Teen Marketing

ตลาดวัยรุ่นยังคงท้าทายเสมอสำหรับสินค้าและบริการ นั่นเพราะวัยรุ่นสามารถตอบรับต่อสิ่งใหม่ๆ ได้ง่าย และการตัดสินใจซื้อทำได้อย่างรวดเร็วกว่ากลุ่มลูกค้ากลุ่มไหนๆ

แม้ว่าจะมีกิจกรรมหลายอย่างของวัยรุ่นที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นหนังสั้น หนังสือทำมือ ละครเวที กราฟิกดีไซน์ หรือทำ website แต่ “วัยรุ่น” ยุคนี้มีวิถีชีวิตที่เกี่ยวพันกับดนตรีมากที่สุด นับตั้งแต่วิธีการใช้ชีวิต รสนิยม การแต่งกาย ที่สอดคล้องกัน นับเป็นสามด้านอย่างสัมพันธ์ อันได้แก่

1. ตัวเนื้อหา (ดนตรี)
2. ตัวตน
3. กระแส ขึ้นอยู่ว่าจะเลือกยืนตรงจุดใดๆ

แต่คงไม่มีช่วงเวลาไหนที่แนวเพลงยอดนิยมของ “วัยรุ่น” จะมีความหลากหลายมากเท่ากับช่วงเวลานี้ อินดี้ – เจป็อป – ฮิพ-ฮอพ – แร็พ – ฮาร์ดคอร์ คือ กระแสของแนวเพลงที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าสู่กระแสนิยม

นิยามของคำว่า “เด็กแนว” ที่เชื่อว่ามีรากมาจาก “อินดี้” เมื่อมาถึงเวลานี้ ไม่สามารถบอกความหมายได้ชัดเจน ขึ้นอยู่กับชอบ “แนว”แบบไหน

แนวเพลง และแฟชั่น ทั้ง 4 ประเภทที่หยิบยกมานำเสนอต่อจากนี้ จัดแล้วว่าเป็น “แนว” ยอดฮิต ที่กำลังมาของวัยรุ่นไทยเวลานี้

Hip-Hop Culture

Beginning : กลางยุค 70 ในนิวยอร์ก ในย่านบรองซ์ตอนใต้

Concept : เพื่อสะท้อนและเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมข้างถนนสำหรับคนผิวสีในนิวยอร์ก ประกอบด้วยกลุ่มวัฒนธรรมย่อยที่เติบโตขึ้นมาจากรากของคนผิวสี

Music : เป็นงานดนตรีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะด้วยวิธีการร้องกึ่งพูด รวมไปถึงการด้นสดจึงทำให้มีรูปแบบผสมผสานออกมาได้ ตั้งแต่ ร็อก, แจ๊ซ, ละติน ไปจนถึงสไตล์แบบไม่ใช้เครื่องดนตรีอย่าง beatboxing ตามแต่เอกลักษณ์ของชิ้นงานสำหรับศิลปินแต่ละคนที่แตกต่างกัน โดยเน้นที่บีต และเพอร์คัชชั่นมากกว่าเมโลดี้

Fashion : เมื่อมาจากวัฒนธรรมข้างถนน เสื้อผ้าจึงพัฒนาเน้นสไตล์สตรีตแวร์ที่พัฒนาขึ้นมาจากเสื้อผ้ากีฬาสุดฮิตสำหรับคนผิวสี อย่างบาสเกตบอล หรือเบสบอล ซึ่งก็แตกต่างกันตามแต่กิจกรรมในแต่ละด้าน

แฟชั่น เริ่มต้นจากวัฒนธรรมข้างถนนสำหรับคนผิวสีในนิวยอร์กของแนวฮิพ-ฮอพส่วนใหญ่จึงเป็นเสื้อผ้ากีฬาแบบต่างๆ โดยฝ่ายชายจะเน้นที่การใส่เสื้อกีฬาตัวหลวม ในขณะที่ผู้หญิงเสื้อผ้าออกจะดูน้อยชิ้น รัดรูป ตัวเล็กแบบทะมัดทะแมง นอกจากนั้น เสื้อผ้าที่เน้นลายพรินต์ของแบรนด์ที่ยี่ห้อตัวใหญ่ มีการใช้เพชร ทอง เครื่องประดับที่มีราคา เป็นการสะท้อนลักษณะการแบ่งเป็นก๊กต่างๆ ในนิวยอร์ก ดังนั้นเสื้อผ้ากลุ่มไฮเอนด์บางครั้งจึงมีคอลเลกชั่นที่รับกับแนวนี้ เนื่องจากรสนิยมค่อนข้างจะใส่ของแพง ซึ่งโดยส่วนใหญ่

