“เสี่ยเจียง” ฟัดทะลุโลก

ความสำเร็จไปทั่วโลกของหนัง “องค์บาก” ถูกต่อยอดจนมาเป็น “ต้มยำกุ้ง” หนังฟอร์มยักษ์ระดับ 200 ล้าน ที่ทำให้ เสี่ยเจียง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ และสหมงคลฟิล์ม กลายเป็นผู้เปิดตำนานใหม่ให้กับหนังไทยบุกตะลุยไปทั่วโลก

“เสี่ยเจียง” สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ เริ่มต้นและหล่อหลอมชีวิตส่วนหนึ่งให้มีลมหายใจเข้าออกเป็นภาพยนตร์เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ปัจจุบันเขาเป็นเจ้าของเครือข่ายธุรกิจภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุด ด้วยมูลค่าอาณาจักรของสหมงคลฟิล์มในตัวเลขกว่า 2 พันล้านบาท ประสบการณ์ที่เริ่มต้นจากจุดต่ำสุด จนมาถึงจุดสูงสุดในอาชีพ ว่ากันว่าหากนำภาพชีวิตของเขามาเรียงร้อยต่อกัน ก็จะได้ภาพยนตร์ชีวิตหนักๆ เรื่องหนึ่ง

ภาพความสำเร็จของ “องค์บาก” ที่สร้างรายได้ถล่มทลายในต่างประเทศ ทำให้เส้นกราฟแห่งความสำเร็จของ สหมงคลฟิล์ม พุ่งสูงขึ้น กลายเป็นบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ที่ได้รับการจับตามองมากที่สุด และนำไปสู่หนังเรื่องที่สอง “ต้มยำกุ้ง” ที่ใช้เม็ดเงินลงทุนกว่า 200 ล้านบาท จะเป็นรองก็แค่สุริโยไท

ไม่มีใครคาดคิดว่า บริษัทที่เกือบล้มละลายเมื่อ 20 ปีที่แล้ว จนเสี่ยเจียงเกือบต้องเลือกปลิดชีวิตตัวเองจะมีวันนี้ หากไม่เป็นเพราะธุรกิจนำเข้าภาพยนตร์จากต่างประเทศ ที่ไม่เพียงกอบกู้ให้สหมงคลฟิล์มลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้อีกครั้ง แต่ยังเป็นฐานเงินที่ใช้ในการเข้าสู่การผลิตหนังไทย

การมุ่งมั่นอยู่กับการผลิตภาพยนตร์ไทยมาอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่ทำให้เขาเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ของตลาดหนังไทยเท่านั้น หากแต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาบุกไปสู่ตลาดต่างประเทศ อย่างที่ไม่เคยมีหนังไทยเรื่องใดเคยทำได้มาก่อน

ทุกวันนี้สหมงคลฟิล์มจัดเป็นค่ายหนังรายใหญ่ ที่ผลิตหนังไทยมากที่สุด เฉลี่ย 8 เรื่องต่อเดือน โดยมีบริษัทย่อย 8 แห่ง ผลิตภาพยนตร์ นำเข้าหนัง และมีโรงภาพยนตร์เป็นของตัวเอง

ตัว“เสี่ยเจียง” ถูกจัดเป็นผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของวงการหนัง ทั้งในฐานะประธานกรรมการบริษัทสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และในฐานะนายกสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ที่ดำรงตำแหน่งสองสมัยติดต่อกัน ในยุคของเขาเป็นกำลังหลักในการสร้างงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพ และริเริ่มการออกบูธของสมาพันธ์ภาพยนตร์ไทย ในเทศกาลระดับโลกอย่างคานส์

“เราพยายามทำให้หนังเมืองไทยไปออกนอกให้ได้ คือการหาประโยชน์ ถ้าเราคิดจะทำหนังไทยแค่ประเทศไทย อย่าง สมาพันธ์ดูแค่ประเทศไทยไม่คิดอย่างอื่น หนังไทยไม่มีทางโตหรอก คนไม่มีเงินสร้าง มีเงินแค่ 10-15 ล้าน จะโตได้ยังไง”

