รู้จักโครงการ ‘The Educator’ โดย ‘AIS Academy’ กับภารกิจนำเทคโนโลยีดิจิทัลยกระดับ “ครู” สู่ยุค 2021


การเรียนออนไลน์ (Learn Form Home) ในบ้านเราเริ่มเป็นที่รู้จัก และมีให้เห็นตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงระลอกแรกในปี 2020 แต่ถึงอย่างนั้นการเรียนในรูปแบบนี้ยังพบอุปสรรคอีกมากมาย โดยเฉพาะสื่อการสอนและวิธีการสอนของครูที่ยังปรับตัวไม่ทันกับเทคโนโลยี ส่งผลให้นักเรียนได้รับความรู้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ AIS Academy ลุกขึ้นมากระตุกสังคมโลกการศึกษาอีกครั้ง ให้หวนคิดและถึงเวลาที่ดิจิทัลเทคโนโลยีจะเข้าไปเปลี่ยนหน้าตา รูปแบบวิธีการสอน รวมถึงยกระดับครูไทย ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

ไม่ใช่ครูทุกคนที่พร้อมสอนออนไลน์

ดร. ดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าคุณครูในแต่ละพื้นที่ของไทยมีความแตกต่างและหลากหลาย อย่างไรก็ตามในแต่ละพื้นที่ก็พยายามและความมุ่งมั่นที่จะจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์เพื่อทดแทนการสอนแบบปกติ ดังนั้น ครูจึงพยายามพัฒนาตนเอง พยายามปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดกับการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะสกิลทางด้านดิจิทัลและภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็น 2 ทักษะที่คุณครูในปัจจุบันจำเป็นต้องเรียนรู้ แต่สิ่งสำคัญกว่าคือ จิตวิญญาณของความเป็นครูและหัวใจของการเรียนรู้ เพราะครูต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตการเป็นครูเพื่อพัฒนาตนเอง

“ยุคนี้คุณครูเองต้องทำงานหนักมาก เพราะบางคนอาจจะยังไม่เข้าใจเรื่องเทคโนโลยีมากนัก ดังนั้น จึงมีการเรียนการสอนแบบผสมผสาน ครูก็พยายามปรับตัวเรียนรู้เพื่อที่จะสอนนักเรียน สิ่งสำคัญคือ หัวใจของการเรียนรู้”

ความยั่งยืนที่แท้จริงต้องมากกว่าแค่ในองค์กร

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เอไอเอสเล็งเห็นเรื่องดิจิทัลทรานซ์ฟอร์มเมชั่นตั้งแต่ก่อนการระบาดของ COVID-19 เมื่อองค์กรได้ผ่านการทำดิจิทัลทรานซ์ฟอร์มเมชั่น มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับปรุงการทำงานและการเรียนการสอนภายในองค์กร แต่การทำเฉพาะภายในอาจเป็น ‘ความยั่งยืนที่ไม่ยั่งยืน’ เท่ากับการช่วยให้สังคมภายนอกเติบโตไปด้วยกันจึงเกิดเป็นโครงการ THE EDUCATORS THAILAND โดย AIS Academy

“ประโยชน์ของดิจิทัลจะทำให้การเรียนการสอนสามารถทำได้ทั่วถึงและครอบคลุมพื้นที่ที่ห่างไกลและโรงเรียนที่มีข้อจำกัดด้านจำนวนคุณครู ขณะที่ครูเองก็พยายามปรับตัว ดังนั้น ถ้ามีอาวุธช่วยครูก็จะเป็นประโยชน์กับประเทศ เพื่อให้นักเรียนเข้าถึงการศึกษาได้อย่างทัดเทียม”

