บริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ สร้างความฮือฮาให้กับวงการอีกครั้งด้วยการประกาศซื้อหุ้นของบริษัทซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,284,000 หุ้น จากบริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จำนวนเงินทั้งสิ้น 232.6 ล้านบาท
เดิมจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ถือหุ้นซีเอ็ดอยู่แล้วราว 138,200 หุ้น เมื่อรวมกับหุ้นใหม่ที่ซื้อเข้ามาเพิ่มทำให้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่กลายเป็นผู้ถือใหญ่ของซีเอ็ดทันทีด้วยหุ้นที่ถือรวม 13.26% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว
วิเคราะห์ให้ลึกลงไปอีก การประกาศซื้อกิจการในครั้งนี้ของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ด้วย 2 ประการหลักด้วยกัน
ประการแรกเรื่องความสวยงามของ “Balance sheet“ หรืองบดุลทางการเงิน !!!!
ธุรกิจบันเทิงโดยเฉพาะเรื่องเพลง วิทยุมีความหวั่นไหว ไม่แน่นอนเพราะฝากไว้กับเรื่องลิขสิทธิ์ และสัมปทานภาครัฐเป็นหลัก
ไม่มีทรัพย์สินเป็นของตัวเองเหมือนธุรกิจธนาคาร พลังงาน ขนส่ง โทรคมนาคม
เมื่อปัญหาลิขสิทธิ์ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง หรือทางรัฐเจ้าของสัมปทานทวงคลื่นคืนสิ่งที่ตามมาคือรายได้ลดลงและแสดงออกมาในรูปของราคาหุ้นที่ดิ่งตัวลง
ผลประกอบการไตรมาสแรกสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคมของจีเอ็มเอ็มมีเดีย คือตัวอย่างที่ดีที่สุด กำไรสุทธิลดลงเหลือเพียง 42.9 ล้านบาท ลดลงถึง 48.3 ล้านบาทเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งมีกำไรสุทธิสูงถึง 91.2 ล้านบาท
เหตุผลสำคัญที่ทางแจ้งกับตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ รายได้หลักจากธุรกิจวิทยุลดลงเหลือ 573.3 ล้านบาทจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีรายได้รวม 618.3 ล้านบาท
ทางเดียวที่จะทำให้ธุรกิจเดินต่อไปได้อย่างมั่นคงคือปรับกลยุทธ์เสียใหม่ ลดความเสี่ยงด้วยการรุกคืบเข้าสู่ธุรกิจอื่นที่เป็นธุรกิจใกล้เคียงกัน
กลยุทธ์นี้นอกจากจะทำให้ผลประกอบการของบริษัทดูดีขึ้นแล้วสิ่งที่จะตามมาคือมูลค่าของหุ้นของบริษัทก็จะเพิ่มขึ้นด้วย
ประการถัดมาคือการอุดช่องว่างช่องทางจำหน่ายสินค้าของผลิตภัณฑ์เทป ซีดีของจีเอ็มเอ็มแกรมมี่เอง !!!
กล่าวสำหรับยอดขายเทปซีดีและวีซีดีในเครือของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ต่อปีมียอดขายกว่า 20 ล้านหน่วย
ก่อนหน้านี้ทางจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ พยายามสร้างช่องทางจำหน่ายสินค้าของตัวเองมาตลอด เช่น ร้าน IMAGINE แต่ก็ได้ปิดกิจการไปเพราะรายได้ไม่คุ้มกับรายจ่าย
จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จึงพยายามทุกทางเพื่อปรับปรุงช่องทางจำหน่ายใหม่ เป็นช่องทางจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพอยู่ในแหล่งชุมชน แต่มีต้นทุนเรื่องค่าใช้จ่ายต่ำ
จุดนี้เองที่ที่เป็นที่มาของแนวคิดของอากู๋ที่จะนำซีดีและวีซีดีเข้าไปจำหน่ายในร้านขายเสื้อผ้า เอทูแซด
และสุดท้ายก็ลงเอยด้วยการเข้าซื้อกิจการของซีเอ็ด ยูเคชั่น เพราะสามารถใช้ประโยชน์จากจุดขายที่ กระจายอยู่ทั่วประเทศถึง 326 สาขาได้เป็นอย่างดี
การใช้ร้านหนังสือเป็นจุดจำหน่ายเพลงนอกจากจะประหยัดต้นทุนเรื่องการสร้างช่องทางจำหน่ายสินค้าแล้ว ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจและเป็นจุดดึงดูดกลุ่มเป้าหมายได้อย่างดี
นั่นเพราะเพลงไปกับหนังสือได้ เพราะร้านขายหนังสือเปิดเพลงเหมือนที่ร้านขายเสื้อผ้าก็เปิดเพลงเช่นเดียวกัน