ภาพของอาคารสูง 54 ชั้นที่ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้า อาจเป็นเพียงสิ่งปลูกสร้างสามัญที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในกรุงโตเกียว แต่สำหรับ Roppongi Hills โครงการที่เพิ่งสร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อกลางปี 2003 ที่ผ่านมา นี่คือศูนย์กลางทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ ใจกลางมหานครแห่งนี้
ด้วยขนาดของผืนที่ดินกว่า 11.6 เฮคตาร์ และพื้นที่ใช้สอยรวมกว่า 724,000 ตารางเมตร Roppongi Hills นับเป็นการวางแผนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใหม่ (Redevelopment Project) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกรุงโตเกียวในห้วงเวลาปัจจุบัน
แต่นั่นอาจเป็นเพียง fact & figure ที่ประกอบส่วนขึ้นเหมือนกับโครงการพัฒนาที่ดินอื่นๆ ที่มิได้มีความหมายใดๆ เลย หากปราศจากแนวความคิดที่ชัดเจนในการบริหารจัดการและดำเนินกิจกรรมที่สอดคล้องต่อกัน
“ผู้คนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในต่างประเทศกำลังเฝ้ามองความสำเร็จของ Roppongi Hills ในฐานะเมืองแม่แบบแห่งศตวรรษที่ 21” เป็นคำกล่าวของ Minoru Mori ประธานและ CEO ของ Mori Building Corporation เจ้าของและผู้ดำเนินการ Roppongi Hills ที่ไม่ได้เกินเลยจากข้อเท็จจริงแต่อย่างใด
จำนวนผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาใน Roppongi Hills นับตั้งแต่การเปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการในเดือนเมษายน 2003 มีมากถึงกว่า 1 แสนคนในแต่ละวันและเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 2 เท่าในช่วงสุดสัปดาห์เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
“Work, Rest, and Play” เป็นแนวความคิดรวบยอดที่ Minoru Mori กำหนดบทบาทให้กับโครงการแห่งนี้ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า สังคมยุคข่าวสารข้อมูลในศตวรรษใหม่ ผู้คนมีความต้องการสภาพแวดล้อมของเมืองที่สามารถเชื่อมโยงมิติต่างๆ สำหรับการดำรงชีพในชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวกและมีคุณภาพมากขึ้น
ประสบการณ์ในฐานะผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่มีอาคารอยู่ในการดูแลมากถึง122 แห่ง โดยส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมืองชั้นในของกรุงโตเกียว เป็นรากฐานของแนวคิดที่ผ่านกระบวนการสังเคราะห์ และตกผลึกก่อนจะนำเสนอเป็นรูปธรรม
Mori ได้เสนอแผนว่าด้วยการพัฒนาเขตเมืองแบบใหม่ (urban new deal policy) ซึ่งเป็นปรัชญาในการพัฒนาและออกแบบชุมชนเมือง ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมาธิการยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ เมื่อครั้งที่ Keizo Obuchi เป็นนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า การพัฒนาเขตเมืองจะต้องเปลี่ยนจากการขยายตัวแนวกว้างไปสู่การพัฒนาต่อยอดในแนวตั้ง ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้มีพื้นที่สำหรับการอยู่อาศัยเพิ่มขึ้น แต่ยังสามารถรักษาพื้นที่สีเขียวได้อีกด้วย
ที่สำคัญยิ่งไปกว่า พื้นที่ ซึ่งถือเป็น hardware แล้ว สิ่งที่ Mori เน้นย้ำในแผนของเขาก็คือ การจัดสรร software ทางวัฒนธรรม ที่ประกอบด้วย ศิลปะ การศึกษา อาหาร และความร่วมสมัย
กลุ่มอาคารที่แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้รับการออกแบบให้รองรับกับแนวความคิดดังกล่าว โดยใน Zone A ซึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือติดกับเส้นทางสัญจรหลัก Roppongi Dori และทางเดินเชื่อมสู่สถานีรถไฟใต้ดิน ทำหน้าที่เป็นประหนึ่งประตูทางเข้าขนาดใหญ่ ขณะที่พื้นที่กว่า 6,600 ตารางเมตรของ plaza ประกอบไปด้วยร้านค้านานาชนิด ที่ดึงดูดให้ผู้คนทุกเพศวัย ต่างทยอยสลับเปลี่ยนให้พื้นที่แห่งนี้มีสีสันตระการตาอยู่ตลอดเวลา
แตกต่างจากความสงบร่มรื่นที่ดำเนินไปอย่างไม่เร่งรีบมากนักในกลุ่มอาคารของ Zone C ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของโครงการที่ได้รับการจัดให้เป็นเขตที่พักอาศัย ด้วยอาคารขนาดกลาง 4 หลัง ที่ประกอบเป็นที่พักอาศัยกว่า 840 หน่วย สำหรับผู้คนไม่น้อยกว่า 2000 ชีวิต และอาคารสำนักงานขนาดปานกลางอีกแห่งหนึ่ง
ศูนย์กลางของ City within the City ตามแนวคิดของโครงการได้รับการจัดวางไว้ใน Zone B ด้วยอาคาร Mori Tower สูง 54 ชั้น ที่ตระหง่านสูงขึ้นไปในอากาศกว่า 238 เมตร ซึ่งนอกจากจะเป็นอาคารสำนักงานของบรรษัทหลากหลายแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของโรงแรมขนาด 390 ห้องพักระดับ 5 ดาว Grand Hyatt Tokyo และศูนย์การออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ Asahi ด้วย
แม้ว่าพื้นที่โดยรอบของ Zone B จะได้รับการจัดสรรให้ทำหน้าที่เป็น Art space ด้วยการมีโรงมหรสพสำหรับ performing arts และศิลปะแขนงอื่นๆ อยู่แล้ว แต่พื้นที่ตั้งแต่ชั้นที่ 49 ไปถึง roof top ของอาคาร Mori Tower ได้รับการจัดวางให้ทำหน้าที่เป็นที่ตั้งของ Mori Arts Center โดยมี Mori Art Museum บนพื้นที่ของชั้นที่ 52-53 เป็นประหนึ่ง crown jewel ของโครงการ Roppongi Hills โดยองค์รวมเลยทีเดียว
ขณะที่การเปิดตัว Mori Art Museum เมื่อเดือนตุลาคม 2003 ซึ่งได้รับการกำหนดให้เป็นการเปิดตัว Roppongi Hills อย่างเป็นทางการและสมบูรณ์แบบอีกวาระหนึ่งด้วยนั้น ได้ส่งผ่านข้อความที่น่าสนใจไม่น้อย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้บริบทของการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของกรุงโตเกียว ที่กำลังส่งผลก่อรูปเป็นแบบแผนการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 นี้