เจาะลึกโครงการ THE EDUCATORS THAILAND

สำหรับโครงการ THE EDUCATORS THAILAND เพื่อต่อยอดการศึกษาของไทย ด้วยการให้ความสำคัญกับคุณครู บุคลากรต้นน้ำ ผ่านความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ในการพัฒนาหลักสูตรและต่อยอดทักษะการออกแบบสื่อการเรียนการสอนยุคใหม่ให้สอดรับกับการศึกษายุคดิจิทัลแบบครบวงจร ตั้งแต่ การวางโครงสร้างหลักสูตร เครื่องมือสื่อการสอน และการวัดประเมินผลผู้เรียน

โครงการดังกล่าวนั้นเปิดกว้างให้บุคลากรด้านการศึกษาจากภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็น นักการศึกษา ครูผู้สอน บุคลากรด้านการศึกษาทุกสังกัด และนักศึกษาฝึกสอน สามารถเข้าร่วม Un Learn และ Re Learn ทักษะการสอน โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 1,000 คน

“เราเห็นว่าคุณครูกว่า 90% ที่เข้าร่วมโครงการของเรามีความพร้อมและความตั้งใจในการเรียนรู้อย่างมาก” ดร.สุพจน์ ศรีนุตพงษ์ หัวหน้าส่วนงานการจัดการความรู้ด้านเทคนิค AIS กล่าว

สำหรับเนื้อหาภาคทฤษฎีที่จะทำการสอนมีทั้งหมด 5 หลักสูตร ได้แก่

1. ภูมิทัศน์ของการเรียนในอนาคต องค์ประกอบของการเรียนออนไลน์ สื่อการสอนออนไลน์ ระบบ LMS และอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียน

2. การวิเคราะห์เนื้อหา และวิธีการเรียนออนไลน์

3. กลยุทธ์การสอนออนไลน์ การสอนแบบผู้เรียนอิสระ การสอนโดยใช้กิจกรรมกลุ่ม การออกแบบการสอน

4. การผลิตวิดีโอออนไลน์ สำหรับการศึกษา

5. การวัดประเมินผลออนไลน์ การวัดความรู้ การวัดทักษะ การวัดทัศนคติ

ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าวถูกออกแบบและพัฒนาโดย AIS Academy ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยบุคลากรชั้นนำในวงการ โดยเป็นหลักสูตรเฉพาะผู้ที่เข้าร่วมโครงการ THE EDUCATORS THAILAND เท่านั้น เมื่อผู้เรียนผ่านการอบรมหลักสูตรจะได้รับใบประกาศนียบัตร และ Digital Credential Badge ซึ่งเป็นมาตรฐานการรับรองคุณวุฒิระดับสากล

นอกจากนี้ยังมีเวิร์คช้อปการผลิตนวัตกรรมการเรียนรู้รูปแบบใหม่ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้เตรียมความพร้อมในการผลิตผลงานในการแข่งขันชิงถ้วยรางวัลเกียรติยศ พระราชทาน จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรม-ราชกุมารี โดยจะมีการประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประจำปี 2564 ในวันที่ 15 ธ.ค.

กานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัท AIS และ Intouch, กรรมการ บริษัท เลิร์นดิ จำกัด กล่าวว่า ทาง AIS Academy ยังมีภารกิจในการนำองคูความรู้ต่าง ๆ ไปประยุกต์ใช้กับอีกหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคสังคม เพราะเชื่อว่าเป็นการช่วยยกระดับอีโคซิสเต็มส์ให้เติบโตไปด้วยกันในทุกด้านด้วยเทคโนโลยี ดังนั้น เอไอเอสอยากจะเป็นตัวช่วยในการจุดประกายให้ภาคเอกชนต่าง ๆ นำจุดแข็งมาช่วยให้ประเทศสามารถฟื้นฟูจาก COVID-19 และมีความสามารถในการแข่งขันได้

“ระหว่างทางที่เราพัฒนาเราอยากเห็นการยกระดับขีดความสามารถและ Mindset แม้โครงการจะจบในช่วงสิ้นปี แต่เชื่อว่าคนที่เข้าโครงการจะนำประสบการณ์ไปส่งต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเรื่องการศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญ และเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำ”