ปกรณ์ พงวศ์วราภา ชายร่างเล็กแต่มากความสามารถ ผู้ที่คร่ำหวอดวงการสิ่งพิมพ์มากว่า 20 ปี รวมทั้งการพัฒนาให้นิตยสารในเครือ GM มีชื่อเสียงได้ไม่แพ้นิตยสารหัวนอก ด้วยความคิด การตัดสินใจที่เด็ดขาด ฉับไว นำพาให้บริษัทผ่านพ้นวิกฤตการณ์ต่างๆ มาได้ จนทุกวันนี้ GM Group ก็ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ ทั้งยังเตรียมพร้อมลุยที่จะส่ง นิตยสาร Woman Plus นิตยสารผู้หญิงรายสัปดาห์ส่งสู่สนามรบ ด้วยวิธีคิดแบบไหน ถ้าอยากได้ความกระจ่าง คงต้องลองอ่านบทสัมภาษณ์นี้ดู
– จุดเปลี่ยนที่สำคัญของ GM Group ที่ส่งผลต่อวิธีคิดและการทำนิตยสารในปัจจุบัน
วิธีคิดตรงนี้ เริ่มตั้งแต่ปี 40 ช่วงนั้นลักษณะการทำงานจะเป็นแบบคนทำหนังสือจริงๆ ไม่ค่อยคิดถึงต้นทุน การตลาด การปรับตัวก็ช้า แนวคิดก็ยังเดิมๆ เวลาเกิดปัญหาก็ไม่ยอมแก้ กลัวเสียหน้า ไม่ค่อยมีความเป็นธุรกิจ จนมาถึงช่วงก่อนปี 40 ก็เริ่มคิดว่า ทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะมันเป็นการสูญเสีย และไม่มีเวลาแล้วที่จะมาลองผิดลองถูก ต้องกล้าตัดสินใจ ก็พอดีเกิดวิกฤตปี 40 ก็เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เศรษฐกิจตกหมด ทุกคนก็คิดหาวิธีเอาตัวรอด ช่วงนั้นผมก็ได้คุยกับนักธุรกิจหลายคน บวกกับได้อ่านหนังสือธุรกิจบ้าง ก็มีคนบอกว่า วิกฤตที่เกิดขึ้น ไม่ได้กระทบให้ทุกคนต้องย่ำแย่เหมือนกันหมด คนที่รอดก็มี และทำไมเขาถึงรอดล่ะ… ส่วนหนึ่งมาจากการตัดสินใจต้องรวดเร็ว อย่าแก้ปัญหาเป็นขั้นบันได แบบค่อยๆ แก้ทีละขั้น ให้แก้เป็นเส้นตรง เพราะมันจะไม่ทันการ โดยเฉพาะกรณีของนิตยสาร มันไม่ได้มีอะไรซับซ้อน
ธุรกิจนิตยสารส่วนใหญ่ รายได้มักจะอยู่ที่โฆษณา ช่วงนั้นโฆษณาก็หล่นไป 50 % วิธีที่ง่ายที่สุดคือ ประเมินตัวเองไว้ต่ำที่สุด ว่าแย่ที่สุดของ GM อยู่ตรงไหน สมมติง่ายๆ ว่าอย่างแย่ที่สุดโฆษณาจะเหลือกี่หน้า สมมติว่า จาก 100 หน้า เหลือ 30 หน้า ก็เอา 30 หน้ามาคิดว่าเรามีรายได้เท่าไร บวกกับค่าขายหนังสือ แค่นี้ก็คือต้นทุน เราก็ลดต้นทุนให้มันอยู่ที่สมดุลเหลือลงมาตรงราคานั้น…คุณจะรอด อย่าค่อยๆ ลดโดยหวังว่า โฆษณาจะค่อยๆ ตก คุณจะไม่ทัน ผมก็ยึดหลักนี้มา GM สมัยนั้นเป็นรายปักษ์อยู่ เราก็เปลี่ยนเป็นรายเดือน คือมันไม่มีประโยชน์ที่จะออกหนังสือถี่ขึ้น เพื่อให้มีเนื้อที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ สมัยนั้นยังเป็น 4 สีทั้งเล่มอยู่ เราก็เปลี่ยนเป็นขาวดำ ลดค่าใช้จ่ายลงไปครึ่งค่อนเล่ม สมัยนั้นผมใช้คำว่า “เราจะต้องดำน้ำให้อึดที่สุด” นิตยสารของเราไม่เคยปิดเลย ส่วน GM Business ออกมาในช่วงวิกฤตพอดี เมื่อเราส่งออกไปในสนามแล้ว วิ่งไปสัก 6- 7 เดือน มันไม่ไหวก็ไม่ควรวิ่งต่อ ยังไงก็ไม่ถึงเส้นชัยแน่ เราออกก่อนดีกว่า ช่วงเราก็ปิด GM Business แต่เล่มอื่นก็ยังอยู่ครบหมด ในจุดนั้น เราไม่ได้ปลดพนักงานเลย แต่ก็ไม่มีการปรับเงินเดือน ไม่มีโบนัส เราก็ผ่านภาวะช่วงนั้นมาได้
– ทำไมถึงตัดสินใจเร็ว
มันก็น่าจะมาจากประสบการณ์จากตรงนั้น เพราะเหตุการณ์ผ่านมา 2- 3 ปี เรายังรักษาบริษัทไว้ได้ ในช่วงนั้นที่พูดว่า ต้องดำน้ำให้นานที่สุด ผมยังเคยพูดถึงขั้นว่า ถ้าเกิดตายขึ้นมา อย่าเผา ให้ดองศพไว้ก่อน เผื่อวันหนึ่งมันจะมีอะไรที่ทำให้ฟื้นได้ ก็อยู่กันมาได้จน 2 ปีผ่านไป บริษัทไม่ได้มีกำไร ทรงตัวไปเรื่อยๆ หลายคนบอกว่าดีมากแล้ว เพราะหลายคนตายกันหมด แต่ในฐานะที่เป็นเหมือนกัปตันเรือ ยังไงก็ต้องหาทางเข้าฝั่ง
ช่วงวิกฤต เรามาคิดใหม่ว่า ที่แล้วมาโจทย์ของการทำหนังสือ รายได้จะขึ้นอยู่กับโฆษณา เราเลยมาคิดกลับกันว่า ทำหนังสือให้อยู่ได้ด้วยยอดขาย ถึงไม่มีโฆษณาก็อยู่ได้ ซึ่งราคาขายก็ต้องสูงขึ้น… แล้วหนังสืออะไรล่ะที่ขายได้ ก็ออกมาว่า เป็นกลุ่มผู้ชาย ที่ต้องการดูรูปเซ็กซี่ของนางแบบดังๆ แนวคิดการทำนิตยสาร M ก็เกิดขึ้น มีไม่กี่คอลัมน์ ยึดหลักว่าอะไรบ้างที่ผู้ชายชอบอ่าน 5 อย่าง ซึ่งว่าไปแล้วเนื้อหาเหล่านี้ก็อยู่ในหนังสือทุกเล่ม แต่มีแค่หน้า 2 หน้า แต่เราทำไปเลยอย่างละ 20 หน้า อ่านให้เต็มที่ไปเลย 100 หน้า รูปนางแบบอีก 60 – 70 หน้า วิธีทำ เราก็จ้างฟรีแลนซ์มาทำ out source จ่ายเป็นชิ้นๆไป วิธีนี้ได้ผลดี ทุกคนส่งต้นฉบับตรงเวลาตลอด
นิตยสาร M ประสบความสำเร็จมาตลอดเวลา 4 ปี พอปีที่ 4 หนังสือแนวนี้ก็เริ่มเกิดเยอะขึ้น และทุกเล่มเริ่มโป๊มากขึ้น เซ็กซี่มากขึ้น ถ้าเราอยู่ต่อ แน่นอนก็ต้องไปแข่งกับตรงนั้นอีก ซึ่งเราไม่อยากทำให้ภาพลักษณ์ของนิตยสารออกไปทางหนังสือโป๊ เราต้องการให้มันเซ็กซี่เท่านั้น ซึ่งถ้าไม่ทำ ก็อาจจะสู้เค้าไม่ได้ เพราะตลาดการแข่งขันรุนแรง เรารู้ว่าฝนกำลังจะตก ทำไมเราต้องไปยืนตากฝนให้มันเปียก ผมก็เข้าบ้านมาดีกว่า เพราะว่าเรามีทางเลือก และมีช่องทางที่จะทำหนังสืออื่นอีก ความจริงเราไม่ได้ขาดทุน ยังกำไรอยู่
