องค์บาก : เมื่อมวยไทยผงาดนีชมาร์เก็ตโลก

ดังเปรี้ยงชนิดไม่ต้องโปรโมต ! คงไม่ต้องบรรยายสรรพคุณขององค์บากและ จา พนม หากถึงขั้นที่แม็กกาซีน Entertainment Weekly เมื่อเดือนที่ผ่านมาจัดอันดับให้ติดทำเนียบ 122 คนและของดังแห่งปี 2005 ในฐานะดาวรุ่งพุ่งแรง และเป็นหนึ่งในดาราเอเชีย 2 รายที่ติดอันดับ ในขณะที่ก่อนหน้านั้นก็เพ่งลงนิตยสารGQ อเมริกาไปเมื่อเดือนเมษาฯ ไปหมาดๆ

ก่อนหน้า “ปรากฏการณ์องค์บาก” จะเผยตัวตนของหนังบู๊ไทยเมื่อสองปีก่อน คำว่า “ตลาดโลก”ดูจะไกลเกินฝันสำหรับหนังไทยซักเรื่อง เมืองไทยเป็นแค่ “ตลาด” และ “ผู้ซื้อ” ไม่ใช่ “ผู้ขาย” ในโลกภาพยนตร์

งานสร้างสรรค์ที่เป็นเพียงเพื่อเสพในประเทศ แต่เดิมหนังไทยเรื่องหนึ่งๆ มีวงจรชีวิตที่เรียบง่าย สร้างขึ้นมา ส่งสายหนัง ลงโรง ส่องแสงเปล่งประกายแค่เวลาสั้นๆ เมื่อลาจอและออกจากโรง ทุกอย่างก็จบลง พอถึงยุคหนังแผ่นยังมีสิทธิลุ้นได้สตางค์อีกรอบจากวีซีดีและดีวีดี และร้านเช่า หลุดจากนั้นวงจรของหนังก็แทบจะจบลงทันที

แต่ “องค์บาก” จากฝีมือการกำกับของ ปรัชญา ปิ่นแก้ว และนักแสดงนำ ‘จา-พนม ยีรัมย์’ และค่ายสหมงคลฟิล์มฯ ไม่ยอมจบลงแค่นี้ กลับเตะถีบ ต่อย และศอก-เข่า พาหนังบู๊ไทยในนิยามใหม่ ไปสู่ชื่อเสียงและเม็ดเงินในตลาดโลก ฉีกวงจรเดิมที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่แค่เพียงตลาดไทยในที่สุด

ถึงแม้ตลาดหนังบู๊แนวศิลปะป้องกันตัวจะเป็น “นีชมาร์เก็ต” ก็ตาม แต่ก็เป็น “นีชมาร์เก็ตตลาดโลก” ที่ย่อมเหนือชั้นกว่า “แมสมาร์เก็ตตลาดไทย” อย่างไม่ต้องสงสัย

อันที่จริงตอนแรกที่หนังเรื่องนี้ลงโรงในไทยดูออกจะซวนเซเล็กน้อยด้วยซ้ำ เพราะคนไทยยังไม่แน่ใจหนังแนวแอ็กชั่นที่ทำเอง แถมยังฉีกแนวสวนตลาดคอหนังเมืองกรุงด้วยการ “เว้าลาว” ด้วยภาษาแห่งอีสานถิ่นเกือบทั้งเรื่อง เป็นผลมาจากความหาญกล้าของปรัชญา ปิ่นแก้ว ที่กล้าใช้ภาษาอีสานเดินเรื่อง
แต่ด้วยแรงบอกต่อ ก็ทำให้หนังแอ็กชั่นเรื่องนี้ประสบความสำเร็จในตลาดไทยเป็นแห่งแรก ถึงแม้ยอดรายได้ในไทยจะแพ้หนังดังในช่วงนั้นอย่าง “แฟนฉัน” ไปพอควร

แต่ในวันนี้เมื่อมองย้อนกลับไป ที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัดก็คือ “องค์บากฟีเวอร์” ยังไปต่อในตลาดโลกอีกสามปีเต็ม แต่ “แฟนฉันฟีเวอร์” ที่ดังเป็นพลุแตก กลับยุติเส้นทางหนังแค่ในไทยอย่างน่าเสียดาย

