Roppongi Hills: พัฒนาเมืองให้เป็นเมือง

การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในเขตมหานครที่มีผู้คนและสิ่งปลูกสร้างอย่างคับคั่งหนาแน่นเช่นในกรุงโตเกียว มิได้เกิดขึ้นเพียงเพราะความต้องการของบรรษัทที่มุ่งอาศัยสรรพกำลังของทุนในดำเนินการเท่านั้น หากแต่เกิดขึ้นจากผลของความต้องการที่จะพัฒนาร่วมกันของประชาคมโดยองค์รวม ควบคู่กับวิสัยทัศน์ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนด้วย

โครงการที่ปัจจุบันได้รับการเรียกขานว่า Roppongi Hills ดูจะเป็นตัวอย่างของความข้างต้นอย่างชัดเจนและมีรูปธรรมที่จับต้องและสัมผัสได้ดีที่สุดอีกตัวอย่างหนึ่ง

จากจุดเริ่มต้นของความพยายามที่จะใช้ประโยชน์ในทรัพยากรที่ดินที่มีอยู่อย่างจำกัดให้สามารถรองรับกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นของผู้คน และการสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มในทางธุรกิจของพื้นที่ตั้งของโครงการ ซึ่งอยู่ในเขต Roppongi 6-Chome หรือหากจะเปรียบกับการแบ่งเขตแบบไทย ก็คงเทียบได้กับแขวงที่ 6 ในเขต Roppongi ที่แต่เดิมเป็นพื้นที่ที่มีประชาชนและบรรษัทห้างร้านตั้งถิ่นฐานและสถานประกอบการอยู่อย่างมั่นคงมาก่อนแล้ว

กระทั่งในเดือนพฤศจิกายน ปี 1986 แนวความคิดที่จะจัดการและปรับสภาพพื้นที่โดยรวมของชุมชนได้ปรากฏเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ด้วยการประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวมีสถานะเป็น เขตเพื่อการจูงใจสำหรับการพัฒนาใหม่ (redelopment inducement area status) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของพัฒนาการ ภายใต้ชื่อ Roppongi 6-chome redevelopment project ที่ยาวนานกว่า 1 ทศวรรษในเวลาต่อมา

ในปี 1988 คณะทำงานระดับเมืองเพื่อการพัฒนาชุมชน (Community-improvement town meetings) ได้รับการจัดตั้งขึ้น เพื่อรวบรวมความต้องการของประชาคม ก่อนที่จะปรับสถานะมาเป็น คณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาชุมชน (Community-improvement Council) ในปี 1990 ซึ่งนำไปสู่คณะทำงานเพื่อการเตรียมการพัฒนาชุมชนใหม่ (Roppongi 6-chome urban redevelopment preparatory association)

คณะทำงานและกรรมาธิการเหล่านี้มิได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อถกแถลงถึงรูปแบบการพัฒนาอย่างรอบด้านและผลกระทบซึ่งรวมถึงภูมิสถาปัตย์ของสิ่งปลูกสร้างที่จะเกิดมีขึ้นเท่านั้น หากต้องสืบค้นและพิสูจน์สิทธิในที่ดินของผู้ครอบครองแต่ละรายเพื่อยกร่างเป็นข้อตกลงระหว่างกันด้วย

กระบวนการเพื่อแสวงหาจุดร่วมเพื่อให้เป็นที่พึงพอใจของแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้เวลานานถึง 10 ปี โดยการถ่ายโอนสิทธิของผู้ครอบครองแต่ละรายมาสู่ Mori Building Corporation ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการนี้ เริ่มดำเนินการได้ในช่วงปลายของปี 1999 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2000 และเริ่มลงมือก่อสร้างได้ในเดือนเมษายนของปี 2000 นี้เอง

ในเดือน มิถุนายน 2000 โครงการ Roppongi 6-chome redevelopment project ได้รับการเรียกขานใหม่ ภายใต้ชื่อ Roppongi Hills ก่อนที่การก่อสร้างจะเสร็จสมบูรณ์ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2003 ตามกำหนดการที่ได้วางไว้ พร้อมกับการเปิดตัว ตราสัญลักษณ์ ซึ่งเป็นประหนึ่งตัวแทนของเรื่องราวทั้งหมดได้อย่างลงตัว