“ต้มยำกุ้ง” ฉบับการ์ตูน

การนำภาพยนตร์มาอยู่รูปของหนังสือการ์ตูน เป็นโมเดลธุรกิจที่มีมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหนังเรื่อง องค์บาก มหาอุตม์ บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม หรือ 7 ประจัญบาน รวมทั้ง “ต้มยำกุ้ง” ภาพยนตร์ไทยเรื่องล่าสุด ซึ่งจัดเป็นโมเดลของการนำ “เรื่องเล่า” กลับมาเล่าซ้ำ เพื่อให้เกิดช่องทางขายใหม่ และเป็นการขยายฐานคนดูร่วมกัน ระหว่างภาพยนตร์ และหนังสือการ์ตูน

“วิบูลย์กิจ” เป็นสำนักพิมพ์การ์ตูน ที่ทำงานร่วมกับภาพยนตร์มาได้ 2 ปี ภายใต้ชื่อ “Thaicomics” และยังจัดเป็นผู้ผลิตหนังสือการ์ตูนรายใหญ่ ที่ทำร่วมงานกับภาพยนตร์หลายเรื่องอย่าง มหาอุตม์ บอดี้การ์ดหน้าเหลี่ยม และ 7 ประจัญบานมาแล้ว ล่าสุดคือ ต้มยำกุ้ง ที่เป็นผลงานล่าสุดในการทำงานร่วมกับสหมงคงฟิล์ม

วรวุฒิ วรวิทยานนท์ บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ มองว่า กระแสความดังของหนังมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จของหนังสือการ์ตูน

การผลิตหนังสือการ์ตูน ด้วยการใช้คอนเทนต์จากภาพยนตร์ จะเป็นการขยายตลาดร่วมกัน ระหว่าง “แฟนหนัง” กับ “แฟนการ์ตูน” โดยรูปแบบอาจเป็นร่วมลงทุนโดยการแลกเปลี่ยนคอนเทนต์อย่างไม่คิดมูลค่า เนื่องจากวิบูลย์กิจเองก็มีสื่อการ์ตูนไม่ว่าจะเป็นรายเดือนหรือรายสัปดาห์ มากกว่า 5 เล่ม และช่องทางการขายหนังสือตามแผง มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กอายุ 12-25 ปี ชื่นชอบแนวการ์ตูนบู๊ ฮีโร่แอ็กชั่น ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกันกับภาพยนตร์ และการถูกนำเอาเรื่องราวมาเป็นการ์ตูนก็สร้างภาพลักษณ์ที่เป็นผลบวกให้กับภาพยนตร์เหล่านั้นมากขึ้น

ในขณะที่การ์ตูนที่ผลิตขึ้น 2 เรื่องอย่าง “คนบินเหินฟ้า จา พนม ยีรัมย์” เล่าเรื่องการต่อสู้ และเส้นทางชีวิตของจา พนม กับเรื่อง “ต้มยำกุ้ง ฉบับการ์ตูน” ก็หวังกระแสแรงเชียร์ของหนังมาช่วยให้ยอดพิมพ์ของการ์ตูนไทย ที่ผลิตมากกว่าจำนวนปกติราว 40 เปอร์เซ็นต์ เป็น 7,000 พันเล่ม ด้วยราคาในประเทศ 35 บาทต่อเล่ม และหวังผลระยะไกลจากกระแส “ต้มยำกุ้ง” ในต่างประเทศ หากมีการผลิตซ้ำในภาษาต่างๆ เช่น ภาษาจีน, ญี่ปุ่น หรือ อังกฤษ

