ศ.ดร. เพรสคอทท์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์คนล่าสุด ปัจจุบันเป็นอาจารย์ที่ Arizona State University และควบตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโสของธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve Bank of Minneapolis) ก่อนหน้านี้สอนในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง รวมทั้ง Kellogg School of Management ซึ่งเป็นสถาบันพี่ของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ อันเป็นที่มาของสายสัมพันธ์ในการรับเชิญมาบรรยายที่กรุงเทพฯ ในหัวข้อ Barriers to Riches (อุปสรรคความร่ำรวย) เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ที่โรงแรมดุสิตธานี โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพร่วม
จากงานวิจัยและบทความที่สำคัญกว่า 70 ชิ้น ที่มาของการได้รับรางวัลโนเบลของเขามาจากงานวิจัยชิ้นสำคัญ 2 ชิ้นด้วยกัน ชิ้นแรกเป็นงานวิจัยที่เขานำเสนอเมื่อปี ค.ศ.1975 เกี่ยวกับการพัฒนาวิธีการและเครื่องมือในการควบคุมเศรษฐกิจ จากการตั้งสมมุติฐานว่าไม่มีหลักการหรือกฎเกณฑ์ใดที่ดีที่สุดในการจัดการระบบเศรษฐกิจ จึงต้องมีองค์กรที่มาจัดการกลไกให้แก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน โดยเสนอให้มีการตั้งธนาคารกลางขึ้นมากำกับดูแล และทำงานอย่างอิสระ จนเป็นที่มาของการตั้งธนาคารกลางสหรัฐในเวลาต่อมา
อีกชิ้นเป็นงานวิจัยเชิงคณิตเศรษฐศาสตร์ที่นำเสนอในปี ค.ศ. 1980 เกี่ยวกับการศึกษากลไกของปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ อาทิ ผลิตภาพ มาตรการภาษี ราคาน้ำมัน ที่มีผลต่อนโยบายทางการเงิน โดยได้เสนอทฤษฎีที่สร้างความฮือฮาแก่วงการอย่างมากว่า Supply หรือ Technology shock มีผลโดยตรงต่อวงจรธุรกิจ (business cycle) ซึ่งในเวลาต่อมางานวิจัยของเขาก็มุ่งเน้นไปที่วงจรธุรกิจ และการเลี่ยนแปลงขึ้นลงของเศรษฐกิจ (business fluctuations) มากขึ้น
กล่าวโดยสรุปคือ นโยบายเศรษฐกิจที่ดีต้องพิจารณาทั้งวงจรธุรกิจและความน่าเชื่อถือของนโยบาย รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายระยะสั้นและระยะยาวให้สอดคล้องและต่อเนื่องภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม มีการคาดการณ์ที่มีเหตุผล
ในปี 2002 ศ.ดร. เพรสคอทท์ ได้นำเสนอหัวข้อเรื่อง “Prosperity and Depression” ในการประชุมสมาคมเศรษฐศาสตร์อเมริกา และได้รับรางวัล Erwin Plein Nemmers Prize สาขาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นรางวัลอันทรงเกียรติของวงการ และก่อนหน้านี้เขายังได้เขียนหนังสือ Barriers to Riches ออกมาเมื่อปี ค.ศ. 2000 โดยมี S.L. Parente เป็นผู้แต่งร่วม ต่อมาถูกแปลเป็นภาษาอิตาเลียน ฝรั่งเศส และฉบับภาษาจีนก็อยู่ระหว่างตีพิมพ์
ในการบรรยายของเขาที่กรุงเทพฯ เรื่องอุปสรรคความร่ำรวย ศ.ดร. เพรสคอทท์ ได้เสนอแนวคิดว่า การจะขจัดอุปสรรคดังกล่าวได้ ควรจัดโครงสร้างเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการนำเทคโนโลยีหรือระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพมาใช้ ซึ่งในสภาวะปัจจุบันคือการมีกลุ่มการค้าเสรี (Free Trade Club) ที่ปราศจากการกีดกันทางการค้าและการครอบงำจากกลุ่มผลประโยชน์
กลุ่มการค้าเสรีดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมผลิตภาพของประเทศ โดยลดการรวมศูนย์อำนาจทำให้ไม่มีอุปสรรคในการนำเอากระบวนการผลิตที่ดีกว่ามาใช้ ขณะเดียวกันการแข่งขันในการค้าระหว่างประเทศจะทำให้อุตสาหกรรมการส่งออกจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพเพื่อความอยู่รอด อีกทั้งผู้ส่งออกจะได้รับประโยชน์จากการเป็นสมาชิกกลุ่ม ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนและยืนยันความถูกต้องของแนวคิดนี้ก็คือ การที่ประเทศเอเชียตะวันออกประสบความสำเร็จมากกว่ากลุ่มประเทศละตินอเมริกา เพราะมีความร่วมมือทางการค้าในระดับภูมิภาคและเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับกลุ่มการค้าโลกนั่นเอง