– จุดเริ่มต้นของทีวีรีวิว
ช่วงปีที่ 2 ของนิตยสาร M เรามองว่า เราจะทำหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ที่ไม่ขายแพง แต่พิมพ์เยอะ ก็มองไปที่อุตสาหกรรมทีวี เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม ทีวีไม่ได้เล็กลง เราก็คิดว่า ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมนี้น่าจะดี และหนังสือที่เกี่ยวกับดาราทีวีก็มีอยู่เล่มเดียวที่เป็นรายสัปดาห์ ถ้าเราออกมาเป็นรายสัปดาห์ อย่างน้อยๆ เราก็อยู่อันดับ 2 แล้ว แต่การออกเป็นรายสัปดาห์เป็นเรื่องใหญ่ ต้องออกให้ตรงเวลา ช่วงแรกเราเหนื่อยมาก มีโจทย์ให้แก้เยอะอยู่ตลอดเวลา พอปีที่ 3-4 เริ่มเสมอตัว ปีที่ 5-6 ก็อยู่ได้สบาย
– อะไรที่ทำให้คุณปกรณ์ รีบตัดสินใจปิดนิตยสาร ทีวีรีวิว และหันมาทำนิตยสารผู้หญิง Woman Plus ทั้งที่ตลาดขอนิตยสารบันเทิงน่าจะอยู่ในช่วงเติบโต ในขณะที่การแข่งขันของนิตยสารผู้หญิงน่าจะรุนแรงกว่ามาก
6 ปีที่แล้วมีหนังสือรายสัปดาห์อยู่เพียงเล่มเดียว แต่ 6 ปีหลังมีรายสัปดาห์ออกมาอีก 2 เล่ม มี
หนังสือพิมพ์บันเทิงราย 3วัน 1 เล่ม และในวันนี้จะมีหนังสือพิมพ์รายวันเกิดอีก 2 เล่ม คือสยามดารา และดาราเดลี่ เราต้องมาถามตัวเองว่า ถ้าเรายังอยู่ตรงนี้ต่อ จะขายอะไรกับรายสัปดาห์ และเราก็ไม่ถนัดในการทำข่าวแบบหวือหวา
เนื้อหาของ TV Review เราก็ปรับให้เป็นหนังสือผู้หญิง โดยมีเรื่อง beauty เรื่องของผู้หญิงเข้ามาเกี่ยวข้องประมาณ 40 % เราพยายามลดข่าวดาราลงไป เพราะเรารู้ว่า การที่จะทำหนังสือแนวนี้ให้ดัง คือคุณจะต้องเล่นข่าวหวือหวามากขึ้นเรื่อยๆ เราไม่ถนัดและไม่ต้องการทำแบบนั้น จึงพยายามเปลี่ยนแนวหนังสือตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว
แต่ด้วยความที่ชื่อหนังสือคำว่า TV มันบังคับเราอยู่ จะทำยังไงก็ตาม ก็หนีภาพหนังสือบันเทิงไม่พ้น พอมาเจอภาวะหนังสือพิมพ์บันเทิงรายวันเกิดขึ้นอีก มันถึงเวลา เพราะเราจะเดินดุ่มไปข้างหน้าแล้วเจอทางเดินที่ตีบตัน เลยปรับให้เป็นหนังสือผู้หญิงรายสัปดาห์ ซึ่งตลาดหนังสือผู้หญิงที่เป็นรายสัปดาห์ก็มีอยู่เพียงเล่มเดียวคือ Lisa ซึ่ง ก็เป็นหนังสือผู้หญิงแม่บ้าน แต่เราทำสำหรับผู้หญิงทำงาน มี positioning ต่างกัน