“เราทำสิ่งที่เราถนัดมากกว่า ตลาดโดยรวมที่สำนักพิมพ์วิบูลย์กิจทำอยู่ก็คือกลุ่มของลูกค้าที่เป็นวัยรุ่นผู้ชาย เป็นการ์ตูนแนวผจญภัย “แอ็กชั่นฮีโร่” อย่างต้มยำกุ้งก็คือว่าใกล้เคียง เราถึงได้เลือกเรื่องนี้ขึ้นมาทำ ซึ่งการ์ตูนที่เราทำมันไม่ได้เข้าไปในเรื่อง แต่เพียงให้มันเชื่อมกัน เหมือนกับเรียกว่าเป็นน้ำจิ้มเบื้องต้น ที่จะมาต่อสู้กับตัวเอกในบทแรกหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดหลักๆ ที่เราวางไว้ในหนังสือการ์ตูน แต่ข้อจำกัดมันก็คือสามารถเล่าเรื่องได้สั้นกว่า

…หลักการทำงานก็คือเรานำภาพยนตร์เรื่องนี้มาผลิต ในส่วนของเรา เราต้องลงทุนเอง แต่เราช่วยกันเพื่อช่วยกันทำให้เกิดกระแส ไม่ว่าการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพราะเราเองเรามีสื่ออยู่ในมือเยอะอยู่แล้ว โดยเฉพาะคนที่อ่านการ์ตูนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน เป็นในมุมของการแลกเปลี่ยนคอนเทนต์มากกว่า” วรวุฒิกล่าว

นอกจากนั้นคุณภาพการ์ตูนไทยมีปัญหาเรื่องของการเล่าเรื่อง เนื่องจากนักเขียนส่วนใหญ่ชำนาญด้านการวาดภาพอย่างเดียว ดังนั้นการทำงานร่วมกับบริษัทผลิตภาพยนตร์ ทำให้รู้มุมมองของการพัฒนาเรื่องราวในการ์ตูนคนไทย

“พอเราได้มาทำงานร่วมกับภาพยนตร์ สิ่งที่เราได้รับคือการได้รับความรู้ ทักษะ ก็คือการเล่าเรื่อง เราศึกษาบทภาพยนตร์จากนักเขียนบทที่เก่งๆ ทำให้เห็นว่าเขาเล่าเรื่องแบบนี้ มันจะมีผลยังไง แล้วก็เอาสิ่งนั้นไปพัฒนาให้นักเขียนได้”

ในแง่ของการทำตลาดหนังสือการ์ตูนที่นำเนื้อหามาจากภาพยนตร์ “เวลา”ในการวางตลาดเป็นสิ่งสำคัญ ต้องวางขายก่อนหนังฉาย ซึ่งกำหนดวางแผงของ “ต้มยำกุ้งการ์ตูน” ไว้ที่ต้นเดือนสิงหาคม เนื่องจากช่วงเวลายืนโรงของหนังนั้นสั้นกว่า อย่างมากที่สุดมักไม่ถึง 1 เดือน ในขณะที่การวางตลาดของหนังสือการ์ตูนอยู่ที่ระดับตั้งแต่ 2 – 6 เดือนขึ้นไป นับว่าเป็นความเสี่ยง ที่ต้องทำให้เกิดความลงตัว โดยเฉพาะหนังบางเรื่องที่ยืนโรงได้แค่อาทิตย์เดียว ดังนั้นการทำการตลาดหนังสือการ์ตูนสำหรับภาพยนตร์ที่มียอดพิมพ์จำนวนน้อยแค่ 5-7 พัน จึงเป็นไปได้ในน้อยกรณีที่จะประสบความสำเร็จ วรวุฒิเห็นว่าจำเป็นต้องเลือกเรื่องที่มีกระแสจริงๆ ถึงจะเป็นประโยชน์ต่อการตลาดของทั้งสองฝ่าย

