คืนวันแห่ง Roppongi

แม้ว่าสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับผู้คนยามราตรี (night-life) ของกรุงโตเกียว จะมีอยู่อย่างดาษดื่น แต่คงไม่มีสถานที่แห่งใด มีสถานะเป็นประหนึ่งศูนย์กลางของชีวิตกลางคืนได้เทียบเท่ากับ Roppongi

ในหนังสือหรือเอกสารแนะนำสถานที่ต่างๆ ในกรุงโตเกียว เกือบทุกฉบับกล่าวถึงสถานที่แห่งนี้ไปในทางใกล้เคียงกันในทำนองที่ว่า เมื่อคุณอยู่พูดถึงการท่องราตรีในกรุงโตเกียว เป็นไปได้มากทีเดียวที่คุณกำลังย่างกรายเข้าสู่ Roppongi ซึ่งดูจะเป็นจริงไม่เฉพาะกับนักท่องเที่ยวจากถิ่นอื่นเท่านั้น หากสำหรับผู้คนในโตเกียวเอง ความข้อนี้ก็มิได้มีข้อยกเว้นอย่างใด

เพราะพลันที่แสงอาทิตย์คล้อยตัวอัสดงลง แสงจรัสจ้าของ Roppongi ก็เริ่มเปิดเผยสีสันชีวิตยามราตรีของมหานครแห่งนี้ ด้วยสารพันร้านดื่มกินในทุกรูปแบบที่สุดจะบรรยายได้อย่างหมดจด ไม่ว่าจะเป็นผับในบรรยากาศสบายๆ หรือในแบบที่มีสาวๆ คอยนั่งเคียงอยู่ไม่ห่าง ไล่เรียงไปสู่ club ในแบบที่เปิดเพลงให้เต้นรำในสารพัดรูปแบบกันอย่างลืมเหนื่อย

ความเป็นมาและเป็นไปของ Roppongi ที่ปรากฏในปัจจุบันเกี่ยวพันอยู่กับรากที่มาของนามเรียกขานสถานที่แห่งนี้ไม่น้อย เพราะจากความหมายตามตัวอักษรที่หมายถึงต้นไม้ 6 ต้นแล้ว เชื่อกันว่าต้นไม้ทั้ง 6 เป็นชื่อของขุนนางเจ้าที่ดินศักดินาท้องถิ่นตั้งแต่ก่อนสมัย Edo ซึ่งนิยมนำชื่อไม้มงคลมาเป็นชื่อตัว โดยขุนนางเจ้าที่ดินเหล่านี้ จะปลูกเรือนที่พักไว้บนเนินเขาตามหลักแห่งพิชัยสงคราม ส่วนพื้นที่ราบด้านล่างมีไว้สำหรับระดมและฝึกฝนไพร่พล พร้อมกับเป็นที่อยู่อาศัย และประกอบกสิกรรมสำหรับชีวิตประจำวันและเตรียมไว้เป็นเสบียงกรังในยามศึกด้วย

ความเป็นเขตทหารของ Roppongi ยังดำเนินสืบมาแม้ว่าจะมีการย้ายเมืองหลวงจาก เกียวโตมาสู่โตเกียวในสมัย Edo โดยพื้นที่แห่งนี้ยังเป็นสนามฝึกและเป็นที่ระดมพล และยังคงสถานภาพดังกล่าวแม้ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยกองกำลังทหารสหรัฐอเมริกา ในนามของ Occupation forces ได้ใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งกองกำลัง

การเติบโตขึ้นของ Roppongi จึงผูกพันอย่างแนบแน่นกับการดำรงอยู่ของเหล่าชายในวัยฉกรรจ์ ที่แสวงหาสถานที่เริงรมย์ยามค่ำคืนและพร้อมจะจ่ายเพื่อความหรรษานี้