สมศักดิ์เล่าให้เราฟังว่า ความสำเร็จจากองค์บาก ทำให้เขาพบว่าแนวทางที่เดินมานี้ถูกทาง เพราะโปรดักส์สามารถขายได้ทั้งโลก มีความเป็น “อินเตอร์”สูง เขายอมรับว่าความคิดส่งออกหนังไทย แม้ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ระดับความเป็นสากลที่สามารถเข้าไปได้ในทุกตลาดของโลกเป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง

“องค์บากในตอนนั้น เราหวังว่าจะขายได้เหมือนกับหนังไทยทั่วไป คือเรื่องขายได้ 4-5 ประเทศ อย่างมากแค่แสนสองแสนเหรียญเราก็พอใจ แต่ผิดคาดหนังเรื่องนี้ไปได้ทั้งโลก …ทุกอย่างมันเปลี่ยนเลย เราต้องมองตลาดทั่วโลก มันไม่ใช่แค่เมืองไทย ถ้าคุณเห็นหนังต้มยำกุ้งแล้ว…คุณจะเข้าใจหมด แล้วหนังเรื่องนี้จะสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติมากที่สุด”

ความสำเร็จของหนังองค์บาก นิยามของตลาด “ต่างประเทศ” ของเสี่ยเจียง ถูกเปลี่ยนใหม่ “ไปแค่ประเทศเดียวก็ถือว่าไปต่างประเทศเหมือนกัน” ดังนั้น อนาคตของคำว่า “ขายต่างประเทศ” สำหรับเขา จึงใกล้เคียงกับคำว่า “ขายทั่วโลก” มากกว่า

“ต้มยำกุ้งเป็นเรื่องแรกที่ทำเพื่อต่างประเทศ” เขายืนยัน

เริ่มต้นจากหนังเรื่ององค์บากใช้เงินราว 50 ล้านในการสร้าง มาถึงหนัง “ต้มยำกุ้ง” เปลี่ยนรูปแบบใหม่ที่ใช้ทุนถึง 250 ล้านบาท เป็นก้าวที่สำคัญเหนือความคาดหมายสำคัญภาพยนตร์ไทย ตลอดชีวิตที่ทำหนังมาเขาไม่เคยคิดว่าจะเป็นภาพยนตร์ไทยจะขึ้นไปติดอันดับ 1 ใน 20 ของบ็อกซ์ออฟฟิศได้

เฉพาะแค่ฉาก “เฮลิคอปเตอร์” ชนกันในหนังต้มยำกุ้ง ที่เสี่ยเจียงต้องสั่งให้ถ่ายทำใหม่ถึง 2 ครั้ง กว่าจะได้ภาพเป็นที่พอใจ

ความสำเร็จขององค์บาก และต่อยอดมาถึงต้มยำกุ้ง อดไม่ได้ที่จะสร้างภูมิใจให้กับเสี่ยเจียง “ในความรู้สึกของผมในตอนนี้ ภูมิใจอย่างมาก ถึงตายก็ถือว่าคุ้มแล้วกับชีวิตนี้

…หนังเรื่องนี้สามารถไปฉายต่างประเทศได้อย่างสมศักดิ์ศรี มันเป็นสิ่งที่คนไทยอยากจะเห็น พูดแล้วน้ำตาจะไหล… มันเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้คนทำหนังไทยอยากจะทำหนังไทยให้โกอินเตอร์ไปด้วย แต่ทั้งนี้ก็ต้องกล้าลงทุนด้วย” เป็นคำพูดที่สมศักดิ์เล่าถึงความรู้สึกต่อเรื่องให้สื่อมวลชนฟัง ณ ช่วงอายุ 62 ปี ในงาน “องค์บากบุกถล่มฮอลลีวู้ด”

