360 องศานักคิด พิชิตชื่อหนัง

หาก “เจ้าพ่อสหมงคลฟิล์ม”หรือ เสี่ยเจียงจะขอใครซักคนมาช่วยคิดชื่อหนัง ต้องคิดถึงผู้ชายใจถึงผู้นี้…ชวนะ ภวกานนท์

“จะบอกรักสักกี่ครั้ง” ถ้ายังจำได้ ริชาร์ด เกียร์ แสดงนำ…หนังฝรั่งเรื่องนี้ไม่ได้แปลกอะไร แต่นี่คือ จุดเริ่มต้นของนักตั้งชื่อหนังคนนี้ ชวนะ ภวกานนท์ เพราะเป็นหนังต่างประเทศเรื่องแรกๆที่เกิดจากผลผลิตทางความคิดของเขา

นับจากวันนั้นถึงวันนี้ กว่าสิบปี ในบทบาทนักคิดชื่อหนังของ ชวนะ วัดกันด้วยสถิติความถี่แล้ว มีภาพยนตร์ในโรง หนังแผ่น หนังซีดี ทั้งหนังไทยและเทศไม่ต่ำกว่าพันเรื่อง ผ่านมันสมองของเขา

ทุกวันนี้ ชวนะ ภวกานนท์ เป็นอาจารย์สอนหนังสือใน คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่บทบาทหนึ่งในวงการภาพยนตร์ เขาคือนักตั้งชื่อหนัง แห่งค่ายสหมงคลฟิล์ม เป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษาข้างกาย สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ หรือ “เสี่ยเจียง” ซึ่งเรียกใช้บริการอยู่เป็นประจำ ทั้งในการตั้งชื่อ การทำการตลาด หรือ การทำโปสเตอร์หนัง เขามีส่วนเป็นเพื่อนคู่คิดกับเสี่ยคนนี้เสมอ

“เสี่ยเจียงชอบทำงานตอนกลางคืน ชอบไปนั่งคิด ปรึกษางานที่โรงแรมดุสิต บางครั้งเรียกผมไปช่วยกันคิดชื่อหนังใหม่ๆ ที่นั่น เสี่ยเจียงชอบชื่อหนังที่มีคอนเซ็บต์แรงๆ เข้าใจง่าย แต่ไม่ชอบมีคำว่า ตาย ปะปนอยู่ในชื่อหนัง เพราะเสี่ยเจียงบอกว่าไม่เป็นมงคล”

อาชีพนักตั้งชื่อหนังสำหรับชวนะ ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ เขาทำงานด้านนี้มามากพอที่รู้ซึ้งถึงสไตล์ของเสี่ยเจียง ยิ่งด้วยบุคลิกส่วนตัวของชวนะที่มีหัวคิดแบบนอกกรอบ แหวกกระแส มีสไตล์ความเป็นนักการตลาด ผสมผสานกับบุคลิกนักโฆษณา ซึ่งได้รับการยอมรับว่า “เชี่ยว” ผู้หนึ่ง ทำให้เขาอยู่เบื้องหลัง หนังดัง หนังเงินล้าน หลายต่อหลายเรื่อง

ประสบการณ์ในชีวิตของชวนะ เหมือนมินิซีรี่ส์เรื่องยาว เด็กๆ เคยเกเรมาก จนพ่อต้องส่งไปเรียนที่อินเดีย เขาเคยทำงานราชการในอำเภอแห่งหนึ่ง เคยทำงานบริษัท กระทั่งสู่วงการบันเทิง เป็นตัวประกอบให้ละครของ เทิ่ง สติเฟื่อง ซึ่งเป็นเจ้าของศรีไทยการละคร เคยเป็นนักเขียนบท และผู้กำกับหนังเรื่อง อีก 10 วันโลกจะแตก

ใช่แล้ว, ทุกอย่างได้สอนเขา สร้างเขาขึ้นมาเป็นนักคิด และก่อเกิด ลีลานักโฆษณา นักการตลาดที่เขามองว่า ไม่ได้เกิดจากทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่ง แต่ทั้งหมดเกิดจากประสบการณ์ชีวิตที่คุณจะหาเจอเอง

หากคุณเคยได้ดูได้ยิน หนังแนวบู๊ฮ่องกง ประเภท “ฟัด” และหนังไทย ประเภทผีๆ ของค่ายสหมงคลฟิล์ม นี่เองที่ถือเป็นสโลแกนประจำตัว ประจำแบรนด์ของชวนะ เพราะเขายกตัวอย่างว่า หนังฮ่องกงมีดาราชูโรงอย่าง “เฉินหลง” แสดง จะขายได้ต้องมีคำว่า ฟัด ถึงจะดัง และหนังไทย จำเป็นต้องมีคำว่า ผี ถึงจะขายได้ ถูกใจตามสายหนังต่างจังหวัด ขณะที่วิธีการตั้งชื่อหนังต่างประเทศไม่จำเป็นต้องแปลตามภาษาอังกฤษ แต่ต้องหาคำที่จดจำง่าย หวือหวา และทันสมัย

“ภาพยนตร์ก็เหมือนสินค้า” ชวนะอธิบายว่า การตั้งชื่อหนังไม่แตกต่างอะไรจากแบรนด์ หรือการสร้างแบรนด์ ให้สินค้าขายได้ การตั้งชื่อหนัง จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องคิด ต้อง “หมกมุ่นนิยม” ต้องอาศัยประสบการณ์ เหมือนบูรณาการทางความคิด ประยุกต์จากประสบการณ์ความรู้ทั้งจากตำรา และนอกตำรา หรือแม้กระทั่งอาศัยการจดจำจากวิชาความรู้จากนักคิดชั้นครู ซึ่งชวนะ บอกว่าเสี่ยเจียงถือเป็นครู สำหรับการตั้งชื่อหนังที่เขายอมรับมากที่สุด

เกือบทุกวันชวนะจำเป็นต้องอ่านหนังสือ นิตยสาร หรือวันว่างเมื่อใดต้องดูหนังใหม่ๆ หาไอเดียใหม่ๆ จากวิถีชีวิตประจำวัน แม้แต่ภาษาที่ติดตามล้อรถบรรทุกแบบกวนๆ เช่น รักพี่มีแต่แรง น้ำมันแพงพี่ไม่เคยหยุด ยังถือเป็นข้อมูลที่ต้องจดและนำมาประยุกต์ใช้ ขมวดคำ หรือตกแต่งคำใหม่ เพื่อเสนอ หรือเพื่อคุยกับเสี่ยเจียงหาข้อสรุปในการตั้งชื่อ

ภาระหน้าที่ของชวนะทุกวันนี้ ต้องบีบ ต้องเค้น คิดค้นภาษาหนัง ทั้งหนังโรง แผ่น และซีดี เกือบทุกแนวให้กับมงคล เมเจอร์ เฉลี่ยเดือนละสิบกว่าเรื่อง ซึ่งเขาเล่าว่า เคยต้องคิดมากที่สุดถึงเดือนละ 30 เรื่อง

เท่านั้นยังไม่พอ บางครั้งชวนะยังต้องช่วยคิดแผนการตลาดสำหรับการโปรโมตหนังใหม่ เขาเล่าว่า หลายปีก่อนเคยทำหุ่นผีขนาดเท่าคน ไปตั้งอยู่ตามป้ายรถเมล์ สร้างความฮือฮา และเป็นข่าวหน้าหนึ่งมาแล้ว ซึ่งก็ได้ผล หนังผีเรื่องนั้นมีคนจำได้ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

ทุกๆ นาทีลิ้นชักความคิดของชวนะยังเปิดรับความรู้ใหม่ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด แม้ใครหลายคนจะเคยเห็นตัวตนของเขา และมองว่าจะมีบุคลิกเพี้ยนๆ กับ สไตล์กับการแต่งตัวแบบ ฉีกวัย

เขาเล่าว่า เขาเคยใส่เสื้อสีเหลือง กางเกงสีเแดง เพื่อบ่งบอกว่าเขาอยู่ธรรมศาสตร์ เคยใส่ชุดสุดเริ่ดตอนสอบสัมภาษณ์เรียนปริญญาโท ด้วยเสื้อลายสก็อต กางเกงลายสก็อต และสวมหมวกลายสก็อต มาแล้ว ทุกวันนี้เขาย้อมผมสีม่วง นิยมเครื่องแต่งกายสีม่วง

ใจถึงมากไปกว่านั้น เขาเคยลงทุนเป็นปลอมแปลงตัวเองเป็นเกย์ สร้างบุคลิกตัวเองเป็นชายหนุ่มรักร่วมเพศ เพื่อโปรโมตหนังเรื่อง เพลงสุดท้าย

…อารมณ์ใจถึง ผสมผสานสไตล์การแต่งกายแบบเพี้ยนๆ นี้ เขาเรียกว่า นี่คือ แบรนด์ความเป็นตัวตนของชวนะ ซึ่งก็ไม่แตกต่างอะไรจากสมการสร้างแบรนด์ของภาพยนตร์ ฉันใดฉันนั้น