ลีลาท่วงท่ามวยคชสาร… พลังตัวเบาเหินฟ้า…ของ “จา พนม” …นี่เป็นเพียงตัวอย่างศิลปะการต่อสู้ระดับมาสเตอร์พีซ ของชายผู้นี้ “พันนา ฤทธิไกร” ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของภาพยนตร์ “ต้มยำกุ้ง” และเปรียบเสมือนปรมาจารย์ศิลปะการต่อสู้บนแผ่นฟิล์มที่สร้างฮีโร่พันธุ์บู๊หนังไทย ออกสู่สายตาผู้ชม…
เขาเป็นหนึ่งในคนทำงานที่ผ่านยุครุ่งโรจน์ และตกต่ำ ร่วมงานและฝึกฝนพระเอกนางเอกอย่างสรพงศ์ ชาตรี หรือ ม.ล.สุลีวัลย์ สุรียงค์ และดารานำอีกหลายคน จนมีเป็นเอกลักษณ์เป็นตัวแทนของภาพยนตร์แนวแอ็กชั่น
ด้วยผลสร้างงานทุกระดับตั้งแต่ ภาพยนตร์ทุนสร้างต่ำสำหรับสายหนังต่างจังหวัด อย่าง ปีนเกลียว 1,2,3 ปลุกมันขึ้นมาฆ่า 1,2,3 กองทัพเถื่อน, มือปราบปืนโหด ฯลฯ ในยุคที่อุตสาหกรรมหนังไทยมีภาพยนตร์เกิดขึ้นมา 100 กว่าเรื่องในแต่ละปี หนังแอ็กชั่นทุนต่ำของเขานำกลับมาเล่าซ้ำใหม่ได้หลายภาค และเป็นที่นิยมของแฟนหนังต่างจังหวัด มีคนที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์แอ็กชั่น ที่เป็นโลโก้ตัวติดของพันนา
เขามีผลงานที่เป็นมาสเตอร์พีซคือ “เกิดมาลุย” ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ทั้งจา พนม และ ปรัชญา ปิ่นแก้ว กลับมาหาภาพยนตร์แอ็กชั่นแบบไทยที่เคยนิยมกันในอดีตก่อนการเกิดขึ้นของ “องค์บาก”
“แม้ว่าผมจะทำหนังมานาน แต่ตอนนี้ผมถือว่าผมใหม่ และหนังเรื่องที่ถือว่าเป็นเรื่องแรกสำหรับผมจริงๆ คือองค์บาก” เขาบอก เมื่อถามถึงขั้นที่หนึ่งของการทำงานในวงการ
…ผมทำงานด้วยประสบการณ์กับสัญชาตญาณมาตลอด แต่ในองค์บากเป็นการทำงานที่ใช้สัญชาตญาณบวกวิชาการ มันมีการกำหนดทิศทางชัดเจน ก่อนเริ่มงานต้องมีการวิเคราะห์แนวทางแอ็กชั่นของตัวเองและคนอื่นๆ มันเลยเหมือนหนังเรื่องแรกในความรู้สึกผมจริงๆ” เขาบอก ก่อนที่เล่าถึงที่มาความเป็นไปก่อนจะเกิดขึ้นองค์บาก
“ตอนที่เรียกมาคุยยังไม่มีโปรเจกต์แน่นอนอะไรเลย แค่คุณปรัชญาก็มาดูหนังเก่าๆ ของผม เหมือนนั่งคุยกัน แล้วก็บอกว่าอย่างนี้เราก็สู้หนังฮ่องกงได้ แต่ถ้าจะทำหนังขายต้องเปลี่ยนโปรดักชั่นใหม่ เปลี่ยนทีมงานใหม่ ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จักจาเลย ผมก็เลยบอกคุณปรัชญาไปว่า มีคนๆ นึงเก่งมาก เก่งกว่าเฉินหลง ตอนนั้นแกไม่เชื่อ ถามใครก็ไม่เชื่อ เพราะยังไม่มีใครเห็น” จากจุดนั้น เลยกลายเป็นจุดเริ่มให้พันนาและจา พนม ทำโปรเจกต์ขนาดย่อก่อนส่งให้ปรัชญาพิจารณาในฐานะผู้ควบคุมงานสร้างของบริษัทบาแรมยู ที่ร่วมงานกับบริษัทสหมงคลฟิล์ม
การทำงานของพันนาเริ่มต้นขึ้นเมื่อเขากับจา พนม เริ่มทำการบ้านจากโจทย์ที่ได้รับ คือหาความแตกต่างทางด้านการออกแบบศิลปะการต่อสู้ในภาพยนตร์ ที่ยังไม่มีโครงเรื่อง ไม่มีบท รู้แต่ว่าต้องมีสไตล์เป็นของตัวเอง
“ตอนนั้นไม่รู้ว่าจะทำยังไง ก็เลยต้องเริ่มที่ตำราก่อน มันก็มีแต่มวยไทยในตอนนั้น ตอนแรกยังมองมวยไทยบนเวที แต่พอลงลึกจริงๆ แล้ว เราไปเจอมวยไทยโบราณ นี่โอ้โห…น่าขนลุก หนุมานข้ามลงกา หนุมานทะยาน เนี่ย…หมายความว่าคนต้องมีการลอยตัว นึกถึงหนังจีนที่ต้องมีสลิงเทกตัว แต่ถ้าเป็นมวยไทยโบราณเนี่ย เค้าก็ต้องใช้คนเล่นสิ เค้าต้องฝึก
อย่างเขาฝึกล้มลุกคลุกคลาน ผมว่านั่นก็คือการฝึกยิมนาสติก แล้วก็ฝึกทุ่มทับจับหัก แล้วก็เป็นนวอาวุธ คือโอ้โห ไม่ธรรมดา ถ้าเข้าไปศึกษาจริงๆ มันจะมีค่ามาก อย่างกลองสะบัดชัยนี่ก็คือการฝึกดาบ การรำดาบ ฝึกใช้มีด ศิลปะของไทยเองเป็นความรู้ และสมบัติที่ไม่มีขีดจำกัด”
เป็นจุดเริ่มให้พวกเขาก็เริ่มต้นทำงานโดยเป็นโปรเจกต์นำไปเสนอ โดยคิดว่าจะทำเป็นภาพยนตร์ขนาดสั้น ที่มีจา พนม แสดงนำโดยให้เทคนิคหลายๆ อย่างมารวมอยู่ในตัวคนเดียว ใช้เงินทุนสร้างรวมที่เป็นหนี้กว่า 1 แสนบาท ในเวลา 3 เดือน ก็เสร็จเป็นฟิล์มที่ประกอบไปด้วยคิวบู๊สมจริง บวกกับลีลาและสไตล์ใหม่ที่พวกเขาสร้างขึ้นจากเอกลักษณ์ของศิลปะมวยไทย ในชื่อ “คนสารพิษ” แต่ฟิล์มที่พวกเขาลงทุนไปมีปัญหา พันนายอมรับว่าช่วงชีวิตตอนนั้นรู้สึกผิดหวังมาก ก่อนที่จะกลับมาตั้งใจทำงานใหม่อีกครั้งไปเสนอ เขาก็รู้ว่าปรัชญาหวังไว้แค่จะเห็นเพียงฉากแอ็กชั่นไม่กี่ฉาก มากกว่าภาพยนตร์ทั้งเรื่องที่เขาทำขึ้น
“เขาดูแล้วบอกว่าจะโทรกลับไปบอก เราก็ไม่แน่ใจว่าจะชอบหรือเปล่า สักระยะนึงคุณปรัชญา ก็โทรกลับมาบอกว่าจะรับโปรเจกต์นี้ไว้ …ต่อจากนั้นต้องใช้เวลาพัฒนางานต่อถึง 2 ปี อย่างจา ก็ถูกส่งไปเรียนการแสดง ต้องเริ่มพัฒนาคิวบู๊ใหม่ต่างๆ นานา พัฒนางานจากโปรเจกต์นั้นต่อไปได้มากขึ้นเรื่อยๆ จนพอ ก็เข้าไปหาเสี่ยเจียง (สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริญ) พอเสี่ยได้ดูงานบางส่วน เสี่ยก็อนุมัติให้สร้างเลย”
ความคิดแรกของหลายๆ คนที่สร้างภาพยนตร์โดยมี จา พนม เป็นดาราแสดงนำ เป็นสิ่งที่ยากที่จะเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในเมืองไทย เพราะจา พนมไม่ใช่ดารา ไม่มีความสามารถทางการแสดง และไม่มีภาพลักษณ์เหมือนดาราภาพยนตร์
“แต่ผมเชื่อว่าคนจะต้องดูถ้าเราเก่งจริง ผมก็พูดกับจาว่า ถ้าเราทำได้แล้วทำไมคนจะไม่ดู แต่เราต้องทำได้มากกว่า ตอนนั้นพูดไปยังไม่รู้ว่าคำว่า “มากกว่า” มันคืออะไร เราก็ไม่รู้ว่าเป็นมวยไทย เนี่ยมันมากกว่าจริงๆ มันคือศิลปะที่ยังไม่ได้นำมาเผยแพร” จากคำว่า “มากกว่า” ในวันนั้น สร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้นกับองค์บากก็ส่งต่อมาถึงต้มยำกุ้ง
“ตอนนี้วิธีคิดค่อนข้างเหมือนเดิม เราเตรียมงานมาเป็นปี ซ้อมจนได้ความแปลกใหม่ ระหว่างฝึกซ้อมเราก็ออกแบบท่าไปด้วย มันอยู่ที่การใส่สีสันและการหาข้อมูล ถ้ารู้ว่ายังมีอะไรอยู่เนี่ยก็ยังมีความตื่นเต้นอยู่ เรามีคนที่สื่อสารได้ดีอยู่แล้วคือ จา ก็เลยทำให้มันลื่นไปได้ อย่างมวยช้าง ทุ่มทับจับหัก เนี่ยเราก็เฮ้ย…เคยได้ยินตอนเรียนแต่ยังไม่เคยทำ พอเห็นว่าน่าทำ มันก็ทำให้เราตื่นเต้น เหมือนทำต้มยำกุ้งก็เหมือนกัน มันท้าทาย มีอารมณ์เดิมเข้ามาอีก แล้วยิ่งมีกระแสจากเมืองนอกด้วย เราก็ต้องทำแบบให้เค้ายอมรับให้ได้
…ตอนนี้คือขีดสุดของ “วิชา” การต่อสู้มันสำเร็จแล้ว แต่การที่เห็นอะไรที่น่าจะพูดถึงที่เป็น “ศิลปะ” อย่างศิลปะไทยๆ มวยไทย ซึ่งเรายังไม่รู้ เรามีความพร้อมพอที่จะพูดได้ ก็น่าจะพูด แต่พูดอย่างรู้จริงและเข้าใจ เลือกที่จะพูดให้ดี ให้น่าสนใจ เราเอาศิลปะของศาสตร์อื่นๆ มาศึกษาแล้วเอาชนะเขา อย่าให้คนเชื่อว่าจาชนะเพราะบทเขียนมาว่าให้ชนะ แต่ให้คนดูรู้สึกชนะด้วยศาสตร์วิชา”
ปัจจุบัน พันนา ฤทธิไกร จึงเป็นเหมือนครูและแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ ที่เติบโตแล้วเข้ามาในวงการภาพยนตร์แอ็กชั่น เขาเชื่อว่าชีวิตการทำงานแบบขายความฝันของเขา เป้าหมายไม่ใช่ต่างประเทศ การพัฒนางานและสร้างคนรุ่นใหม่ให้เกิดขึ้นในเมืองไทย เป็นสิ่งที่เขาเชื่อว่าก็มีความสุขได้เช่นกัน
“เด็กส่วนใหญ่มาหาผมด้วยสองเหตุผล หนึ่งอยากดัง สองอยากได้ตังค์ อยู่สักพักเขาจะทนไม่ไหว เพราะได้เป็นแค่ตัวประกอบค่าตอบแทนก็น้อย จามาอยู่กับผมตั้งแต่เด็กจนโตเป็นหนุ่มผมก็ยังเห็นเขาอยู่ ไม่ให้ตังค์ก็ยังมา เวลาทำให้ผมรู้ว่าเรื่องดัง กับเรื่องตังค์ เป็นรองความตั้งใจของเขา
…เค้ามาด้วยจิตวิญญาณ ทั้งตัว ทั้งชีวิต สิ่งที่จาแตกต่างจากคนอื่นก็คือความสามารถเฉพาะตัวของเขา มันเป็นพรสวรรค์ที่อยู่ในตัวเค้าเลย กับมวยไทยที่บวกเข้าไปจนกลายเป็นเอกลักษณ์ มันทำให้เค้าได้ทักษะบางอย่าง อย่างเขาสามารถใช้เข่ากับศอกบนอากาศได้ดีอย่างที่ไม่มีใครทำได้” เป็นสิ่งที่พันนาเห็นและเฝ้ามองดูพัฒนาการของจา พนม ศิษย์เอก เมื่อให้เขาได้พูดถึงความรู้สึกถึงดาราแอ็กชั่นคนใหม่ของโลกเซลลูลอยด์
ปัจจุบันพันนาทำงานกับโปรเจกต์หนังแอ็คชั่นที่พัฒนาขึ้นจากดาราที่เขาเป็นคนเลือก เซตระบบการซ้อม เลือกผู้ฝึกสอน และดูแลพัฒนาการ ดาราใหม่ที่เขาปั้น ไม่ว่าจะเป็น “เดี่ยว ชูพงษ์” กับโปรเจกต์ ตะบันไฟ-ตะไลเพลิง หรือผลงานภาพยนตร์ “เกิดมาลุย” ที่มีมาก่อนหน้า, จีจ้า ดาราแอ็กชั่นผู้หญิงที่เตรียมพร้อมรอหนังสร้างมา 4 ปี หรือดาราเด็กนักบู๊ที่รอการพัฒนา
ตอนนี้เขามีทีมสตันท์แมนเสี่ยงตายประกอบคิวบู๊ มีที่ปรึกษาด้านศิลปะการต่อสู้ของไทย รวมทีมเพื่อทำหนังให้สหมงคลฟิล์มอยู่ 37 คน โดยพันนาเองมีแผนเปิดโรงเรียนมวยไทย ที่ใช้พื้นฐานของมวยไทยโบราณ ก่อนที่จะปูทางสร้างทีมสตันท์ในประเทศไทย ที่มีความรู้ด้านภาพยนตร์ โดยหวังว่าจะเป็นรากฐานในวงการหนังไทยให้มีคนรุ่นใหม่มาแทนที่เขาในอนาคต