1. กางเกงตัวใหญ่, รองเท้าผ้าใบ
2. นิยมใส่หมวกแบบต่างๆ โดยเฉพาะหมวแก๊ป
3. เครื่องประดับชิ้นใหญ่ ตั้งแต่โซ่ยาวแขวนคอ แหวน ตุ้มหู ตามระดับราคาตั้งแต่เงิน ทอง จนไปถึงเพชร
4. เสื้อฮู้ดดี้, เสื้อกีฬา (sweat suits) หรือแม้แต่เสื้อเชิ้ตแนวหลวม ซ้อนเสื้อยืด และติดกระดุมเม็ดบนสุด มักเป็นยี่ห้อแบรนด์เนม

Brandname : Ecko Unlimited, Shady LTD, Roca Wear, G-unit Clothing, FUBU, Von Dutch, หมวกยี่ห้อ Kangols ฯลฯ

Lifestyle : วัฒนธรรมฮิพ-ฮอพ แทบจะเรียกได้ว่าเป็นแนวหลักไปแล้วสำหรับวัยรุ่นในตอนนี้ ฮิพ-ฮอพมีความหมายโดยรวมค่อนข้างกว้างที่รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ทั้งดนตรี เสื้อผ้า กีฬา ศิลปะ การเต้นรำ ที่เป็นเอกลักษณ์ เช่นว่า “DJing” การเปิดแผ่นโดยการ scratch, “Beatboxing” การเล่นดนตรีโดยใช้ปาก, “Breakdancing” การเต้นรำสไตล์ฮิพ-ฮอพ, “Battling” การเต้นประชันกันเพื่อดูความสามารถของผู้เต้น, “Graffiti art” สไตล์การเขียน การใช้ลีลาทางศิลปะ, “Rapping” (MCing) นักร้องแนวแร็พ

Hip-hop in Thailand : กลุ่ม ก้านคอ Club, ดาจิม, Thaitanium, T-HOP ฯลฯ

Digital Punk

Beginning : กลางยุคปี 70 ที่ประเทศอังกฤษ

Concept : punk มีแกนความคิดเรื่องความเป็นตัวตนจากภายใน จนไปถึงอิสระที่อยู่นอกกรอบสังคมในอย่างที่ตัวเองเป็นอย่างสุดปลายของด้านที่แตกต่าง

Music : พังก์ถูกให้ความเห็นว่าเป็นตระกูลหนึ่งของเพลง rock&roll ที่ถูกพัฒนามากที่สุดในเกาะอังกฤษ ก่อนที่จะแยกตัวออกมาชัดเจนในสไตล์ของตัวเอง ซึ่งทางฝั่งสหรัฐฯ มีวง Ramones เป็นวงแรก ส่วนฝั่งอังกฤษมี Sex Pistols ซึ่งในช่วงต้นยุค 90 จะเกิดวง Green Day และ Rancid จากสหรัฐฯ ด้วยแนวเพลง punk แต่เติมเสียงหนักขึ้นแบบ heavy metal ลงไป และเน้นความสำคัญของการแสดงสด ด้วยรูปแบบแฟชั่นที่ดุดัน

Fashion : ทิศทางการแต่งกายและแนวเพลง เน้นการปฏิวัติและเป็นขบถต่อสังคม หรือแม้แต่แฟชั่น ไปที่อีกด้านโดยมองความน่าเกลียดในสายตาของคนทั่วไปเป็นความงามที่อยู่ข้างใน อารมณ์การใส่เสื้อหนัง และการแต่งกายที่ต่างจากขนบนิยมสุดขั้ว นิยมการแต่งหน้าตา เพราะคนทั่วไปไม่นิยม เช่นใช้สีขาวจัดดำจัด โดยรวมแล้ว anti-fashion คือ punk fashion โดยทั่วไปพังก์มักจะ

