Talk 2 Editor รัถยา ทองคงเย่า

นิตยสาร Front นิตยสารในเครืออาร์เอส ที่หายหน้าไปกว่า 2 เดือน กลับมาอีกครั้งพร้อมรูปแบบใหม่ที่สดใสกว่าเดิม โดยฝีมือของ พี่อ้อย หรือ รัถยา ทองคงเย่า ผู้ที่คลุกคลีอยู่ในวงการสิ่งพิมพ์มากว่า 20 ปีแล้ว ด้วยบุคลิกที่คล่องแคล่ว ความชอบในการสร้างแบรนด์ให้มีชีวิต ประกอบกับประสบการณ์ที่อัดแน่น ทำให้ Front รูปโฉมใหม่ เก๋ไก๋ และตระการตากว่าเดิม POSITIONING มีโอกาสเข้าไปคลุกวงใน ให้เห็นถึงไอเดีย ความคิดของตัว บก. ซึ่งไม่ใช่เฉพาะกับตัวนิตยสาร Front เท่านั้น แต่มันสื่อให้เห็นถึงคนที่มีใจรักในนิตยสารจริงๆ

– จุดเริ่มต้น

เรียนจบมาทางด้าน อาร์ต ครุศาสตร์ เริ่มทำงาน NGOs ก่อน แต่ก็อยู่ในส่วนสื่อรณรงค์เผยแพร่ ทำมา 2 -3 องค์กร ตอนที่อยู่กลุ่มมูลนิธิเพื่อนหญิง เค้ามีนิตยสารสตรีทัศน์เป็นราย 3เดือน เราก็ปรับให้เป็นรายเดือน เริ่มชอบ คือส่วนหนึ่งเราเห็นข้อดีของตัวโปรดักส์อันนั้นอยู่ เห็นว่ามันเข้าถึงกลุ่มได้อย่างไร ก็มีความคิดที่จะปรับตรงนั้น ด้วยความที่เรียนอาร์ตมา เพื่อนก็ทำงานหนังสือหรือเอเยนซี่บ้าง ช่วงนั้นเพื่อนก็ชวนไปทำงานอาร์ตที่นิตยสาร Boss แต่ บก. เค้าก็มองว่า เรามีความรู้ทางภาษาอังกฤษ อย่าไปทำงานอาร์ตเลย นั่งทำงานเขียนดีกว่า ก็เลยให้ทำเป็นหัวหน้ากองต่างประเทศ ทำเรื่องแปล บทความ ก็ดูท้าทายดี เริ่มจากงานแปล แต่โดยพื้นของเรา เคยทำ art work บ้าง ก็จะรู้กระบวนการการทำหนังสือเกือบทั้งหมด การที่เข้าไปอยู่ที่ Boss และเป็นลูกน้องของพี่จิ๋ม เจ้าแม่ทีวีพูลในตอนนี้ เราได้รับถ่ายทอดเต็มๆ ในเรื่องของการตลาด เหมือนเราออกศึก อยู่ในเวทีชีวิตจริงๆ เพื่อทำให้หนังสืออยู่รอด ได้เห็นมุมมองตรงนั้น รู้สึกว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่ได้เรียนรู้ เกิดเป็นความรู้ที่อัดแน่น

แต่คนทำหนังสือในบ้านเราหลายคน พี่สามารถพูดได้เลยว่า คนทำหนังสือในบ้านเรา ตัวเล็กตัวน้อยทั้งหลายก็มีจะความรู้สึกที่ดี มีความรักงานเป็นที่ตั้ง เรื่องรายได้เป็นเรื่องรอง เราฝันที่จะได้เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ เป็นเจ้าของหนังสือดีๆ สักเล่มหนึ่ง คนที่ทำหนังสือ หรือคนที่เริ่มจากตัวเล็กๆ น้องๆ หลายคน ก็คิดๆ กันว่า อยากมีหนังสือเป็นของตัวเอง หรือว่ามีนายทุนที่เข้าใจ มันก็จะเริ่มพูดเริ่มคุย แต่ช่วงนั้นก็ยังไม่มีใครให้เงินมาเป็นก้อนซึ่งก็ดี เพราะตอนนั้นเรายังไม่มีประสบการณ์ทางด้านการตลาดมากพอ มีแต่ความตั้งใจอย่างเดียว

