เพลง indy ไม่ได้จำกัดที่แนวเพลงใดแนวเพลงหนึ่ง หากแต่หมายถึงการทำงาน การนำเสนอผลงานของตนเองออกไปอย่างอิสระ
หากจะพูดถึงแผงเทปที่เปิดกว้างสำหรับคนทำเพลงรุ่นใหม่ๆ ให้ลองมาวางขายกัน ร้านน้อง ท่าพระจันทร์ และดีเจสยามคงเป็นร้านแผงเทปลำดับต้นๆ ที่กลุ่มคนทำเพลงอิสระทั้งหลายนึกถึง POSITIONING สะท้อนมุมมองของสองร้านชื่อดังที่อยู่คู่กับวงการเพลง สะท้อนความเฟื่องฟูของแนวเพลงที่หลากหลาย และพวกเขาคิดอย่างไรกับกระแส “เด็กแนว”
ธนโชติ เพียรเสมา หรือที่รู้จักกันดีว่า “เปี๊ยก ดีเจสยาม” เชื่อว่า กระแสของเพลง indy ที่เติบโตขึ้นและดูจะแข็งแกร่งขึ้นกว่ายุค 10 ปีก่อนนั้น เป็นเพราะมีช่องทางที่สนับสนุนเด็กๆ ที่ทำงานเพลงกันอย่างอิสระมากขึ้น
สิ่งหนึ่งที่ทั้งร้านน้องและดีเจสยามทำตั้งแต่อดีตและปัจจุบันก็คือ การให้โอกาสการเปิดรับผลงานของเพลงอินดี้ที่ไม่มีสังกัดได้มาวางจำหน่ายในร้าน นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่คนทำเพลงที่มีโอกาสนำเสนอผลงานดีๆ ที่ตั้งใจทำออกมาแล้ว คนฟังเองก็จะมีตัวเลือกของแนวเพลงที่ฟังมากขึ้น
การที่คลุกคลีและเห็นถึงโอกาส ทุกวันนี้ “ดีเจสยาม” ไม่ได้เป็นแค่ “ผู้จัดจำหน่าย”เท่านั้น แต่ยังมีค่ายเพลงเล็กๆ ส่วนตัว ที่ชื่อว่า “กุนซือคลับ” เป็นเหมือนสโมสรเล็กๆ คอยให้คำปรึกษาแนะนำกระบวนการผลิต ให้กับศิลปินหน้าใหม่ทั้งหลายเพื่อให้ผลงานคนทำเพลงเหล่านั้นออกไปสู่ผู้บริโภคอย่างมีคุณภาพ เช่นเดียวกับ “ร้านน้อง” ที่ถึงแม้จะไม่ได้เป็นค่าย แต่ก็ให้คำปรึกษากับศิลปิน รวมไปถึงการลงทุนทางด้านการผลิตให้บางส่วนไม่ว่าจะเป็นการทำ package หรือกระบวนการอัดเสียงที่เต็มใจช่วยศิลปินหน้าใหม่เหล่านี้
“พี่เปี๊ยก” ยกเครดิตให้กับคลื่นวิทยุ 104.5 MHz หรือ FAT Radio ว่าเป็นแกนหลักที่ทำให้แนวเพลงอิสระ หรือ indy เติบโตได้ เพราะเป็นช่องทางที่ทำให้ผลงานของเด็กๆ เหล่านั้นสามารถนำเสนอผลงานไปยังวงกว้างมากขึ้น เช่นเดียวกับ อนงค์นาถ นาคน้อย หรือพี่น้อง แห่งร้านน้อง ท่าพระจันทร์ที่มีมุมมองคล้ายๆ กัน “สื่อเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เพลงอินดี้เติบโตไปได้ เพราะหากสื่อไม่มีช่องทาง หรือไม่ให้โอกาสผลงานของเด็กๆ เหล่านั้นก็คงไม่ได้รับความนิยม”
เมื่อสังคมเปิดกว้างขึ้นแนวเพลงจึงไม่จำกัดอยู่แค่ alternative หรือ pop แต่กลับเพิ่มความหลากหลายมากขึ้น สิ่งที่ทั้งร้านน้องและดีเจสยามมองเหมือนกันก็คือ ความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นเพลง ศิลปะ และแฟชั่น เป็นสิ่งที่เติบโตไปด้วยกัน เมื่อสังคมมีช่องทางให้คนรุ่นใหม่นำเสนอเพลงในแนวที่เขาชอบ เมื่อผลงานเหล่านั้นถูกยอมรับ ศิลปินหน้าใหม่เหล่านั้นก็จะกลายเป็นต้นแบบ ที่ทำให้วัยรุ่นทั้งหลายยึดตามไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอผลงานการแสดง รวมไปถึงการแต่งกาย ร้านน้อง ท่าพระจันทร์ ให้ความเห็นว่า อย่างแฟชั่น hip-hop ที่นิยมอยู่ในขณะนี้ ก็สอดคล้องกับแนวเพลงที่ hip-hop กำลังเป็นที่นิยม มีศิลปิน hip-hop ที่เป็นคนไทยเกิดขึ้นมาก โดยแผงเทปของที่ร้านก็จะมี hip-hop หน้าใหม่ๆ มาวางจำหน่ายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น “T- Hop”, “What Da Fuck” แสดงให้เห็นถึงกระแสของ hip-hop ที่แรงมากในช่วงนี้ และคิดว่าคงจะอยู่ไปในสังคมได้อีกสักระยะหนึ่ง
จะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม การเปิดกว้างทางด้านแนวเพลงก็เป็นการเปิดกว้างให้กับแฟชั่นเช่นกัน การแต่งตัวของศิลปินอิสระรุ่นใหม่หลายๆ คน กลายเป็นต้นแบบให้วัยรุ่นหันมาแต่งตัวเลียนแบบตามๆ กัน จนเกิดเป็นแฟชั่นที่ติดปากกันว่า “เด็กแนว” เป็นแฟชั่นที่มาจากศิลปินที่แต่งตัวแบบที่เขาเป็นเขาชอบ ถูกพัฒนาเป็น “แฟชั่นเด็กแนว”
แน่นอน เด็กแนว ไม่สามารถหาคำอธิบายได้อย่างชัดเจน ถ้าจะแบ่งแยกตามแนวเพลง แต่ละแนวก็จะแต่งตัวแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น hip-hop ที่เน้นเสื้อตัวใหญ่ กางเกงสามส่วนตัวใหญ่ ใส่หมวก หรือจะเป็นแนว punk ที่แต่งตัวดูเปรี้ยวสะดุดตา เพื่อให้เป็นที่สนใจแก่สายตาคนรอบข้าง จนบางครั้งดูน่ากลัว
อย่างไรก็ตาม ยังมีวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยที่ยังค้นหาตัวเองและไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วตนเองชอบ “แนวไหน” ทำให้หลายคนแต่งตัวไปตามกระแส “เด็กแนว” ทั้งๆ ที่บอกไม่ได้ว่าตัวเองชอบอะไร
เปี๊ยก ดีเจสยามให้ความเห็นว่า “ที่ผมเห็นส่วนมากจะเป็นพวกตามแฟชั่น หลอกตัวเอง เสียมากกว่า คือบางคนไม่ได้ชอบไม่ได้เป็นแนวนั้นจริงๆ แต่ก็แต่งตามเพื่อนหรือตามศิลปินไป”
ส่วนเจ้าของร้านน้องก็มีความเห็นคล้ายๆ กัน “มันก็จริงที่ว่าตอนนี้ก็มีหลายคนที่หลอกตัวเองอยู่ พี่สังเกตได้จากคนที่มาขอบัตรไปงาน FAT Festival นะ คือเรามองเราก็รู้แล้วว่าคนไหนที่มาเอาบัตรเป็นเด็กแนวอินดี้จริงๆ คนไหนที่มาเอาแล้วเป็นพวกเกเร หรือตามแฟชั่น”
เพลง และแฟชั่น แต่ละแนวแต่ละประเภท ก็มีขึ้นมีลงไปตามกระแสนิยม วันนี้ hip-hop ในอนาคต อาจจะเป็น punk ก็ได้ สิ่งสำคัญที่สะท้อนผ่านร้านเทปอย่างน้อง ท่าพระจันทร์ และดีเจสยาม ก็คือความกล้าในการนำเสนอ ความกล้าในการแสดงออกทางด้านความคิด และผลงานของคนรุ่นใหม่ที่มีมากขึ้น ทำให้สังคมมีตัวเลือกมากขึ้น “เลือกที่จะเป็นแนวไหนที่อยากเป็น”