1. ใช้เอกลักษณ์ของความแตกต่างกันสุดขั้วเป็นหลัก เช่นการใช้สี เฉพาะขาวและดำเท่านั้น ทรงผม ถ้าไม่โกน จะต้องตกแต่งให้แปลกผิดปกติอย่างสุดขั้ว หรือผสมกันทั้งชายหญิง
2. การสร้างแฟชั่นโดยการรื้อทำลายแฟชั่นเดิม เพื่อสร้างเอกลักษณ์หรือสไตล์ของตัวเอง
3. การใช้เข็ม หรือโซ่ร่วมกับเนื้อผ้าที่เป็นหนัง เพื่อแสดงการอยู่ร่วมกับความเจ็บปวดเป็นสิ่งปกติ
4. การผ่า หรือเจาะตามร่างกาย ในตำแหน่งที่เห็นได้ชัด
5. เน้นเครื่องประดับที่ทำจากโลหะสีเงิน ไม่นิยมใช้ทองคำ

ปัจจุบัน punk เป็นแนวที่กำลังจะมา ในรูปของสไตล์การแต่งกายมากกว่าดนตรี โดยเรียกว่า “punk chic” อันได้รับอิทธิพลมาจากวงร็อกฟากญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มต้นมาตอนต้นยุค 80 จากการที่ “Zandra Rhodes” ดีไซเนอร์ชาวอังกฤษได้นำเอาลักษณะบางอย่างของ “พังก์” มาใส่ในงานของเธอ ไม่ว่าการเพิ่มสีสันที่ดูสว่างตาคู่ไปกับเอกลักษณ์ของผ้าหนังสีดำ โดยเฉพาะการใช้สีทอง แทนที่โลหะต่างๆ รวมไปถึงด้วยวิธีการแต่งหน้าแบบใช้ขอบดำใต้ตา ก็ทำให้ดูเท่แต่หรูหราโดดเด่น แทนที่ความแปลกแยกแบบเดิม ปัจจุบันแม้แต่แบรนด์ใหญ่อย่างเสื้อผ้าของ Versace ก็ยังต้องมีเสื้อผ้าแนวพังก์ออกมารับกระแสนิยม นอกจากนั้นแนวคิดเรื่องการเจาะและสักตามร่างกายของพังก์ก็เริ่มนิยมมากขึ้น ปัจจุบันแทบเรียกได้ว่าส่วนใหญ่เป็น “พังก์ประยุกต์”

Punk in Thailand : Sick Child (ยุบวงไปแล้ว), Student Ugly (มีหลากหลายแนวเพลงในอัลบั้มเพื่อเข้าหาตลาดเพลงไทยมากขึ้น)

Rap-Hardcore Fashion

Beginning : ประมาณต้นยุค 80 จนรับความนิยมอย่างมากในยุค 90 เริ่มจากสหรัฐอเมริกา

Concept : พัฒนาแนวคิดต่อมาจาก punk ในเรื่องรูปแบบ แต่ลดทอนความเป็นแฟชั่นการแต่งกายลง มาให้ความสนใจกับดนตรีมากขึ้น โดยเน้นการปลดปล่อยไปพร้อมๆ กับความคิดเรื่องการเมืองและสังคม จนกลายเป็นแนวเฉพาะเรียก “heavy metal” อันมีโครงสร้างทางดนตรีซับซ้อนกว่า และดูแรงกว่า ก่อนที่จะถูกแบ่งออกเป็นสองสาย ระหว่างเรียบง่ายขึ้น เรียก “hardcore” (หรือ “alternative” ที่เคยฮิตในบ้านเรา) จนก่อนที่จะถูกผสมฮิพ-ฮอพ เลยเรียกว่า “NuMetal” หรือ “Rapcore”
Music : ทั้งสองแนวนี้แตกแขนงมาจาก heavy metal ซึ่งแตกแขนงมาจากดนตรี rock อีกชั้นหนึ่ง heavy metal เดิมมีลักษณะเด่นที่ความหนักหน่วงของจังหวะและเสียงร้องที่มีลักษณะตะโกนหรือคำราม ท่วงทำนองหลากหลายซับซ้อน ก่อนที่จะลดรูปและใช้เครื่องดนตรีน้อยชิ้น บางวงปรับ heavy metal จนแตกแขนงกลายมาเป็น hardcore

