เส้นทาง “หนังอินเตอร์”ของไฟว์สตาร์ฯ

“บ้านหนังไทย” และ “โรงเรียนผู้กำกับ” เป็นชื่อเรียกของไฟว์สตาร์ โปรดักส์ชั่น…

ไฟว์สตาร์ฯ จัดอยู่ในฐานะระดับสตูดิโอขนาดใหญ่ ผลิตผลงานมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มต้นในธุรกิจภาพยนตร์เมื่อปี 2516 หรือกว่า 30 ปี นับตั้งแต่ เกียรติ เอี่ยมพึ่งพร ผู้ก่อตั้งได้เสียชีวิตลง และ “เจริญ เอี่ยมพึ่งพร” ในฐานะน้องชาย เข้ามารับตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร ไฟว์สตาร์ จึงกลายเป็นบริษัทที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เป็นบริษัทแรกที่มีโรงถ่ายทำภาพยนตร์เป็นของตัวเอง และยังทำงานด้านนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ผลงานการผลิตภาพยนตร์ไทยของไฟว์สตาร์มีมากกว่า 240 เรื่อง จากผลงานการสร้างของผู้กำกับมากกว่า 70 คน ไฟว์สตาร์จึงเป็นเหมือนโรงเรียนผู้กำกับภาพยนตร์แนวหน้า และบ้านของหนังไทย

หากดูในเชิงประวัติศาสตร์ ไฟว์สตาร์ผ่านความรุ่งเรืองขีดสุดจาก วัยอลวน บุญชู หรือหนังแนววัยรุ่นที่เป็นตัวแทนของแต่ละยุคสมัย จนมาถึงวิกฤตวงการภาพยนตร์ไทยซบเซา ในช่วงปี 2542 ที่ประเทศไทยมีหนังผลิต 10 เรื่อง และลดลงเหลือ 9 เรื่องในปี 2543 ในจำนวนนั้นเป็นของไฟว์สตาร์เกือบครึ่ง เฉลี่ย 4 เรื่องต่อเรื่อง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการคิดหาทางออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ

“ต้องยอมรับคิดมาเกือบ 30 ปีแล้ว แต่เราต้องคุ้มทุนในตลาดเมืองไทยก่อน ส่วนขายต่างประเทศเป็นผลพลอยได้ วางแผนจริงๆทำมา 10 กว่าปีแล้ว แต่มันก็ออกไปยาก เราจึงใช้วิธีร่วมผลิต (co-production) กับประเทศอื่น ให้เขาช่วยลงทุน ทำให้โปรดักชั่นใหญ่ขึ้น เพราะแทนที่เราจะฉายเฉพาะในประเทศ ก็สามารถฉายต่างประเทศได้ นี่เป็นการขยายตลาดรูปแบบหนึ่ง” เจริญ เอี่ยมพึ่งพร กล่าว ในจำนวนหนังที่เคยทำโปรดักชั่นร่วมกับต่างประเทศจนถึงปัจจุบัน นับสิบโปรเจกต์และเป็นสิบประเทศ

ประสบการณ์ของไฟว์สตาร์กับเทศกาลหนังต่างประเทศ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2519 โดยไฟว์สตาร์ใช้โอกาสของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ นำผลงานหนังไทยไปแสดงต่างประเทศ เริ่มจากภาพยนตร์เรื่อง ขุนศึก (ที่นำกลับมาสร้างใหม่ แต่ไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้) จนมาถึง ปี 2544

ผลงานของวิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง เรื่อง “ฟ้าทะลายโจร” ที่มีลักษณะสไตล์ภาพที่โดดเด่น จัดเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก ที่ได้เข้าประกวดในสาย Un Certain Regard ที่เมืองคานส์ ก่อนที่ปีถัดมาภาพยนตร์ของไทยจะได้รับรางวัลที่ 1 ของสายนี้ จาก อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล โดยปีเดียวกับที่ “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ของ เป็นเอก รัตนเรือง ได้รับเลือกเป็น Director’s Fortnight

หลังจากนั้น ปี 2546 Last Life in the Universe งานร่วมทุนสร้างของเป็นเอก ได้รับรางวัล ดารานำชาย จากงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่เมืองเวนิส ในขณะที่ “หมานคร” ผลงานของ วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง ที่โดดเด่นมีความเฉพาะตัวสูงอีกเรื่อง ที่สำคัญยังเป็นภาพยนตร์ที่ปิดการขายในเทศกาลภาพยนตร์ที่เมืองคานส์ ลิขสิทธิ์หนังเรื่องมหานคร ได้รับติดต่อขอซื้อจากบริษัทยูโรปาคอร์ป (EuropaCorp) บริษัทผู้สร้างและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ ของ ลุค เบซอง : Luc Besson ผู้กำกับชื่อดังชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นบริษัทเดียวกันกับที่ได้สิทธิ์ฉายองค์บากในตลาดยุโรปและอเมริกามาก่อนหน้า

ภาพยนตร์ที่ทำตลาดต่างประเทศ มักจะเป็นหนังแนวอาร์ต ที่มุมมองภาพยนตร์เฉพาะตัวของผู้กำกับรุ่นใหม่ อย่าง เป็นเอก และวิศิษฎ์

“อย่างเรื่องของวิศิษฎ์ หรือของเป็นเอก ผมหวังให้หนังไปต่างประเทศตั้งแต่แรก อย่าง “ฟ้าทะลายโจร” เรื่องแรกของวิศิษฏ์ ขนาดไปบุกเบิกใหม่ๆ ก็ขายได้ตั้งล้านกว่าเหรียญ แล้วเมืองนอกตอนนี้พอพูดชื่อวิศิษฎ์ทีเขาก็ขอซื้อเลย เรายอมรับว่าหนังเขาไม่เหมือนชาวบ้าน หนังคุณเป็นเอกเมืองนอกก็เทเงินมาให้ มันเป็นปัญหาสองสามอย่างคือ ถ้าเราจะทำให้เมืองไทยมันได้ โอเคโจทย์นั้นมันก็ถูก บางเรื่องมันต้องแยกกันให้ชัดเจน บางเรื่องมันก็ไม่ได้ทั้งสองอัน ต้องแยกให้ชัดเจนว่าจะเอาอะไร”

การร่วมทุนหลากสัญชาติในทำภาพยนตร์ของ ผู้กำกับอย่าง เป็นเอก รัตนเรือง นับ เป็นการใช้ความสามารถและสไตล์หนังเฉพาะตัวของเขา และยังสามารถดึงแหล่งทุนเข้ามาให้ไฟว์สตาร์ในอีกทางหนึ่ง

เจริญมองว่าการสร้างภาพยนตร์ที่ถูกต้อง ต้องคำนึงถึงเรื่องของการตลาดเป็นสำคัญ โดยหนังอาร์ตนอกกระแสแบบที่ดังในงานเทศกาล ก็จะมีรูปแบบการตลาดที่ต่างจากหนังพาณิชย์ โดยเฉพาะเรื่องข้อจำกัดของทุนสร้าง การสร้างภาพยนตร์คุณภาพทุนสร้างต่ำ หรือร่วมทุนไม่มากเพื่อให้งานที่ดีขึ้น แล้วโปรโมตผ่านงานเทศกาล ดูจะเป็นทางเลือกของไฟว์สตาร์มากกว่า

“คนที่ชื่นชอบหนังอาร์ต มีจำกัด เราก็ต้องยอมรับความจริง แต่มันจะไปได้ในตลาดต่างประเทศ เราต้องมอง ถ้าเป็นหนังพวกนี้สมัยก่อนที่ต่างประเทศยังไม่รับ มันจะลำบาก แต่ตอนนี้เรามีคนเอาเงินมาแชร์ให้”
ถึงวันนี้มุมมองการทำงานของไฟว์สตาร์ที่เริ่มต้นมา เจริญยอมรับว่ากำลังในปรับเปลี่ยนสู่ยุคของการตลาดนำ โดยเฉพาะการแข่งขันภายใต้ภาวะการทำงานของผู้สร้าง

“หนังที่มันออกมาจำนวนมากขึ้น การแข่งขันมันสูง เลยทำให้อะไรๆ ก็สูงขึ้น อย่างงบโปรโมชั่นก็ต้องสูงขึ้นมา ตอนนี้หนังเสร็จจะให้เข้าโรงเลยก็ทำไม่ได้หรอก ไม่เหมือนเมื่อก่อน อย่างน้อยต้องมีเวลา 3 เดือนขึ้นไป เพื่อที่จะรู้กระแส และจะรู้วิธีการทำตลาดสำหรับหนังแต่ละเรื่อง ถึงจะได้ออก”

“มันบีบบังคับให้หนังไทยต้องมีคุณภาพ เราต้องแข่งขันกับหนังต่างประเทศ แต่เราจะสู้กับเขาได้ขนาดไหน แต่ถ้าเรายังยืนอยู่ในสภาพเก่ามันก็จะห่างชั้นกันมาก ยิ่งสภาพเป็นอย่างทุกวันนี้ หนังไทยในอนาคตยิ่งจะดีขึ้น เพราะว่าพวกทำหนังเล็กๆ หรือพวกทำหนังไม่ค่อยเป็น ก็เริ่มไม่มีใครให้ทำ”

โปรเจกต์เรื่องที่สามของวิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง เรื่อง “น้ำพริก” เป็นงานที่ใช้งบลงทุนสร้างสูงที่สุด นับตั้งแต่ไฟว์สตาร์ดำเนินธุรกิจมา ด้วยตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ว่าจะมากกว่า 100 ล้านบาท จากการร่วมทุนสร้างกับยูโรปาคอร์ปบริษัทสัญชาติฝรั่งเศส แม้ว่า “น้ำพริก” เป็นโครงการที่เริ่มต้นตั้งแต่ 7 ปีที่แล้ว เป็นโครงการที่ติดปัญหาในเรื่องทุนสร้าง การพัฒนาเรื่องย่อถูกทำขึ้น เพื่อเข้าร่วมประกวดในโครงการหาทุนสร้างสำหรับภาพยนตร์ PPP projects (5th PUSAN Promotion Plan) ของงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่เมืองปูซาน จนได้รับการทาบทามให้เริ่มโปรเจกต์นี้ขึ้น

