อิงอร ดิลกธราดล นาทีชีวิต ลิขิต Rhythm

ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม มีงานแถลงข่าวการกลับมาของนาฬิกาแบรนด์ดังอย่าง Rhythm Clock สำหรับ POSITIONING ความน่าสนใจของนาฬิกายี่ห้อนี้ อยู่ที่สาวมาดมั่นนักธุรกิจนาฬิกา อิงอร ดิลกธราดล ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัท อินโนเวชั่น ไทม์ จำกัด ตัวแทนจำหน่ายรายล่าสุดในประเทศไทย

“มีความฝันตั้งแต่สมัยเด็กว่าถ้ามีโอกาสอยากจะสร้างแบรนด์อะไรก็ได้สักแบรนด์ให้คนรู้จัก แต่ที่เลือกนาฬิกาเพราะเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคย รู้สึกผูกพัน รู้จักและเข้าใจดี รู้ว่าเข็มวินาทีเดินยังไง เข็มนาทีเดินยังไง หรือแม้แต่เข็มชั่วโมงเดินลักษณะไหน ใช้กลไกอะไร ที่สำคัญเราเข้าถึงความเป็น lifestyle ของนาฬิกาดีพอที่จะบอกว่ายี่ห้อใดดี ยี่ห้อใดไม่ดี”

อิงอร ดิลกธราดลพูดกับ “POSITIONING” ในตอนหนึ่งของบทสนทนาระหว่างการสัมภาษณ์แบบเป็นกันเองภายในโชว์รูม และที่ตั้งของบริษัท อินโนเวชั่น ไทม์ จำกัด ตัวแทนจำหน่ายรายล่าสุด ของนาฬิกา Rhythm ในประเทศไทย ซึ่งเธอริเริ่มก่อตั้งขึ้นเพื่อทำธุรกิจนี้โดยเฉพาะ

ในวันนี้นอกจากเป็นย่างก้าวแรกสู่ตำแหน่งผู้บริหารในฐานะ “กรรมการผู้จัดการ” แล้ว นี่คือจุดเริ่มต้นทำธุรกิจในระดับสากลของเธอ ซึ่งทั้ง 2 หน้าที่ คือ บทบาท “ใหม่” ที่เธอเลือกเดินเพื่อใช้พิสูจน์ตัวเอง

หากย้อนไปดู ชีวิตของอิงอรก่อนจะมาถึงวันนี้ คำว่า “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” คงไม่เกินความจริงไปเท่าใดนัก

พ่อแม่ของเธอเริ่มทำธุรกิจนาฬิกาเป็นเจ้าแรกในจังหวัดพัทลุงเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว ก่อนจะขยาย line ไปยังธุรกิจอื่นๆ อีกมากมาย มันจึงไม่แปลกหาก “ร้านเนรมิต” ของครอบครัวเธอจะเป็นที่รู้จักกว้างขวางในจังหวัด และเธอเองก็ซึมซับความเป็นนักธุรกิจนาฬิกามาตั้งแต่เด็ก

“จำได้ว่า ลูกๆ ทุกคนต้องมาช่วยป๊า กับม๊าขายนาฬิกา เกือบทุกวันตั้งแต่เรียนหนังสือ ทำให้เราเรียนรู้ไปเองว่า การขายนาฬิกานอกจากจะขายเพื่อให้ได้เงินแล้ว ยังต้องได้ใจลูกค้าด้วย”

ชีวิตของอิงอร ถือเป็นเธอเลือกที่จะขีดชะตาตัวเอง แม้พี่ๆ ของเธอทุกคนจะปักหลักอยู่ที่พัทลุง แต่นั่นอาจเพราะความเป็นลูกคนเล็กที่ดื้อ ซน และเฮี้ยวที่สุดในบ้านอย่างเธอกลับตัดสินใจหันหลังให้กรอบชีวิตเดิมๆ หลังจากเรียนจบปริญญาตรี ด้วยเหตุผลว่าอยากมีชีวิตเป็นของตัวเอง และเมื่อเธอตัดสินใจออกจากบ้านมาใช้ชีวิตลำพังที่กรุงเทพฯ ดูท่าว่าจะไม่มีใครขัดใจได้