จาก Boss ก็เริ่มไปทำหนังสืออีกหลายเล่ม เนื่องจากที่ทำที่ Boss ความรับผิดชอบมันเยอะขึ้น ทำให้ค่อนข้างเติบโต พอเวลาที่เราไปทำที่อื่นก็เติบโตขึ้น

– จุดเปลี่ยน

พอดีทางคลีโอ ซึ่งเป็นหนังสือหัวนอก ก็เข้ามาเมืองไทย ก็เลยไปสมัคร แต่ยังไม่คิดว่า จะใช่เราเหรอ ก็ได้เข้าไปสัมภาษณ์ มัน click กัน ช่วงเริ่มต้นมันเป็นอะไรที่ดีมากๆ ทั้งเรื่องของคอนเซ็ปต์ การฟอร์มทีม ในเรื่องของมุมมองนิตยสารหัวนอกกับตลาดไทย แล้วความที่ background เรามาจากนิตยสารไทย มันก็เลยมาผสมผสานกัน พี่คิดว่าเราได้เรียนรู้ know how ของการทำนิตยสารแบบฝรั่งมาพอประมาณ บวกกับมุมมองในการทำนิตยสารไทย เวลาที่ทำนิตยสารหัวนอก มันจะตื่นตาตื่นใจ จะคิดอยู่ตลอดเวลาว่า ความคิดตรงนี้เราอยากจะถ่ายทอดให้เพื่อนร่วมวงการจังเลย สักวันข้างหน้าเราน่าจะได้แลกเปลี่ยนความรู้ตรงนี้ ทำอยู่ประมาณเกือบ 4 ปี มันไม่ได้เป็นจุดอิ่มตัวในเรื่องงาน มันเป็นเรื่องบรรยากาศการทำงานมากกว่า ช่วงแรกสนุกมาก เพราะทางฝรั่งเค้าอัดฉีดเราตลอด เค้าพูดเลยว่า This is your own magazine พี่เลยเรียนรู้ว่า ถ้าการทำงานปล่อยให้คนมีอิสระทางความคิด เราจะได้ประสิทธิผลของการทำงานที่สุดยอด ฉะนั้นเวลาที่พี่ทำงานกับน้องๆ ก็จะให้อิสระเต็มที่เลย จะไม่เข้าไปมีอิทธิพลกับลูกน้อง เพราะมันจะกลายเป็นผลงานของพี่ ให้อิสระกับลูกน้องสุดๆเต็มที่ สิ่งที่ดีที่สุดของหลายคน มันจะดีกว่าที่เราไปจัดการ มันจะเป็นแค่เราคนเดียว ความเป็นอิสระมันดีที่สุด เราก็จะเรียนรู้ได้เร็วมาก ในเรื่องของการตัดสินใจ แม้จะเป็นเรื่องผิดพลาด พอตอนหลัง คลีโอเป็นช่วงที่มีการตอบรับมาก คนไทยช่วงนั้นมันจะมีที่เป็นทำดีแต่อย่าเด่น มันจะเป็นภัย ก็เริ่มมีเงอะแงะ โดยส่วนตัวไม่ชอบเรื่องไร้สาระเล็กๆ น้อยๆ ก็เลยรู้สึกรำคาญ พอรำคาญปุ๊บก็รู้สึกว่า โลกกว้างที่ทางเยอะ ฉันไม่จำเป็นต้องอยู่ตรงนี้ก็ได้ ก็เลยลาออก โดยที่ไม่ได้มีปัญหากับตรงนั้นเลย

– นิตยสารของตัวเอง & Hair Magazine

เปลี่ยนมาทำนิตยสารของตัวเองชื่อ E magazine คนตอบรับก็ดี คือส่วนหนึ่งเป็นข้อดีของคลีโอ เพราะมีแฟนตรงนั้นเยอะ ก็มีคนตามมาอ่านต่อ จนกระทั่งไปอยู่ที่ Post Today ช่วงสั้นๆ ก็กระเด้งกระดอนออกมา สักพัก ก็ช่วยทำเบื้องหลัง Spicy ของทีวีพูล พอดีทางเนชั่นจะทำหนังสือ ช่วงนั้นคุณศุภชัยเป็น CEO อยู่ ก็ได้ทำ Hair หัวนอก ซึ่งพี่ก็ภูมิใจ ไม่รู้เป็นเพราะตลาดผมในบ้านเราจะเป็นตลาดกลางจนถึงตลาดล่างหรือเปล่า ร้อยทั้งร้อยคนในวงการสื่อก็จะเห็นว่า Hair ไม่น่าทำ ไม่เท่เลย ไม่แฟชั่นเลย หาคนทำยากมาก แต่พี่มองเรื่องงาน มองถึงคนอ่าน มันเป็นความท้าทาย เราเอาชนะกับการสร้างแบรนด์ให้มันปรากฏในตลาดดีกว่า สนุกกับตรงนั้น ในแต่ละโปรดักส์ให้มันมีชีวิต มันก็คาดว่าจะเป็นเช่นนั้น ช่วงที่ Hair ออกไปเกือบ 2 ปี

– ร่วมงานกับ Front

พอดีได้รู้จักกับเฮียฮ้อ ซึ่งอยู่ในช่วงปิดปรับปรุง Front ก็เลยต้องการคนมาช่วย พี่ก็คิดว่าตรงนี้ไม่มีใครและมันก็ท้าทาย ว่าจะพลิกให้มันกลับมามีชีวิตได้อีกหรือเปล่า เพราะหลายคนบอกว่าไม่ขึ้นหรอก พี่เลยบอกกับทีมงานว่า อย่าแปลกใจ เพราะคนต้องพูดแบบนี้ ถือเป็นข้อดี เพราะจะทำให้เราเอาชนะ พี่คิดแผนต่างๆ นานา ใช้เวลาอาทิตย์-2อาทิตย์ ก็เลยแตกไลน์ Front ดีกว่า

ช่วงหลังๆ ตัวสื่อนิยมแตกไลน์ออกมา แต่ส่วนใหญ่จะแตกไลน์ตอนที่แบรนด์แข็งอยู่แล้ว พี่คิดว่าตอนนี้การสร้างแบรนด์ มันไม่ต้องใช้เวลางานเหมือนแต่ก่อน เรามีกลยุทธ์ทางการตลาดมากมายในการสร้างแบรนด์ให้มันเติบโตไปได้ เรามีข้อดี เลยเชื่อมั่นว่า เราสามารถแตกไลน์ได้ในตอนนี้ และสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคที่เป็นผู้หญิงรุ่นใหม่ทั้ง 3 กลุ่มนี้ ก็เลยออกมาเป็น Front โฉมใหม่ทั้ง 3 เล่ม

– Front โฉมใหม่

มันจะมาเป็น 2 เล่ม จะปรับให้มันย่อไซส์ลง เพราะให้มันแตกต่างกับคนอื่น แต่พอย่อลง พวกเอเยนซี่เค้าก็ยังไม่กล้าลงโฆษณา เขาต้องการหนังสือเล่มใหญ่ เราก็มีอีกทางเลือก มีหนังสือ Front : Shopping ขาย 2 เล่มรวมกัน 90 บาทจนถึงสิ้นปี เป็นการคืนกำไรให้กับสังคม พอปีหน้าก็แตกของใครของมัน มี Front : Mini, Front : Shopping และ Front : Fame (2 เล่มนี้จะเป็นราย 2 เดือนจนถึงสิ้นปี)
อย่าง Front:Fame จะขาย celebrity โดยเฉพาะ fashion และ lifestyle ของเขา ให้มาเป็นแกนนำของนิตยสารเล่มนั้น กลุ่มนี้เป็นกลุ่มตลาดบนขึ้นมา มีกำลังซื้อสูง ดาราเขามีสิทธิ์เต็มที่ เขาจะพิถีพิถันในการเลือกของปรนเปรอตัวเอง อารมณ์ก็จะเนี้ยบๆ celebrity ที่ขึ้นปกก็จะเป็นคนไทย เป็นช่วงแนะนำตัวเองก็เลยคืนกำไรให้สังคม พอถึงปีหน้า ก็จะเป็นจุดที่แต่ละเล่มจะมีแฟน คนอ่านจะรู้ว่าตัวเองชอบแบบไหน

