เอกชยา สุขศิริ บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Volume

Volume นิตยสารผู้หญิงน้องใหม่สดๆ ร้อนๆ ถึงแม้จะมาใหม่ แต่กระแสแรงกว่าใคร ด้วยรูปแบบที่แปลกใหม่ การเปิดตัวที่ทำให้เกิด Talk of the Town รวมทั้งการมีเนื้อหาที่เรียกว่าซื้อเล่มเดียวก็คุ้ม POSITIONING เลยต้องรีบไปสัมภาษณ์บรรณาธิการบริหารคนเก่ง เอกชยา สุขศิริ ซึ่งเป็นคนที่มีประสบการณ์และคร่ำหวอดอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 10 ปีแล้ว

– จุดเริ่มต้นในการเข้าสู่เส้นทางของนิตยสาร

ตั้งแต่สมัยเรียนจะเน้นทำ thesis ในเรื่องของสื่อ การออกแบบสิ่งพิมพ์มาตลอด สนใจด้านนี้มาตั้งแต่เรียนแล้ว เริ่มตั้งแต่สมัยยังไม่จบ ก็ไปฝึกงานที่อมรินทร์ พริ้นติ้ง ฝึกที่นิตยสาร Trendy Man เป็นนิตยสารผู้ชายในเครืออมรินทร์ พอนิตยสารเล่มนี้ปิดตัวลงก็เลยถูกโยกมาอยู่ที่แพรว จากนั้นก็ลาออกไปทำ spaghetti กับพี่โหน่ง วงศ์ทนง แต่หนังสือไม่ได้ออก ก็เลยได้เข้าไปเป็นบรรณาธิการบทความที่นิตยสาร LIPS หลังจากนั้นก็ย้ายไปเป็นบรรณาธิการบริหารที่ GM Plus พอมาปีนี้ก็มาเป็นบรรณาธิการบริหารที่นิตยสาร Volume

– ทำไมถึงสนใจทำเกี่ยวกับหนังสือ

ผมโชคดีที่ทางบ้านปลูกฝังให้มีนิสัยรักการอ่าน และคุณพ่อคุณแม่ก็จะรับนิตยสารหลายเล่มมาก ไม่ว่าจะเป็น ฟ้าเมืองไทย สกุลไทย สตรีสาร ลลนา ก็จะวาดภาพ ส่งเรื่องไปลงหนังสือตั้งแต่เด็กๆ ถึงผมจะไม่ได้มาทางสายนักข่าวโดยตรง แต่เรารู้ว่าความสนใจเรามาทางไหน

– ส่วนใหญ่เขียนเกี่ยวกับเรื่องอะไร

ผมเริ่มต้นเหมือนกองบรรณาธิการคนอื่นๆ ทั่วไป เหมือนเด็กจบใหม่ทั่วไป ก็เขียนข่าวสังคม ทำช้อปปิ้งไกด์ กินดื่ม สัมภาษณ์บุคคลสั้นๆ จนกระทั่งได้พัฒนาฝีมือ ลองผิดลองถูก ได้รับความกรุณาจากบรรณาธิการ ได้สัมภาษณ์บุคคลยาวๆ คนจะรู้จักผมในการสัมภาษณ์ซะมาก

– มีนามปากกาบ้างหรือเปล่า

ผมใช้ “เอกชยา” ตลอด เพราะคิดว่าชื่อผมเป็นนามปากกาได้ “เอกชยา” แปลว่า ผู้มีชัยชนะเป็นที่หนึ่ง คล้ายกับเอกชัย แต่ไม่เคยเห็นใครใช้ชื่อ เอกชยา เลยนะ

– เข้ามาทำ Volume ได้อย่างไร

ผมเคยทำงานกับพวกพี่เค้า คือพี่อ็อด พี่ลูกน้ำ สมัยที่เป็น บก. บทความที่ LIPS มีความสัมพันธ์ที่ดี และก็พวกพี่เค้าจะเปิดทำหนังสือเล่มใหม่ เค้าก็คิดถึงผม ซึ่งผมก็ต้องขอขอบคุณที่พี่เค้าคิดถึง