ส่วนแนวเพลง NuMetal หรือ Rapcore นั้น เกิดจากการผสมผสานระหว่างการร้องแบบ hip-hop ในส่วนที่แข็งกร้าวเข้ากับจังหวะหนักแน่น และท่อนทำนองกีตาร์เสียงแตกย้ำๆ แบบ heavy metal โดยนักร้องในวงที่เล่นแนว NuMetal มักถนัดการร้องแร็พ หรือที่เรียกว่าเป็น “rapper” ในขณะที่ภาคดนตรีจะออกไปในทาง heavy metal มากกว่า และยังมีการเล่นเครื่องเล่นแผ่นเสียง (turntable) ในลักษณะขัดแผ่น (scratch) ที่พบมากในเพลง hip-hop อีกด้วย

Bands in Thailand : วงทั้งสองแนวนี้ วงระดับโลกจะโด่งดัง และทำยอดขายสูงในตลาดไทย แต่วงของไทยเองกลับหาได้ยากเนื่องจากงานดนตรีที่ซับซ้อนเช่น Ebola, Dezember ที่เหลือส่วนมากจะเป็นวง “ใต้ดิน” ที่เป็นที่รู้จักกันในวงแคบ เช่นวง Bikini, รามศูรย์, Rabbit Sun, Harem Belle

วง hardcore ระดับโลกอย่าง Slipknot, Paparoach, Korn, Marilyn Manson ในขณะที่ วง rapcore ที่โดดเด่นอย่าง Limp Bizkit, Linkin Park, Incubus เป็นต้น (บางวงเคยเคยมาเปิดคอนเสิร์ตที่นี่แล้ว)

Fashion : เนื่องจากรูปแบบที่พัฒนามาจาก punk ในยุค 70 และ heavy metal muj นิยมให้สีดำเป็นสีการแต่งกายหลัก เช่น เสื้อยืดสีดำลายโหดกับกางเกงยีนส์ ในขณะที่ rap-hardcore ถือเป็นขั้นปลายที่ค่อนข้างเบาและโดนในวัยรุ่นมากกว่า การแต่งกายจึงผสมความเป็นฮิพ-ฮอพที่เป็นสมัยนิยม เช่นเสื้อผ้าหลวม หรือรองเท้าผ้าใบ แต่ยังมีอิทธิพลของการโกนศีรษะที่ได้รับต่อมาด้วย ผสมกับรูปแบบร็อกดุๆ ไว้เหมือนกัน รวมไปถึงแนวคอนเซ็ปต์แบบพังก์ที่เน้นความเป็นขบถที่ยังเหลืออยู่

เช่น นิยมพกผ้าเช็ดหน้าผืนใหญ่, กางเกงยีนส์ฟิต, การใช้รองเท้าผ้าใบพื้นบาง, การตัดผมรองทรง หรือสกินเฮด การใช้หมวกกันแดดแบบตาข่ายหรือสายรัด (Mesh cap), หรือการใส่แว่นตาสี่เหลี่ยมดำกรอบหนา ซึ่งเป็นรูปแบบการแต่งกายที่สอดคล้องกับแบบวัยรุ่นวัยเรียนมากกว่า

Indy Center

Beginning : เริ่มได้รับความนิยมมากในไทยราวกลางปี 90 ต่อเนื่องจากกระแสร็อกแบบ alternative

Concept : จุดเริ่มต้นมาจากวิถีการทำงานดนตรีที่ปฏิเสธการทำงานของกระแสหลัก โดยวางตัวเองเป็นคนทำงานเล็กๆ หรือ underground ซึ่งส่วนใหญ่งานดนตรีมีกลิ่นของป็อปอยู่สูง

Music : ในขณะที่ฟากอินดี้ก็เหมือนเป็นไลฟ์สไตล์อีกขาที่ใหญ่มากของวัยรุ่น แบบที่แทบจะเรียกได้ว่ารวมเกือบทุกแนวไว้ด้วยกัน มาจากพื้นฐานการทำดนตรีของค่ายเล็กที่ถูกใจวัยรุ่นมากกว่าค่ายใหญ่ สไตล์นี้แตกต่างกับรสนิยมและความชอบของตัวเอง ซึ่งบางครั้งไม่ว่า ฮิพ-ฮอพ พังก์ ร็อก ป็อป ฯลฯ ซึ่งออกจะดูเป็นแนวกึ่งทดลอง และมีกลิ่นอายของศิลปะ ที่ทำขึ้นจากความพอใจมากกว่าผลทางการตลาด

