กร

แต่ล่าสุดจากการที่ อสมท. ยึดคลื่นหลายสถานีกลับมาทำเอง เราคงจะได้เห็นบริษัทสื่อรายใหญ่หลายแห่งที่หลุดผังวิทยุไป หันมายึดวิทยุอินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางหลักนับแต่ปี 2548 นี้เป็นต้นไป