– ตอนเป็น บก. GM ก็อยู่ตั้งแต่บุกเบิก

คือหนังสือ GM เค้าเคยเป็นรายเดือน และก็เปลี่ยนเป็นรายปักษ์ พอรายปักษ์ เค้าต้องการให้เป็นนวัตกรรมของสิ่งพิมพ์ เป็นรายปักษ์ที่ไม่เหมือนรายปักษ์ GM Plus ก็จะเป็นหนุ่มที่ขี้เล่นขึ้น กระชุ่มกระชวย สนใจเรื่องการแต่งตัว ซึ่งก็คงความมีสาระและหนักแน่นสไตล์ของ GM ผมได้รับโจทย์มาว่า ทำอย่างไรถึงจะรักษาสมดุลของมัน ต้องเน้นคำว่าสาระ เพราะ GM เป็นนิตยสารขาย content ต้องมีความเหมือนและความต่าง

– กว่าจะมาเป็น Volume

Volume ไม่ใช่แค่เพียงนิตยสารเล่มใหม่ แต่มันเป็นบริษัทใหม่ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมา set บริษัทใหม่ มันค่อนข้างวุ่นวาย โต๊ะเก้าอี้ สถานที่ คอมพิวเตอร์ บุคลากร ทุกๆ อย่างมัน set ขึ้นใหม่ มันเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง เหตุผลที่ผมมาทำงานกับพวกพี่ๆ ผมคิดว่าผมอายุ 30 กว่าแล้ว ผมควรที่จะเริ่มต้นอะไรที่มันท้าทาย เป็นการเริ่มต้นจริงๆ ผมรู้สึกดีใจที่เห็นมันเป็นรูปเป็นร่าง แล้วพอ Volume ออกมามันรู้สึกดีใจ โอเค ถ้าถามว่า 3-4 เดือนที่ผ่านมาเหนื่อยมั้ย มันเหนื่อยมาก แต่พอมันออกมาแล้ว หายเหนื่อยไปเลย เห็นความสำเร็จ ผลตอบรับที่ดีเกินคาด รู้สึกว่าคนรักเราเยอะจัง

– นานมั้ยกว่าจะมาเป็น Volume

ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ก่อนหน้านั้นก็มีการพูดคุยกันบ้าง เริ่มงานกันจริงๆ กุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน ใช้เวลา 3 เดือนในการเตรียมงาน Volume และเราเป็นรายปักษ์

– ทำไมถึงออกเป็นรายปักษ์

ในความเป็นรายปักษ์ แน่นอนมันเหนื่อยกว่า แต่ความเป็นรายปักษ์มันได้เปรียบหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการทำ content คนอ่านสามารถที่จะอ่านเรื่องได้ สามารถติดตามได้ภายใน 15 วัน มันเป็นการไม่ทิ้งช่วงกับคนอ่าน สิ่งที่เน้นมาก็คือ ผมต้องการ column ที่มี 2-ways communication เพราะผมเชื่อว่าการสื่อสมัยนี้ต้องเป็น 2 ways ต้องเป็น interactive หลายๆ คอลัมน์ที่ผมดีไซน์ให้ผู้อ่านมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็น วิจารณ์ผลิตภัณฑ์ แสดงความคิดเห็น หรือว่าส่งเรื่องเข้ามาเป็นเรื่องสั้น ในเรื่องของการตลาด ลูกค้าคือลูกค้าโฆษณา มันมีการแข่งขันเข้มข้นมาก เพราะฉะนั้นสื่อที่มีพื้นที่ และ timing ในการออก เช่นสินค้าออกตอนปลายเดือน หรือต้นเดือน มันตอบรับกับในเรื่องของโฆษณาได้ดีกว่ารายเดือน ผมเชื่ออย่างนั้น

– แต่งานหนักกว่าเยอะเลย

งานหนักกว่าเยอะครับ เพราะว่า คือผมเคยทำหนังสือที่สวย เคยทำหนังสือที่มีเนื้อหาดีทุกคนยอมรับ แต่ผมจะทำอย่างไรให้ Volume เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาอ่านได้ เป็นหนังสือที่มีรูปเล่ม ภาพที่สวยงาม ทั้ง 2 อย่างมันเป็นโจทย์ที่ดูเหมือนง่าย แต่มันยากมากที่จะทำให้มันทั้งสวยด้วยมีเรื่องอ่านด้วย เพราะผมเชื่อว่า หนังสือยังไงก็มีไว้อ่าน เหมือนกับบ้านหลังหนึ่งสวยมากเลย ดึงดูดใจให้เราอยากที่จะผลักประตูเข้าไป แต่ถ้าผลักไปแล้วมันเป็นห้องโล่งที่ไม่มีอะไรเลย มันก็แค่เปิดเข้าไปแล้วก็เดินออก แต่ถ้าเปิดเข้าไปแล้ว มีความอบอุ่นอะไรที่เป็นบ้าน เราก็อยากเข้าไปอยู่ การทำนิตยสารก็ต้องเป็นอย่างนั้น