Front: Mini สำหรับสาวทันสมัย เป็นแนวหนังสือ how to & lifestyle ก็จะเป็นเรื่องชีวิตที่ทำงาน เรื่อง lifestyle ต่างๆ ดูแล้วกลุ่มที่ใกล้ๆ กันกับเราก็จะเป็นแนวหนังสือหัวนอกที่เข้ามาที่เป็นแนว lifestyle แต่เรามีดีกว่าตรงที่มีความเป็นไทยเข้ามาแทรก มีเนื้อหาที่เป็นของไทยทั้งสิ้น มีการสัมภาษณ์

ส่วน Front : Shopping เป็นคลื่นลูกใหม่ที่มาแรงมากในวงการหนังสือ ถ้าสังเกตให้ดีหนังสือหัวนอกน้อยใหญ่จะออกเล่มนี้กันใหญ่เลย มันแสดงเห็นว่า มีผู้บริโภครออยู่ จริงๆ มันก็คือการรวมแค็ตตาล็อกสินค้าที่อยู่ในความสนใจของสาวยุคใหม่ ทำให้ดูเป็นการอัพเดตเรื่องต่างๆ พาไปซื้อของในที่ต่างๆ การแต่งตัวใน catwalk มีอะไรบ้าง ซื้อที่ไหนได้บ้างตาม budget มีคอลัมน์ของผู้ชายแทรกด้วย ผลตอบรับดี

– Target Group

ถ้าแยกด้วยวัยก็จะเหลื่อมกันเล็กน้อย อย่างตัว Shopping ก็อยู่ประมาณ 18- 25 ปี ส่วน Mini อยู่ที่ 20 – 35 ปี ส่วน Fame จะ 30 – 45 ปี พี่มองว่าทั้ง 3 เล่มไม่เชิงว่าแบ่งด้วยอายุ มองว่าด้วยพฤติกรรมการบริโภค และ lifestyle ของคนนั้นมากกว่า อย่าง Mini มองว่าเป็นคู่มือคู่ใจของสาวออฟฟิศ มันดูเหมือนว่ามัน balance ชีวิตของเขาส่วนหนึ่ง พี่ไม่หยุดนิ่ง และสังเกตความเป็นไปบนแผง โชคดีที่ได้เดินทาง ก็จะสำรวจ และติดตามข้อมูลข่าวสาร เพราะที่ต่างประเทศเขาก็จะมีสมาคมผู้ทำนิตยสารต่างๆ เป็น International เขาก็จะส่งข้อมูลมาให้ เราก็จะอัพเดต ทำให้เรารู้ว่าแนวคิดไปทางไหน คนอ่านแต่ละซีกโลกเป็นอย่างไร เราเป็น บก. สื่อสารกับผู้อ่านของเราอยู่แล้ว ในเมื่อตลาดบ้านเราไม่มี ยังมีช่องว่างอยู่ เราก็อยากทำ โชคดีตรงที่ อาร์เอส เค้าไฟเขียวเต็มที่

เราต้องคงคอนเซ็ปต์ให้แน่นจริงๆ พี่โชคดีอย่างหนึ่งตรงที่ได้ทีมงานที่เข้าใจกันตลอด สื่อสารกับคนในทีมได้ค่อนข้างดี เราก็มีแรงยุ มีลูกบ้าด้วยกันทั้งทีม มันช่วยได้เยอะ คนมีความสามารถเยอะแยะไปหมด แต่ทีมเวิร์กที่ดีสำคัญกว่า พี่มีลูกน้องที่ดี ต่างฝ่ายต่างเข้าใจในสิ่งที่ทำอยู่ และยิ่งมาได้แรงสนับสนุนที่ดีจากค่าย ที่เค้าพร้อมหนุนหลังเรา เราก็พร้อมลุยให้เขา สนุกด้วย