เขาเปิดแชมเปญฉลอง หลังจากที่องค์บากได้ลงโรงฉายในประเทศสหรัฐอเมริกาในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2548 โดยเป็นคำพูดที่พูดด้วยมุมมองที่มีครึ่งหนึ่งของชีวิต ในการนำเข้าภาพยนตร์จากต่างประเทศ แต่ ณ วันที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่เขาเป็นผู้อำนวยการสร้าง ได้เดินทางออกนอกประเทศ สู่บ้านเกิดของแหล่งภาพยนตร์โลก เขาถือว่านี่เป็นชัยชนะก้าวแรกสำหรับคนไทย

“ผมไม่หนักใจเลยเรื่องต้องได้เงินเท่าไหร่ แต่หนักใจว่าทำอย่างไรให้ออกมาแล้วอินเตอร์ เมืองนอกต้องพอใจเรา ไอ้เรื่องรายได้ผมเชื่อว่าขายยังไงก็ไม่ขาดทุนหรอก เรายังมีชีวิตอยู่กับจา พนม อีกนานแสนนาน จะหวังทำไมแค่กับเรื่องที่สอง เรื่องที่สามมันต้องมโหฬารกว่านี้ เวลานี้เราคิดว่าทำยังไงสร้างให้คนทั้งโลกรู้จัก จา พนม ยิ่งกว่าเฉินหลงพอแล้ว”

30 ปี ที่คร่ำหวอดอยู่กับภาพยนตร์จีนแนวบู๊ ทำให้เขาเข้าใจภาพธุรกิจภาพยนตร์ต่างประเทศได้ไม่ยากนัก โดยเฉพาะการที่ต้องสร้างจุดยืนใหม่ ที่เป็นแบบฉบับของตัวเอง

“ถ้านักแสดงเราไปบู๊เหมือนเฉินหลงมันจะไม่มีราคา แต่ถ้าเรามีดีเป็นแบบฉบับของเราเองผมว่าดี แล้วมันจะเป็นคนทำชื่อเสียงให้เป็นระดับประเทศชาติ ความจริงบางอย่างเราเป็นคนไทย เราไม่ได้ทำเพื่ออยากได้เงิน แต่สิ่งที่ผมทำ ผมอยากทำหนังไทยให้โลกเขาลือว่า คนไทยทำได้”

นั่นก็คือ ที่มาของการนำศิลปะการต่อสู้แบบ “มวยไทย” บรรจุอยู่ในหนัง องค์บาก จนมาถึงต้มยำกุ้ง

“ความเป็นไทย เราต้องเชื่อตัวเราเองว่ามวยไทยเนี่ยเป็นที่เลื่องลือไปทั้งโลก ใครๆ ก็อยากดูมวยไทยเรา ลีลามวยไทยเราไม่เหมือนกังฟู พอฝรั่งมองมันก็ตะลึงอยากเห็น อยากดู ผมว่ามันอยู่ตรงนี้ความเป็นไทยของเราบางอย่างที่เราต้องหาให้เจอ และไม่เหมือนใคร”

ถึงแม้องค์บากและต้มยำกุ้งจะใช้ศิลปะการต่อสู้แบบมวยไทย แต่เมื่อมาถึงเรื่องที่ 3 ยังเป็นหนังแนวต่อสู้ แต่ต้องฉีกไปหารูปแบบใหม่ๆ ที่ต้องไม่ซ้ำรอยเดิม

คำกล่าวที่ว่า “น้ำขึ้นให้รีบตัก” ดูจะใช้ไม่ได้กับ “เสี่ยเจียง” นัก เมื่อเขาตัดสินใจทิ้งช่วงเวลาการผลิตหนังที่มีจา พนม เป็นตัวนำออกไปถึง 2 ปี ทั้งที่เป็นช่วงเวลาทองของจา พนม ซึ่งผิดแผกไปจากรูปแบบการผลิตหนังไทย

“สมัยก่อนถ้าทำหนังแบบ มิตร ชัยบัญชา ดัง ทำออกมาเป็นสิบๆ เรื่อง ถ้าผมอยากได้เงินจริงก็ต้องทำแบบเดียวกัน แต่นี่หลังจากองค์บากมีเวลา 2 ปีอย่างนี้ ก็มีต้มยำกุ้งเรื่องเดียว”