– คอนเซ็ปต์ของ Volume

คอนเซ็ปต์ของเราถูกจำกัดความด้วยคำภาษาอังกฤษ 3 คำ คือ Fashion, Emotion และ Transformation เป็นการเปิดโลกของผู้หญิง ในเรื่องของแฟชั่น อารมณ์ และความงาม นี่คือคอนเซ็ปต์รวมๆ ส่วนกลุ่มเป้าหมายก็คือ ผู้หญิงอายุ 20 – 40 ปี เป็นวัยที่กำลังจะเรียนจบ ทำงาน และก้าวสู่ระดับผู้บริหาร เราอยากให้นิตยสารเล่มนี้อ่านได้ทั้งครอบครัว เพราะว่าอ่านได้ทั้งครอบครัวเราถึงได้มี Volume Plus แทรกอยู่ด้านใน ความหนาประมาณ 40 หน้า เพื่อที่คุณแม่จะได้อ่าน มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับเด็ก มีเกม มีนิทาน แถมยังมีตุ๊กตาแต่งตัวอีก คือเด็กอาจจะเป็นรบเร้าให้คุณแม่ซื้อ Volume ก็ได้ และก็มีส่วนที่เป็น Volume X เป็นคัมภีร์สาวโสด มีเรื่องเกี่ยวกับ relationship เรื่อง sex เรื่องที่ผู้หญิงต้องรู้ เรียกว่า ซื้อหนึ่งได้สาม

– ทีมงาน

นักเขียนในมีประมาณ 10 คน นักเขียนนอกก็มีด้วย ส่วนหนึ่งที่มีส่วนสำคัญ ก็คือ emotion เราจะมี celebrity ไม่ว่าจะเป็นคนมีชื่อเสียง ดารา นักร้อง นางแบบ ผู้หญิง 5 คน ในแต่ละเล่มจะเขียนถึงอารมณ์ของผู้หญิง 5 คน 5 อารมณ์ใน 5 ปักษ์ พอจบเราก็จะเปลี่ยนคนใหม่ ทีมส่วนหนึ่งเป็นทีมที่มีประสบการณ์ โดยเฉพาะในส่วนของ beauty อีกส่วนเป็นเด็กจบใหม่ ผมต้องการไฟ ต้องการความคิดสร้างสรรค์ ไอเดียที่จะทำให้เรามีชีวิตชีวา ผมชอบทำงานกับเด็กรุ่นใหม่ ไม่ใช่แค่ผมให้เค้า เค้าก็ให้ผมเยอะ ผมไม่เชื่อว่าคนทำหนังสือจะต้องจบวารสารหรือนิเทศ ตัวผมก็ไม่ได้จบมาทางด้านนี้ มันอยู่ที่บุคลิก

– Gimmick ของ Volume

สีของ Volume คือ ฟ้าเทอคอยส์ ก็จะเห็นได้จากนามบัตร แต่ปกจะเปลี่ยนสีเรื่อยๆ ส่วนตัว O ในคำว่า Volume ก็จะมีรูปและ concept issue นั้นๆ บอกไว้ ซึ่งต้องสั่งทำที่ฮ่องกง ตกชิ้นละประมาณ 3 บาท คือต้องยอมรับว่า นิตยสารผู้หญิงในปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูงมาก ทั้งหัวไทยหัวนอก เราจะทำอย่างไรกับนิตยสารไทย ที่วางไว้ว่าเป็น Modern ไทย มีความโดดเด่น และเข้าไปอยู่ในใจของคนอ่านได้ เพราะฉะนั้นเราต้องทำงานหนักและเหนื่อย ผมกล้ารับประกันเลยว่า Volume ไม่เหมือนใครในแผงหนังสือ ไม่เหมือนกับนิตยสารไทยที่มีอยู่แล้ว และนิตยสารหัวนอก เราพยายามปรับทุกๆ อย่างให้เป็น Modern Thai ให้คนอ่านและผู้หญิงทุกคนสามารถสัมผัสได้ ยกตัวอย่าง แฟชั่น เราจะใช้นางแบบและนายแบบไทย ผมมีนโยบายกับผู้บริหารว่า ต้องการให้นิตยสารของเราสัมผัสได้ และสามารถเอาไปใช้ได้จริงๆ เน้นตรงนี้มาก

