ยุทธนา บุญอ้อม The Indy Trend Setter

“ผมเป็นพวกเดินสายกลาง เดินตามคำสอนพระพุทธเจ้าร้อยเปอร์เซ็นต์”

ยุทธนา บุญอ้อม หรือ ป๋าเต็ด เป็นชื่อที่วัยรุ่นแทบทุกคนรู้จัก และเขาเป็นส่วนหนึ่งตัวการสำคัญ หากมีการกล่าวอ้างถึงพฤติกรรมวัยรุ่นไม่ว่าในแง่มุมใด โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับเพลง ด้วยแนวคิดแบบ “อินดี้” ของเขา สร้างจุดยืนที่แตกต่าง และเป็นแกนนำสำคัญให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ขึ้นกับสิ่งใหม่ๆ พร้อมๆ กับการดำเนินชีวิตของวัยรุ่นยุคใหม่ในปัจจุบัน

ปัจจุบันตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทคลิคเรดิโอ ผู้บริหารคลื่นโดนอย่าง Fat Radio 104.5 นอกจากนั้นเขาเป็นหุ้นส่วนโรงหนังของตัวเองที่ชื่อ “House Rama” มีนิตยสารรายเดือนที่เพิ่งเปิดไปอย่าง “DDT” แล้วยังมีเป็นโปรดิวเซอร์ ในโครงการยักษ์เล็กสำหรับดันผู้กำกับหนังหน้าใหม่ ทุกอย่างที่เขาทำเพราะเนื่องมาจากทางสายกลางที่เขาว่า คำว่า “ป๋าดัน” จึงเป็นสิ่งที่ใครๆ เอาไว้ก็เรียกเขาในวงการ

“แนวคิดที่ผมมีมาตลอดการทำงานคือการสร้างบาลานซ์ และสร้างสมดุล อย่าง แฟตเรดิโอ มีคอนเซ็ปต์ โตๆมันๆ โตคือเรื่องสาระ มันๆ คือเรื่องบันเทิง ต้องสมดุลด้วยกันหมด ผมเปิดก็เพลงให้กับทุกค่ายที่น่าสนใจ เมื่อเราจะเปิดเพลงอะไรก็ได้ เราก็น่าจะให้พื้นที่กับคนด้อยโอกาสก่อน อันไหนที่เขาเปิดกันเยอะแล้วเราก็ต้องดูกันก่อน แต่บางครั้งเราก็ต้องกรองกันเหมือนกัน คือ เลือกเพลงที่ป็อปที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ของฝั่งเนี่ยมา”

จุดเริ่มคอนเซ็ปต์วิทยุของคนนอกกระแส ไม่ได้เป็นจุดเริ่มที่ชัดเจนทีเดียว ก่อนที่ความตั้งใจจะลงไปสู่ทางเลือกที่ชัดมากขึ้น กับคำว่า “เพลงดีไม่สังกัดค่าย” ในตลาดที่ถูกผูกขาด โดยค่ายใหญ่ 80 เปอร์เซ็นต์ หนทางเลือกคลื่นวิทยุแบบไร้สังกัด จึงผลักไปอยู่ในฝั่งการนิยามไปว่า “คลื่นของคนอินดี้” ตัวแทนของคนกลุ่มน้อยที่มีอิทธิพลต่อวัยรุ่น

“บังเอิญทุกวันนี้คนคิดอย่างผมมากขึ้นเท่านั้นเอง แต่จริงๆ ผมเป็นอย่างนี้ของผมมาตั้งนานแล้ว คือตอนที่ทำ “ฮอตเวฟ” ก็เป็นคลื่นที่เปิดเพลงก่อนชาวบ้าน แต่ตอนนั้นเราไม่ได้พูดชัดเจน คือเราทำแบบกลมกลืนทำรวมกับสิ่งเมนสตรีม กับ “แฟตเรดิโอ” เป้าหมายเดิมก็คือการทำคลื่นที่อยากให้มีคนฟังมากที่สุดในประเทศไทยด้วยซ้ำไป ไม่ได้ทำคลื่นอินดี้ แต่ขอให้มีคนฟังมากที่สุดโดยที่เราสามารถทำวิธีนี้ (ไม่สังกัดค่าย) แต่ว่าด้วยความที่เราต้องสร้างแบรนด์เรา ก็เลยต้องทำอะไรที่มันชัดเจน เลยเป็นโฟกัสที่ชัดขึ้น”