กระนั้นก็ดีเรื่องราวของแสงสีที่ฉายโชนอยู่ในเขต Roppongi ในห้วงเวลาที่กองกำลังของสหรัฐอเมริกาดำรงอยู่นั้น ก็มิได้ทำให้ Roppongi เจิดจำรัสมากนัก หากยังเป็นเพียง พื้นที่ต้องห้าม กระทั่งในช่วงต้นของทศวรรษที่ 1960 เมื่อสหรัฐอเมริกาได้ถอนตัวออกจากบริเวณดังกล่าวไป ความหวังที่ Roppongi จะพัฒนาขึ้นมาเป็นย่านสันทนาการยิ่งอยู่ห่างไกลมากขึ้นไปอีก

พัฒนาการที่เสริมให้มีผู้คนเคลื่อนตัวเข้ามาใน Roppongi น่าจะอยู่ที่ การสร้างหอคอยกรุงโตเกียว (Tokyo Tower: 1958) ในด้านทิศใต้ของเมือง และการก่อสร้างสถานีโทรทัศน์ Asahi ในปี 1959 ซึ่งส่งผลให้มีคนหนุ่มสาวหลั่งไหลเข้ามาใน Roppongi ด้วยหวังจะได้ใกล้ชิดกับพระเจ้าองค์ใหม่ของยุคสมัยที่ชื่อ โทรทัศน์ และนักแสดงที่พวกเขาชื่นชม ยังไม่นับรวมโอกาสใหม่ๆ ที่อาจได้รับการหยิบยื่นจากแมวมองในแวดวงบันเทิงด้วย

Roppongi จึงกลายเป็นสถานที่รวมพลของกลุ่มชนในชุดเสื้อผ้าล้ำสมัย ที่ประชันขันแข่งกันอยู่ในที

การเปลี่ยนแปลงที่มีผลอย่างสำคัญอีกครั้งหนึ่งต่อการเติบโตของ Roppongi อยู่ที่การก่อสร้างเส้นทางรถไฟใต้ดินสาย Hibiya (Hibiya Subway line) เมื่อปี 1964 ซึ่งทำให้การเดินทางเข้าสู่เขต Roppongi สะดวกยิ่งขึ้น พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของกลุ่มอาคารขนาดใหญ่ ที่เสริมให้จักรกลทางเศรษฐกิจของ Roppongi มีสีสันมากยิ่งขึ้น

ความแตกต่างอีกประการหนึ่งที่ส่งให้ Roppongi โดดเด่นกว่าย่านบันเทิงเริงรมย์แห่งอื่นๆ ของกรุงโตเกียว ก็คือ Roppongi เป็นย่านบันเทิงแห่งเดียวของกรุงโตเกียวที่ไม่ใช่ศูนย์กลางของการคมนาคมดังที่ปรากฏในย่าน Shibuya, Shinjuku หรือแม้ Ikebukuro และดูเหมือนว่าการสัญจรของผู้คน ด้วยรถไฟใต้ดินสาย Hibiya มายังสถานี Roppongi ในชั่วโมงหลังเลิกงานจะมีความหนาแน่นและคับคั่งมากกว่าเส้นทางรถไฟสายใดในเขตกรุงโตเกียวด้วย

ยุคสมัยแห่งความเฟื่องฟูของโทรทัศน์ อาจจะเคลื่อนตัวผ่าน Roppongi ไปนานแล้ว และไม่ใช่แรงดึงดูดสำคัญให้ผู้คนหลั่งไหลมาสู่พื้นที่แห่งนี้ แต่ความบันเทิงเริงรมย์ที่เพิ่มจำนวนและรูปแบบยังคงเป็นระเบียบแบบแผนสำหรับชีวิตใน Roppongi อย่างไม่เสื่อมคลาย

ซึ่งแม้การผ่านเข้ามาใน Roppongi เพียงเพื่อเฝ้ามองเฝ้าดูผู้คนก็สามารถสร้างความรื่นรมย์ได้ไม่น้อยแล้ว