จากประสบการณ์สร้างแบรนด์กว่า 12 ปี และความคุ้นเคยเรื่องการบำรุงรักษาป้ายให้องค์กรต่างๆ ผนวกกับความสนใจด้านเครื่องบินที่สะสมมาตั้งแต่ครั้งศึกษาที่อเมริกา เมื่อสบโอกาส เบญจ อรรถจินดาจึงนำคุณสมบัติส่วนตัวข้างต้นมาก่อตั้งเป็นธุรกิจผู้เชี่ยวชาญด้านสื่ออากาศยาน หรือสื่อโฆษณาลอยฟ้า ภายใต้ชื่อ “Oh My!”
เบญจร่วมสร้างแบรนด์กับบริษัท เอ็นวิชั่น จากฮ่องกงที่มาสร้างธุรกิจในไทย โดยผลงานของเขาได้แก่ เอกลักษณ์ใหม่โรงแรมเครือเซ็นทรัล และ Thai Satellite Communication เป็นต้น จากนั้นจึงตั้งบริษัทของตัวเองครั้งแรกชื่อ “อิมเมจ เอนแฮนซ์เม้นท์” ทำธุรกิจบำรุงรักษาป้ายและสัญลักษณ์ต่างๆ ให้กับหลายองค์กร เช่น สถานีบริการน้ำมัน ปตท. และ Q8 ทั่วประเทศ ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ฯลฯ ก่อนที่บริษัท เปโตรนาส จะเข้าถือสิทธิ์ในปี 2547
กระทั่ง 3-4 ปีก่อน เบญจมีโอกาสเดินทางภายในอเมริกาบ่อยครั้ง และได้พบเห็นสื่อโฆษณาบนเครื่องบิน ซึ่งจุดประกายให้เขากลับมาศึกษาข้อมูล และพบว่ามีความเป็นไปได้ในตลาดบ้านเรา เขาจึงตรงไปหา “พาที สารสิน” CEO แห่งนกแอร์ ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ตรงกัน จากนั้นจึงก่อตั้งบริษัท Oh My! เมื่อ ต.ค. 2547 ให้บริการสื่อโฆษณาบนเครื่องบินเป็นครั้งแรกในไทย โดยมีนกแอร์เป็นลูกค้ารายแรก
“ตอนนี้เราคงมุ่งมั่นให้บริการแก่นกแอร์ก่อน เพราะเราเองก็อยากจะสร้างชื่อของเราเองก่อน” เบญจกล่าว ทว่าเป้าหมายต่อไปคือ การเป็นผู้เชี่ยวชาญการสร้างแบรนด์ การตลาดและโฆษณา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อโฆษณาลอยฟ้าในระดับภูมิภาคเอเชีย โดยมีนกแอร์เป็นพาร์ตเนอร์สำคัญที่ช่วยเบิกทางให้แก่ Oh My! จนกว่าจะพร้อมออกไปให้บริการแก่สายการบินทั่วภูมิภาคเอเชีย
สำหรับพาที นี่ก็คืออีกก้าวในกาสร้างนวัตกรรมและความแตกต่างให้กับแบรนด์ “นกแอร์” และยังเป็นแนวทางสร้างรายได้มาชดเชยต้นทุนค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเป็น 37% ของต้นทุนทั้งหมด “รายได้ที่เกิดขึ้นน่าจะช่วยชดเชยต้นทุนค่าน้ำมันได้ไม่น้อยกว่า 10% และจะทำให้เรายังคงยืนหยัดรั้งค่าตั๋วไม่ให้สูงขึ้นได้ ซึ่งถ้าเรามีเส้นทางบินไปต่างประเทศ แบรนด์ระดับโลกก็น่าจะมาเกี่ยวข้องมากขึ้น ตอนนั้นรายได้เราก็น่าจะดียิ่งขึ้น” พาทีกล่าว
สื่ออากาศยาน หรือ Aircraft Media
จุดเด่น :
1. เป็นนวัตกรรมสื่อโฆษณาใหม่
2. เป็นสื่อที่มีประสิทธิภาพ เพราะผู้โดยสารจะต้องใช้เวลาอยู่กับสื่อโฆษณาบนเครื่องบินตลอดระยะเวลาเดินทาง
3. ฐานลูกค้าสายการบินราคาประหยัดเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีฐานกว้างและค่อนข้างมีกำลังซื้อ
4. เป็นการ synergy ทางด้านการตลาดและการทำโปรโมชั่นร่วมกัน
ตัวอย่างพื้นที่โฆษณาบนเครื่อง :
1. พื้นที่ข้างเครื่องบินด้านนอก (wrapping)
2. ฝาตู้เก็บสัมภาระเหนือศีรษะ
3. บริเวณพักศีรษะที่เก้าอี้
4. ถาดหน้าเก้าอี้
5. บอร์ดดิ้ง พาส (boarding pass)
6. สื่อที่แทรกอยู่ในกระเป๋าหน้าเก้าอี้
7. การประกาศหรือโฆษณาผ่านสื่อ (media) บนเครื่อง เช่น โทรทัศน์และวิทยุ
8. การโฆษณาผ่านกิจกรรมที่จัดขึ้นบนเครื่องบิน
แบรนด์ที่พบได้บน “นกแอร์” วันนี้
1. US Summit ปรากฏบนบอร์ดดิ้ง พาส
2. Loxley พบได้บนถาดหน้าเก้าอี้ (tray table) และที่พักศีรษะ เป็นต้น
3. HSBC พบได้บนที่พักศีรษะ แผ่นพับแทรกในกระเป๋าหน้าเก้าอี้ และมีกิจกรรมบนเครื่อง เป็นต้น
เกณฑ์ในการเลือกแบรนด์
1. กลุ่มเป้าหมายคล้ายกัน หรือสอดคล้องกันได้กับนกแอร์
2. การออกแบบสื่อโฆษณาจะต้องไม่รบกวนสายตาผู้โดยสารจนเกินไป แต่ต้องเข้ากับสไตล์สนุกสนานแบบนกแอร์