เราไม่ได้ปิด แต่เราไปเปลี่ยนชื่อหัวหนังสือจาก TV Review เป็น Woman Plus เป็นชื่อที่จำง่าย และ TV Review จะครบปีที่ 7 ในเดือนพฤศจิกายน เราก็ยึดเอาเดือนนี้เป็นปีที่ 7 นับต่อเลย มันต่างกันตรงที่ว่าชื่อ TV Review จะไม่ได้อยู่อีกแล้ว เพราะถ้าปิดไปเฉยๆ ชื่อยังอยู่ อีก 2-3 ปีข้างหน้าจะมาออกใหม่ก็ได้ แต่เอามาออกอีกไม่ได้แล้ว เพราะถูกบันทึกในเอกสารว่าได้เปลี่ยนจากชื่อนี้มาเป็น Woman Plus แล้ว
เราเคยไปถามหลายคนว่า คนที่เคยอ่านทีวีรีวิวจะเลิกอ่านหนังสือเล่มนี้ไปเลยหรือเปล่า ทุกคนบอกว่า อย่างแย่สุดก็หายไปครึ่งหนึ่ง และที่สำคัญปรับเนื้อหาผู้หญิงเข้าไปบ้างแล้ว กลุ่มคนอ่านช่วงหลังนี้ไม่ใช่ตลาดล่าง เป็นกลุ่มผู้หญิงทำงาน ซึ่งในแง่ของโฆษณา เราก็มีการพูดคุยกับลูกค้าแล้ว ก็มีครึ่งหนึ่งที่สนับสนุนเราต่อ การเปลี่ยนแปลงของเราไม่ได้เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ มันเป็นการเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนแนวหนังสือ เปลี่ยนทีมทำงาน ซึ่งเราแทบไม่ได้ใช้เงินทุนเพิ่ม เพราะไม่ได้เพิ่มหน้า รูปเล่มเหมือนเดิม หนาเท่าเดิม จำนวนพิมพ์เท่าเดิม แค่เพียงแต่โยกเงินลงทุน ไปอีกที่หนึ่งเท่านั้นเอง
– แต่พอเป็นหนังสือผู้หญิง การแข่งขันน่าจะมากกว่าเดิม
มันก็รุนแรง แต่ตลาดมันกว้างกว่า สินค้าผู้หญิงเยอะแยะ เราน่าจะถนัดมากกว่า และ
ถึงแม้ว่าการแข่งขันจะรุนแรง แต่ก็ยังไม่เห็นมีหนังสือที่เป็นรายวันเลย และในขณะที่บันเทิงรายวันมี 2 ฉบับแล้ว
หลายคนถามว่า ทำไมไม่ออกเป็นรายเดือน อย่าง หนังสือผู้หญิง Top 5 ในปัจจุบัน เล่มหนึ่งหน้า 300-500 หน้า รวมๆ กันก็ 2,000 หน้า ทุกต้นเดือนจะมีหนังสือโถมเข้ามาหาผู้หญิง เหมือนคลื่นสึนามิ ถามว่าผู้หญิงอ่านไหวหรือเปล่า ผมก็เพียงเอา 300-400 หน้าของรายเดือนมาทอนให้มันเร็วขึ้น เป็นอาทิตย์ละ 80 หน้า แต่สิ่งที่ได้เปรียบก็คือ ข่าวสารเร็วขึ้น
แนวคิดในการเปลี่ยนเป็นหนังสือผู้หญิงนี้ คิดมานานแล้ว ไม่ใช่ว่าเพิ่งคิด พอดีมาได้ทีมงานที่เป็นแนวทางเดียวกันก็เลยตัดสินใจเปลี่ยนแปลง การทำหนังสือมันไม่มีหลักการตลาดที่ตายตัว มันสามารถ
ปรับเปลี่ยนได้ ถ้าเราคุมเกมมันอยู่ เราพร้อมที่ทำตามที่เห็นว่าเหมาะ ไม่ต้องไปพึ่งความเห็นของใคร เราไม่ได้เป็นหัวนอก สามารถตัดสินใจง่าย
– Position ในเรื่องของ Content ที่ไม่เน้นแนวหวือหวา เป็นแนวทางของ GM หรือเปล่า
ถ้าคุณขายแนวหวือหวา คำตอบมันมีอยู่แล้วว่า คุณต้องหวือหวาไปเรื่อยๆ แล้วจะไปจบตรงไหน ผมคิด
