งานวิจัยพบ “ล็อกดาวน์” เพราะโควิด-19 ส่งผลให้อายุ “สมอง” วัยรุ่นแก่ตัวเร็วผิดปกติ

(Photo: Shutterstock)
งานวิจัยล่าสุดพบว่า การล็อกดาวน์ในช่วงเกิดโรคระบาดโควิด-19 มีผลกระทบต่อ “สมอง” ของวัยรุ่นในเชิงกายภาพ ทำให้อายุสมองแก่ตัวลงเร็วผิดปกติ ซึ่งเกิดขึ้นในส่วนของสมองที่มีผลต่อ “อารมณ์” และสุขภาพจิตในวัยรุ่น

Ian Gotlib หัวหน้าทีมวิจัยจาก Stanford University ตีพิมพ์งานวิจัยชิ้นนี้ใน Biological Psychiatry: Global Open Science โดยเนื้อหางานวิจัยระบุถึงการที่ “สมอง” ของวัยรุ่นได้รับผลกระทบหลังผ่านการล็อกดาวน์ในช่วงเกิดโรคระบาดโควิด-19 ทำให้อายุสมองแก่ตัวลงเร็วขึ้น

“เราทราบอยู่แล้วจากงานวิจัยชิ้นอื่นที่พบว่าโรคระบาดโควิด-19 มีผลต่อสุขภาพทางจิตในวัยรุ่น แต่ที่เราไม่เคยรู้คือ ผลกระทบนั้นมีผลทาง ‘กายภาพ’ โดยตรงในสมองของวัยรุ่น” Gotlib ระบุในงานวิจัย

Gotlib กล่าวว่า ปกติแล้วโครงสร้างทางสมองของคนเราจะมีการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติเมื่อเรามีอายุเพิ่มขึ้น โดยในวัยเจริญพันธุ์และวัยรุ่นตอนต้น ร่างกายของเด็กจะเปลี่ยนแปลงหลังสมองเกิดการเติบโตทั้งในส่วนฮิปโปแคมปัสและอะมิกดาลา สมองในส่วนฮิปโปแคมปัสจะช่วยในการควบคุมด้านความทรงจำ และส่วนอะมิกดาลาจะควบคุมเรื่องอารมณ์

การวิจัยนี้มีการสแกน MRI สมองของเด็ก 163 คน โดยสแกนเทียบช่วงก่อนเกิดโรคระบาดกับหลังเกิดโรคระบาด Gotlib พบว่า อายุของสมองวัยรุ่นถูกเร่งการเติบโตผิดปกติเมื่อต้องผ่านประสบการณ์ “ล็อกดาวน์” ในช่วงเกิดโควิด-19

ก่อนจะเกิดโรคระบาดโควิด-19 เขาระบุว่าการเร่งโตของอายุสมองเด็กจะถูกพบเฉพาะในเด็กที่ผ่านประสบการณ์สถานการณ์ร้ายในชีวิตมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ความรุนแรง การถูกทอดทิ้ง ครอบครัวมีปัญหา หรือหลายๆ ปัจจัยเหล่านั้นรวมกัน และเด็กที่ผ่านประสบการณ์เหล่านี้มักจะเกิดปัญหาสุขภาพจิตในภายหลังเมื่อเติบโตขึ้น

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของ Gotlib ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าการเปลี่ยนโครงสร้างทางสมองที่เขาและทีมค้นพบจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตในลักษณะเดียวกันหรือไม่ และยังไม่ทราบว่าอายุสมองที่แก่ตัวล่วงหน้าอายุจริงจะเป็นเช่นนี้ถาวรหรือไม่

“สำหรับคนวัย 70-80 ปี คุณจะคาดการณ์ได้เลยว่าปัญหาการจดจำและความทรงจำจะเริ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในสมอง แต่สำหรับเด็กอายุ 16 ปี ถ้าอายุสมองแก่ตัวลงเร็วผิดปกติ จะเกิดผลอย่างไรนั้นยังไม่แน่ชัด” Gotlib กล่าว

ทั้งนี้ งานวิจัยของ Gotlib ไม่ได้ตั้งใจจะศึกษาเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น เดิมเขาเริ่มงานวิจัยตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 เพื่อวิจัยหัวข้อภาวะซึมเศร้าในช่วงวัยเจริญพันธุ์ แต่เมื่อเกิดโควิด-19 ระบาดขึ้นทำให้งานวิจัยมีการเลื่อนออกไปชั่วคราว และเมื่อทีมกลับมาวิจัยกันอีกครั้งหลังหยุดไปเกือบ 1 ปี กลับกลายเป็นการค้นพบว่าภาวะโรคระบาดทำให้สมองของเด็กวัยรุ่นแก่ตัวเร็ว

การวิจัยครั้งนี้มีความสำคัญในแง่ที่ว่า ในโลกนี้ไม่มีใครที่รอดพ้นไปจากการระบาด ทุกคนได้เผชิญล็อกดาวน์เพราะโควิด-19 กันทั้งหมด และหากวัยรุ่นทั่วโลกเผชิญการเปลี่ยนแปลงของสมองแบบเดียวกัน นั่นหมายความว่าทั้งเจนเนอเรชันนี้อาจมีความผิดปกติในการเติบโตของสมองเหมือนกันทั้งหมด และอาจจะมีผลเมื่อพวกเขาโตเป็นผู้ใหญ่

Jonas Miller นักวิจัยร่วมในทีมนี้จาก University of Connecticut อธิบายว่า การล็อกดาวน์และดิสรัปชันเพราะโรคระบาด ทำให้กิจวัตรประจำวันเปลี่ยนแปลงไป และเป็นเหมือนสถานการณ์ทางลบที่มีผลกระทบในชีวิตอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจจะทำให้สมองของเด็กวัยรุ่นในช่วงที่ผ่านโรคระบาดไม่เหมือนกับเด็กในยุคก่อนหน้านี้

Source