เมื่อหากเราจะนิยามวิธีคิด หรืองานที่นอกกระแสของเขา “ผมเลือกรวมๆ ว่าเป็นเรื่องของงานที่ด้อยโอกาสมากกว่า ดังนั้นวิธีคิดต่อมาทุกอย่างของเราจะเป็นทางนี้หมด” ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่างานที่เขาทำ “positioning” ของเขาคืออะไร

“ผมเชื่ออย่างเดียวว่า มันไม่แฟร์ เมื่อคนเราทำดี แล้วต้องได้รับผลตอบแทนที่ดี วิธีคิดแบบนี้เป็นนิสัยส่วนตัวมาโดยตลอด ซึ่งก็ไม่เฉพาะเรื่องเพลงที่เราสนับสนุนเรื่องของหนังสั้น มีหนังสั้นที่ชาวบ้านดูสนุกเข้าใจง่ายเต็มไปหมดเลย ไม่เห็นต้องเป็นหนังนักศึกษาดูอย่างเดียว พอเราเอาจริงเอาจังกับมัน มันก็แพร่หลายมากขึ้น หรือเรื่องหนังสือทำมือ เราก็มีแมกกาซีนที่มีส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ให้เขา โรงหนังที่เราทำ ก็เป็นเรื่องของหนังด้อยโอกาสเหมือนกัน เพราะว่าหนังเหล่านั้น มันคือหนังดี ดูสนุก แต่ว่าไม่มีโรงให้ฉาย พอเรามีปัญญาทำเราก็ทำ”

อาการบูมขึ้นของแฟตเรดิโอ ในหมู่นักศึกษา พร้อมๆ กับงานแฟตเฟสติวัลประจำปี กับสิ่งต่างๆ ที่ยุทธนาได้เป็นคนผลักดัน ได้กลายเป็นความหวังของการกลับมาบูมอีกครั้งของกระแสความแรงของเพลงในค่ายเล็ก หากย้อนกลับไปก่อนที่ช่วงเวลาหนึ่งวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา เคยมีผลทำให้กลุ่มเล็กๆ ที่เรียกตัวเองว่า “alternative” (อินดี้แบบหนึ่ง) ให้หดหายไป โดยวันนี้กลายเป็นการวนกลับมาอีกครั้งเป็นรอบที่สอง

แต่ภาวการณ์เช่นนี้ ดูเหมือนไม่มีกระแสที่ส่งผ่านมาจากแนวเพลงแบบใหม่ที่จุดกระแสสังคมจริงๆ แต่เป็นเรื่องของการใช้ชีวิตที่แสวงหาทางเลือกมากกว่า

“วันนี้ เพลงมันตามหลังมากับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยน แต่เกิดที่เมืองไทยอย่างเดียว ถ้าที่อังกฤษหรืออเมริกาที่เขาเป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมป็อปทั้งหลาย เพลงจะมีอิทธิพลต่อวัยรุ่น แต่บ้านเราคนจะมีอิทธิพลต่อเพลงมากกว่า เช่นว่า เราต้องเริ่มเห็นมีคนใส่เสื้อบาสเกตบอล มีคนใส่หมวกแก๊ปเดินกันเยอะๆ แสดงว่าฮิพ-ฮอพเริ่มมาแล้ว เขาถึงได้ปล่อยฮิพ-ฮอพออกมา ทั้งๆ ที่จริงคนกลุ่มหนึ่งก็ฟังฮิพ-ฮอพกันมาตั้งนานแล้ว แต่มันไม่ใช่คนกลุ่มใหญ่” ส่วนหนึ่งของพฤติกรรมวัยรุ่นไทย ที่ยุทธนาสังเกตเห็น
“นิสัยที่วัยรุ่นบ้านเรา ก็คือ ถ้าเกิดอะไรที่มันเล็กๆ แล้วมันดี เขาจะรู้สึกหวงไม่ค่อยอยากเผยแพร่ ให้คนอื่นรู้ด้วย แทนที่เขาจะบอกเพื่อน เขาจะเก็บไว้ คือเขารู้สึกว่าถ้ามีใครชอบของพวกนี้มากขึ้นเขาจะไม่ชอบของอันนั้นทันที” ดังนั้นคำว่า “กลัวของโหล” เป็นวิธีคิดและพฤติกรรมของวัยรุ่นไทย ทำให้ของบางอย่างที่ดีไม่ได้รับการเผยแพร่ อันเป็นที่มาของหลายวิธีคิดที่ปฎิเสธจะไม่ทำตามกระแสหลัก