– ตอนหาโฆษณาแรกๆ ยากมั้ย เพราะเป็นนิตยสารใหม่

ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเราเป็นหนังสือใหม่ แต่บุคลากรของเราเป็นคนที่มีประสบการณ์มากๆ เป็นคนวงในแมกกาซีน พี่ๆ เค้า 20 ปีอัพ แต่ยังไงมันก็เป็นนิตยสารใหม่ ถามว่ายากมั้ย เหนื่อยแต่ไม่ถึงกับเริ่มต้นที่ศูนย์ อาจจะไม่ได้เริ่มที่ 7 แต่ 5 เนี้ยเราได้มาแล้ว แต่ก็ยังต้องรอการพิสูจน์ตัวเองนิดนึง ซึ่งผมให้เวลา Volume ไม่เกิน 6 ฉบับ เพราะเรามี concept จนถึงปลายปีแล้ว และแต่ละอันเป็น Talk of the Town แน่นอน

– การทำโฆษณาโปรโมตหนังสือ

แปลกมากที่คนรู้จัก และพูดกันติดปากเกี่ยวกับ Volume ตั้งแต่นิตยสารยังไม่ออก โอเค อาจจะมีข่าวอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับหนังสือโดยตรง แต่นั่นก็เป็นการสร้างความรับรู้กับหนังสือโดยตรง พอหนังสือออก เรามี สปอตวิทยุ เรามีการแถลงข่าว และเรามีการส่งข่าวประชาสัมพันธ์อยู่ตลอดเวลา และคำว่า Volume เป็นคำที่คนไทยคุ้นเคยดี

– ทำไมไม่ใช้ชื่อภาษาไทย

เราเป็นนิตยสาร Modern Thai แต่เราไม่ได้ใช้ชื่อภาษาไทย เพราะเราคิดว่านิตยสารเล่มนี้ ซักวันหนึ่งอาจจะมีเมืองนอกมาซื้อหัวเราไปก็ได้ และคำว่า Volume มันเป็นคำที่ positive ออกเสียงง่าย

– ปก

นิตยสารเมืองไทย ต้องยอมรับเลยว่าขายกันที่ปก ปกทุกปกต้องผ่านการคิดมาแล้ว หรืออาจจะเคยขึ้นปกเล่มอื่นมาแล้ว แต่พอมาขึ้นปก Volume ต้องเป็นสไตล์ของ Volume ต้องเป็นแฟชั่น ต้องมีพลังดึงดูด มี vision hook ส่วนคำโปรย ก็มีด้วย แต่ไม่โปรยเยอะ

– ของแถม

มันเป็นเรื่องของการตลาดโดยตรงเลย ถามว่า Volume จะมีมั้ย ในช่วงนี้เราไม่คิดว่าเราจะต้องมี เพราะเราไม่เชื่อว่าคนซื้อหนังสือเค้าอยากได้เสื้อ ครีมล้างหน้า เราเชื่อว่าคนซื้อหนังสือเพราะอยากอ่านหนังสือ ช่วงต้นผมอยากให้หนังสือมันได้หายใจในการเกิดใหม่ ให้คนได้รู้ ได้ดู พูดถึง

– ความแตกต่างตอนทำ GM Plus นิตยสารผู้ชาย และ Volume นิตยสารผู้หญิง

ผมโชคดีที่ได้ทำนิตยสารผู้ชายสลับกับนิตยสารผู้หญิง ไม่ได้หมายความว่า Volume หรือ GM Plus จะเป็นนิตยสาร unisex ผมเชื่อว่าผมจูนความสนใจได้ ผมจบในเรื่องของสื่อโดยตรง จะคิดถึงผู้รับสารเป็นหลัก การคิดคอลัมน์ของผมจะจับที่ความสนใจของ target group วิเคราะห์คนรับสารก่อนแล้วถึงมาแตกเป็น content ว่าคอลัมน์นี้ใครจะอ่าน

– การเป็น บก. ยากมั้ย

ยากกว่าตอนเป็นกองบรรณาธิการ การเป็น บก. ต้องดูคอนเซ็ปต์รวม ต้องบริหารงานบุคคล งานงบประมาณ มันเป็นขอบข่ายการรับผิดชอบงานที่กว้างขึ้น แต่มันก็ท้าทาย ผมยังอยู่ในวัยที่รับกับมันได้และก็สนุก