เธอเรียนต่อโทวิศวะที่ลาดกระบัง ไปพร้อมๆ กับการเป็นอาจารย์พิเศษสอนฟิสิกส์ และคอมพิวเตอร์ตามสถาบันการศึกษาเอกชน แม้ทั้งสองอย่างจะสนุก และ “Make Money” ให้กับเธอไม่น้อย แต่เธอเริ่มรู้สึกว่ามันยัง “ไม่ใช่” เธอ หรือสิ่งที่เธออยากเป็น

ระหว่างนั้นอิงอรตัดสินใจเปิดร้านนาฬิกาเล็กๆ แบบคีออสขึ้นที่ Big C แจ้งวัฒนะ ภายใต้ชื่อ “About Time” และพบว่าท้ายสุดแล้วธุรกิจการขายคือสิ่งที่เธอชอบ

เธอเริ่มขายตั้งแต่นาฬิกาจากคลองถมไปจนถึงนาฬิกาแบรนด์เนม และนั่นเป็นจุดที่ทำให้เธอค่อยๆ รับรู้ว่า Rhythm Clock เริ่มหายไปจากตลาดนาฬิกาในไทย จนเมื่อแน่ใจว่า agent เดิมตัดสินใจคืน brand ให้บริษัทแม่และดูท่ายังไม่มีใครได้เป็นตัวแทนจำหน่ายรายใหม่ หัวใจนักการขายของอิงอรจึงตกลงใจว่า “ฉันลองเอง”

เธอเริ่มจากเขียนจดหมายติดต่อเรื่องขอเป็นตัวแทนจำหน่ายไปที่ริวาโค (ฮ่องกง) ซึ่งดูแลงานขายของนาฬิกา Rhythm แต่เรื่องก็เงียบหาย เลยหันไปเริ่มศึกษา step การขอเป็น agency พร้อมกับชวนเพื่อนซี้อีกคน คือ ศุลีพร เมธีนิเวศน์ (ปัจจุบันเป็น ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและวางแผน บ. อินโนเวชั่น ไทม์) ซึ่งเคยเป็น Brand Manager ของนาฬิกายี่ห้อหนึ่งมาร่วมงานด้วย

“คราวนี้ลองส่งเมลไป แต่ก็ถูกดีดกลับ เพราะ server เต็ม เลยตัดสินใจว่าจะใช้วิธีโทรศัพท์ไปเลย ตอนได้คุยกับทางริวาโค เขาก็แปลกใจว่าเราเป็นใคร มาจากไหน จึงให้ส่งเมลแนะนำตัวเข้าไป”

หลังดูเมลแล้ว 2 สัปดาห์ต่อมา Mr.Takanori Kudo ซึ่งเป็น Managing Director ของริวาโคก็บินมาเจรจากับพวกเธอที่เมืองไทย

“จำได้ว่ายังไม่เคยเจอหน้ากันมาก่อน ดิฉันกับคุณลีจึงไปรอเขาหน้าลิฟต์ที่โรงแรมแลนด์มาร์ค เพราะนัดกันไว้เก้าโมงเช้า พอเจอกันเขาก็ประหลาดใจมากเมื่อเราบอกว่ายังไม่มีออฟฟิศตอนเขาชวนไปคุยที่นั่น เผอิญวันนั้นฝนตกด้วย พอเขาถามว่าแล้วจะคุยกันที่ไหนเราก็ชี้ไปที่ล็อบบี้บอกว่าคุยกันที่นี่แหละ save time ดี”

ใครจะเชื่อว่าการเจรจาธุรกิจระดับนี้จะสำเร็จลงได้ที่ล็อบบี้โรงแรม “เราคุยกันตั้งแต่ 9โมงเช้า ถึง 3 โมงเย็น แล้วทาง Mr.Kudo ก็ตกลงให้เราเป็น distributor ของแบรนด์ Rhythm”

