เคยไหม? ไปเที่ยวสั้นไปจนเหมือนกะพริบตาทีเดียวต้องกลับมาทำงานแล้ว แต่บางครั้งก็เที่ยวนานไปจนเริ่มเบื่อ งานวิจัยพบว่าจุดสมดุลที่สุดในการ “ลาหยุดพักผ่อน” ของคนเราคือ “8 วัน” ต่อทริป เป็นจุดที่เหมาะสมกำลังดีในการเติมพลังจากการท่องเที่ยว
หากตัดปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลาหยุดเพื่อไปเที่ยวพักผ่อนออกไป เช่น งบประมาณ จำนวนวันลาพักร้อนที่บริษัทอนุญาต นักวิทยาศาสตร์มีการวิจัยพบว่า จำนวนวันที่ดีที่สุดในการลาหยุดไปเที่ยวต่อหนึ่งทริปคือ “8 วัน”
งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Happiness Studies ในปี 2012 มีการศึกษาวิจัยว่าจำนวนวันหยุดพักผ่อนมากน้อยส่งผลต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีอย่างไร ผลปรากฏว่าความสุขของคนเราระหว่างไปเที่ยวจะขึ้นสู่จุดสูงสุดในวันที่ 8 ของการท่องเที่ยว
งานวิจัยยังพบด้วยว่า หลังจากกลับมาทำงานแล้วความสุขของคนเราจะกลับสู่จุดปกติภายใน 1 สัปดาห์ แม้ว่าจะไปเที่ยวมานานแรมเดือนก็ตาม ทุกอย่างจะกลับเป็นปกติในสัปดาห์เดียว
Jessica de Bloom หนึ่งในนักวิจัยงานดังกล่าว ให้สัมภาษณ์กับ The Washington Post เมื่อปี 2024 ว่า การวิจัยครั้งนั้นยากที่การวัดผล เพราะแต่ละคนมีวิธีพักผ่อนในแบบที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ทุกคนก็จะรู้สึกว่าจุดพีคของการไปเที่ยวจะอยู่ในช่วงประมาณวันที่ 8 รวมถึงคนที่ไปเที่ยวยาวนานกว่า 8 วันก็รู้สึกเช่นเดียวกัน
ด้าน Ondrej Mitas นักวิจัยและวิทยากรอาวุโสด้านความเป็นอยู่ที่ดีและคุณภาพชีวิตจาก Breda University กล่าวกับ The Washington Post ว่า เหตุที่จุดที่มีความสุขที่สุดระหว่างการท่องเที่ยวอยู่ที่ช่วงสัปดาห์กว่าๆ เท่านั้น เป็นเพราะถ้าผ่านระยะเวลาไปนานกว่านั้น ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ได้รับระหว่างท่องเที่ยวจะเริ่มกลายเป็นความเคยชิน ในทางกลับกัน ถ้าการท่องเที่ยวสั้นเกินไปก็จะยังไม่รู้สึกว่าได้หลีกหนีจากโลกการทำงานนานเพียงพอ
อย่างไรก็ตาม ทริปเที่ยว 8 วันอาจจะเป็นตัวเลขในอุดมคติ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะทำตามได้ เพราะกฎหมายและวัฒนธรรมในการลาหยุดงานที่ต่างกันทั่วโลก อย่างใน “ทวีปยุโรป” มีค่าเฉลี่ยวันลาพักร้อน 25 วันต่อปี ขณะที่ “สหรัฐฯ” พนักงานเอกชนมีวันลาพักร้อน 11-20 วันต่อปี และพนักงานจำนวนมากที่ไม่มีวันลาพักร้อนโดยได้รับเงินเดือนเลย หรืออย่างใน “ไทย” จำนวนวันลาพักร้อนส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่าง 6-15 วันต่อปี ทำให้คนทำงานหลายประเทศอาจจะไม่สามารถลาได้ยาวถึง 8 วัน
- ‘กรุงเทพฯ’ ขึ้นแท่นอันดับ 17 เมืองที่ต่างชาติอยากย้ายมา ‘ทำงาน’ มากที่สุดของโลกปี 2024
- การมาของ AI จะแบ่งพนักงานออกเป็น 2 กลุ่ม คือ “คนที่ทำงานได้ดีขึ้น” กับ “คนที่ตกงาน”
นอกจากนี้ การทำงานรูปแบบใหม่ที่ “ทำงานจากที่ไหนก็ได้” ก็จะทำให้การปลีกตัวจากการทำงานได้ตลอดทริปยากยิ่งขึ้น มีการศึกษาในสหรัฐฯ เมื่อปี 2018 พบว่า 52% ของลูกจ้างตอบว่าตนหยิบงานขึ้นมาทำบ้างระหว่างลาพักร้อน (งานเล็กๆ น้อยๆ เช่น ตอบอีเมล เข้าประชุมออนไลน์) ซึ่งหลังจากผ่านโควิด-19 เชื่อแน่ว่าตัวเลขนี้จะยิ่งเพิ่มขึ้นด้วยการปรับตัวของที่ทำงานให้ยืดหยุ่นกับการทำงานจากที่ไหนก็ได้ได้มากกว่าเดิม
น่าสนใจว่าด้วยสภาวะการทำงานที่เปลี่ยนไป พนักงานถูกตามงานได้ทุกที่ หรือกระทั่งจัดทริป ‘Bleisure’ เพื่อไปนั่งทำงานจากริมทะเลแบบพักผ่อนไปด้วยทำงานไปด้วย จำนวนวันที่เหมาะสมในการลาหยุดจะเปลี่ยนตามไปด้วยไหม หรือระยะเวลาจะไม่สำคัญอีกต่อไปแล้ว