ทิ้งแมสมาร์เก็ตไทย ไปนีชมาร์เก็ตโลก

การก้าวสู่ตลาดโลก หมายความว่า วงจรชีวิตของภาพยนตร์แต่ละเรื่องที่ผลิตขึ้นไม่ได้จบลงแค่ในประเทศไทย แต่ไปไกลต่อในต่างแดน

วงจรชีวิตใหม่จะเริ่มไปกับการโปรโมตของต้นสังกัด กระโดดไปตามงานเทศกาลหนังในประเทศต่างๆ ยิ่งถ้าเข้าตานักวิจารณ์ หรือได้รางวัล ก็จะเริ่มมีพูดถึงกันตามคอลัมน์นักวิจารณ์ทั้งในหนังสือพิมพ์กระดาษและเวอร์ชั่นอินเทอร์เน็ต รวมทั้งบอกต่อไปตามเว็บบล็อก-เว็บไดอารี่ในสื่อเวิลด์ไวด์เว็บที่ทรงพลังขึ้นทุกที

หลังจากพ้นตลาดไทย ก็ยังไปไกลด้วยกระแสบอกต่อในเน็ต จนคำว่า “Ong Bak” กลายเป็นหนังบู๊ที่พูดถึงมากที่สุดในรอบสองสามปีที่ผ่านมา และผลพิสูจน์ความนิยม ทำได้ง่ายๆ แค่ลอง search ไซต์ค้นหายอดนิยม google.com ก็จะได้ผลลัพธ์นับเป็นหมื่นยูอาร์แอล ในหน้าเพจหลายสิบภาษา นับตั้งแต่อังกฤษไปจนฝรั่งเศส สเปน เยอรมัน หรือแม้กระทั่ง รัสเซีย ก็ตาม

ความต่อเนื่องของวงจรชีวิตหนังไทยที่เชื่อมต่อถึงตลาดโลก จะเห็นได้ว่า ในขณะที่หนังเรื่องสองของทีม คือ “ต้มยำกุ้ง” มีกำหนดฉายหลายประเทศทั่วเอเชีย ในวันที่ 11 สิงหาคม ปีนี้ แต่หลังจากนั้นอีกครึ่งเดือน คือในวันที่ 30 สิงหาคมนี้เช่นกัน ค่าย Twentieth Century Fox Home Entertainment จะเปิดตัว DVD Ong-Bak : The Thai Warrior on DVD ลงในตลาดอเมริกาเหนือ และคานาดา ด้วยราคาแผ่นละ 27.98 เหรียญสหรัฐ

เห็นจะจะแบบนี้ คงไม่น่าแปลกใจที่ “เสี่ยเจียง” จากค่ายสหมงคลฟีล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จะทุ่มหน้าตักที่มีสุดตัวกับ “นีชมาร์เก็ตโลก” ด้วยทุนสร้างต้มยำกุ้ง ที่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ จะเป็นรองก็แต่ภาพยนตร์เรื่องสุริโยทัย ซึ่งนั่นกรณีพิเศษ

ในขณะที่การเก็บเกี่ยวจากเรื่องแรกอย่างองค์บากยังไม่หมดสิ้น หนังเรื่องสองคือต้มยำกุ้งก็ขายได้ตั้งแต่แค่เริ่มถ่ายทำ พอเรื่องสองลงโรงในตลาดเอเชีย และรอเข้าอเมริกาเหนือและยุโรป หนังเรื่องแรกก็เป็น DVD ออกมาในตลาดอเมริกา ทุกอย่างเป็นกระแสหนุนต่อเนื่องกันหมด และเรื่องของเรื่องก็คือ ถึงแม้จะขายสิทธิไปแล้ว แต่การทำรายได้เพิ่มเติมของโปรดักส์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะหมายถึงส่วนแบ่งเปอร์เซ็นต์ที่จะได้รับเพิ่มเช่นกัน

มวยไทยถล่ม wire-fu

ในอีกด้าน องค์บากเข้าตลาดโลกในเวลาที่เหมาะสมอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะหนังบู๊แนวฮ่องกงปัจจุบัน ที่เปลี่ยนผ่านจากยุคบรู๊ซ ลี และชอว์บราเธอร์ มาเป็นหนังกังฟูที่ใช้ลวดสลิงซับซ้อนเข้าช่วย จนมีฉายาเรียกขานใหม่ว่า “wire-fu” มาจากคำภาษาอังกฤษว่า wire ที่หมายถึงลวดสลิง บวกกับคำว่า kung fu (กังฟู) ที่เป็นศิลปะป้องกันตัวแบบจีน

รวมความก็หมายถึงกังฟูแบบ “มีสาย” คอยโยงคอยรั้งตัวผู้แสดงนั่นเอง เทคนิคนี้ทำให้ฉากต่อสู้จะวิจิตรพิสดารกว่า เพราะคู่ต่อสู้สามารถกระโดดสูง ไต่ไปตามยอดไม้ หรือเหาะเหินเดินอากาศได้ เพราะมีลวดขนาดเล็กบางเท่าเส้นผมที่รับน้ำหนักคนได้สบายๆ คอยช่วยพยุง

ตัวอย่างของหนังที่ใช้เทคนิค wire-fu ก็ต้องพูดถึงความสำเร็จของหนัง Matrix (1999) ที่ได้ผู้กำกับคิวบู๊อภิมหาอมตะนิรันดร์กาลของฮ่องกง อย่าง หยวนหวูปิง ( Yuen Wo-Ping) มาดูแลคิวบู๊และใช้ลวดสลิงเข้าช่วยจนสามารถย้อมแมวดาราฝรั่งที่ไม่เป็นมวยอย่าง คีนู รีฟ ให้กลายเป็นจอมยุทธ์ที่วาดท่วงท่าของปรมาจารย์มวยจีนชั้นครูจากแดนกวางตุ้งเช่น หวงเฟย หง ได้อย่างไม่ขัดเขิน

หรืองานกำกับคิวบู๊ของพี่น้องกันอย่าง Yuen Cheung-yan ในภาพยนตร์นางฟ้าชาร์ลี (Charlie’s Angels : Full Throttle 2003) ซึ่งปรากฏว่า นางฟ้าชาลีทั้งสาม รวมทั้งนางร้ายอย่างเดมี่ มัวร์ก็ออกโรงบู๊ได้ไม่แพ้จอมยุทธ์หนังจีนกำลังภายในด้วยลวดสลิง และมุมกล้องช่วยจนสร้างซีนเหลือเชื่อขึ้นมาได้

งานในแนว wire-fu ของหยวนหวูปิง มาถึงจุดสุดยอดกับความสำเร็จในเวทีออสการ์ของ “พยัคฆ์ระห่ำมังกรผยองโลก ” (Crouching Tiger Hidden Dragon) ที่ อั้งลี กำกับจนคว้ารางวัล ภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมและรางวัลอื่นๆ ในงานประกาศผลออสการ์ครั้งที่ 73 เมื่อปี 2001 มาได้อย่างภาคภูมิ

นอกจากนี้ ความสำเร็จอีกด้านก็คือกลายเป็นหนังจีนเรื่องแรก ที่ทำยอดรายได้ทะลุเพดานร้อยล้านเหรียญสหรัฐ โดยได้ไป 128 ล้านเหรียญสหรัฐ ในตลาดอเมริกาเช่นกัน

ในแง่ศิลปะต่อสู้ป้องกันตัว ฉากบู๊ในหนังเรื่องนี้เหมือนการเหาะเหินเดินอากาศมากกว่าการสู้กันจริงๆ ถึงแม้จะดูสวยงามแปลกใหม่ แต่ก็เริ่มมีเสียงวิจารณ์ว่า แนวกังฟูแบบนี้ อาจจะหลุดลอยจากโลกแห่งความจริงมากไป จน “เฉินหลง” ดาราบู๊ชื่อดังออกมาวิจารณ์ในงานเซี่ยงไฮ้ ฟิล์ม เฟสติวัลที่ผ่านมา แต่ขณะเดียวกันก็มีข่าวว่าเขาจะร่วมงานกับจางอี้โหมวเช่นกัน แต่ยังไม่มีข่าวว่าจะใช้กังฟูแนวไหนกันแน่

นอกจากนี้ หยวนหวูปิง ยังฝากผลงานกำกับฉากต่อสู้ในภาพยนตร์เรื่อง “Kill Bill” ของตารันติโน และหนัง คนเล็กหมัดเทวดา (Kung Fu Hustle) ของโจวซิงฉืออีกด้วย

อันที่จริง งานเด่นๆ ของฉากต่อสู้ในสำนัก wire-fu ยังไม่หยุดแค่นั้น ตามมาด้วยหนังของผู้กำกับหนังอาร์ตจากจีนแผ่นดินใหญ่อย่าง จางอี้โหมว ที่หันมาสร้างหนังแอ็กชั่นแนวย้อนยุคในเรื่อง Hero (2002) ที่เมื่อเดือนสิงหาคมปีก่อนได้ประกาศศักดาขึ้นอันดับหนึ่งในบ็อกซ์ออฟฟิศอเมริกาให้ดู หลังจากหนังเรื่องนี้โดนค่าย Miramax ดองไว้นานเกือบสามปี

เรื่อง Hero นี้แสดงนำโดย “หลี่เหลียงเจี๋ย” หรือ “เจ็ตลี” ซึ่งใช้เทคนิคกังฟูแบบใช้สายสลิงช่วยทั้งหมด แต่เดิมในงานยุคแรกของเขาไม่ได้ใช้อะไรช่วย แต่เมื่อวงการสตันท์ฮ่องกงเปลี่ยนมาเป็นแบบใช้สาย เขาก็ใช้ตาม และอาจบอกได้ว่า เมื่อบวกกับความสามารถทางศิลปะภาพยนตร์ของจางอี้โหมว ได้ทำให้พระเอกหนังบู๊หนึ่งในสามสุดยอดของจีนรายนี้ได้ถึงจุดสูงสุดทางด้านเทคนิคการใช้ wire-fu กับภาพยนตร์เรื่องนี้

ในขณะหนังเรื่องใหม่ล่าสุดของจางอี้โหมว คือ จอมใจบ้านมีดบิน (House of Flying Daggers) ในปี 2004 ก็ได้ใช้ลวดสลิงเข้าช่วยคิวบู๊ที่มีเป็นอย่างมากเช่นกัน

อิทธิพลการ์ตูนและ CG

ยิ่งไปกว่านั้น งานหนังแอ็กชั่นรุ่นหลัง จากฮ่องกงที่เคยเป็นต้นแบบหนังบู๊เอเชียและโลกมาแต่ไหนแต่ไร ยังได้หันมาใช้ CG หรืองานคอมพิวเตอร์กราฟิกช่วย เพราะได้อิทธิพลจากการ์ตูนจีนฮ่องกงยุคใหม่ นอกเหนือการใช้ลวดสลิงช่วย

หนังเรื่องแรกๆ ที่ประสบความสำเร็จในแนวสลิงบวกกราฟิกคอมพิวเตอร์นี้ คงต้องยกตัวอย่าง หนังเรื่อง ฟงหวิ๋น ขี่พายุทะลุฟ้า หรือ Storm Riders (1998) ซึ่งทำมาจากการ์ตูนยอดนิยม ที่ทำรายได้ถล่มทลายในตลาดฮ่องกง จนมีการทำเรื่องอื่นๆ ที่เน้นกราฟิกคอมพิวเตอร์มาจนล้นตลาด เช่น A Man Called Hero (1999) และเรื่องอื่นๆ

แนวคอมพิวเตอร์กราฟิกนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง และเป็นการสร้างมิติใหม่ให้กับหนังกำลังภายใน ฮ่องกงโดยหลอมรวมกับเทคนิคคอมพิวเตอร์และงานภาพแบบการ์ตูน

แต่ในขณะเดียวกัน หลายคนก็เริ่มมองว่าความเป็นหนังกำลังภายในได้ถอยห่างจากโลกความเป็นจริง และศิลปะต่อสู้ป้องกันตัวแบบดั้งเดิมออกไปไกลมากขึ้นทุกที

ซ้ำร้ายยุคทองของหนังฮ่องกงกำลังหมดไป ในช่วงหลายปีหลัง หนังทั้งแอ็กชั่นและไม่แอ็กชั่นจากฮ่องกงลดกลับคุณภาพและเสื่อมความนิยมลง หนังที่เคยทำมากกว่าปีละ 300 เรื่อง ลดลงเหลือ 50 กว่าเรื่อง

ความซบเซาอย่างต่อเนื่องมีชัดเจน จนล่าสุดทางรัฐบาลเขตปกครองพิเศษฮ่องกงหวังกระตุ้นอุตสาหกรรมภาพยนตร์ท้องถิ่น ตั้งกองทุนภาพยนตร์ 50 ล้านเหรียญฮ่องกง (ราว 250 ล้านบาท) เพื่อปล่อยกู้ให้กับผู้สร้างหนังท้องถิ่น

ในขณะที่วงการหนังโดยรวมในเกาหลีใต้ อินเดีย จีนแผ่นดินใหญ่ และไทยกลับกระเตื้องและมีแนวโน้มบุกออกตลาดโลกมากขึ้นทุกที

โดยเฉพาะหนังเกาหลีใต้ทั้งภาพยนตร์และซีรี่ส์ทีวีที่ไปประสบความสำเร็จในไทย จีน ไต้หวัน หรือแม้แต่ประเทศญี่ปุ่น แต่หนังเกาหลีก็ยังขาดหนังบู๊และคิวบู๊ที่มีพลัง กลับโดดเด่นในเรื่องภาพยนตร์ดราม่า และโรแมนติกมากกว่า

ส่วนในแง่ของหนังแอ็กชั่นฮ่องกง งานล่าสุด ที่ฮือฮาในฮ่องกงช่วงปีหลังๆ จนมากู้วิกฤตศรัทธาได้บ้างก็ได้แก่ ภาพยนตร์เรื่อง 2 คน 2 คม หรือ Infernal Affairs หลายภาคที่สร้างต่อกัน แต่ก็เป็นหนังหักเหลี่ยมสไตล์ก็อดฟาเธอร์ และเน้นบทที่เชือดเฉือน มากกว่าที่จะมีคิวบู๊ หรือฉากสตันท์ที่โดดเด่นมากมายอะไรนัก

ถึงแม้จะอยู่ในช่วงขาลง แต่ก็ไม่มีใครจะคิดเลยว่างานกำกับคิวบู๊จะมีคู่แข่งจากชาติอื่น และยิ่งไม่มีใครคิดว่าจะเป็นทีมสตันท์ และคิวบู๊จากไทย ที่หักด่านการผูกขาดคิวบู๊ของฮ่องกงออกมาจนได้

ดิบ-ดุดันในอารมณ์ retro

ถึงแม้หนังกำลังภายในยุคใหม่จะเจาะตลาดแมสได้มากขึ้นด้วยเทคนิคลวดสลิงและคอมพิวเตอร์กราฟิก แต่เบื้องหลังความสำเร็จตรงนี้ ต้องแลกมาด้วยฐานแฟนหนัง martial arts เดิม รวมทั้งสไตล์การต่อสู้เดิมที่เปลี่ยนไป จากความดุดันเข้มข้นแบบบรู๊ซ ลี มาเป็นสนุกสนานเฮฮาแบบเฉินหลง หรือสวยงามว่องไวแบบหลี่เหลียงเจี๋ย (Jet Li) หรืองานกราฟิกคอมพิวเตอร์อย่างหนัง ฟงหวิ๋น

เทคนิคของการใช้สลิงเพื่อลอยตัวที่เดิมเคยตื่นตาตื่นใจ กลายมาเป็นเรื่องดาษดื่น เพราะถ้าจะให้ยกตัวอย่างก็คงต้องบอกว่า แม้แต่ หนังเด็กไทย อย่าง “แฟนฉัน” ก็ได้หยิบเทคนิคนี้มาใช้ในซีนที่ล้อเลียนอดีตซีรี่ส์ทีวีดัง “กระบี่ไร้เทียมทาน”

ภายใต้กระแสกราฟิกและไวร์ฟู คงต้องบอกว่า ลึก ๆ แล้ว บรรดาแฟนพันธุ์แท้หนังกำลังภายใน-แอ็กชั่น กำลังโหยหาอดีตของหนังบู๊สไตล์เดิมแบบฮาร์ดคอร์ เข่าเป็นเข่า ศอกเป็นศอก นึกถึงดาราแบบเก่าอย่างบรู๊ซ ลี ที่ไม่มีวันกลับมา

ผลก็คือ องค์บากก้าวมาด้วยจังหวะที่เหมาะเจาะพอดี เพราะเจ้าของตำนานบรู๊ซ ลี ตายไปนานแล้ว ส่วนเฉินหลง วัยกำลังโรยและเปลี่ยนบทจากดาวบู๊มาเป็นดาวตลกมากขึ้นทุกที ในขณะที่ หลี่เหลียงเจี๋ย ไม่หนุ่มเหมือนก่อน และแนวเพลงมวยของเขาสวยงามเกินไป ไม่ดุดันเท่า

ทุกคนรู้ดีว่าวงการหนังฮ่องกงกำลังเสื่อม ต้นทุนในการผลิตหนังในฮ่องกงสูงขึ้นทุกที และมือดีๆ ก็ย้ายไปฝากฝีมือตามสตูดิโอหนังทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฮอลลีวู้ด ที่อิมพอร์ตมือดีจากฮ่องกงไปหมด ตั้งแต่ผู้กำกับอย่างจอห์น วู ดาราอย่างเฉินหลง ผู้กำกับคิวบู๊อย่างหยวนหวูปิง