การเลือกช่วงเวลาที่ปรากฏตัวต่อสื่อมวลชน เป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งของเสี่ยเจียงนำมาใช้ “ไอ้จาเนี่ย จะไม่ปรากฏตัวในสื่อไหนเลย สปอนเซอร์โฆษณาผมยังไม่ให้เลย เรดบูลมาเจรจา ผมเรียกไป 25 ล้าน
กลับบ้านเลย มันต้องให้คนอั้นไว้ว่า ให้คนดูอยากเห็น ยอมรับว่าวันนี้คนพูดกันทั้งเมืองเรื่องต้มยำกุ้ง อันนี้ผมไม่ได้เข้าข้างตัวเอง ไปไหนก็มีแต่พูดเรื่องนี้ นั่นเพราะว่าทุกคนอยากเห็นไอ้จา ตั้งแต่องค์บาก ผมไม่เคยให้ออก”

ความสำเร็จในด้านรายได้ขององค์บาก และการขายเรื่องต้มยำกุ้งได้ตั้งแต่หนังยังเป็นแค่โปสเตอร์ สร้างความมั่นใจให้กับ “เสี่ยเจียง” ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเงินลงทุนจากต่างชาติ

…ทำไมผมต้องการที่คนจะต้องลงทุนกับต่างชาติ เมื่อก่อนเพราะเราไม่มีตังค์ ต้องให้ต่างชาติมาลงทุนในเมืองไทย แต่วันนี้ผมมีเงิน ทำไมต้องให้มาลงทุนกับผม เราสร้างมาถึงวันนี้แล้วให้เขาชุบมือเปิบ จะทำอย่างนั้นทำไม แต่ถ้าเอาทอมครูซ ก็อาจยั่วผมได้ (ยิ้ม)”

แม้ว่า “ต้มยำกุ้ง” จะเริ่มต้นด้วยการตั้งงบไว้ที่ 100 ล้าน แต่ด้วยการต้องการคุณภาพ บวกกับการมีรายได้ในขั้นตอนการพรีเซล (ขายก่อนเห็นตัวภาพยนตร์) ที่สามารถทำเงินได้กว่า 400 ล้านบาท ทำให้ทุนสร้างเพิ่มขึ้น

ต้นทุนของภาพยนตร์เรื่องนี้แบ่งเป็น ค่าผลิต 200 กว่าล้าน การใช้เงินโฆษณาและการตลาดราว 35 ล้าน โดยยังไม่รวมมูลค่าของในเชิงโฆษณาที่ทำร่วมกับพันธมิตรอีก 20-30 ราย ราว 100 กว่าล้าน ในขณะที่อีก 15 ล้านเป็นมูลค่าของฟิล์มก๊อบปี้ที่ฉายในประเทศ เนื่องจากใช้ระบบใหม่โดยให้ไม่คิดมูลค่าฉายหนังคือให้ฉายฟรี แต่นับที่ส่วนแบ่งรายได้ที่ 75 เปอร์เซ็นต์ โดยศักยภาพที่ตั้งไว้ว่าจะมีโอกาสสูงสุดถึง 1 พันล้านบาททั้งในและต่างประเทศ

การลงทุนในระดับ 100 ล้านบาท สมศักดิ์มองว่า ศักยภาพของบริษัทปีหนึ่งน่าจะทำได้ 1-2 เรื่อง ในขณะที่หนังต้นทุน 50-70 ล้าน จะมีประมาณ 4-5 เรื่อง ต้องการขายต่างประเทศ และเป็นแนว “แอ็กชั่น” และอีก 8-10 เรื่อง สำหรับภาพยนตร์ที่ทำเพื่อตลาดในประเทศด้วยต้นทุนประมาณ 15-20 ล้าน ซึ่งโอกาสที่จะไปได้ แต่ไม่ได้หวังมากกว่าการคืนทุนในประเทศ