– ทีมงานและวิธีเฟ้นหาทีม

มีประมาณ 21 -22 คน เป็นทีมที่ใหญ่ จริงๆ มันควรจะแบ่งทีม แต่พี่เรียนรู้ว่า การแบ่งทีม แบ่งหัวแบ่งเล่ม จะรู้สึกว่าตัวเองสังกัดเล่มโน้น เล่มนี้ มานั่งแข่งกันเอง มันไม่ได้ ไม่อยากให้มันเกิดบรรยากาศแบบนั้นขึ้น แต่ว่าอาจจะบางแขนงกัน ช่วยเหลือกัน จนกว่า…พอถึงปีหน้า หรือ 3-4 เดือนข้างหน้า ถึงจะแบ่งเป็นทีมๆ ให้ดูแลไป แต่คอนเซ็ปต์โดยรวมก็ยังมากับเรา

เวลาเลือกทีมงาน อย่างแรก ต้องนิสัยดี เพราะเป็นคนชอบอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีๆ หน่อย เป็นคนง่ายๆ มีความมุ่งมั่น รักงาน คนลุยงาน และทำงานเต็มที่จะได้ใจจากพี่ก่อน พี่ว่าข้อดีข้อเสียทุกคนมี พี่ได้ข้อคิดมาจากหนังสือว่า องค์กรใหญ่มีทั้งคนที่มีข้อดีละข้อเสีย จะมองแต่ข้อดีของคน ถ้ามองข้อเสียมันจะมองไม่เห็นอนาคตขององค์กร เอาข้อดีนั้นให้คนช่วยทำงาน พี่ก็ประทับใจ น้องๆ ทีมงานที่เคยทำงานกับพี่มา เขาจะรู้ว่าสิ่งที่พี่ย้ำเสมอก็คือ ทีมเวิร์กที่ดี ต้องเป็นทีมเดียวกัน มีเป้าหมายเดียวกัน คิดต่างได้ มีไฟอย่างเต็มที่ พี่ไม่ชอบคนที่ไฟมอดและก็ทำงานตามสั่ง ขอให้ aggressive ที่สุด ในมุมของงาน แต่ต้องใจกว้าง ต้องวิพากษ์ตัวเอง และยอมรับในสิ่งที่คนอื่นวิจารณ์ ทุกเสียงสะท้อนมีค่าเสมอ เสียงติดีกว่าเสียงชม

พี่เน้นเรื่องการเขียน เพราะเป็นคนชอบอ่านชอบเขียน ความมุ่งมั่นของเรา เราอยากให้คนไทยอ่านหนังสือเยอะ อยากให้มีความคิดความอ่าน คารมคมคาย

– โฆษณาต่างๆ

ถ้าเราผลิตโปรดักส์อะไรเข้าไปในตลาด ผู้บริโภคจะเป็นผู้ตอบแก่เราชัดเจนได้ดีที่สุด เราในฐานะที่เป็นผู้ผลิตมีหน้าที่ผลิตสิ่งดีที่สุดออกไปในท้องตลาด แล้วผู้บริโภคจะบอกกับสปอนเซอร์ของเราเองว่า เราดีหรือไม่ดี เสียงที่ว่า เราเป็นความต้องการของผู้บริโภคก็จะไปถึง advertisers และเขาก็จะมาลงโฆษณากับเราเอง ทีนี้ ความดีหรือไม่ดี มันอยู่ที่ว่าเราชัดเจนแค่ไหน ใน positioning ของเราแต่ละเล่ม เชื่อว่าถ้าเราทำตัวเองให้ชัดแล้ว ก็ไม่ต้องเหนื่อยไปอธิบายกับใครว่า เราเป็นใคร พอเห็นชัดว่าเราเป็นแบบนี้ advertisers ก็จะเห็นเราเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งมันจะพาไปสู่เป้าหมายเดียวกัน จริงๆ ตอนแรกเราจะออกวันที่ 15 แต่เล่มแรกเอาฤกษ์เล็กน้อย ก็เลยออกวันที่ 5 มันก็เลยเป็นผลให้กับเดือนต่อไปที่จะออกวันที่ 5 สิงหาคม