“หลายๆ บริษัทตอนนี้ก็จับมือกันเพราะว่าโลกมันเปิด ต้องทำให้ยิ่งใหญ่เพื่อให้ขายได้ทั่วโลก เดี๋ยวนี้อะไรๆ ก็มีการร่วมทุนกันเพื่อทำให้เป็นสิ่งที่สมบูรณ์มากที่สุด เพราะทุกวันนี้คนดูเลือกดูแต่ของดี วงการบันเทิงเดี๋ยวนี้ต้องใช้ทุนมากกว่าก่อนเยอะมาก”

“อย่างหนังไทยเรื่องหนึ่งเราลงทุน 10 กว่าล้าน สำหรับ production เขาลงทุนเรื่องหนึ่งเป็นหมื่นล้าน ผมว่ามันเป็นข้อเปรียบเทียบ ซึ่งเราลงทุนมากไม่ได้เพราะว่าเราฉายเฉพาะเมืองไทย แต่เขาไปทั่วโลก เขาสามารถจ้างคุณได้ 5 แสน แต่ผมจ้างคุณไม่ได้หรอก ด้วยคุณภาพของคน ด้วยขีดความสามารถ มันเป็นการแย่งตลาด เรามีปัญญาลงอย่างเขามั้ย แต่เราต้องต่อสู้กับเขาตัวต่อตัว ด้วยค่าดูหนัง 100 บาทเท่ากัน

…แต่ส่วนสำคัญไม่ได้อยู่ที่ทุนสร้าง ประเด็นสำคัญอยู่ที่ตลาด ผมเชื่อว่าคนไทยสามารถลงทุนหนังเรื่องหนึ่งพันล้าน ถ้ามีตลาดรองรับ ก็มีคนลงทุน แต่ชั่วโมงนี้เรายังมองไม่เห็น ปัญหาตอนนี้คือตลาด ถ้าถามว่าคิดว่าตลาดเมืองไทยจะยังโตได้ไหม ชั่วโมงนี้หนังยังมีทางโตอีกมาก แต่สำหรับตลาดต่างประเทศ ถ้าเรื่องไหนขายได้ มันก็จะได้อีกมหาศาล”

ด้วยมุมองเหล่านี้เอง วิธีการที่ไฟว์สตาร์ทำอยู่ จึงต้องทำให้เมืองนอกเห็นศักยภาพและคุณภาพ ไม่ใช่ในรูปแบบของการให้ทุน การร่วมทุนในโปรเจกต์ที่มีขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มศักยภาพในภาพยนตร์ไทยที่มีอยู่จำกัด เจริญเห็นว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นแล้วในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

“แต่ก่อนไทยเราเป็นแค่ตลาดของเขา แต่ไม่กี่ปีหนังไทยก็ขายได้ ต้องยอมรับความจริง ถ้าทำตลาดเฉพาะเมืองไทย เก็บรายได้ยังไงก็ไม่คุ้มทุน การไปต่างประเทศ เท่ากับเป็นการกระจายความเสี่ยง เพราะเรารู้ว่าโปรเจกต์ขนาดนี้เมืองไทยเอาไม่ขึ้นแน่ มันต้องหาต่างประเทศมาลงด้วย อย่างน้ำพริกก็คุยกันมา 2-3 ปีแล้ว เพราะว่าเรื่องทุนสร้างมันสูงมาก เรื่องนี้มโหฬารจริงๆ ถ้าเราทำเองจริงๆ ก็คงเหนื่อย”

เขาเล่าว่า ภาพยนตร์ยุคนี้มันต้องเอาการตลาดนำ ต้องใช้การรีเสิร์ช ซึ่งเป็นสิ่งที่ง่ายและทำได้ไม่ยาก และมีส่วนช่วยสำคัญในการทำให้การวางแผนการตลาดตรงกับกลุ่มเป้าหมาย โดยเพราะกลุ่มนักเรียนที่มีความต้องการเปลี่ยนไปตลอดเวลา

“ผมยอมรับว่า เดี๋ยวนี้หนังเรื่องไหนเราดูว่าดี บางทีมันก็เจ๊ง (หัวเราะ) เพราะว่าคนรุ่นเรามันเริ่มไม่ดูหนัง มันต้องเป็นวัยเดียวกับคนที่เขาคิดกัน เขาชอบเหมือนกัน บางทีเราชอบแล้วเด็กมันไม่ชอบ ก็หาว่าเราไม่ทันสมัย…”

“ตอนนี้เราพยายามทำมาตรฐานของเราอยู่ที่ 6-7 เรื่องต่อปี 2 เดือนต่อ 1 เรื่อง จะได้ไม่เหนื่อยมาก” คำว่าไม่เหนื่อยแต่หนักของเจริญ ทำให้เห็นทุกวันนี้ของไฟว์สตาร์ฯ กำลังสร้างมาตรฐานที่เกิดขึ้นจากการแข่งขัน และสังคมที่เริ่มเปลี่ยนไป…