ต้มยำกุ้ง ทุ่ม ทับ จับ หัก… ทะลุโลก

…เป็นภาพยนตร์ไทยที่ทุ่มทุนสร้างมากที่สุด ใช้งบมากที่สุด….เป็นหนังไทยมีการขายลิขสิทธิ์สินค้ามากที่สุด…มีกระแสและเป็นข่าวดังลงในสื่อมากที่สุด… และอาจจะมีรายได้มากที่สุดเท่าที่หนังไทยเคยสร้างมา…

นี่เป็นเพียงตัวอย่างของปรากฏการณ์ภาพยนตร์ไทยเรื่อง “ต้มยำกุ้ง” ซึ่งกลายเป็นกระแส และประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการหนังไทย ในการก้าวขึ้นสู่ธุรกิจภาพยนตร์ไทยเต็มรูปแบบในตลาดโลก

“ไม่เคยมีโมเดลธุรกิจหนังไทยทำแบบนี้มาก่อน” คำกล่าวนี้เห็นจะจริง เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นการสร้างโมเดลการผลิตแบบใหม่ จากพลังของความสำเร็จของ “องค์บาก” มาสู่ “ต้มยำกุ้ง” เกิดจากการประยุกต์ใช้แนวคิด “value creation” ที่เป็นรูปธรรมของการเปลี่ยนภาพการผลิต ใช้จุดแข็งทางวัฒนธรรมไทย สร้างทางเลือกใหม่ของหนังไทยบนกระแสโลก

เมื่อตัวเอกอย่าง “จา พนม” ได้กลายเป็นกุญแจความสำเร็จที่ไขโลกอุตสาหกรรมหนังไทยอย่างคาดไม่ถึง เพราะยังไม่เคยมีรังสีของ “ความเป็นดารา” ครั้งใดที่ส่งผลต่อความคิด เปลี่ยนโมเดลเชิงโครงสร้างธุรกิจภาพยนตร์ไทยต่อยอดสู่ระบบธุรกิจหนังเรื่องใหม่ ซึ่งสร้างมูลค่าได้อย่างมหาศาล

โมเดล จา พนม ได้ถูกสร้าง ถูกผลิตขึ้นให้เป็นตัวละครแบบฉบับ “ฮีโร่” กลายเป็น “แบรนด์” มีชีวิต โดยอาศัยเอกลักษณ์ของความเป็นไทย นั่นคือ “มวยไทย” ผ่านการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ในภาวะที่โลกภาพยนตร์กำลังขาดแคลนนักแสดงประเภทฮีโร่ยอดนักสู้ อย่าง “บรู๊ซ ลี” ในอดีต และ เฉินหลง ที่นับวันจะโรยราลง

สหมงคลฟิล์ม ถือเป็นผู้ถอดรหัสธุรกิจหนังไทยสู่ตลาดโลก โดยอาศัยพลังฮีโร่ขับเคลื่อน และได้ทลายความคิดแบบเดิมที่ว่า ตลาดต่างประเทศถือเป็นผลพลอยได้แบบฟรุ้กๆ ของหนังลาโรงบางเรื่องจากตลาดเมืองไทย เพราะเมื่อกระแสองค์บากก้าวกระโดดไปไกลเป็นขุมทรัพย์ที่พิสูจน์ให้เห็น ทำรายได้นอกประเทศมากกว่าในประเทศ จึงทำให้ต้มยำกุ้งได้กลายเป็นขุมทองบ่อใหม่ และอาจจะยิ่งใหญ่กว่า เมื่อยังไม่ทันออกฉายก็ขายได้แล้วถึง 400 ล้านบาท!!! ในต่างประเทศตั้งแต่เป็นแผ่นโปสเตอร์…