เหตุผลหลักที่ทำให้ Mr.Kudo ตอบ OK ในวันนั้น อิงอรเล่าว่า

“อันดับหนึ่ง คือ ไอเดีย เขาเลือกเราเพราะมองเห็นแล้วว่าเราต้องการสร้างแบรนด์จริงๆ ไม่ได้หวังแต่กำไรอย่างเดียว สิ่งที่เขาดูคือ คุณต้องการให้แบรนด์ Rhythm ดัง หรือหวังจะหาเงินจาก Rhythm เขาดูออกว่าเราอยากให้ Rhythm ดัง”

งานแรกอย่างเป็นทางการของ agent รายใหม่ ก็คือการจัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ซึ่งดูเธอตื่นเต้นมากอย่างเห็นได้ชัด เมื่อมีโอกาสสัมภาษณ์ตัวต่อตัว POSITIONING จึงอดไม่ได้ที่จะถามถึงความรู้สึกของเธอในวันนั้น

“แหม ก็มันครั้งแรกนี่ อัด VDO วันงาน press ไว้ตัวเองยังไม่กล้าเปิดดูเลย มีคนถามเหมือนกันว่า ทำไมทีสอนหนังสือทำได้ เลยเถียงว่ามันไม่เหมือนกัน ตอนเป็นอาจารย์พูดอะไรเด็กเขาก็ต้องเชื่อเรา แต่คราวนี้เป็นงานแถลงข่าวมีแต่สื่อเต็มไปหมด ยอมรับว่าตื่นเต้นมาก”

เธอยอมรับว่าต้องมีการซ้อมหน้ากระจกก่อนงานจะเริ่ม ซ้อมทุกที่ห้องน้ำ ห้องนอน หน้ากระจก ถือกระดาษติดตัวเดินไปเดินมาท่องตลอดจนกระดาษเปื่อยหมด

เมื่อถามถึงงาน ตอนนี้ เธออธิบายว่าสำหรับตัวเอง คงต้องปรับอีกมากโดยเฉพาะวิธีทำงานเป็นทีม และการต้องมาทำงานบริหาร เธอต้องเปิดใจให้กว้าง รับฟังทีมงาน และพยายามทบทวน หาจุดบกพร่องของตัวเองทุกวันเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาด

“ศึกษาจนรู้จัก Rhythm ดี รู้ว่าจุดเด่นของแบรนด์คืออะไร สิ่งที่อยากทำคือถ่ายทอดเรื่องนี้ให้ผู้บริโภครับรู้ และสร้างความเชื่อมั่นในด้านคุณภาพ เป้าหมายของเราคือการ relaunch แบรนด์ Rhythm ให้กลับมาอยู่ในใจคนไทยอีกครั้งเท่านี้ก็พอใจแล้ว”

การที่เธอคลุกคลีกับแวดวงนาฬิกามาตลอดมีส่วนผลักดันให้เธอมายืนได้จนถึงจุดนี้ แต่ก้าวต่อไปในฐานะตัวแทนจำหน่ายนาฬิกายังไม่เคยมีโมเดลให้เธอเรียนรู้มาก่อน แต่ประสบการณ์นับจากนี้จะเป็นตัวสอนและนำพาเธอไปยังขั้นที่สูงขึ้นไป

เดิมพันครั้งนี้เธอเทหมดหน้าตัก เพราะนี่ไม่ใช่แค่อาชีพ หรือความฝันในวัยเด็กเพียงเท่านั้น หากสำหรับเธอมันคือชีวิตทั้งชีวิต

People

Name : อิงอร ดิลกธราดล
Born : 9 เมษายน 2513
Education :
ปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์ทั่วไป สาขาคณิต ฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
Career Highlight :
– อาจารย์พิเศษสอนคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ
วิทยาลัยคริสเตียน และมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์
– กรรมการผู้จัดการ บ.อินโนเวชั่น ไทม์ จำกัด