วาณิช จรุงกิจอนันต์
“ภาษาไทยเรามีคำว่าไฮโซมาตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่ทราบ ดูจะไม่นานมานี้เอง ใช้แทนคำว่า สังคมชั้นสูง โดยน่าจะเริ่มต้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ชีวิตเจ้านายในรั้วในวังนั้นก็เป็นชีวิตเจ้านายในรั้วในวัง อาจไม่ใช่นัยของชีวิตไฮโซเสียทีเดียว ชีวิตไฮโซน่าจะเริ่มมาจากตอนที่บรรดาเจ้านายออกมาเป็นวิถีชีวิตนอกวัง ซึ่งก็คือวิถีชีวิตของพวกเศรษฐีคหบดีทั้งหลาย หากอยากรู้จักว่าใครเป็นใครมีกิจกรรมอะไร วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือเปิดหนังสือผู้หญิงทั้งหลาย เช่น ดิฉัน พลอยแกมเพชร แพรว อิมเมจ ฯลฯ หรือติดตามจากคอลัมน์ “คัทลียาจ๊ะจ๋า” ในไทยรัฐ เป็นได้รู้กัน”
อินทิรา ธนวิสุทธิ์
“ไฮโซ หรือ High Society เป็นศัพท์ที่คุ้นหูเราๆ มาหลายยุคหลายสมัย บ้างก็เรียกกลุ่มคนในสังคมบางกลุ่ม บ้างก็ใช้เรียกบุคคลตามลักษณะเฉพาะของแต่ละคน บ้างก็มองความหมายเป็นลบ บ้างมองเป็นบวก แต่จริงๆ แล้ว คำนี้มีมาตั้งแต่ยุค 50’s เริ่มจากภาพยนตร์เรื่อง High Society ในปี 1956 ซึ่งสะท้อนภาพการใช้ชีวิตและไลฟ์สไตล์อันหรูหราและความโอ่อ่า จนเป็นที่ใฝ่ฝันของคนอเมริกันยุคนั้นที่จะก้าวสู่สังคมชั้นสูง”
ดร. ปาริชาติ ชุมสาย ณ อยุธยา
“ไฮโซที่เรียกกันทุกวันนี้มาจากคำว่า High Society หมายถึงบุคคลที่ใช้ชีวิตอย่างมีระดับ ส่วนมากจะสืบทอดมาจากเจ้านายหรือเชื้อพระวงศ์ในสมัยก่อน ซึ่งพร้อมด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ อำนาจ และทรัพย์สิน แต่มาสมัยปัจจุบัน คุณสมบัติที่จะเป็นไฮโซ นอกจากจะสืบทอดวงศ์ตระกูลที่ดีมาแต่ดั้งเดิมแล้ว ยังต้องมีการศึกษาที่ดี ตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดี กริยามารยาทดี และที่สำคัญคือต้องทำประโยชน์ให้กับสังคม ไฮโซไม่จำเป็นต้องมีเครื่องประดับหรูหราราคาแพง แล้วใส่ออกงานโชว์กันตามที่ต่างๆ ทุกคืน โดยที่ไม่ได้ทำประโยชน์ให้กับสังคมเลย คนกลุ่มหลังนี้ส่วนมากก็แค่อยากดัง วันๆ เอาแต่กรีดกรายออกงานเพื่อที่จะเป็นข่าวในหน้านิตยสารเล่มต่างๆ เท่านั้น แต่คนที่เป็น “ไฮโซตัวจริง” เขาจะมีกริยางดงามสมเป็น “ผู้ดี” และมีคุณสมบัติเพียบพร้อมจริงๆ”