โปรเจกต์ที่ว่านี้ คือ ภาพยนตร์ไตรภาคของนนทรีย์ นิมิตบุตร ด้วยทุนสร้าง 300 ล้าน เรื่อง “ปืนใหญ่ โจรสลัด” ในขณะที่ 4-5 เรื่อง ที่มีโครงการไปนอกที่กำลังจะเกิดขึ้น ได้แก่ “ยอดหญิงมวยไทย” หนังขายดาราแอ็กชั่นคนใหม่หญิงชื่อจีจ้า “ตะบันไฟ” “บอดี้การ์ดภาค 2” กับพล็อตหนังอีกเรื่องที่เกี่ยวกับ “สวยพิฆาต” นอกเหนือจากเรื่องที่อยู่ในระหว่างทำงาน เช่น “งูยักษ์” กับ “มนุษย์เหล็กไหล”

“ตอนนี้ผมมีความคิดว่าอยากให้ผู้กำกับต่างชาติมาทำหนังให้เรา ไม่ใช่สร้างกับเขา (co-production) แต่จ้างเขามากำกับให้เรา เป็นลูกน้องเรา ทั้งฝรั่งทั้งจีน ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ส่งเมืองนอก คือเราอยากเปลี่ยนพัฒนาบ้าง เราอยากได้ความรู้จากมุมมองของต่างประเทศบ้าง

เดี๋ยวนี้แผนกหนังไทยดีกว่าทุกแผนกต้องยอมรับ มันก็มีบ้างปรับกลยุทธ์ที่หนังไทยร่วงลงมา ก็ดึงหนังฝรั่งขึ้น เมื่อก่อนหนังจีนดี เราก็ถล่มหนังจีนอย่างเดียวมันก็ช่วยเราได้ เดี๋ยวนี้ยืนโรงด้วยหนังฝรั่งก็ยังดีอยู่ แล้วเอาหนังไทยมาช่วย แต่เดี๋ยวนี้เราก็ไม่ได้ลงไปทำงานในทุกแผนก มีแต่ฝ่ายต่างประเทศต้องขึ้นอยู่กับผมโดยตรง

เราเป็นคนเข้าใจหนัง เพราะชีวิตผมฝึกอยู่กับหนังตลอดเวลา ผู้กำกับที่อยากทำหนังก็มาคุยกับผม การตลาดกับหนังผมคุยได้เหมือนกัน ทุกคืนผมคุยกับผู้กำกับ มีเรื่องอะไรต้องคุยกันทุกเรื่อง …เพราะคนทำหนังกับเจ้าของต้องเข้าใจ ไม่ใช่แค่มีเงินก็ทำหนังได้นะ ประเทศไทยมีคนมีเงินมากกว่าผมเยอะแยะ แล้วอยากจะทำหนังด้วย แต่ไม่เข้าใจกลยุทธ์ของหนัง

คนอย่างผมจะไม่เข้าไปยุ่ง เพราะเป็นหน้าที่ของผู้กำกับ แต่ทำเสร็จแล้วต้องให้ผมดูก่อน ถ้าผมบอกไม่ได้คุณก็ต้องแก้ ต้มยำกุ้งก็ยังแก้เลยแต่ยังไม่อยากบอก ฉากที่เรือชนกับเฮลิคอปเตอร์ ฉากนั้นฉากเดียวใช้เงิน 18 ล้านนะ ให้แก้ถ่ายมาไม่พอใจ ไม่มีปล่อยไปง่ายๆ ช้าหน่อยไม่เป็นไร ฉายไปวันนี้เราโดนด่าแล้วขาดทุนด้วย แต่ช้าหน่อยโดนด่าแต่มีกำไรก็ไม่เป็นไร

…ทุกวันนี้ผมเชื่อว่าคนที่ทำงานกับผมมีความสุข เพราะผมไม่เคยเอาเปรียบใคร ผู้กำกับที่อยู่กับสหมงคลฟิล์มทำทุกคนมีส่วนแบ่ง ค่ากำกับน้อยหน่อย 3-5 แสน แต่มีส่วนแบ่ง 20-25 เปอร์เซ็นต์ ถ้าหนังทำเงินก็ได้เยอะ ผมเชื่อว่าสองเรื่องนี้คุณปรัชญามีเงินเป็นร้อย (ล้าน) แล้ว