ถึงแม้ล่าสุดหลี่เหลียงเจี๋ยจะย้ายบ้านกลับมาจากฮอลลีวู้ด แต่ก็กลับจีนแผ่นดินใหญ่ ไม่ได้ปักหลักที่ฮ่องกง

ในเวลาแบบนี้ ตลาดหนังบู๊อินเตอร์กำลังต้องการโปรดักส์ใหม่ และองค์บาก กับโทนี่ จา คือคำตอบแบบไม่คาดฝัน เพราะไม่มีใครเคยคิดว่า ทีมถ่ายทำภาพยนตร์ที่มาทำลายการผูกขาดของฮ่องกงจะเป็นทีมที่มาจากเมืองไทยบ้านเรา

ความเร้าใจในแนวบู๊ของ “องค์บาก” และ “ต้มยำกุ้ง” ก็คือ การย้อนกลับไปใช้แนวเก่า (old school) สมัยบรู๊ซ ลี หรือเฉินหลงสมัยหนุ่มๆ (ยุคไอ้หนุ่มหมัดเมา) ของหนังบู๊ที่หมัดเป็นหมัด มวยเป็นมวย และลูกเตะที่ถึงลูกถึงคน

และแนวบู๊แบบ retro ย้อนยุคนี้มีอิทธิพลกับวงการสตันท์แมนทั่วโลกทันทีที่องค์บากเผยแพร่ออกไป อิทธิพลใหม่นี้มีมากจน หนังเรื่องล่าสุดของหลี่เหลียงเจี๋ย คือ Unleashed ที่เดิมใช้ชื่อว่า Danny the Dog มีการซ่อมและปรับคิวบู๊ใหม่ เพื่อรับกับความนิยมที่เปลี่ยนไปด้วยซ้ำ

ผลก็คือ หลี่เหลียงเจี๋ยในภาพยนตร์เรื่องล่าสุด มีคิวบู๊ใหม่ที่มีความโหดดุดันมากที่สุดเท่าที่เคยเห็นมาในโลกการแสดง ในขณะที่งานหนัง Banlieue 13 หรือ Suburbs 13 (2004) จากค่ายยูโรป้าของ Luc Besson ก็ได้รับอิทธิพลจากหนังองค์บากเช่นกัน

รวมถึงการคว้ารางวัล Best Asia action movie จากฟิล์มเฟสติวัลที่ Deauville ฝรั่งเศสในปี 2003 ในขณะที่เว็บไซต์กังฟูซีนีม่าด็อตคอม (www.kungfucinema.com) ที่ได้รับความนิยมสูงในแวดวงผู้สนใจหนังจีนกำลังภายใน และปกติจะมีแต่เนื้อหาที่เกี่ยวข้องเฉพาะหนังจีน ยังได้การันตีความนิยมขององค์บากด้วยรางวัล ดารานำยอดเยี่ยมหนังศิลปะป้องกันตัว (Best Actor in a Leading Martial Arts Role ) สำหรับจา พนม และผู้กำกับคิวบู๊ยอดเยี่ยม (Best Action Choreographer) แก่จา พนม และพัณนา ฤทธิไกร

ซึ่งรางวัลหลังถือว่าเป็นการให้เกียรติกันอย่างสูงเพราะเฉือนชนะเจ้าของตำนานคิวบู๊รายอื่นของฮ่องกงอย่าง หยวนหวูปิง ด้วยซ้ำ ถึงจะเป็นแค่รางวัลของเว็บไซต์เล็กๆ แต่ก็ดูบอกทิศทางอะไรได้พอควร

ที่สำคัญ ล่าสุดในการจัดอันดับคนดังแห่งปีใน “The Must List 2005 – 122 People and Things We Love This Summer” ของแม็กกาซีน Entertainment Weekly สื่อบันเทิงฉบับใหญ่ของอเมริกาในเดือนที่ผ่านมา มีชื่อของโทนี่ จา ติดอยู่ในลิสต์ดาวรุ่งพุ่งแรง เทียบเคียงรัศมีกับคนดังอื่นๆ อีก 122 คนที่คุ้นหูกันดีอย่าง โจดี้ ฟอสเตอร์ นิโคล คิดแมน และจางจื้ออี้ (ดารานำหญิงจากเรื่องพยัคฆ์ระห่ำมังกรผยองโลกและ Hero” อีกด้วย