“ต้องยอมรับว่า กลุ่มที่อ่านการ์ตูนก็เป็นคนอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นเป็นหลัก ถ้ารู้ว่าเป็นการ์ตูนไทยเขาไม่สนใจเลย ส่วนกลุ่มคนดูหนังไทยก็มีคนดู บางคนก็ไม่ซื้อ แต่เราตอบสนองกลุ่มที่ยังอยากบริโภคอยู่ แต่ต้องยอมรับว่า กระแสหนังจะมีผลส่วนต่อยอดของการ์ตูนไทยมาก ถ้ากระแสมันไม่ดี” เขาเชื่อว่าทั้งสองตลาดมีส่วนที่ซ้อนทับกันอยู่แฟนต้มยำกุ้งหรือจา พนม ย่อมอยากที่จะซื้อสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทั้งสอง และเป็นผลแบบเดียวกันกับหนังในกระแสเรื่องอื่นๆ

ปัจจุบันนี้ผู้ผลิตการ์ตูนไทยพยายามการใช้ทางออกในการต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่เดิม ในหลายรูปแบบ ดังนั้นการปรับตัวธุรกิจเชิงลึกมากขึ้น ภาพกว้างจึงเป็นการทำบนพันธมิตรร่วมโดยใช้ศักยภาพของแต่ละฝ่ายให้เกิดผล สำหรับไทยคอมมิคส์เอง มีการพัฒนาเกมบนโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งการพัฒนาเกมแนวอาร์พีจีจากการ์ตูนของเรา บนมือถือเกมแรก ที่มาจากคาแร็กเตอร์ที่คนไทยผลิต เรื่อง “แก็งค์ฆ่าคาถาแสบ” และ “ซุป (เปอร์) หน่อไม้” ก็เป็นผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดจากการ์ตูนที่ผลิตไปแล้ว แต่นำมาทำซ้ำในรูปแบบอื่น

วรวุฒิมองว่าปัจจัยลบในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เป็นเหตุผลให้สำนักพิมพ์ต้องปรับตัวสู่ภายนอกมากขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบจากเกมออนไลน์ “ผมว่ามันกระทบเราประมาณ 10 – 15 เปอร์เซ็นต์ได้ เพราะผมเชื่อว่าลูกค้าเป็นกลุ่มเดียวกัน อย่างน้อยมันก็คาบเกี่ยวกัน ช่วงเวลาที่เขาใช้เพราะให้เกมเวลามากขึ้น และมันแย่งรายจ่ายด้วย อีกอย่างการที่เกิดขึ้นของร้านเช่าหนังสือแทบจะทุกซอย ที่เราไม่มีผลในเชิงรายได้เลย”

“ที่ญี่ปุ่นก็เป็นหนักมาก มีการยุบสำนักพิมพ์ ปิดไปก็มี ที่เรามีลิขสิทธิ์ก็ปิดตัวไป ซึ่งบางทีเราไม่นึกว่าเขาต้องปิดเลยเหรอ เพราะว่าอย่างเรื่องหนึ่งเขาพิมพ์ยอดเป็นแสนๆ เพราะว่าคนเขาอ่านกันทั่วประเทศ แค่ขายไม่ได้เรื่องเดียวมันก็มีผลมาก”

ทุกวันนี้ แม้ว่าจำนวนการ์ตูนไทยของวิบูลย์กิจผลิตได้ต่อปีอยู่ราวปีละ 6-7 เรื่อง ซึ่งนับได้ไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนการ์ตูนทั้งหมดที่สำนักพิมพ์แห่งนี้ผลิตออกมา แต่ต่อยอดที่ทำร่วมกับพันธมิตรอื่นๆ เอง ก็กำลังอยู่ในระยะเวลาแบบค่อยเป็นค่อยไป

“ผมมองว่าสิ่งที่ยังทำประโยชน์ได้คือหนังสือการ์ตูนต้มยำกุ้ง ก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้คนในวงกว้างหันมาดูคุณภาพของหนังเขียนการ์ตูนไทยมากขึ้น ไม่ว่าต่างประเทศหรือประเทศไทย ซึ่งหากมันสามารถไปได้ถึงระดับนั้นถ้าทำได้ มันก็ปูมาถึงโปรดักส์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับการ์ตูนไทยตามมาได้อีก”วรวุฒิกล่าว