“อย่างบิ๊กแอส ซิลลี่ฟูลก็เป็นวงร็อกที่ได้รับการสนับสนุนจากวิธีนี้ จนดังที่สุดในวงร็อกด้วยกันไปแล้ว แต่ก็จะมีแฟนบางคนที่ไม่ชอบ เพียงเพราะว่าเขาดังแล้ว” ยุทธนากล่าว “แต่ความรู้สึกเราก็คืออะไรก็ตามที่มันดีก็ตามที ถ้ามันรู้กันในคนกลุ่มเล็กเราต้องเอามาขยาย”

เมื่อนิสัยวัยรุ่นไทยมีลักษณะเฉพาะที่ปฏิเสธความเป็นกระแสหลัก แคมเปญการตลาดเน้นความรู้สึกทางด้านนี้ไม่ว่า การเต็มที่กับชีวิต เน้นอิสระ ใช้ชีวิตอย่างไร้กรอบ ก็กลับเป็นแรงสนับสนุนร่วม ครีเอตตลาดและดีมานด์จนทำให้เกิดพฤติกรรมที่คล้ายๆ กันในกลุ่มวัย อย่างที่ยุทธนาสรุปไว้ก็คือ “ฟังแฟต อ่านอะเดย์ เที่ยวข้าวสาร ดูหนังเป็นเอก” “แต่บางคนก็บอกไม่เอา เหมือนกันหมดเลย มันก็น่าจะถามกลับว่าแล้วคุณจะให้เด็กเขาอ่านหนังสืออะไร ทำอะไร หรือเที่ยวอะไร แล้วคุณจะไม่ว่าเขา” เขาถามกลับถึงรูปแบบพฤติกรรมวัยรุ่นปัจจุบันอย่างที่เรียกว่า “เด็กแนว”

“พี่เชื่อว่าคนที่ทำหมดทุกอย่างทุกข้อมันไม่ได้มีเยอะ แต่มันเป็นไปได้ เพราะสามสี่อย่างนี้มันมีอะไรคล้ายๆ กันอยู่ เราเองต้องยอมรับว่า แฟตเรดิโอทำในสิ่งที่รายการอื่นไม่ทำ อะเดย์ทำในสิ่งที่แมกกาซีนอื่นไม่ทำ คุณเป็นเอก (รัตนเรือง) ก็ไม่ได้ทำหนังแบบที่คนอื่นเขาทำเหมือนกัน เป็นไปได้ ที่คนชอบแฟต แล้วจะชอบหนังพี่ต้อม ไม่แปลกใจที่คนจะชอบสี่อย่างเหมือนกัน”

ยุคปัจจุบันที่เรียกว่าเด็กแนว แต่จริงๆ แล้วมันเป็น “อินดี้ ยกที่สอง” ในความคิดของเขา หลังจากที่อินดี้ฟองสบู่แตกไปรอบหนึ่ง มียุคหนึ่งที่ พูดถึงอินดี้ แบบจะกลายเป็นศาสนา เป็นลัทธิ ยุทธนาเห็นว่า “ที่จริงอินดี้มากจากคำว่า “Independent label” ทั้งหลาย ที่เขาเพลงแล้วโดนใจคนฟัง มากกว่าค่ายเมเจอร์เลเบิลหลายค่าย คำว่าอินดี้ก็เริ่มแพร่หลาย จากคำว่าค่าย อินดี้ พอเข้ามาเมืองไทยก็ทะลักทะล้น เริ่มเกิดการแต่งตัวแบบอินดี้ ไปเที่ยวแบบอินดี้ กินข้างแบบอินดี้ หนังสือแบบอินดี้ วิธีคิดแบบอินดี้ จะเป็นศาสนาอินดี้แล้ว” ดีที่คำว่าเด็กแนวเกิดขึ้นมาก่อน

เด็กแนวถูกใช้มาก แพร่หลาย ยุทธนาเล่าว่าเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเด็กแนวน่าจะ 40 ครั้งแล้ว ร่วมถึงมีการสัมมนา