– ของแถมที่มากับนิตยสาร

ของแจกมันน่าจะเป็นของดี ช่วยเรื่องยอดขาย แต่พี่คิดว่าคนอ่านบ้านเราฉลาดกว่านั้น ยุคหนึ่งมีกลุ่มคนที่ทำหนังสือหัวนอกเชื่อว่า คนอ่านนิตยสารไม่อ่านเนื้อหา นิตยสารก็เลยไม่ต้องทำอะไร ถ่ายรูปสวยๆ พี่คิดว่าไม่จริง คนอ่านบ้านเราเป็นนักอ่านตัวยง เนื้อหาเป็นความต้องการ การที่จะล่อด้วยรูปลักษณ์ มันล่อได้อย่างผิวเผิน เนื้อหาต่างหากที่ให้เขาเป็นแฟนอย่างเหนียวแน่น ใครที่สามารถสร้างคาแร็กเตอร์ของเนื้อหาได้ เหมือนคุยกับเพื่อนก็จะเป็นข้อได้เปรียบ การที่มีแฟนอ่านติดตาม ยอดพิมพ์ขยายขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือชัยชนะที่แท้จริง

– กิจกรรมกับคนอ่าน

ตอนนี้เราทำ รถตู้ที่พาไปแหล่งช้อปสำคัญ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ 10.00 ถึง 2 ทุ่ม นั่งฟรี ผลตอบรับก็ฮือฮา อย่างน้อยที่สุด สื่อมวลชนก็ตอบรับดี เรียกเสียงได้จากคนอ่านได้ดี อาจเป็นเพราะรถตู้มันน่ารักด้วย พี่แอบไปเห็นมาก็เลยเอามาบอกกับทาง Marketing

เรื่อง Size เป็นคนกำหนดเอง แต่เรื่องดีไซน์ก็มีมือดีที่คอยช่วย ยุคนี้คนเก่งๆ มีเยอะ เรามีหน้าที่รวมคนเก่งๆ และให้เค้าเปล่งศักยภาพอย่างเต็มที่ เราไม่ต้องไปชี้นำ เพราะเราก็เริ่ม expire แล้ว (หัวเราะ)

– คนที่จะมาเป็น บก.ได้

แล้วแต่ละองค์กรว่าต้องการอย่างไร บางที่ต้องการแค่ภาพลักษณ์ บางคนเขียนภาษาไทยไม่ได้ก็มี บางคนนามสกุลดังก็มี แต่ในฐานะของคนที่อยู่ในแวดวงนี้มานาน คิดว่าเขาต้องเป็นตัวจริง คนอาจจะมองว่า ภาพของบก. คนทำนิตยสาร ตรงส่วนที่ไปออกงานมากกว่า แต่อีกภาคหนึ่งเป็นภาพที่ทำงานเป็นกระบือมันก็มี หลายคนจะไม่เห็นด้านนี้ ยุคหลังๆ ก็จะมีคนอยากเข้ามาทำงานด้วยความเข้าใจผิด คิดว่าสื่อมวลชนสนุกสนาน ออกงาน แต่งตัวสวยๆ จริงๆ มันคืองาน พอถึงที่สุด เราต้องกลับมาเขียนข่าว ในยุคนี้ก็เริ่มมีคนที่เป็นฉากหน้า ก็ยอมรับว่าบางองค์กรเขาต้องการคนแบบนั้นจริงๆ ก็จะเริ่มมี บก. ที่เป็นหุ่นเชิด มีบก. จริงๆ อยู่เบื้องหลัง พี่มองว่า สำหรับตัวเอง พี่สามารถอยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลัง เพราะถ้าเราไม่ลงมาแบบนี้ ก็ไม่มีอะไรที่แน่นพอจะบอกกับผู้อ่าน พี่ลงไปกับงานจริงๆ ดีกว่า

– ตลาดนิตยสารในปัจจุบันกับอดีตแตกต่างกันมากหรือเปล่า

แตกต่างกันเยอะมาก มีการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง มีเรื่องของสปอนเซอร์เข้ามาเกี่ยวข้องเยอะ บางเล่มก็ขายทั้งเล่มเลย ถึงที่สุดแล้ว สื่อมวลชนก็ต้องดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลาง ต้องให้ผู้อ่านเห็นว่า ข้อมูลที่เราให้กับเขา ไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกซื้อโดยสปอนเซอร์ หรือ Advertiser ฉะนั้นตรงไหนที่เป็นโฆษณาก็เขียนไปว่าเป็นโฆษณา ถ้าเป็นการขายแบบแยบยล พี่คิดว่ามันเป็นเรื่องเศร้าและน่าละอาย อย่างของ Front สัดส่วนอยู่ที่ 80 กับ 20 เปอร์เซ็นต์ ถ้า ad เยอะก็เนื้อหาเพิ่มตาม หนังสือที่อยู่ได้นานๆ ตอนนี้ก็มีแต่กำไรแล้ว เขาน่าจะพัฒนาเนื้อหามากขึ้น

