“หนัง – เพลง – เกม”เป็นรูปแบบธุรกิจต่อเนื่องของภาพยนตร์ระดับโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะโครงสร้างของภาพยนตร์ขนาดใหญ่ ที่สามารถต่อยอดอุตสาหกรรมได้ด้วยตัวเอง นอกจากสร้างรายได้เพิ่มแล้ว ยังเป็นการขยายช่องทาง และขยายตลาดให้กว้างมากขึ้น
“Game Nolimit” เป็นบริษัทที่เกิดขึ้นจากการลงทุนของสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล กับโปรเจ็คสร้างนาภาพยนตร์เรื่อง “ต้มยำกุ้ง” มาทำเป็นเกมคอมพิวเตอร์ของไทย ด้วยงบลงทุน 10 ล้านบาทของสหมงคลฟิล์ม โดยมี พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ที่หลายๆคนคงคุ้นหน้าจากการเป็นพิธีกรไอทีที่มีลีลาเฉพาะตัว เป็นผู้ริเริ่ม และรับผิดชอบดูแลโปรเจ็คสำคัญชิ้นนี้
แม้ว่าก่อนหน้านี้ “ปักษาวายุ” ของอาร์เอสฟิล์ม จะเป็นเกมแรกที่ผลิตให้กับภาพยนตร์โดยคนไทย แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่สำหรับ เกมต้มยำกุ้ง พงศ์สุขบอกว่า มีโครงสร้างของเกมใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยทำมาในบ้านเรา
“เกม Tony Jaa Tom-Yum-Goong : The Game” นับว่าเป็นเกมต่อสู้แอ็กชั่น 3 มิติของคนไทยที่ผลิตด้วยโครงสร้างขนาดใหญ่ทุกขั้นตอนการผลิตใช้โปรแกรมเมอร์ชาวไทย สร้างเกมนี้ขึ้นมาด้วยระยะเวลาเกือบ 2 ปี ใช้ทีมงาน 21 คน มีเป้าหมายในตลาดระดับโลกมากว่าตลาดในประเทศ เกมนี้ถอดแบบมาจากโครงสร้างของหนัง 9 ด่าน เป็นเรื่องราวจำลองแบบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์ โดยในฉากที่ 6 ผู้เล่นสามารถเปลี่ยนมาเล่นตัวละครของ “ตั๊ก บงกช” ตามเรื่องราวในหนัง
พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเกมโนลิมิต เล่าว่า เขาเริ่มต้นบริษัท โชว์โนลิมิต ที่รับออร์กาไนเซอร์งานอีเวนต์ที่เกี่ยวกับไอทีมาก่อนหน้าที่จะได้ร่วมงานกับสหมงคลฟิล์ม จากการเข้าไปเสนอไอเดียของเขาที่ต้องการอยากจะเห็นภาพยนตร์ “องค์บาก” ออกมาเป็นเกมคอมพิวเตอร์ เกมแรกของคนไทย
“พี่ครับหนังเรื่องนี้ต้องเป็นเกม มันดูเป็นเกมมาก และจะเป็นเกมที่สนุกมาก ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ มีมวยเถื่อน เจอศัตรูที่เก่งขึ้นเรื่อยๆ เจอศัตรูที่ตัวเล็กแต่เก่งกว่าตัวใหญ่” เขาให้เหตุผลกับปรัชญา ปิ่นแก้ว (ผู้กำกับ) หลังจากดูองค์บากในรอบปฐมทัศน์
แต่หลังจากศึกษาความเป็นไปได้ของตลาดแล้วพบว่า ต้องใช้เงินลงทุนสูงในระดับหลายสิบล้าน ยังใช้บุคคลากรจำนวนมาก แต่ความเป็นไปได้ในการทำตลาดเมืองไทยกลับเป็นเรื่องยาก เนื่องจากปัญหาก๊อบปี้ซีดี จนเมื่อ กระแสความสำเร็จขององค์บากในต่างประเทศที่เริ่มเกิดขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะที่เขาไปเห็นด้วยตัวเองในเกาหลี ก็ทำให้เกมมีลู่ทางที่ชัดเจนมากขึ้น หากสามารถทำตลาดในต่างประเทศได้
“ผมเอาแผนธุรกิจ เอาตัวอย่างเกม “องค์บาก” ฉากแรกที่ทำตัวอย่าง 6 เดือนไปเสนอเสี่ยเจี่ยง ผมเล่าให้ฟังว่าเป็นนิวมีเดียนะ เล่าถึงโครงสร้างธุรกิจว่านี่เป็นสูตรของที่เป็นแบบฮอลลีวู้ด คือหนัง เพลง เกม ต้องมาเติมขากันให้มันครบ เสี่ยพยักหน้า บอกกูไม่รู้เรื่องหรอกที่มึงพูดมา แต่ถ้าหนังกูออกมาแล้วมีเกมด้วย หนังกูจะได้ฟอร์มใหญ่ยักษ์…”
แม้ว่าเกมองค์บากถูกระงับไป เนื่องจากหนังองค์บากเวลานั้นฉายไปแล้วกว่าครึ่งโลก ไม่สามารถตอบโจทย์กลยุทธ์การนำเกมขายไปพร้อมกับหนังจึงต้องหยุดชะงักไป แต่พงศ์สุขกลับได้รับโจทย์ใหม่ที่ใหญ่กว่า จากหนังเรื่อง “ต้มยำกุ้ง” ที่เสี่ยเจียงควักเงินทุน 10 ล้านบาท พร้อมกับเวลาเตรียมการเกือบ 2 ปี
พงศ์สุขมองว่าปัจจัยความสำเร็จของเกมนี้อยู่ที่คาแร็กเตอร์ “คาแร็กเตอร์เป็นสิ่งที่ผมเชื่อมั่นมาก ฉะนั้นผมจะต้องผูกกับหนัง ผมมองว่าหลายๆ เกมที่คนไทยพยายามทำออกมาแล้วไม่เกิด เนื่องจากคาแร็กเตอร์ เพราะมันไม่ได้”
นอกจากนี้สหมงคลฟิล์มได้กลายเป็นบริษัทผู้ผลิตหนังที่ประสบความสำเร็จมากกับตลาดโลก ซึ่งเป็นแรงเกื้อหนุนที่สำคัญกับการทำตลาดเกมในต่างประเทศ ซึ่งการลงทุนในด้านนี้ในต่างประเทศ มีค่าใช้จ่ายสูงถึงราว 100 ล้านบาท
“…ไม่ว่าเกมที่มาจากหนัง หรือหนังที่มาจากเกม ก็เป็นแผนที่ถูกเขียนขึ้นเป็น cycle มาแล้วว่า จะทำอะไรก่อนให้คนรู้จัก อย่าง Resident Evil เป็นหนังที่มาจากเกม ตัวเกมที่มันสร้างขึ้นมาก่อน มันก็มีแผนอยู่แล้วว่าจะเอามาทำหนัง เป็นหนึ่งในรูปแบบการตลาดที่เกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์ แบบที่บ้านเราไม่เคยทำมาก่อน” เขาเล่า
ตอนนี้เกม “ต้มยำกุ้ง” มีแผนออกวางจำหน่ายเบื้องต้นที่ 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง บรูไน และสิงคโปร์ โดยทุกประเทศจะมีภาพยนตร์เป็นตัวนำ ดังนั้นแม้ว่าอายุเฉลี่ยของเกมจะอยู่บนแผงประมาณ 1 ปี การ update patch ตลอดชั่วเวลานั้น เช่นเพิ่มศัตรู เพิ่มท่าให้ดาว์นโหลด อย่างน้อยก็ทำให้เกิดการซื้อซ้ำได้มากขึ้น
“ถามว่าเป็นข้อจำกัดไหม ไม่ใช่ข้อจำกัด เนื่องจากบริษัทในระยะเริ่มต้น งานออกในแต่ละปีอย่างมากแค่ 2 titles ไม่มากไปกว่านี้ เพราะว่าบริษัทของเราก็ยังเล็กอยู่ ในขณะที่ต่างชาติเค้ามีคนหลายร้อยล้านคนในบริษัท เพราะฉะนั้นเกมเขาออกได้ทุกเดือน ข้อได้เปรียบก็คือ เกมโนลิมิตจะมีสิทธิ์ในการเอาคาแร็กเตอร์ของสหมงคลฟิล์มมาทำเป็นเกม ในเกมที่มีความเป็นไปได้”
โปรเจกต์ถัดไปที่พงศ์สุขกำลังมองคือ “มนุษย์เหล็กไหล” ภาพยนตร์ในแนวซูเปอร์ฮีโร่แบบไทยๆ หรือโอกาสที่จะกลับมาของจา พนม ภาค 2 หรือ 3 ก็มีสูง เพราะเหตุผลเรื่องของตลาด และคาแร็กเตอร์ที่จะพาไปตลาดต่างประเทศต้องมีความแข็งแรงมากพอที่จะสร้างกระแสมายังเกมได้
ตอนนี้แผนการเปิดตลาดเกมคนไทย พงศ์สุขมีความตั้งใจจะใช้สื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ ด้วยงบประมาณประมาณ 3 ล้านบาท เขาเห็นว่าตลาดในประเทศไทยตอนนี้เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก เพราะยังไม่เคยมีใครเปิดตลาดด้วยเกมไทยอย่างจริงจัง ความหวังของเกมนี้จึงตกอยู่ที่ภาระกระแสความดังของต้มยำกุ้งในต่างประเทศที่จะช่วยโปรโมตให้เกมขายในต่างประเทศที่มากกว่าเมืองไทย
“…ตอนนี้อย่างน้อยเป้าก็คือ ทางผู้ลงทุนต้องการแค่คุ้มทุน 10 ล้านบาท ไม่ได้เน้นว่าต้องมีกำไร ซึ่งผมคิดว่ายังไงก็ต้องเอาสปอนเซอร์ช่วย เพราะว่างบเท่านี้ ถ้าขายในประเทศ อย่างน้อยมันต้องเกินแสนกล่อง ซึ่งมันทำไม่ได้อยู่แล้ว ผมมองว่าเกมไทยยังไม่เคยทำ อย่างมีสปอตโทรทัศน์ มีอีเวนต์หน้าโรงหนัง มีแมกกาซีน หรือคู่มือเฉลยเกมออกมา ผมอยากให้คนไทยรู้ว่าเราลำบากกับเกมนี้มากแค่ไหนเลย อยากโปรโมตสิ่งเหล่านี้ไปในวงกว้างมากที่สุด” พงศ์สุขทิ้งท้ายถึงอนาคต