“มันคล้ายกับอินดี้มาก แต่มันเป็นเด็กแนว มันพูดด้วยความรู้สึกสนุกสนานในเพื่อนฝูง แต่งตัวคล้ายๆ กันเต็มไปหมดเลย มันเริ่มจากเสื้อผ้าอย่างเดียวเลย จนตอนนี้มันคล้ายกับคำว่าอินดี้ไปแล้ว พอเด็กแนวจะเกิดวิธีคิดอย่างเด็กแนวไปหมดเลย” ยุทธนากล่าว

ในขณะที่เพลงกับวัยรุ่นมีลักษณะที่ค่อนข้างใกล้ชิดกัน และถ่ายทอดอิทธิพลสู่วัยรุ่นได้ง่าย เทียบกับสื่อป็อปคัลเจอร์อื่นๆ เพลงเป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นมันผลิตขึ้นมาจากคนจริงๆ แม้ว่าหนังมันบางเรื่องจะมีอิทธิพลอยู่มาก แต่หนังมันเลียนแบบ เป็นนิยายที่สร้างตัวละครขึ้นมา อย่างหนังที่ส่งอิทธิพลถึงวัยรุ่นก็อย่างเช่น หนังแบบ เจมส์ดีน หรือ Transpotting ต้นแบบของกลุ่มหนังอินดี้และพวกอัลเทอร์เนทีฟ ที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบไม่ว่าจะเป็นที่ไหนในโลก

ทุกวันนี้อินดี้ถือได้ว่าเป็นกระแสหลัก ตามความรู้สึกของเขา “ผมเริ่มรู้สึกมา ตั้งแต่ ป๊อด (ศิลปินวงโมเดิร์นด๊อก) เป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับ AIS แล้วตอนนั้น ผมก็คิดว่าป๊อดยังไม่ดังเท่าขนาดนี้ด้วยซ้ำไป ตอนนั้น AIS กล้ามากที่เลือกเขามาเป็นพรีเซ็นเตอร์ เพราะตอนนั้นป๊อดก็ไม่ใช่คนในระดับเมนสตรีมแน่นอน แค่เกือบๆ แต่ดังที่สุดแล้วในฝั่งอินดี้ แต่การไปโผล่ในฐานะตัวแทนของวัยรุ่น มันแสดงให้เห็นว่าไอ้ฟากอินดี้ทั้งหลายมัน cross มา เป็นเมนสตรีมไปเรียบร้อยแล้ว”

ครั้งหนึ่งถ้าเราจำกันได้อย่างโจอี้บอย ดาจิม และไทเทเทียม ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของฮิพ-ฮอพนอกกระแส ก่อนที่ ผับทุกผับจะเปิดเพลงฮิพ-ฮอพนี้กันหมดปัจจุบัน

“ทุกวันนี้บนหน้าปัดวิทยุเพลงที่ถูกเปิด อันดับหนึ่งเป็นเพลงแกรมมี่ ที่เพราะเขาทำเพลงมาประมาณ สัก 80 เปอร์เซ็นต์ของตลาดเห็นจะได้ แต่อันดับสองเป็นของเบเกอรี่ นักร้องอย่าง บอย โกสิยพงษ์ ติดอันดับนักร้องขายดีในเป็นต้นๆ ในปีที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่เขาทำงานแบบเดิมๆ เขาอยู่”

Fat Festival : Community ของวัยรุ่นนับแสน

ในขณะที่มูลค่าของกิจกรรมที่ดึงคนเป็นแสน วิธีการสร้างคอมมูนิตี้ หรือสร้างช่องทางของสินค้าที่เพิ่มขึ้นได้อีกมาก แต่เขาเลือกที่จะปฏิเสธ “เพราะอย่างที่บอก ผมไม่ใช่นักการตลาด ผมเองผมเชื่อว่า ถ้าคนอื่นที่เชื่อว่าเขาเป็นนักการตลาดจริงๆ แล้วเขามาทำงานแฟตเฟสติวัล จริงๆ เขาคงจะทำเงินมหาศาลไปแล้ว แต่ไอ้เรื่องเนี้ย แม้ครั้งล่าสุดด้วยความที่งบประมาณมันบาน สูจิบัตรที่แจกต้นทุนมัน 5 บาท แจกฟรีคงไม่ไหว เราก็เลยว่าขายสามบาทแล้วกัน แค่นี้ก็ยังคิดแล้วคิดอีกเลย ซึ่งคนอื่นเขาอาจจะขายแพงกว่านี้ไปแล้วก็ได้”

ปัญหา และวิธีคิด ?

