บอร์ดแบนด์ในตลาดเสรี ’49

จากพันธะที่ประเทศไทยต้องเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมในปี 2549 ตามเงื่อนไขการเป็นประเทศสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) ทำให้หลายฝ่ายตื่นตัวเกี่ยวกับสภาวะการแข่งขันทางการตลาด แต่ขณะเดียวกันก็ยังกังวลว่าในทางปฏิบัติจะทำได้อย่างไร ในเมื่อคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ซึ่งมีหน้าที่หลักในการกำกับดูแล การให้ใบอนุญาต รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์และสร้างกรอบในการแข่งขัน ยังไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใด

บริติช เคาน์ซิล (ประเทศไทย) ในฐานะหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ ซึ่งมีการทำงานหลายโครงการร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของไทย จึงได้มีการจัดเสวนาโต๊ะกลม @the Bar ขึ้นในหัวข้อ “ประเทศไทยกับบริการด้านบอร์ดแบนด์ : อนาคตหรือความล้มเหลวของการเปิดตลาดเสรี” เพื่อระดมความคิดเห็นจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง

งานนี้มีไฮไลต์สำคัญส่วนหนึ่งจากการที่ Ian Pearson รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าแห่งราชอาณาจักร เดินทางมาเป็นประธานเปิดงานและกล่าวสุนทรพจน์ จึงมีนัยบางประการกับความสนใจเป็นพิเศษของสหราชอาณาจักรต่อการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมของไทยด้วยเช่นกัน

Ian เปิดประเด็นที่ชัดเจนถึงมุมมองต่อเมืองไทยว่า ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า ตลาดบอร์ดแบนด์ของไทยจะเติบโตอีกมาก รัฐบาลต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียมในราคาที่สมเหตุผล ขณะเดียวกันต้องสนับสนุนการสร้างคอนเทนต์ที่มีสาระประโยชน์ ที่สำคัญคือโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีของคนระดับรากหญ้า เพื่อไม่ให้คนส่วนใหญ่ถูกทิ้งให้ล้าหลังในขณะที่สังคมบางส่วนและเทคโนโลยีกำลังก้าวหน้าไปเรื่อยๆ

กรณีของรัฐบาลอังกฤษ คือการสร้างเครือข่ายสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สนับสนุนให้ทุกชุมชน ทุกโรงเรียน มีเครื่องพีซี สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและมีบอร์ดแบนด์ใช้งานได้สะดวก การจัดทำบริการต่างๆ ของรัฐผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งช่วยสร้างความเป็น e-Government อย่างยั่งยืน สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ และทำให้สหราชอาณาจักรเป็นแหล่งลงทุนที่ดึงดูดธุรกิจประเภท e-Commerce ได้มากที่สุด

ส่วนความเห็นของผู้ร่วมเสวนา ในครั้งนี้ สรุปเป็นเสียงเดียวกันว่า ปัจจุบันคนไทยยังเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ไม่ทั่วถึง เพราะโครงข่ายสาธารณูปโภค และอัตราค่าบริการที่ยังสูงอยู่ โดยเฉพาะบอร์ดแบนด์ ส่วนโครงการที่รัฐพยายามผลักดันเช่น หนึ่งตำบลหนึ่งอินเทอร์เน็ต ก็ไม่กระตุ้นให้เกิดการใช้งานได้มากนัก เพราะคอนเทนต์ส่วนใหญ่ไม่สอดคล้องกับประโยชน์ใช้สอยที่ชาวบ้านต้องการ การสร้างคอนเทนต์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจและมีคุณภาพ จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจ และเห็นว่ามีโอกาสอีกมากในเชิงธุรกิจ

Did You Know?

ข้อมูลจาก บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เกี่ยวกับภาพรวมกิจการโทรคมนาคมในประเทศไทย

– โทรศัพท์พื้นฐานภายในประเทศ มีผู้ให้บริการ 3 ราย คือ บมจ. ทีโอที, บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ.ทีทีแอนด์ที มีจำนวนผู้ใช้บริการรวม 6.48 ล้านเลขหมาย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของจำนวนประชากร

– โทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ ปัจจุบันมีผู้ให้บริการ 2 ราย คือ ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม และมีการนำเทคโนโลยีไอพีโฟน ทำให้อัตราค่าบริการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง

– โทรศัพท์เคลื่อนที่ มีผู้ให้บริการอยู่ 5 ราย คือ เอไอเอส, แทค, ทีเอ ออเร้นจ์, ฮัทช์ (ซีดีเอ็มเอของ กสท) และไทยโมบาย (1900 เมกะเฮิรตซ์ของ ทีโอที) มีจำนวนผู้ใช้บริการ ณ เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา 28.5 ล้านราย หรือ 43.8% ของประชากร

– บริการอินเทอร์เน็ต ปัจจุบันมีผู้ให้บริการจำนวน 18 ราย คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 6.97 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 10.7 ของประชากรทั้งประเทศ