ปรากฏการณ์ของต้มยำกุ้ง เป็นเสมือนวิถีทางของคนทำหนังไทยวันนี้ที่ต้องเริ่มปรับตัว และเบนภาพจากอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อคนในประเทศ ให้หันมาสร้างมูลค่าในต่างประเทศ ว่ากันว่า นับจากนี้โอกาสจากต่างประเทศเป็นเหมือนเป้าหมายใหม่ของคนค้าหนัง เป็นช่องทางเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้อย่างไม่จำกัด และดูเหมือนว่าตอนนี้วงการหนังไทยกำลังใส่สูทผูกไทสู่ตลาดสากลชัดเจนขึ้น เห็นได้จากเข็นโปรเจกต์ออกสู่งานเทศกาลไม่ต่ำกว่าปีละ 40 เรื่อง ประมาณการตัวเลขหนังไทยที่ขายได้ที่ตลาดเทศกาลหนังเมืองคานส์ “งานเดียว” ปีนี้ มีมูลค่าสูงถึง 1,200 ล้านบาท (ข้อมูลจากนิตยสาร Flick ฉบับวันที่ 3-9 พฤษภาคม 2548) ซึ่งเป็นรายได้ที่มากกว่า 796.4 ล้านบาทของมูลค่าตลาดหนังไทยในปี 2547 ตลอดทั้งปี ขยายตัวสูงขึ้นถึง 150 เปอร์เซ็นต์ เป็นข้อมูลที่ช่วยสร้างแรงหนุนเพื่อการปรับตัว ในการสร้างโอกาสความสำเร็จในการขยายธุรกิจแบบครบวงจร โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ อันเป็นช่องทางที่ยังไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากนักจากอดีตที่ผ่านมา ให้ทวีความสำคัญมากขึ้น

กระแสการค้าหนังไทยสู่ตลาดโลกในขวบปีนี้ ถือว่าคึกคัก เนื้อหอมมากที่สุด ไม่เพียงแต่ค่ายสหมงคลฟิล์ม ค่ายหนังดังอย่าง “GTH” และ “ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น” ต่างพยายามบุกตลาดต่างประเทศอย่างเอาจริงเอาจัง โดย GTH สามารถขายภาพยนตร์เรื่องชัตเตอร์กดติดวิญญาณในรูปแบบของ “รีเมก” สู่ตลาดต่างประเทศ ขณะที่ไฟว์สตาร์ฯ ได้พยายามสร้างโอกาสทางเลือกบนหนังเฉพาะกลุ่มในตลาดโลก ส่งออกตามงานเทศกาล อย่าง “หมานคร” เป็นหนังล่าสุดที่ถูกส่งออก เหมือนการชิมลางในตลาดค้าหนังโลกก่อนที่จะรุกอย่างเต็มกำลังในเร็ววันนี้

ถึงตอนนี้สหมงคลฟิล์มได้สร้างระบบการตลาดของหนังไทยโกอินเตอร์สำเร็จ และถือว่ามีโมเดลทางธุรกิจที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่มีค่ายหนังของไทยเคยทำมา โดยใช้จุดแข็งจากหนังแอ็กชั่น ยังมีแผนตั้งเป้าอัดตลาดโลกไว้ไม่น้อยกว่า 4 เรื่องต่อปี ก่อนต่อยอดลงทุนในธุรกิจขยายเมอร์ชั่นไดซิ่ง ซึ่งเป็นโมเดลประสบความสำเร็จมาแล้วมากมายในค่ายหนังระดับโลก

การค้าหนังแบบบุกทะลุโลกของ “ต้มยำกุ้ง” กำลังพิสูจน์ให้เห็นว่า วันนี้อุตสาหกรรมการค้าหนังสู่ตลาดโลกแบบครบวงจร ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วตั้งแต่นาทีนี้…

7 ที่สุดของหนังต้มยำกุ้ง

1. เป็นหนังไทยที่มีข่าวลงในสื่อมากที่สุด
2. เป็นหนังเรื่องแรกที่มีการขายลิขสิทธิ์ หนัง เกม การ์ตูน สินค้าแบบครบวงจรมากที่สุด
3. เป็นหนังไทยที่ใช้งบลงทุนมากที่สุด (240 ล้านบท) รองจากสุริโยไท
4. เป็นหนังไทยที่ใช้โปสเตอร์หนังมากที่สุด (14 แบบ)
5. เป็นหนังไทยที่มีสินค้าต่อเนื่องมากที่สุด
(สินค้า 30 items)
6. เป็นหนังไทยที่มีรายได้จากธุรกิจต่อเนื่องมากที่สุด ( 50 ล้านบาท)
7. เป็นหนังไทย ที่บริษัทดีแทคซื้อลิขสิทธิ์ภาพไปผลิตบัตรเติมเงินมากที่สุด (2-3 ล้านใบ หนังไทยเรื่องอื่นๆ 3-5 แสน)