Fashion : 1. Reality จะเลือกใส่เสื้อผ้าที่มีอยู่ตามจริง มักไม่ออกแบบหรือสร้างขึ้นมาใหม่
2. Sincerity จริงใจในแบบที่ตัวเองเป็น ไม่ได้เอาใส่เป็นที่ตั้ง มีน้อยใส่น้อย มีมากใส่มาก
3. Freedom อิสระในการเลือกใช้ให้เหมาะสมแล้วเข้ากับความเป็นตัวของตัวเอง

โดยรวมเป็นสไตล์ mix & match โดยเฉพาะการเลือกใช้สีที่ค่อนข้างจะแปลกตา ไม่ว่าจะเป็นการจัดสีโทนเดียว การจัดสีตัดกัน หรือจัดสีเคียงกัน นอกจากนั้นเสื้อผ้าหรือเครื่องแต่งกาย ดังนั้นด้วยภายใต้คอนเซ็ปต์ของอินดี้จึงแทบรวมทุกอย่างไว้ด้วยกัน แต่ไม่ได้จงใจให้แตกต่าง และไม่ถือเป็นวัฒนธรรมย่อยหรือเพลงกลุ่มเดียว ไม่ว่าจะสวย เซอร์ หล่อ เท่ อยู่ในสไตล์นี้กันได้ รวมไปถึงสไตล์วินเทจ หรือ retro ก็นิยมแบบจับนี่ผสมนั่นเพื่อสะท้อนบุคลิกของตัวเอง เน้นที่ราคาที่ตัวเองรับได้และเพียงพอต่อการใช้ชีวิต

Lifestyle : นิยมสิ่งที่ไม่ตามกระแสมากนัก มีความเป็นตัวของตัวเองสูง มีสถานที่เที่ยวอย่างข้าวสาร ดูหนังเฮาส์ ลิโด รสนิยมโดยทั่วไป เปิดเพลงแฟต (เรดิโอ) อ่านนิตยสารอะเดย์ ชอบปราบดา หยุ่น เที่ยวถนนข้าวสาร ดูหนังเป็นเอก (รัตนเรือง)

Indy in Thailand : เช่น Moderndog, Groove Rider, Death of Salesman, Apartment คุณป้า ฯลฯ

สังเกตได้ว่า เมื่อจุดเริ่มต้นของแฟชั่นบางอย่างเริ่มมาตั้งแต่เกือบ 30 ปีที่ผ่านมา การสืบทอดต่อมาของวัยรุ่นบ้านเราในแง่หนึ่งจึงเป็นอารมณ์ของการย้อนยุค ที่มีสไตล์เสื้อผ้าต่างๆ กลับมาได้รับความนิยมในรูปแบบใหม่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น วินเทจ ย้อนยุค หรือ ดิสโก้ ก็เป็นสิ่งที่เห็นประปราย หรือจะเน้นแนวเอเชียอย่าง เจป็อป เจร็อก ฮิตนักร้องเกาหลี ไต้หวัน จีน ฮ่องกง ก็ตามที แต่กลับเป็นว่ากฎของการไม่มีกฎ ก็เป็นเหมือนการสร้างกฎขึ้นอีกกฎด้วยระดับหนึ่ง แต่เราก็ยังมีอีกแนวที่อยากจะนำเสนอ โดยเป็นกลุ่มที่วัยรุ่นนิยมอีกกลุ่ม

WannaB

Beginning : ไม่นานมานี้พร้อมๆ กับคำว่าเด็กแนว

Concept : เป็นอย่างที่อยากเป็น (เหมือนคนอื่น) ที่รู้สึกว่าเขาดูดี

Music : อิสระตามกระแสสังคมว่าจะไปที่ไหน โดยเน้นเป็นกลุ่มเล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีคนนิยมกัน และสามารถเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ

Fashion : เนื่องจากคำว่า “WannaB” มาจากคำว่า (Want to be) เป็นคำที่กลุ่มวัยรุ่นใช้เรียกกันเอง เนื่องจากในที่สุดแล้ว ความสามารถในการใช้จ่ายก็ไม่ได้บอกว่า เราเป็นใคร หรือ สะท้อนรสนิยมที่อยู่ข้างในจริงๆ ว่าคืออะไร แฟชั่นไม่ได้เป็นตัววัดว่า ใครคือ “ของแท้” วัยรุ่นเรียกกลุ่มที่ว่าว่า “WannaB” เพราะรู้สึกว่าการพยายามเลียนแบบ โดยไม่มีความจริงใจ เพราะเห็นว่าจริงแล้วๆ ของแท้มักจากข้างในมากกว่าแฟชั่น