กรณีศึกษา “ล็อกดาวน์” ยิ่งเข้ม ยิ่งฟื้นเร็ว แต่ต้องสื่อสาร มาตรการชัดเจน

Photo : Shutterstock
ในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยได้ก้าวทะลุ 16,000 คนต่อวัน และจำนวนผู้เสียชีวิตได้เคยก้าวทะลุ 140 คนต่อวันไปแล้ว (ในวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2564) ซึ่งหากดูการเพิ่มขึ้นของอัตราผู้เสียชีวิตต่อวันจะเห็นได้ชัดเจนว่าการเพิ่มขึ้นนั้นเป็นแบบก้าวกระโดด (exponential growth)

เราสามารถเห็นได้ว่าอัตราผู้เสียชีวิตต่อวันได้เพิ่มขึ้น 2 เท่าภายในเวลาเพียง 1 สัปดาห์ สิ่งนี้เป็นสัญญาณอันตรายว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยในครั้งนี้ มีความรุนแรงกว่าครั้งก่อนๆ มาก ในขณะนี้คณะผู้เขียนเชื่อว่าทุกภาคส่วนได้มีความตระหนักอย่างแท้จริงถึงความรุนแรงของการระบาดในครั้งนี้ และพยายามที่จะช่วยกันลดการระบาด “เท่าที่กำลังของตนหรือฝ่ายตน” จะสามารถทำได้ (ในบริบทของแต่ละคน)

คนไทยทุกคน ทุกฝ่ายควรร่วมแรงร่วมใจ ใช้พลังเชิงบวกในการแก้ปัญหา โดยรัฐต้องเป็นศูนย์กลางในการกำหนดนโยบายและนำนโยบายไปปฏิบัติอย่างเร่งด่วน และที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งต้องสื่อสารให้ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ

ล็อกดาวน์ยิ่งเข้มข้น ยิ่งเร็ว ยิ่งดี

งานวิจัยของ Kavakli (2020) พบว่ามีหลายประเทศในโลกที่เริ่มใช้การล็อกดาวน์ในระดับที่มีความเข้มข้นน้อย แล้วค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้นเมื่อสถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้น โดยสาเหตุหลัก เป็นเพราะประเทศเหล่านี้ไม่อยากให้การล็อกดาวน์ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ (ที่บอบช้ำอยู่แล้ว)

จึงหวังว่าการใช้มาตรการในระดับเบานั้น อาจจะเพียงพอ และสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจที่อาจจะรุนแรงเกินความจำเป็นได้ และไม่อยากให้ประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการทั้งเล็กและใหญ่ได้รับความลำบาก และไม่พอใจกับการบริหารประเทศ

(Photo by David Ramos/Getty Images)

อย่างไรก็ดี การตัดสินใจจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคนั้น ได้ถูกกระทบจากความกลัวในสถานการณ์ของการระบาดอยู่แล้ว ซึ่งบทความของ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)(2020) แสดงให้เห็นว่าการล็อกดาวน์แบบเข้มข้น และเข้มงวดดีกว่าการล็อกดาวน์แบบเบาๆ และไม่เข้มงวด ทั้งในด้านการควบคุมการระบาด และในด้านเศรษฐกิจ

เนื่องจากการล็อกดาวน์แบบเบาๆ ไม่เข้มงวดทำให้ระดับจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงสูง ส่งผลให้ผู้บริโภคลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเองเพราะยังมีความเสี่ยงด้านสุขภาพอยู่ ในขณะที่การล็อกดาวน์แบบเข้มงวดจะใช้เวลาควบคุมโรคที่สั้นกว่าโดยจะมีต้นทุนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากกรณีไม่เข้มงวดเพียงเล็กน้อย แต่จะทำให้การติดเชื้อลดลงอย่างมากและเร็ว จะนำไปสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วขึ้น

ล็อกดาวน์จะดี ต้องมีมาตรการทางเศรษฐกิจ และสังคมที่ชัดเจน

ก่อนที่จะมีการประกาศล็อกดาวน์ รัฐต้องมีมาตรการทางเศรษฐกิจและสังคมที่ชัดเจน เพื่อให้การล็อกดาวน์มีประสิทธิภาพสูงสุด ประชาชนปฏิบัติตามได้และพร้อมให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรการในด้านสภาพคล่องของประชาชน รวมทั้งผู้ประกอบการทั้งเล็กและใหญ่ ซึ่งได้ทำในหลายๆ ประเทศ อาทิ ประเทศเยอรมนี ประเทศออสเตรเลีย ประเทศสิงคโปร์ และประเทศฝรั่งเศส

Photo : Shutterstock
  • มาตรการพักหนี้โดยไม่คิดดอกเบี้ยเพิ่มสำหรับประชาชนและผู้ประกอบการ ที่รวดเร็ว และไม่มีขั้นตอนซับซ้อน
  • เสริมสภาพคล่องให้ประชาชนในด้านปัจจัย 4
  • พักชำระการจ่ายภาษีของประชาชนและผู้ประกอบการ และเมื่อสถาณการณ์ดีขึ้นประชาชนและผู้ประกอบการสามารถจ่ายภาษีของปีที่ผ่านมาแทนในปีถัดไป
  • ช่วยผู้ประกอบที่ได้รับผลกระทบจ่ายค่าแรงลูกจ้างในอัตราที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่รอด และไม่ต้องให้พนักงานออก
  • เสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการทุกขนาดที่ธุรกิจได้รับผลกระทบ เช่น ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจการบิน และธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ
  • อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ สามารถเข้าร่วมโครงการแก้วิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ของรัฐ (เช่น โครงการแปลงโรงแรมเป็น Alternative State Quarantine) ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และโปร่งใส เพื่อเป็นรายได้ต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการและพนักงาน

อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับกระบวนการที่รวดเร็ว ไม่ซับซ้อน และโปร่งใส รวมถึงมีหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจนซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย

สื่อสารดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

องค์ประกอบหนึ่งที่หลายๆ ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ชัดเจน คือ การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ หากอ้างอิงงานวิจัยของ Hyland-Wood และคณะ (2021) ที่ได้ทำการศึกษาและรวบรวมการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในภาวะวิกฤตของรัฐบาล โดยสามารถสรุปเป็นประเด็นหลักๆ ดังนี้

Photo : Shutterstock
  1. สื่อสารอย่างชัดเจนและครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และทำให้ประชาชนไม่เกิดความสับสน เช่น สื่อสารว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ และมีนโยบายที่ชัดเจนเพื่อให้ความสนับสนุนแก่ประชานชนที่จะตอบสนองต่อนโยบายต่างๆ ของรัฐ ในทิศทางที่ชัดเจนและไม่ขัดแย้งกัน โดยเฉพาะข้อมูลที่ออกมาจากหน่วยงานของรัฐต้องเป็นข้อมูลที่ตรงกัน ถูกต้อง ชัดเจน และปราศจากความสับสน
  2. สื่อสารข้อมูลโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ เช่น หากเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการแพทย์ และมีผลกระทบในวงกว้าง ให้นักวิทยาศาสตร์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความน่าเชื่อถือและเชี่ยวชาญ เข้าร่วมแถลง
  3. สื่อสารอย่างมีความเห็นอกเห็นใจ จริงใจ และซื่อสัตย์ เช่น แสดงออกถึงความเข้าใจถึงปัญหา และสื่อสารออกไปอย่างเห็นอกเห็นใจ และสื่อสารด้วยคำพูดเชิงบวก
  4. สื่อสารถึงความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เช่น ในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้นความไม่แน่นอนในสิ่งต่างๆ อาจจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และก็ควรสื่อสารออกไป เพื่อสร้างความคาดหวังที่ถูกต้อง
  5. สื่อสารโดยตระหนักถึงพื้นฐาน และความเข้าใจของผู้ฟัง ซึ่งจะสามารถช่วยให้นโยบายต่างๆ ของรัฐดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ควรสื่อสารโดยยกตัวอย่างแบบง่ายๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสน และเข้าใจผิด
  6. สื่อสารถึงโดยตระหนักถึงบรรทัดฐานทางสังคมและความหลากหลาย และแตกต่างกันของกลุ่มคนในสังคม เช่น คำนึงถึง แรงงานต่างด้าว ผู้สูงอายุ หรือ เด็กและเยาวชน
  7. สื่อสารเชิงรุกต่อข้อมูลเท็จ เช่น ต้องออกมาให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และดำเนินคดีกับผู้ให้ข้อมูลเท็จอย่างเด็ดขาด
Photo : Shutterstock

ในด้านการสื่อสาร รัฐต้องตระหนักถึงความสำคัญของการสื่อสารที่ชัดเจนให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกนโยบายใดๆ จะต้องมีมาตรการรองรับที่ชัดเจนต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ บทความของ IMF (2020) พบว่าการที่ประชาชนรับทราบถึงภาวะวิกฤต จะช่วยให้ประชาชนตระหนักและเพิ่มความระมัดระวังตนเองมากยิ่งขึ้น ลดการเคลื่อนที่ และให้ความร่วมมือกับมาตรการต่างๆ มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการลดการระบาด

ดังนั้นการนำเสนอข่าวที่เป็นความจริง แม้ว่าจะทำให้เกิดความหวาดกลัว แต่ความหวาดกลัวที่เกิดจากความจริง เป็นสิ่งที่ดี ไม่ควรห้าม สุดท้ายนี้ ฝ่ายที่มีหน้าที่หาวัคซีน ควรเร่งหาวัคซีนเพื่อให้ประชาชนคนไทยได้วัคซีนอย่างทั่วถึง มีวัคซีนดีกว่าไม่มี ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนแบบไหนก็ควรฉีดไปก่อนเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต

อ้างอิง

Hyland-Wood, B., Gardner, J., Leask, J. et al. Toward effective government communication strategies in the era of COVID-19. Humanit Soc Sci Commun8, 30 (2021). https://doi.org/10.1057/s41599-020-00701-w

Caselli, F., Grigoli, F., Lian, W., & Sandri, D. (2020). “Chapter 2 The Great Lockdown: Dissecting the Economic Effects”. In World Economic Outlook, October 2020. USA: International Monetary Fund. Retrieved Jul 19, 2021, from https://www.elibrary.imf.org/view/books/081/29296-9781513556055-en/ch002.xml

บทความนี้เขียนโดย

  • รศ.ดร.พัฒนาพร ฉัตรจุฑามาส
  • ผศ.ดร.ชนวีร์ สุภัทรเกียรติ
  • ผศ.ดร.ภัทเรก ศรโชติ
  • ผศ.ดร.ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์
  • คณาจารย์สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย