ปี 2543 นับเป็นจุดต่ำสุดของวงการภาพยนตร์ มีหนังไทยสร้างออกมาเพียงแค่ 9 เรื่อง โดยมีรายได้เพียง 500 ล้านต่อปี แต่ปีถัดมา 2544 กลับกระโดดไปเป็น 1,300 ล้านบาท ถือเป็นจุดเริ่มต้นศักราชใหม่ของหนังไทย หลังจากภาวะขาลงที่กินเวลามายาวนาน และยังจุดเริ่มต้นกระแสหนังไทยในตลาดโลกเช่นกัน โดยหนังไทย 6 เรื่อง อย่าง โกลคลับ, สุริโยไท, จันดารา, บางระจัน, ขวัญเรียม และ 14 ตุลาฯ ได้กระแสตอบรับอย่างดีจากเทศกาลนานาชาติ ตามหลัง “นางนาก” ที่เคยทำในปี 2542
ลู่ทางของหนังไทยออกนอก “เพื่อขาย” อย่างเป็นระบบ เริ่มขึ้นจากหนังเรื่อง “จันดารา” ซึ่งขายได้ในเกาหลี, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, ฮ่องกง, รัสเซีย, อิตาลี, โคลัมเบีย, บราซิล, และเวเนซุเอลา โดยเฉพาะการใช้ดารานำต่างชาติ เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การขยายตลาดไปต่างประเทศ
แนวคิดแบบเดิมของการผลิตหนังไทย คือ “เอาในประเทศให้คุ้มทุน และต่างประเทศถือเป็นกำไร” อุตสาหกรรมหนังส่งออกจึงเป็นโครงสร้างแบบขึ้นอยู่กับ “ดวง” แม้แต่ภาพยนตร์โครงสร้างใหญ่อย่างสุริโยทัยเอง ก็ไปได้อย่างจำกัด ในบางประเทศ
ด้วยมูลค่าตลาดของภาพยนตร์ไทยในปี พ.ศ. 2544 มากกว่า 1,200 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของมูลค่าตลาดภาพยนตร์รวมของประเทศที่มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 3,000 ล้านบาท ทำให้แนวโน้มต่อมาของการสร้างภาพยนตร์ไทยมีพัฒนาการก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ โดยจำนวนผลิตที่มากขึ้น ตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน ทั้งเรื่องการทุนสร้าง บทภาพยนตร์ และปัจจัยอื่นๆ ที่จะทำให้ได้รับความนิยมได้ถูกปรับปรุงอย่างเป็นระบบ
การ “โกอินเตอร์” ของหนังไทย ที่เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2542 อย่าง นางนาก, สตรีเหล็ก, ฟ้าทะลายโจร, บางกอกแดนเจอรัส หรือสุริโยทัย ที่โกอินเตอร์เหมือนกัน แต่ถือว่าทุกเรื่องต่างกรรมต่างวาระ และโดยเฉพาะจุดขายที่ต่างกัน ตั้งแต่ งานโปรดักชั่นเนี้ยบ, หนังแปลก, อาร์ตชั้นดี, อินดี้ จนถึงมหากาพย์ทุนสร้างสูง
แต่การโกอินเตอร์ก็ทำได้เป็นเรื่องๆ เท่านั้น เพราะขาดความต่อเนื่อง รวมไปถึงไม่มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อพัฒนาระยะยาว
หนังไทยเรื่องแรกๆ เรียกได้ว่าบุกเบิกตลาดต่างประเทศมานาน คือ “ทอง” (ผู้กำกับไทยกำกับดาราฮอลลีวู้ด) ของ ฉลอง ภักดีวิจิตร ที่ได้นำดาราฮอลลีวู้ดมาร่วมแสดง, “จินตหรา สุขพัฒน์” (ดาราไทยในฮอลลีวู้ด) ในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่อง “Good Morning Vietnam” ก็ถือได้ว่าเป็นดาราไทยโกอินเตอร์ แสดงในบทพูดที่เป็นภาษาอังกฤษ และเรายังมีผู้กำกับที่เคยทำงานให้ฮอลลีวู้ดอย่าง “วิชญ์ เกาไศยนันท์” ใน “Ballistic : Ecks vs. Sever” (ผู้กำกับไทยในฮอลลีวู้ด) จนตอนนี้ไม่มีความต่อเนื่องใดๆ จากจุดนั้นเหลือให้เห็น
ปัญหาส่วนหนึ่งเกี่ยวกับการโกอินเตอร์ของหนังไทย เพราะขาดความต่อเนื่อง และหนังไม่มีคุณภาพพอ ผู้ซื้อคิดว่าไม่สามารถจะทำกำไรได้จากการซื้อ แต่ที่สำคัญที่สุดหนังไทยยังขาด “positioning” อย่างที่หนังฮ่องกงช่วงหนึ่งเคยมี หนังเกาหลีมี หรือ หนังอินเดียมี ซึ่งเป็นมุมมองอย่างน้อยส่วนหนึ่ง ให้ผู้ซื้อหนังจากต่างประเทศได้รับรู้ และจดจำเอกลักษณ์ของภาพยนตร์ไทย
“ตลาดเมืองไทยมีความหลากหลายมาก มีหนังอย่างองค์บาก จนถึงหมานคร ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับปรัชญา, พิมพกา (โตวีระ), นนทรีย์ (นิมิตบุตร), หรือ เอกชัย (เอื้อครองธรรม) ที่มีส่วนผสมที่เป็นอาร์ตและป๊อปปูล่าร์ ซึ่งหายากมากในประเทศต่างๆ เชื่อผมเลยได้ว่า เพราะผมเดินทางไปทั่วโลก ปรากฏการณ์แบบนี้มีไม่กี่ประเทศในโลก ประเทศไทยมีความแข็งแรงทั้งผู้กำกับดังที่ได้รับความนิยม และผู้กำกับแบบศิลปะ
ผมว่าภาพของหนังไทยในตลาดโลกยังอยู่ในจุดเริ่มต้น โดยมีองค์บากนำหน้าไปก่อน และอีกทางหนึ่งหนังในเทศกาลของไทยก็เพิ่งกำลังเริ่มสร้างชื่อเสียงได้เหมือนกัน” ฟรังซัว เดอ ซิลวา ตัวแทนจากบริษัท ยูโปคอร์ปที่ซื้อภาพยนตร์องค์บากไปฉายที่สหรัฐอเมริกา และยุโรป รวมถึงโปรเจกต์อย่างหมานคร ก่อนที่จะมีโปรเจกต์เริ่มลงทุนทำให้ในไทยปลายปีหน้านี้
การ “โกอินเตอร์” ของ “ต้มยำกุ้ง” ที่สามารถขายก่อนล่วงหน้า หรือ “Pre-Sale” ก่อนหนังจะถูกสร้าง เป็นโมเดลที่เทียบชั้นได้ในภาพยนตร์จากฮอลลีวู้ด เช่นภาพยนตร์ภาคต่อข้ามชาติอย่าง “สตาร์วอร์” และ “Harry Potter” ที่ถูกออกแบบการสร้างในระบบนี้ล่วงหน้านานเป็นปี
หนังที่ขายล่วงหน้าจะสามารถนำปัจจัยทางการตลาดมากำหนดทุนสร้าง ระยะเวลาเสร็จ ได้ตั้งแต่ก่อนสร้าง โดย จากงบรายได้ของการขายหนังล่วงหน้า และรายได้จากสปอนเซอร์ที่ต้องแผนโปรโมชั่นแคมเปญตอนหนังลงโรง “พรีเซล” จึงจำเป็นต้องมีจุดขายที่แข็งแรง หรือมีความสำเร็จก่อนหน้ายืนยัน อย่างที่ต้มยำกุ้ง มีองค์บากเป็นเครดิต เพื่อช่วยลดความเสี่ยงสำหรับหนังทุนสร้างสูง
อีกโมเดลที่น่าสนใจคือ การ “โคโปรดักชั่น” จากการลงขันหุ้นเงินหลายประเทศ แต่ก่อนจะใช้เฉพาะหนังทุนสร้างสูง แต่ตอนนี้ก็เริ่มเห็นในหนังทุนสร้างน้อย ที่พร้อมการันตีรายได้ขั้นต่ำในแต่ละประเทศ ก็เกิดขึ้นมาได้สักระยะ แต่สิ่งที่พบมากขึ้นคือ “หนังทุนสร้างกลางๆ มีคุณภาพดี เน้นรางวัล มักขาดทุนในประเทศ แต่ได้กำไร เพราะเข้าสายประกวดตามงานเทศกาล”
ภาพยนตร์บางเรื่องที่ขาดทุนในไทยอย่าง “บางกอกแดนเจอรัส” (2543) แต่นำไปเปิดตัวที่งานเทศกาลหนังที่โตรอนโต (งานเดียวกับองค์บาก) ก่อนคว้ารางวัล พลิกโอกาสทำเงินได้กับการขายในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น “ฟ้าทะลายโจร”ของวิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง หรือ “รักน้อยนิดมหาศาล”ของเป็นเอก รัตนเรือง ที่ใช้รูปแบบผสมผสานจนทำรายได้ในต่างประเทศมากกว่า
ยังการโกอินเตอร์ ในรูปแบบของ ขายสิทธิ์ “re-make” หรือการขายสิทธิ์ไปสร้างใหม่ เช่นเรื่อง THE RING ก็ได้เกิดขึ้นแล้วกับหนังไทย หนังเรื่อง ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ ของค่าย GTH หรือ ตลก 69 ของไฟว์สตาร์ฯ
โมเดลรายได้ของภาพยนตร์ไทย (ไม่นับขายต่างประเทศ)
1. ฉายในโรงภาพยนตร์ในเขตกรุงเทพฯ (มีทั้งแบบเป็นการขายขาดและมีส่วนแบ่งรายได้จากโรงภาพยนตร์) 50 %
2. รายได้จากการขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ให้กับบริษัทเคเบิลทีวี วิดีโอ วีซีดี ดีวีดี และโทรทัศน์ 25%
3. รายได้จากการจำหน่ายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ให้กับสายหนังในต่างจังหวัด 15%
4. รายได้อื่นๆ เช่น สปอนเซอร์ สินค้าเมอร์ชั่นไดซ์ 10%
รูปแบบการขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ต่างประเทศ
1. บริษัทสร้างภาพยนตร์นำภาพยนตร์ไปจำหน่ายเองในต่างประเทศ วิธีนี้ ผู้ซื้อจะเป็นคนเสียค่าการตลาดทั้งหมด เพื่อให้หาส่วนต่างรายได้ (ในกรณีขายขาด) หรือแบบส่วนแบ่ง ในใช้การโปรโมตร่วม เช่น ส่งดาราไปโปรโมต
2. ขายผ่านนายหน้า ให้ค่าจ้างกับนายหน้าเป็นตัวแทนในการขายหนังในแต่ละประเทศ ถ้านายหน้าสามารถขายได้สูงกว่าราคาที่บริษัทสร้างภาพยนตร์กำหนดไว้ นายหน้าจะได้ส่วนต่างนั้นไปด้วย มีทั้งแบบเป็นบุคคลหรือบริษัท ซึ่งมักเป็นนายหน้าเจ้าประจำของแต่ละบริษัท
3. ขายผ่านเทศกาลภาพยนตร์ (Film Market) โดยเทศกาลภาพยนตร์ที่เมือง “คานส์” (ประเทศฝรั่งเศส) ถือว่ามีผู้ซื้อมาที่สุด ถัดไปเป็น “มิลาน” ประเทศอิตาลี ในแถบเอเชียที่สำคัญคือ “ปูซาน” (ประเทศเกาหลี) ซึ่งเป็นการพบกันระหว่างผู้สร้างกับผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์โดยตรง หนังไทยในช่วง 4-5 ปีขายผ่านช่องทางนี้จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบางระจัน ฟ้าทะลายโจร ตลก 69 หรือ สตรีเหล็ก จนทำให้สมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติออกบูธส่งเสริมหนังไทยเพื่อไปขายทุกปี รวมไปถึงการจัดงาน “ไทยไนท์” ของรัฐบาล
4. ขายแบบ Re-make ขายสิทธิ์เพื่อนำไปสร้างใหม่ โดยมักเป็นการดัดแปลงบทภาพยนตร์เดิม ซึ่งมักเป็นการซื้อขายเรื่องที่มีไอเดียน่าสนใจ เหมาะที่จะพัฒนาหรือตีความใหม่โดยผู้กำกับ หรือสร้างให้ขายมากขึ้น
หนังไทยกับรางวัลในต่างประเทศ
ปี 2481 ภาพยนตร์สัญชาติไทยที่ได้ออกฉายต่างประเทศเรื่องแรก ชื่อ “แตง” ของ รัตน์ เปสตันยี ในการประกวดภาพยนตร์สมัครเล่นปี ที่ประเทศสกอตแลนด์ ซึ่งก็เป็นครั้งแรกที่ภาพยนตร์ถูกส่งประกวดในนาม “ประเทศสยาม”
ปี 2497 “สันติ วีณา” ของรัตน์ เปสตันยี คนเดิมก็ส่งงานเข้าประกวดอีก จนได้รางวัลถ่ายภาพยอดเยี่ยม และฝ่ายศิลป์ยอดเยี่ยม ในการประกวดเทศกาลภาพยนตร์แห่งเอเชีย ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จนถึงปี
ปี 2527 ผลงานของ ยุทธนา มุกดาสนิท “ผีเสื้อและดอกไม้” ก็คว้ารางวัลชนะเลิศในเทศกาลภาพยนตร์ที่ฮาวาย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการประกวดในระดับเอเชียแปซิฟิก
ปี 2544 หนังนอกกระแสอย่าง “สุดเสน่หา” หรือ Blissfully Your ของ อภิชาติพงศ์ วีรเศรษฐกุล ที่กลายเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลในงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ที่ยอมรับว่าเป็นงานที่ใหญ่ที่สุดในโลก “Un Certain Regard Award” ยอดเยี่ยมในประเภท “น่าจับตามอง” ซึ่งเป็นประเภทที่สองรองจากหนังที่ได้รับการคัดเลือกเข้าประกวดชิงรางวัลปาล์มทองคำ ที่เมืองคานส์
ปี 2545 “สัตว์ประหลาด” เป็นภาพยนตร์ไทยที่ได้ รางวัล Jury Prize ในสายเข้าประกวดชิงรางวัลปาล์มทองคำ นับเป็นที่ 3 รองจากรางวัลสูงสุด
สถิติต่างๆ
สรุป 10 อันดับหนังไทย ทำเงินสูงสุดในประเทศ
1. สุริโยไท (สหมงคลฟิล์ม+พร้อมมิตร โปรดักชั่น / 2001 + 2003) 324 ล้านบาท
2. บางระจัน (ฟิล์มบางกอก / 2000 ) 151 ล้านบาท
3. นางนาก ( ไท เอนเตอร์เทนเมนต์ / 1999 ) 149 ล้านบาท
4. หลวงพี่เท่ง (พระนครฟิล์ม / 2005) 138 ล้านบาท
5. แฟนฉัน (GMM Pictures+ไท+หับโห้หิ้น ฟิล์ม / 2003) 137 ล้านบาท
6. มือปืน/โลก/พระ/จัน (RS Film+อาวอง / 2001) 123 ล้านบาท
7. ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ ( GTH / 2004) 110 ล้านบาท
8. องค์บาก (สหมงคล+บาแรมยู / 2003) 99 ล้านบาท
9. สตรีเหล็ก (ไท+หับโห้หิ้น / 2000) 98 ล้านบาท
10. 2499 อันธพาลครองเมือง (ไท / 1997) 75 ล้านบาท
จำนวนภาพยนตร์ที่ผลิตและออกฉาย ตั้งแต่ปี 2534-2547
ปี พ.ศ. 2534 ผลิตได้จำนวน 107 เรื่อง
ปี พ.ศ. 2535 ผลิตได้จำนวน 91 เรื่อง
ปี พ.ศ. 2536 ผลิตได้จำนวน 64 เรื่อง
ปี พ.ศ. 2537 ผลิตได้จำนวน 56 เรื่อง
ปี พ.ศ. 2538 ผลิตได้จำนวน 42 เรื่อง
ปี พ.ศ. 2539 ผลิตได้จำนวน 24 เรื่อง
ปี พ.ศ. 2540 ผลิตได้จำนวน 17 เรื่อง
ปี พ.ศ. 2541 ผลิตได้จำนวน 10 เรื่อง
ปี พ.ศ. 2542 ผลิตได้จำนวน 10 เรื่อง
ปี พ.ศ. 2543 ผลิตได้จำนวน 9 เรื่อง
ปี พ.ศ. 2544 ผลิตได้จำนวน 15 เรื่อง
ปี พ.ศ. 2545 ผลิตได้จำนวน 20 เรื่อง
ปี พ.ศ. 2546 ผลิตได้จำนวน 47 เรื่อง
ปี พ.ศ. 2547 ผลิตได้จำนวน 47 เรื่อง
ที่มา: สมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