อยู่แบบเงียบๆ นิ่งๆ มานานแม้จะโดนรุมเร้าจาก discount store ต่างชาติผู้กุมเสบียงกรังก้อนโต อีกทั้งแรงกดดันจากจากห้างไทย (ทุนหนา) ด้วยกันเอง แต่ตั้งฮั่วเส็งทั้งสองสาขา คือ บางลำพูและธนบุรี ก็ยังคงยืนหยัดมาได้จนถึงทุกวันนี้ แม้จะเป็นแบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ ก็ตามที
ปลายปี 2547 ตั้งฮั่วเส็งเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ การแถลงข่าวส่งท้ายปีได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนสายการตลาดอย่างล้นหลาม ชนิดที่เรียกได้ว่า “เกินความคาดหมาย” นักข่าว ช่างภาพ เบียดเสียดแน่นขนัดเต็มห้องประชุม ชั้น 8 ของห้างสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง หลังจากทำข่าวของห้างใหญ่มาตลอดทั้งปี การตบเท้าร่วมงานแถลงข่าวครั้งนี้ นัยหนึ่งเสมือนเป็นการเอาใจช่วยห้างไทยหัวใจสิงห์ให้กัดฟันสู้ต่อไป
“ตั้งฮั่วเส็งมุ่งพัฒนาสู่ความเป็น community department store สร้างกิจกรรมเพื่อชุมชน ตอบสนองกลุ่มเป้าหมายฝั่งธนบุรี ซึ่งเป็นกลุ่มครอบครัว ขณะที่สาขาบางลำพู เป็นลูกค้าข้าราชการ พนักงานเอกชน นอกจากนี้ยังปรับโลโก้ใหม่ให้ดูง่ายและสดใสมากยิ่งขึ้น” วิโรจน์ จุนประทีปทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง จำกัด บอกถึงทิศทางธุรกิจซึ่งใช้งบประมาณปรับโฉมครั้งนี้กว่า 70 ล้านบาท เขาบอกเพิ่มเติมว่า หากไม่ปรับปรุงยอดขายอาจจะลดลง
ลูกค้าตั้งฮั่วเส็ง ธนบุรี วันปกติเฉลี่ย 7,000 คน ขณะที่ เสาร์-อาทิตย์ 10,000 คน ยอดขายปี 2547 อยู่ที่ 2,400 ล้านบาท
ตั้งฮั่วเส็งสร้าง positioning ที่แตกต่างด้วยการชูจุดแข็งของห้างที่เคยมีมา คือ สินค้าแผนกอุปกรณ์งานฝีมือ เย็บปักถักร้อย ซึ่งวิโรจน์อ้างว่า “ตั้งฮั่วเส็งมีบริการด้านนี้ครบถ้วนสมบูรณ์กว่าห้างใด” นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นแผนกเครื่องครัว เครื่องใช้ไฟฟ้า พร้อมเปิดแผนกใหม่ little&mom center ให้คำแนะนำแก่แม่และเด็กฟรี โดยพยาบาลผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวชพร้อมกับลดพื้นที่แผนกที่ไม่ทำยอด โดยการลดพื้นที่แผนกเสื้อผ้าผู้ชายแบบสวนกระแส metrosexual นั้นวิโรจน์อธิบายว่า “แผนกนี้ตั้งฮั่วเส็งไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร จึงลดพื้นที่ลงโดยนำพื้นที่ไปทำแผนกยีนส์ ซึ่งได้รับการตอบรับดีกว่า” พร้อมกันนี้เขายังให้เหตุผลเพิ่มเติมว่า “การทำห้างไม่จำเป็นต้องมีทุกแผนก ให้ดูกลุ่มลูกค้าของเรา และบริการตามนั้น”
หากจะว่ากันตรงๆ แล้ว ณ วันนี้ ตั้งฮั่วเส็งกำลังวาง positioning ตัวเองให้เป็น “ห้างสำหรับแม่บ้าน” จับกลุ่มลูกค้าระดับซีและบี แม้จะดูไม่โก้หรูเหมือนบางห้าง แต่ก็เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล และไม่แปลกอะไรในเมื่อ “แม่บ้าน” คือผู้ใช้จ่ายเงินทองของครอบครัวอยู่แล้ว
วิโรจน์เชื่อว่าตั้งฮั่วเส็งมาถูกทางแล้ว
Did you know?
ทางรอดทางเลือกห้างเล็ก
ห้างสรรพสินค้าพาต้า – หลังจากปิดสาขาอินทรา ประตูน้ำไปเมื่อปลายปี 2546 ขณะนี้เหลือเพียง พาต้า ปิ่นเกล้า เท่านั้น renovate ชั้น 5 ชูจุดขาย Pata IT คุมโซนแหล่งรวมสินค้า IT แถบปิ่นเกล้า จรัญสนิทวงศ์ มาก่อนหน้านี้ เพื่อสร้างจุดเด่นที่แตกต่าง ว่ากันว่าหากพาต้า ปิ่นเกล้าไร้ซึ่งจุดยุทธศาสตร์ชั้นเลิศ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยน จุดต่อรถอันคับคั่งแล้ว ณ วันนี้อาจปิดฉากตำนานห้างพาต้าไปจากเมืองไทยแล้ว
ขณะนี้พาต้ากำลังปรับปรุงซูเปอร์สโตร์ชั้นใต้ดิน ภายใต้การบริหารของ Lotus เป็นการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ท่ามกลางการแข่งขันในวงการการค้าปลีกที่ร้อนแรง
เมอร์รี่คิงส์ “มีทุกสิ่ง ให้เลือกสรร” สร้างสโลแกนคุ้นหู แม้จะเหลือเพียงสาขาบางลำพูเพียงแห่งเดียว ขณะที่เมอร์รี่คิงส์ ปิ่นเกล้า ที่ปิดตัวลงไปเมื่อเกือบ 5 ปีก่อนกลายเป็นอาคารรกร้าง เนื่องจากมิอาจต่อสู้กับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ปิ่นเกล้าได้
อิมพีเรียล เวิลด์ รุกหนักด้าน PR สังเกตได้จากข่าว PR จากอิมพีเรียลที่ส่งเข้ามายังกองบรรณาธิการแทบทุกสัปดาห์ เป็นความเคลื่อนไหวที่บ่งบอกว่าห้างเล็กแห่งนี้ไม่ยอมอยู่นิ่งดูดาย แม้อิมพีเรียลจะเลือกทางรอดด้วยการให้ BIG C ผนวกเป็นพันธมิตรเพื่อเสริมความมั่นคง ต่างจากตั้งฮั่วเส็งที่ลุยเดี่ยว ไม่ง้อทุนต่างชาติ
Website