SMS เลือกคนโดนใจ!!

ทุกวันนี้ SMS กำลังกลายเป็นเครื่องมือการตลาดอย่างหนึ่ง ของบรรดาเหล่าเกมโชว์ รวมทั้งรายการเรียลลิตี้ (reality) ที่ออนแอร์ทางสถานีโทรทัศน์ในบ้านเราเกือบทุกช่อง ด้วยเหตุผลที่ SMS สร้างโอกาสให้ผู้ชมสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในรายการแบบ interactive ได้

“สันติ เมธาวิกุล” Chief Customer Officer หรือ CCO บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) บอกว่า รายการประเภท reality ช่วยกระตุ้นรายได้จากบริการเสริม SMS เพิ่มขึ้นประมาณ 30-40% โดยเฉพาะรายการ Academy Fantasia ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นรายการรูปแบบใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน

หากพิจารณาจากรายได้บริการเสริมมูลค่า 2,000 ล้านบาทในปี 2547 ของดีแทคพบว่า บริการประเภท SMS มีสัดส่วนสูงสุดถึง 70% และช่องทางที่กระตุ้นให้เกิดการใช้ SMS ที่เกิดขึ้นจากคนดูรายการโทรทัศน์โหวตเข้าไปร่วมสนุกในรายการเกมโชว์ หรือโหวตให้คะแนนคนที่ชอบในรายการประเภท reality นั่นเอง

“การโหวตผ่าน SMS เป็นการแสดงความรู้สึกแบบหนึ่ง ที่ต้องอาศัย emotional เป็นหัวใจสำคัญ เพราะไม่มีใครสามารถบังคับให้ผู้ชมส่ง SMS เข้าไปในรายการได้ ยกเว้นผู้ชมจะชื่นชอบ และอยากเข้าไปมีส่วนร่วมในรายการ reality หรือแสดงคิดเห็นในเกี่ยวกับข่าวที่ได้รับความนิยมสูง”

เช่นเดียวกับปีนี้ที่กระแสรายการ reality ได้สร้างความฮือฮาให้วงการโทรทัศน์ จนทุกสถานีไม่ว่าจะช่อง 3, 5, 7, 9 หรือไอทีวี ต้องปรับผังรายการใหม่เพื่อเพิ่มรายได้จากรายการประเภทนี้ ตามกระแสบริโภคนิยมที่เพิ่มสูงขึ้น โดยใช้ SMS เป็นเครื่องมือในการทำตลาดร่วมกันระหว่างผู้นำเสนอรายการ และโอเปอเรเตอร์ผู้ให้บริการ SMS ที่แบ่งสัดส่วนรายได้ที่ประมาณ 50:50 เท่าๆ กัน

ที่น่าสังเกต คือรายได้จากบริการ SMS ที่มาจากรายการประเภท reality ในปีนี้ ไม่ได้หวือหวาเหมือนที่ผ่านมา แม้จะมีกระแสความนิยมรายการ reality ล้นจอในทุกวันนี้ นั่นอาจจะแสดงให้เห็นว่า จริงๆ กระแส reality อาจจะได้รับความสนใจในช่วงต้นๆ เพราะไม่เคยมีมาก่อน แต่ในที่สุด ก็จะกลายเป็น nich ที่เหมาะกับตลาดเฉพาะกลุ่มเท่านั้นก็ได้

“รายการ reality ประเภทเพลงน่าจะได้รับความสนใจสูงสุด เพราะเป็นรายการที่เข้าถึงกลุ่มคนได้ทุกประเภท และมีความเป็นไลฟ์สไตล์สูง แตกต่างจากรายได้ reality อื่นๆ ในปัจจุบัน ที่อาจจะมีการเอาคนมาอยู่รวมกัน แล้วให้คนดูแล้วนั่งโหวตเข้าไป ซึ่งอาจจะมีคนบางกลุ่มเท่านั้นที่ชอบ”

สอดคล้องกับมุมมอง “อาจกิจ สุนทรวัฒน์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจมัลติมีเดียไร้สาย บริษัท ทีเอ ออเร้นจ์ จำกัด บอกว่า จริงๆ แล้วรายการ reality ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนใช้บริการ SMS เพิ่มมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด เพราะปีนี้บริษัทมีรายได้ SMS เติบโตจากรายการประเภทนี้ไม่เกิน 5% เท่านั้น

แต่ยอมรับว่ารายการ reality เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นการใช้บริการ SMS แต่ก็ไม่ใช่ตลาดหลักที่จะต้องไปโฟกัสมากนัก เพราะปัจจุบันยังมีตลาดในกลุ่มอื่นๆ อาทิ ตลาด M-Commerce และการใช้งานทั่วไป เป็นต้น

ขณะที่ “สุวิทย์ อารยะวิไลพงศ์” ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาธุรกิจสื่อสาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บอกว่า reality เป็นมิติใหม่ของโอเปอเรเตอร์ที่ช่วยกระตุ้นการใช้ SMS เพื่อทำให้เกิด interactive ทางโทรทัศน์ และใช้เป็นเครื่องมือวัดเรตติ้งได้ง่าย รวมทั้งเป็นการตลาดรูปแบบหนึ่งที่จะเข้ามาสร้างสีสันมากขึ้นในปีนี้