– คนที่จะเป็น บก. ได้

ต้องมีความสนใจรอบๆ กว้างๆ เหมือนกับเป็นเป็ด ว่ายน้ำได้ เดินบนบกได้ บินได้นิดหน่อย หมายถึงในเรื่องของความสนใจ แต่ถ้าเราจะเจาะ เวลาเราทำอะไรแล้วต้องรู้จริง ต้องให้คนอ่านรู้จริง ต้องเจาะ ต้องเสพเยอะๆ ตาม trend ต้องกว้าง และทำความกว้างให้มันลึกลงไปอีก และผมเชื่อว่าคนอ่านหนังสือเพื่อ relax

– ทุกเล่มมี Theme หรือเปล่า

มีครับ ก็จะช่วยกันคิด หนังสือทำคนเดียวไม่ได้ คนพูดว่า หนังสือคือ บก. ตัว บก. ก็ต้องทำลูกทีมด้วย เรามีการคุยกัน เดือนละ 2 ครั้งเพื่อออกมาเป็น Volume

– ต้องทำ Advertorial

การทำ advertorial โฆษณา มันเป็นประโยชน์ คนที่ต้องการจะใช้ประโยชน์จากสินค้าและบริการนั้นๆ คนอ่านก็จะได้ความรู้เพิ่มเติม มีปัญหาอะไรหรือเปล่า มันมีประโยชน์ของมัน ถ้าคุณเชื่อ ก็สามารถที่จะเลือก ผมไม่อยากทำสื่อแบบประเทศโลกที่ 3 ที่คนทำสื่อเป็นคนชี้ชะตาหรือกำหนดคนอ่านต้องทำแบบนี้ ผมเชื่อว่าผมทำให้คนอ่านที่มีวุฒิภาวะ มีความรู้ มีวิจารณญาณในการอ่าน

– นิตยสารผู้ชายมีผู้ชายเป็น บก. แล้วทำไมนิตยสารผู้หญิงมี บก. เป็นผู้ชายได้

ผมว่ามันอยู่ที่ความสนใจมากกว่า ถ้าเราตีโจทย์แตก เราดูที่กลุ่มเป้าหมาย ผมว่าผู้หญิงไปทำนิตยสารผู้ชายก็ได้ ผมว่าไม่แปลก มันอยู่ที่เราทำ และสามารถทำให้นิตยสารเข้าไปอยู่ในใจของลูกค้ามากกว่า

– อยากทำนิตยสารอื่นอีกมั้ย

ผมคิดว่าผมยังต้องพิสูจน์อีก ไม่เคยคิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จแล้ว ยังต้องการคำแนะนำอีกเยอะ อยากลองผิดลองถูกอีก

– การทำหนังสือหัวนอก หรือหัวในสนุกแตกต่างกันอย่างไร

ผมไม่เคยทำหัวนอก ถามว่าอยากมั้ย ณ วันนี้ไม่อยาก อยากทำหนังสือหัวไทยให้คนไทยอ่าน และพิสูจน์ว่าคนไทยทำหนังสือได้ไม่แพ้คนอื่น ผมไม่เชื่อว่าการแปลจากที่ถูกกำหนดมาจากบริษัทแม่ จะเป็นประโยชน์กับคนอ่านประเทศของเรา ผมเชื่อว่า content ที่ทำโดยคนไทย คิดโดยคนไทย ทำให้คนไทย มีประโยชน์มากกว่า ถึง Volume จะมีเรื่องต่างประเทศ แต่เพราะเรามี contributor คนไทยอยู่ทุกหัวมุมแฟชั่นโลก ไม่ว่าจะเป็นปารีส นิวยอร์ก โตเกียว เขียนเรื่องส่งมาให้เรา

พบกับนิตยสาร Volume ได้ทุกวันที่ 5 และ 20 ของเดือน ถ้าคุณอยากรู้ว่านิตยสารคนไทย เพื่อคนไทยดีแค่ไหน อ๋อ! นอกจากนี้ Volume ยังเป็นบริษัท organizer อีกด้วย สนใจติดต่อได้

Profile

Name : เอกชยา สุขศิริ
Age : 34 ปี
Education :
– ศึกษาศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1) เอกเทคโนโลยีการศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
– ครุศาสตรมหาบัณฑิต เอกโสตทัศนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Career Highlights :
– กองบรรณาธิการ Trendy Man
– กองบรรณาธิการแพรว
– บรรณาธิการบทความนิตยสาร LIPS
– บรรณาธิการสำนักพิมพ์กายมารุต
– บรรณาธิการบริหารนิตยสาร GM Plus
– ปัจจุบัน บรรณาธิการบริหารและผู้พิมพ์ผู้โฆษณานิตยสาร Volume
Quote : เชื่อในการกระทำ