High Society

แสงแฟลชที่ระยิบระยับ กล้องหลายสิบตัวจับภาพไปที่กลุ่มคน ซึ่งปรากฏตัวด้วยชุดแต่งกายหรูหรา แวววาวด้วยแสงจากเพชรหลายกระรัต ประดับอยู่ทั่วเรือนร่างตั้งแต่หัวจรดเท้า… คนกลุ่มนี้สังคมไทยต่างเรียกขานกันว่า ไฮโซ

ไม่มีนิยามหรือ เครื่องมือวัดความโด่งดังของพวกเขาเหล่านี้ บางคนบอกว่า แรง และเด่น เหนือกว่าดารา วัดความร้อนแรงได้จากสื่อหลายแขนง ทีวี นิตยสาร หนังสือพิมพ์ มีภาพและเรื่องราวไฮโซ เรียกได้ว่า มีตั้งแต่หน้าหนึ่ง ถึงหน้าสุดท้าย …

พลัง High Society หรือไฮโซ เป็นปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอย่างยิ่ง กลุ่มคนที่สังคมเรียกกันว่าไฮโซ กำลังมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนทางธุรกิจในยุคปัจจุบัน และเป็น ต่อยอดทางธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล

…ผู้ดีเก่า เศรษฐีใหม่ ตระกูลดัง นักธุรกิจชั้นนำ ดีกรีนักเรียนนอก ไล่เรียงมาถึง ความเด่นดัง เริ่ดหรู อลังการ ในการใช้ชีวิตประจำวันทางสังคม ล้วนเป็นคุณลักษณะพิเศษ ของไฮโซ ที่สามารถเรียกว่าเป็น “แบรนด์มีชีวิต” เป็นไลฟ์สไตล์ซึ่งเจ้าของธุรกิจทั่วฟ้าเมืองไทย ต่างอาศัยกำลังภายในกลุ่มคนเหล่านี้ช่วยส่งเสริมการดำเนินธุรกิจ และสร้างภาพลักษณ์ของตัวสินค้าและตัวองค์กร

ภาพกิจกรรมการส่งเสริมทางธุรกิจ สินค้าชื่อดังหลากหลาย เช่น บัตรเครดิต มือถือ สินค้าอุปกรณ์ไอทีที่เกี่ยวข้องกับสังคมเมือง จะปรากฏกลุ่มไฮโซแรกรุ่น และรุ่นแรก อวดโฉมอยู่ในงานกิจกรรม และถูกรับเชิญ ว่าจ้างให้มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ เป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึง การวาง Positioning ของเจ้าของธุรกิจที่มุ่งนำความเป็นไลฟ์สไตล์มาสร้างหรือชุบแบรนด์สินค้าให้เป็น Premium Mass

ขณะเดียวกันปรากฏการณ์พลังแห่งไฮโซได้เชื่อมต่อการทำธุรกิจ กลายเป็น Snow ball สำคัญที่เกิดการทำธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะธุรกิจรับจัดกิจกรรมงาน รับเชิญบรรดากลุ่มเซเรบริตี้ออกงานแสดงสินค้า ซึ่งเป็นธุรกิจหนึ่งที่บานสะพรั่ง สอดรับกับกระแสความต้องการของบรรดาผู้ประกอบการ ด้วยความมั่นอกมั่นใจว่าพลังไฮโซจะหล่อหลอมให้แบรนด์หรือสินค้าของตน ดูดีมีระดับ ตอบสนองตลาดการขายไลฟ์สไตล์สำหรับการบริโภคยุคใหม่

ที่สำคัญพลังไฮโซเป็นเหมือนไฟอันร้อนแรง ลุกโชน ทำให้สื่อทุกแขนงสนใจ เปรียบเสมือนเหยื่อล่อ เกิดประเด็น กระแสการประชาสัมพันธ์ผ่านนิตยสาร หนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุ อินเทอร์เน็ต พ่วงขยายผลถึงการขายตัวผลิตภัณฑ์สินค้าสู่ผู้บริโภคที่ชาญฉลาด

