ต้าเจียห่าว : สุดฝันของหนังสือทำมือ

เมื่อวัยรุ่นเป็นวัยที่ถูกนิยามว่า เป็นวัยแห่งการแสวงหาและการแสดงออก ยิ่งหนุ่มสาวเติบโตและวิ่งไล่หาความฝัน งาน ไม่ว่าจะเป็นดนตรี ภาพยนตร์ หรืองานวรรณกรรม ก็เป็นหนึ่งในสื่อทางเลือกที่หนุ่มสาวรุ่นใหม่แสวงหาหนทางการแสดงออกที่ตนเองถนัด

ต้าเจียห่าว ถือกำเนิดขึ้นมาจากการเป็นนิตยสารรายเดือนที่วาง “positioning” ตัวเองออกจากกระแสหลัก โดยนำเสนอเนื้อหาเรื่องราวของจีน ในแง่มุมต่างๆ ภาษาจีนและศาสตร์จีนแบบประยุกต์ รวมไปถึงเรื่องราวจากคนไทยเชื้อสายจีนรุ่นใหม่ ด้วยอารมณ์การนำเสนอที่สนุกสนาน ทั้งไอเดียและรูปแบบความเป็นอินดี้ กลุ่มคนอ่านอายุ 18-25 ปี

หลังจากจับมือกับกลุ่มทุนอย่างบริษัทไทยเดย์ ด็อทคอม ในเครือผู้จัดการ ต้าเจียห่าวได้ปรับเปลี่ยนตัวเองจาก “สื่อสำหรับชุมชน” ชาวจีนในเยาวราช ให้สอดคล้องกับกลุ่มผู้อ่านที่ใหญ่ขึ้น จากยอดพิมพ์ช่วงแรกๆ ราว 2,000 เล่ม เล่มละ 5 บาท จนถึง 50,000 ราคา 60 บาท ในปัจจุบัน

เพียงช่วงระยะเวลา 2 ปีกว่า ผ่านการปรับเปลี่ยนรูปแบบมา 4 เวอร์ชั่น จนกลายมาเป็นนิตยสารที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง โดยวางแผงหนังสือทั่วประเทศ เป็นแกลอรี่แสดงฝีมือความมั่นใจของพวกเขาที่มีความเป็นอินดี้ทั้งวิธีคิดและการดำเนินงาน

“ถามว่ามันเปลี่ยนแปลงอะไรไหม เพราะว่าคนทำก็เป็นคนเดิม ใจก็เป็นใจเดิม เป็นรากเดิมที่ต่อยอดขึ้นมา น่าดีใจที่ทำหนังสือแล้ววางขายได้ทั่วประเทศ ตอนนั้นเราทำเล็กๆ ได้แค่เยาวราชก็เท่แล้ว เดินไปวางเอง กว่าจะคุยกับอาซิ้มจนเข้าใจ พอเราไปเห็นหนังสือเราวางที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน แล้วดีใจ ตกใจ ถ่ายรูปเก็บไว้เลย” ธนกร แสงสินธุ์ (กร) หนึ่งในบรรณาธิการบริหาร ร่วมกับ กิตติ จินศิริวานิชย์ (เหมา) ผู้ก่อตั้งหนังสือ กล่าว

ที่แล้วมา หนังสือทำมือซึ่งพิมพ์จากหน้ากระดาษบนเครื่องซีร็อกซ์แทนแท่นพิมพ์ มักถูกวางขายตามแผง ตามงานเทศกาล ไม่ว่าจะเป็นที่งานปิดถนนพระอาทิตย์ หรืองาน Fat Festival หรือแม้แต่หน้าห้างมาบุญครอง นอกจากฝากขายตามร้าน เช่น ร้านนายอินทร์ ท่าพระจันทร์, ร้านหนังสือเดินทาง หรือร้านกาแฟบ้านพระอาทิตย์

“เมื่อเราอยู่ค่ายใหญ่ หนังสือเราต้องใหญ่ขึ้น เราต้องขายคนมากขึ้น ถ้าเราอยากหาปลาในทะเลก็ต้องใช้น้ำมันเยอะ แต่ถ้าเราจะหาปลาในหนองอะไรก็คงได้หมด กับบริษัทใหญ่มองว่าเขาทำให้เรามีงานทำในสิ่งที่เราอยากทำ เราไม่ได้ตั้งเป้าว่าเราจะทำยังไงให้เราใหญ่โต เราตั้งเป้าว่าเราทำในสิ่งที่มันสนุก แต่คนที่อ่านได้อะไร แล้วสร้างคนกลุ่มนี้ขึ้นมาเป็น “ชาวต้า” คนที่สนใจเรื่องจีนเหมือนกัน”

แน่นอนว่า การที่ต้าเจียห่าวได้กลุ่มทุนที่สนับสนุนอย่างบริษัทไทยเดย์ ด็อทคอม ในเครือผู้จัดการ ได้ทำความฝันของคนเล็กๆ ให้กลายเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้รับความสนใจจากสื่อต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์รายวัน โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ที่นำเสนอในประเด็นของเกิดขึ้นของ สื่อชุมชนโดยคนรุ่นใหม่ที่เชื่อมเอาวัฒนธรรมเก่าไว้ด้วย

ทุกวันนี้ ต้าเจียห่าวได้กลายเป็นหนึ่งในวัฒนธรรม “จีนฮิพ” ของคนรุ่นใหม่ ที่มาพร้อมกับกระแสฮิพแบบ “Chinese Retro” ที่เราเห็นได้มากขึ้นเรื่อยๆ

การเติบโตของ “ต้าเจียห่าว” ในทิศทางที่เกี่ยวกับกิจกรรมอย่างงาน “ซินเจียยู่อี่ happy ตรุษ teen” ที่ถือว่าเป็นงานฉลองตรุษจีนของวัยรุ่น “อินดี้ฮิพ” ที่ใหญ่ที่สุด รวมไปถึงการมีคอนเท็นต์ทางทีวีใน รายการ “ต้าเจียห่าว” 3-4 โมงเย็นวันเสาร์ในช่อง 11 news1 สะท้อนถึงทิศทางเติบโตในขั้นต่อไป จากการใช้จุดแข็งของคอมมูนิตี้ที่นอกกระแส เป็นรูปแบบการ segmentation โดยใช้ lifestyle-driven ทางหนึ่งที่เป็นกลยุทธ์นิยมมากที่สุดในทีนมาร์เก็ตติ้ง ณ วันนี้

Website

www.dajiahao.net