ตลาด martial arts โลก

นอกจากแนวบู๊ย้อนยุค ที่ปลุกวงการสตันท์แมนทั่วโลกขึ้นมา หนังจากเมืองไทยเรื่องนี้ยังได้ปลุกตลาดนีชมาร์เก็ตตลาดหนึ่งขึ้นมาภายใต้การชูกระแสดุดันของศิลปะการต่อสู้มวยไทย ชิงส่วนแบ่งจากวงการหมัดมวยจีนที่ครองตลาดนี้มานาน

ตลาด martial arts หรือ ศิลปะต่อสู้ป้องกันตัว เดิมเป็นตลาดเก่าที่เคยฮือฮาในสมัยยุคทศวรรษ 1970 ที่ถูกนำกลับมานิยามใหม่ หลังจากถูกลืมไปนาน ถึงแม้ในเมืองไทย สภาพทั่วไปกีฬาหมัดมวยจะเสื่อมศรัทธาลง แต่ตามเมืองใหญ่ทั่วโลกกลับมีสำนักสอนวิชาศิลปะป้องกันตัวอย่าง มวยไทย ยูโด เทควนโด วูซู และอื่นๆ อีกมากมาย

คาดกันว่าตลาด martial arts ยังเป็นตลาดที่เติบโตพร้อมๆ กับกระแส X Games ที่เน้นความโหด มันส์ ท้าทาย และและแปลกใหม่เป็นเรื่องสำคัญ ไม่มีใครรู้ว่าสองตลาดนี้เหลื่อมทับกันเท่าไหร่ แต่ทั้งสองตลาดกำลังขยายตัวออกไปทั้งคู่ และมีความเหนียวแน่นสูง

ที่เหลือก็รอเวลาที่ดาวดวงใหม่ในวงการจะมาสร้างกระแสใหม่ขึ้นอีกครั้ง…เท่านั้น

องค์บากเข้าตลาดโลกโดยสร้างความฮือฮาเป็นครั้งแรก ในเทศกาลหนัง Toronto International Film Festival ที่แคนาดา ซึ่งในงานเทศกาลหนังที่นี่จะมีโปรแกรมพิเศษรอบดึกที่เรียกว่า Midnight Madness program ที่เปิดโอกาสให้หนังนอกกระแสไซไฟ วิทยาศาสตร์ แอ็กชั่น บู๊ สยองขวัญ มีโอกาสออกมาโดดเด่น ต่างจากเทศกาลหนังอื่นที่ไม่ค่อยยอมรับหนังพวกนี้มากนัก

ถึงไม่ใช่หนังไทยเรื่องแรกที่เข้าฉายในโปรแกรมมิดไนต์แมดเนส เพราะก่อนหน้านั้นก็มีหนังไทยลงโรงในโปรแกรมระห่ำรอบเที่ยงคืนนี้อย่าง ปี 2001 ในเรื่องบางระจัน Bang Rajan The Village of the Warriors งานของธนิต จิตนุกูล หรือในปี 2002 กับงานภาพยนตร์ คนเห็นผี หรือ The Eye งานสร้างร่วมไทย-ฮ่องกงของคู่พี่น้องอ็อกไซด์และแดนนี่ แปง

แต่องค์บากกลับกลายเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จที่สุดที่ลงโปรแกรมนี้ ไม่ว่าจะเทียบกับหนังไทย หรือหนังชาติอื่นก็ตาม

ทางด้าน คอลลินส์ เจ็ดเดส ผู้ควบคุมโปรแกรมเทศกาลหนังที่ฉายก็ให้สัมภาษณ์ในภายหลังบอกว่า ไม่เคยคิดมาก่อนว่าหนังองค์บากจะได้รับความนิยมมากขนาดนั้น และเนื่องจากรอบฉายคือเที่ยงคืน พอเวลาหนังจบราวตีสองแล้วยังมีคนดูที่กำลังอินกับหนังมากเจ็ดถึงแปดร้อยคนในโรงภาพยนตร์ กำลังยืนปรบมือสนั่นหวั่นไหวไม่ยอมหยุดยาวนานสิบกว่านาที เพื่อเป็นเกียรติกับตัวหนัง และผู้กำกับฯ คือ ปรัชญา ปิ่นแก้ว ที่ไปร่วมชม ยิ่งไปกว่านั้น ตลอดเวลาที่หนังฉายจะมีการส่งเสียงเฮเป็นระยะกับฉากแอ็กชั่นในเรื่องตลอดเวลา เหมือนอยู่ในสนามมวยไม่มีผิด