แง่มุมทางธุรกิจวันนี้จึงสามารถกล่าวได้ว่า “ยุคนี้ event ใดไม่มีไฮโซ งานนั้นไม่ออกดอกออกผล”

ปรากฏการณ์พลังแห่งไฮโซ นับเป็นโจทย์การสร้างแบรนด์ทางธุรกิจและทางสังคมที่ลึกล้ำ มีเสน่ห์ ชวนติดตามอย่างยิ่งในวินาทีนี้

วิวัฒนาการของการจัดงานไฮโซ

– ยุคแรกปี 2518
เป็นกลุ่มผู้ดีเก่าที่มีตระกูล ไฮโซในยุคนั้น เช่น รัชนีบูลย์ พิบูลย์สงคราม, อดิศัย ล่ำซ่ำ, สปัน เธียรประสิทธิ์, พิมพา สุนทรางกูร
ลักษณะงานที่ไป : การออกงานของไฮโซในยุคนั้น จะเป็นงานเลี้ยงในกลุ่มเพื่อน เช่น งานเต้นรำ ในกลุ่มเพื่อนฝูงแถววังสราญรมย์

– ยุคที่สอง ปี 2528
ยุคนั้นไม่มีใครเล่นดังเท่าเจ้ากอแก้ว ประกายกาวิล ณ เชียงใหม่ ด้วยภาพลักษณ์ของสาวเปรี้ยว สไตล์ เวิร์กกิ้ง วูแมนของเธอ และด้วยความที่เป็นกันเอง ไม่ถือตัว ทำให้เจ้ากอแก้วเป็นที่นิยมชมชอบในหมู่เจ้าของกิจการ โดยเฉพาะร้านทำผม ที่เชื่อว่า หากให้เจ้าป้าตัดริบบิ้นเปิดร้านแล้ว กิจการจะร่ำรวย

– ยุคที่สาม ปี 2538
ไฮโซยุคที่สาม มีทั้งผู้ดีมีตระกูล และบรรดาเศรษฐีใหม่ ที่เข้าสู่วงการ ตัวอย่างไฮโซยุคนั้นได้แก่ วิภาวดี ภูวนาถนรานุบาล, วี มาร์, ภาวนา โชติเสถียร, นลินี ปัจฉิมสวัสดิ์, จีรพันธ์ ศรีไกรวิน,ประจิตรา เธียรประสิทธิ์, เฉิดโฉม เจียรนัย, อัมพรพิมพ์ วัชราภัย โดยมี เศรษฐีใหม่อย่าง ดารุณี กฤตบุญญาลัย, มาริสา ชิว อายุอานามของคนเป็นไฮโซยุคนั้นจึงจัดเป็นยุคของไฮโซรุ่นใหญ่

– ยุคปี 2534-ปัจจุบัน
จัดเป็น “ยุคบูม” ของไฮโซ เป็นผลมาจากกระแสของการจัดงาน event มีการนำไฮโซมาเป็น celebrity เพื่อสร้างสีสัน และใช้สร้างแบรนด์ให้กับสินค้า ทำให้มีไฮโซหน้าใหม่แจ้งเกิดในวงการเป็นส่วนใหญ่ มักเป็นลูกหลานของไฮโซรุ่นเก่า ที่เรียนจบจากเมืองนอก กลับมาเมืองไทยถ่ายแบบ เป็นพิธีกรเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับสินค้าและบริการ รายชื่อไฮโซยุคนี้ เช่น วงศ์ชนก ชีวะศิริ, อุษณีย์ มหากิจศิริ, ศรัยฉัตร กุญชร ณ อยุธยา, ยุพาพักตร์ วัชราภัย. ภัทรียา ณ นคร, นาขวัญ รายนานนท์, ธนพ เอี่ยมอมรพันธ์