อย่างวันที่ 27 กรกฎาคมนี้ ผมเชิญคนทั้งโลกที่ซื้อหนังเรื่องนี้ทั้งหมด มาดูหนังเรื่องนี้ฉายรอบแรกที่ประเทศไทย นายกรัฐมนตรีรับปากผมว่าจะเปิดทำเนียบเลี้ยงให้มันสมศักดิ์ศรี นี่คือสิ่งที่เราทำ จัดรอบนี้ผมเสียเงินอย่างน้อย 5-10 ล้าน เพราะต้องให้ตั๋วเครื่องบินเข้าประเทศละ 2 ที่ 50 ประเทศก็ 100 ที่แล้ว แล้วโรงแรมอีก เราต้องอยู่เลี้ยงเขาอีก 2 วัน 3 คืน เราขายเขาไปแล้วไม่ต้องจัดเลี้ยงเขาก็ได้ เราก็ได้เงินแล้วเพราะขายแล้ว แต่เราอยากจะทำบางอย่างให้ทั้งโลกรู้ว่าหนังไทยก็ทำได้ ให้ทั้งโลกทั้งเอเชียรู้ว่าหนังไทยก็ไม่ยิ่งหย่อนกว่าใคร

…มันจะกลายเป็นอุตสาหกรรมแน่นอนในอนาคตข้างหน้า เป็นสินค้าส่งออก และเป็นสื่อโฆษณาที่เชื้อเชิญให้คนมาประเทศไทย ทุกวันนี้สิ่งที่อยากได้คือชื่อเสียง ไอ้เงินมันเรื่องเล็กมันได้หมดแล้ว เราไม่ได้ต้องการมากกว่านี้ แค่นี้ก็มีกินมีใช้พอแล้ว ตายไปก็เอาไปไม่ได้ มีชื่อเสียงเอาไว้ในคนร่ำลือว่า สหมงคลฟิล์มเป็นบริษัทที่ดี มีเสี่ยเจียงเป็นคนทำแค่นี้ผมพอใจแล้ว

“…ผมภูมิใจกับหนังเรื่องนี้มาก เพราะว่าดีเหลือเกิน ฉายออกมาไม่มีใครติเราได้ รับรองว่าที่สุด” สมศักดิ์เชื่อว่า เขาจะทำหน้าที่ในฐานะคนไทยต่อประเทศไทย และต่อวงการภาพยนตร์ไทยที่เขารักได้อย่างสมบูรณ์อีกครั้ง

1 วันของ เสี่ยเจียง

กิจวัตรประจำวันตลอด 20 ปีของเสี่ยเจียง คือ การตื่นนอนราวบ่าย 2 -3 โมง เข้ามาที่บริษัท หรือประชุมกับสมาพันธ์จนถึง 2 ทุ่ม ได้เวลาเดินทางไปที่คอฟฟี่ช้อป โรงแรมดุสิตธานี เพื่อนัดคุยกับผู้กำกับภาพยนตร์เป็นการส่วนตัว เพื่อรับฟังปัญหาเรื่องราว สารทุกข์สุขดิบทุกเรื่อง ก่อนที่จะเข้านอนราวตีห้า

แม้ว่าเวลานี้ “เสี่ยเจียง” จะมีลูกสาว และลูกชาย 4 คน ที่เรียนจบกลับมาช่วยงานในสหมงคลฟิล์ม แต่เป็นเรื่องของงานหลังบ้าน เช่น ทำบัญชี การตลาด ประชาสัมพันธ์ หรือธุรกิจนิวมีเดีย แต่สิ่งหนึ่งที่เสี่ยเจียงยังต้องทำเองตลอด นั่นก็คือ การพูดคุยกับ “ผู้กำกับหนัง” ที่เขายังไม่ได้ฝึกทายาทคนใดมารับช่วงงานนี้ต่อ