งานเทศกาลหนังที่โตรอนโตนี่เองที่เป็นจุดเปลี่ยนซึ่งพลิกให้หนังบู๊โนเนมจากเมืองไทยเรื่องนี้ กลายมาเป็นหนังดังระดับโลก ได้คอมเมนต์เชิงบวกจากบรรดานักวิจารณ์ ในขณะที่บรรดาแฟนๆ คอหนังศิลปะป้องกันตัวที่ไปร่วมงานก็กระจายข่าวต่อในสื่อเว็บอย่างต่อเนื่อง

ที่ผ่านมาทุกคนยอมรับในสามสุดยอดดาราบู๊ตลอดกาลอย่าง บรู๊ซ ลี เฉินหลง และหลี่เหลียงเจี๋ย แต่เมื่อถึงวันนี้หลายคนบอกว่าต้องนับเป็นสี่ โดยรวมโทนี่ จาเข้าไป

นั่นคือในยุคทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นกำเนิดตำนานของบรูซ ลี ยุค 1980 เป็นเวลาของเฉินหลง ตามมาด้วยหลี่เหลียงเจี๋ย ในยุค 1990 ในขณะที่นักวิจารณ์ฝรั่งหลายคนมองว่า ทศวรรษแรกของศตวรรษใหม่หลังปี 2000 นี้จะเป็นยุคของ โทนี่ จา หรือ จา พนม จากเมืองไทย

มีคนพูดถึงองค์บากทั่วโลก และเมื่อทีมองค์บากไปโปรโมตหนังตามประเทศต่างๆ ก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากแฟนๆ และแวดวงศิลปะป้องกันตัวถึงแม้จะต่างสำนักต่างแขนงก็ตาม

ในอเมริกาได้มีโอกาสได้แสดงช่วงพักครึ่งการแข่งขันบาสเกตบอล NBA รวมทั้งยังได้ Wu-Tang Clan แร็ปเปอร์ชื่อดังที่ชื่นชอบกังฟูแบบจีนจากค่าย RZA ที่ทำเพลงให้กับหนัง Kill Bill ขอเควนติน ตารันติโน ได้ประกาศตัวเป็นแฟนเหนียวแน่นของจา พนม จนกระทั่งไปขอทางบริษัทแม็กโนเลียซึ่งเป็นสายหนังในอเมริกา ว่าจะยอมออกโรงโฆษณาหนังเรื่ององค์บากให้ฟรีๆ ไม่นับรวมไปร่วมโชว์ในการแถลงข่าวที่แคลิฟอร์เนียกับทีมองค์บาก และ จา พนม

ตลาดยังกว้างทางยังไกล

ในวันนี้ สายการผลิตของสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนลยังเดินหน้า เพราะเมื่อโปรดักส์ใหม่ในตลาดนีชที่ลงตัว หนังเรื่องสอง คือ ต้มยำกุ้ง ก็ขายหมดทั่วโลก จากฝีมือสายหนังทั่วโลกที่รุมซื้อตั้งแต่หนังยังสร้างไม่เสร็จ ในขณะที่หนังเรื่องสามคือ ที่ยังใช้ชื่อรหัสว่า “ดาบ” ที่จะหันมาใช้ศิลปะฟันดาบไทย ก็เริ่มได้รับความสนใจตั้งแต่มีข่าวแพร่ออกไปในงานเทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา

ไม่ว่าต้มยำกุ้งจะเป็นอย่างไร หรือเรื่องที่สามของทีมนี้จะก้าวต่อไปทางไหน แน่นอนว่าในวันนี้ เวลานี้ และเส้นทางสองปีที่ผ่านมา ได้ขีดเส้นให้ งาน “องค์บาก” ได้เข้าทำเนียบหนังบู๊คลาสสิกของโลกไปแล้ว ในแบบชนิดที่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้ตัว หรือบางคนยังไม่เคยดูหนังเรื่องนี้ด้วยซ้ำ!

Websit

www.tonyjaa.org
www.ongbak-lefilm.com
www.ongbakmovie.com
www.mach-movie.jp
www.kungfucinema.com/reviews/ongbak_021005.htm