– ความแตกต่างระหว่างการทำนิตยสารหัวนอกกับหัวใน

ก็สนุกเหมือนกัน มาถึงจุดนี้ พี่ไม่อยากทำหัวนอกแล้ว มองว่าแต่ละเล่มมันชีวิตของมัน ต้องหาจุดขายให้ได้ ในตอนนี้ ให้เป็นหัวไหนๆ มาก็จะเฉยๆ แต่พี่จะสนุกกับการปั้นแบรนด์ต่างๆ มากกว่า ตอนนี้เริ่มรู้แล้วว่า ฝรั่งเค้าไม่รู้จักตลาดไทยหรอก คนไทยจะรู้จักตลาดดี และคนที่รู้ที่สุดก็คือ ทีม Editorial ที่ใกล้ชิดกับคนอ่านมากที่สุด เป็นคนที่สัมผัสหัวใจผู้อ่าน การที่เขามาลงโฆษณากับเรา เพราะจะได้ใช้เป็นสื่อเข้าถึงผู้อ่าน เพราะเรามีความเป็นกลาง ไม่ใช่โบร์ชัวร์ของสินค้า

– อยากทำอะไรอีกหรือเปล่า

อยากทำอีกเยอะแยะเลย อยู่ในหัวมากมาย ต้องเบรกตัวเองไว้ก่อน หนังสือในเมืองไทยยังมีช่องว่างอีกมาก อย่างญี่ปุ่นเค้ามีนิตยสารเยอะมาก เช่น นิตยสารคุณแม่ ก็จะมีทั้งนิตยสารคุณแม่ที่อยู่บ้าน นิตยสารคุณแม่ที่ทำงาน

– ข้อคิดส่งท้าย

ช่วงหลังๆ ก็รู้สึกฟ้าเบื้องบนเลยว่า ในแต่ละสเต็ปที่ผ่านมา มันเหมือนเป็นบทเรียน หลายคนในสังคมจะไม่ค่อยกล้าก้าวออกไปเพื่อจะเปลี่ยนแปลงงาน หรือชีวิต เพราะกลัวว่าความเปลี่ยนแปลงจะไม่มาถึงตัวเอง แต่จริงๆ แล้ว ความเปลี่ยนแปลง มันมาถึงแน่ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่มีอะไรที่มันจีรัง ยั่งยืนถาวร คนที่มีอำนาจอยู่ก็จะถูกสับเปลี่ยนไป อะไรทั้งหมดมันเปลี่ยนแปลงได้ พี่ไม่ได้ชอบความเปลี่ยนแปลงมาก ที่ต้องวิ่งเข้าหาตลอดเวลา แต่จังหวะชีวิตที่มันเข้าไปในแต่ละจุด ไม่เคยกลัวที่จะออกไปเผชิญหน้ากับมัน ชีวิตพี่อาจจะเหมือนกับกระโดดไปมาที่โน่นที่นี่ แต่ทุกอย่างเป็นประสบการณ์ มันสอน มันให้อะไรตลอดเวลา มันทำให้เราได้เรียนรู้ พี่พบว่า ประสบการณ์ในแต่ละจุด มันสอนอะไรให้มากมาย

Profile

Name : รัถยา ทองคงเย่า
Age : 44 ปี
Education :
ปริญญาตรี คณะครุศาสตร์ เอกศิลปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Career Highlights :
– เริ่มทำงานองค์กร NGOs ต่างๆ
– หัวหน้าฝ่ายต่างประเทศของนิตยสาร Boss
– บรรณาธิการนิตยสาร Cleo
– บรรณาธิการนิตยสาร E Magazine
– บรรณาธิการฝ่ายแมกกาซีนหนังสือพิมพ์ Post Today
– บรรณาธิการนิตยสาร Hair
– ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการบริหาร Front : Mini, Shopping และ Fame