อย่างแฟตเฟสครั้งล่าสุดที่คนเยอะจนเราเอาไม่อยู่ วิธีคิดของเรายังกลับไปสู่ความคิดที่ว่าอาจจะทำให้ครั้งหน้าเล็กลงดีกว่า ทำให้มันได้ความรู้สึกแบบที่มันควรจะเป็น ไม่ใช่ว่าใหญ่เกินไป เราไม่ได้อยากให้มันใหญ่ขนาดนี้ มันทำให้สิ่งที่มันควรจะสนุกกลับสนุกน้อยลง หรือบางคนไปงานคราวนี้ก็คือไม่สนุกเลยผมก็เข้าใจ

ความเล็กๆ ก็มีคุณค่าอะไรบางอย่าง แต่มันก็ขัดกับความรู้สึกของเราที่อยากทำให้งานเหล่านี้มันแพร่หลาย มันจะมีงานไหนที่วงดนตรี คนแสนมาซื้อเพลงของเขา ถ้าไม่ใช่แฟตเฟส แต่ถ้าเราไม่ทำให้มันใหญ่มันก็เหมือนกับทำให้โอกาสเขาน้อยลง ไม่มีทางไหนที่จะทำให้คนแห่เข้ามาที่บูทขายซีดีของเขา พวกค่ายแบบนี้หรือคนทำหนังสือทำมือ ไม่มีงานไหนที่ดรอว์คนมา สามสี่แสนเพื่อที่จะมาดู ซื้อไม่ซื้อก็แล้วแต่ งานนี้เป็นทราฟฟิกที่มีคุณค่ามหาศาล มันเลยถ้าเล็กไปก็ไม่ได้ ใหญ่ไปก็เอาไม่อยู่ ใหญ่มาก ก็จะเริ่มแบบคนบางกลุ่มคนที่มาแต่ไม่รู้จักอยู่ดี บอกยากเหมือนกัน

โครงสร้างของเราก็คือ จัดวงดนตรีที่ไม่รู้จักให้เขาขึ้นเวทีให้คนมาฟัง แล้วถ้าชอบก็ให้ไปที่บูธไปซื้อได้เลยมีขายอยู่ ถ้าไม่ชอบก็คือดูวงอื่น อันนี้คือโครงสร้างหลักของแฟตเฟส ให้ดูแล้วซื้อ ไม่ใช่แค่โชว์ผลงานแต่จะให้เขาสร้างรายได้ได้ด้วย ซึ่งก็หาตรงกลางไม่เจออยู่ว่าจะทำอย่างไร ทั้งที่จริงมันมีง่ายๆ อยู่สองทาง คือทำใหญ่ให้ไปเลยแล้วเอาให้อยู่ กับทำให้เล็ก…

ทำไม สปอนเซอร์ถึงอยากสนันสนุนกลุ่มที่เล็กลง?

ส่วนหนึ่งมันเป็นการขยายฐานของกลุ่มลูกค้า (segmentation) แต่สปอนเซอร์บางรายลังเล ว่าถ้าลงแฟตแล้วจะได้เด็กโตอย่างเดียว เพราะเขามีลูกค้าหลายกลุ่ม แต่เราขายความชัดเจน เราไม่ใช่คลื่นที่มีคนฟังมากที่สุด แต่เราเป็นคลื่นที่มั่นใจเรื่องการทำให้คนฟังจดจำสินค้าได้ เรามีวิธีการเข้าถึงคนฟังที่ลึกซึ้งอย่างคนที่มางานแฟตจะจำสปอนเซอร์ได้ ซึ่งดูตามรีเสิร์ชได้

ทำไมถึงเป็น Fat Fest ?

ตอนที่ทำแฟตเรดิโอปีแรกมีคนเข้าใจเราน้อย เอเยนซี่ยิ่งไม่เข้าใจใหญ่ว่าเราทำอะไรกันอยู่ เราก็เลยอยากจะจัดงานงานหนึ่งที่เป็นเหมือนการพิสูจน์ให้เห็นว่าสิ่งที่เราทำอยู่มีคนติดตามอยู่เยอะจริงๆ เราก็เลยคิดรูปแบบงานที่จะจัดออกมาเป็นเฟสติวัล

แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ว่า คนที่มางานนี้แล้วตั้งใจมาจริงๆ ไม่ใช่เดินผ่านหน้างานแล้วเห็นว่ามีเสียงดังก็เลยเข้ามา ก็เลยเลือกจัดที่คิดว่าคนปกติคนจะไม่เข้าไป เราก็เลือกจัดที่โรงงานยาสูบเก่า ที่จอดรถก็ไม่มี แอร์ก็ไม่มี วงดนตรีที่ขึ้นเล่นไม่ใช่ซูเปอร์สตาร์เลย อย่างดาจิม พาราด็อก โมเดิร์นด็อก พรู ละอองฟอง ทุกวงยังไม่เป็นที่รู้จัก หรือยังออกแค่อัลบั้มแรกให้ตอนนั้น หลายคนไม่ได้ดังเท่าทุกวันนี้ แต่คนก็มาเป็นหลักหมื่น เอเยนซี่ไปดู ถึงได้เห็นว่าคนดูที่เป็นเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เราพูดในที่ประชุมแล้ว เขาไม่เชื่อว่ามันมีอยู่จริง ไม่เชื่อว่านักศึกษาจะฟังนักศึกษา ตอนนั้นเราจึงขายในฐานะคลื่นของเด็กโต ซึ่งเป็นข้อเสียทุกวันนี้เรากำลังพยายามปรับให้เด็กลง อีกอย่างแฟตเป็นคลื่นที่มีจุดอ่อน บอกว่าผู้ฟังผู้ชายจะมากกว่าผู้หญิง เราก็เลยกำลังปรับให้ผู้หญิงมากขึ้น

ถ้างานวันนั้นมันล้มเหลว วันนี้ก็คงไม่แฟตเรดิโอขึ้นมาแล้ว พอหลังจากโฆษณาก็เริ่มเข้ามา คนฟังก็เริ่มเข้าใจ กระแสคำว่าอินดี้ก็ทำให้สื่อพูดถึงเยอะ

ลำดับแนวเพลงกับแฟชั่น

ทศวรรษ 50’s Elvis : ท่าเต้นแปลกประหลาดเขย่าแขนขา ผู้ชายไว้ผมจอนยาวใส่น้ำมันเยิ้ม
ทศวรรษ 60’s Beatles : ผู้ชายทรงผมที่มีเอกลักษณ์ ตัดหน้าม้าเป็นแนวเส้นตรง
ปลายทศวรรษ 60’s – ทศวรรษ 70’s Hippy : แนวดนตรีคันทรี่ไปจนถึงร๊อคหนักๆ เน้นกีต้าร์ เนื้อหาต่อต้านสงคราม หรือพูดถึงยาเสพติด “บุปผาชน” ไว้ผมยาวแต่งตัวสีฉูดฉาด ต่อต้านสงคราม บางคนเสพยากล่อมประสาท ในไทย ปรับมาเป็น 5 ย ผมยาว กางเกงยีนส์ เสื้อยืด รองเท้ายาง สะพายย่าม ประท้วงอเมริกาในสงครามเวียดนาม
ปลายทศวรรษ 70’s – ทศวรรษ 80’s Disco : เพลงจังหวะเต้นรำ ทำนองฟังง่าย คึกคัก พูดถึงชีวิตยามราตรี การจีบกัน รถหรูๆแรงๆ
แต่งตัวแวววาว ทำผมเนี๊ยบหรู ในไทยเริ่มยุคสยามสแควร์และเดอะพาเลซ
ทศวรรษ 90’s Alternative : บันทึกเสียงเพลงออกมารกๆดิบๆ เน้นดนตรีน้อยชิ้น กีตาร์ เบส กลอง เนื้อหาระบายความคับข้องใจส่วนตัว ลีลาการแสดง กระโดดไปกับจังหวะเพลง หรือลงไปดิ้นด้วยท่าประหลาดๆไม่สวยงาม แต่งตัวเรียบง่าย สบายๆ
ทศวรรษ 2000’s “เด็กแนว”, “อินดี้” : เพลงหลากหลาย ที่นิยมมากคือ hiphop หรือใกล้เคียง รวมถึง Rock ผสม Hiphop ที่เรียกว่า Numetal ความหมายกลับคลุมเครือและยากจะนึกภาพ ครอบคลุมไปถึงเพลง, นิตยสาร นิยมใส่เสื้อยืดสองตัวทับกัน ใส่กางเกงบ๊อกเซอร์ไว้ข้างใน ใส่ยีนส์หลวมๆ ใส่รองเท้าเก่าๆเปื่อยๆ มีเครื่องประดับหลายชิ้น