ว่าผมมองภาพไม่ออก ว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร ไม่ได้ปฏิเสธแนวทางอย่างนั้น ไม่ได้พูดว่าดีหรือไม่ดี แต่ไม่ใช่สไตล์ของที่นี่ เราจะจับตลาด B ขึ้นไปทั้งนั้น เพราะกลุ่มคนที่เราจับ เขามีกำลังซื้อสูง
– การอ่านหนังสือของคนไทย
เรายังเป็นประเทศที่ไม่ได้โตมาก ดังนั้น หนังสือยังโตได้อีก ประเทศที่เจริญแล้วเขามีตัวเลขออกมา
หมดแล้ว คนอ่านหนังสือมากกว่าดูทีวี ส่วนประเทศที่กำลังพัฒนาในแถบเอเชีย ยกเว้นญี่ปุ่น คนจะดูทีวีมากกว่าอ่าน แต่ว่าเป้าของประเทศเหล่านี้ก็คือการพัฒนา ดังนั้น การอ่านก็จะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยังมีช่องอยู่ แต่ถ้าเราอยู่ประเทศญี่ปุ่น เราจะไม่โตแล้ว การอ่านของเขามีถึง 90 % แล้ว ส่วนเมืองไทยยังโตได้อีก
– เหนื่อยบ้างหรือเปล่า
งานหนังสือเป็นงานที่เหนื่อยมาก เพราะถึงแม้จะบอกว่าเป็นแนวทางนี้ แต่ปกและเนื้อในก็ยังเปลี่ยนตลอด ไม่มีเหมือนกันเลย และยังขายข่าวสาร รสนิยม เราจึงต้องก้าวนำผู้อ่านหนึ่งก้าว แต่ว่าถึงมันเหนื่อยแต่ก็มีความสุข เพราะรักในธุรกิจนี้
– ประสบการณ์ที่สั่งสมมา 20 ปี ทำอย่างไรกับตลาดที่เปลี่ยนไป
เราต้องมีบรรณาธิการที่เก่ง สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจด้านนี้ ผมไม่ได้กลัวการที่มีหัวนอกเข้ามาเยอะๆ แต่
จะเอาใครมาทำหัวนอกที่เข้ามา เพราะเรานั่งอยู่ตรงนี้ เรารู้ว่าการหาบรรณาธิการมาทำหนังสือยากมาก ที่นี่ให้ความสำคัญกับบรรณาธิการสูงมาก ซึ่งเปรียบเหมือนกัปตันเรือ
ผมเชื่อว่า กระแสหัวนอกจะเริ่มเบาบางลง ผมพูดมานานแล้ว มันเป็นไปไม่ได้ที่จะมีหัวนอกเยอะแยะในประเทศไทย ในเมื่อประเทศเราก็ไม่ใช่นักอ่าน บางคนบอกว่ามันง่าย เอาหัวนอกเข้ามาประสบความสำเร็จ หัวนอกในเมืองไทยมีประมาณ 10 หัว แต่ไม่ได้ประสบความสำเร็จทุกหัว การที่ออกอยู่ทุกเดือนไม่ได้หมายความว่าประสบความสำเร็จ ยังอยู่ได้ แต่อยู่แบบไหน มันมีแบบอยู่ดีๆ ประมาณ 5 หัว อย่าง Cleo, Elle, Cosmopolitan, Harper’s Bazaar ยังมีอีกหัวที่ยังไม่มาคือ Vogue ที่ 5 หัวนี้ประสบความสำเร็จในเมืองไทยก็ไม่แปลก ผมไปประเทศอื่นมา ก็มี 5 หัวนี้แหละ พ้นจาก 5 หัวนี้ก็ไม่มีใครรู้จัก ต่อไปนี้หัวนอกจะเริ่มซาๆ ลงไปแล้ว มันไม่มีมนต์เสน่ห์ที่จะไปเอามาทำ
– วิธีการรักษาคนเอาไว้กับเรา
ส่วนใหญ่คนที่ทำหนังสือจริงๆ เขาจะมององค์กรว่าทำอะไรจริงๆ อย่าง GM ถนัดนิตยสาร เราก็ทำด้าน
นี้จริงๆ และเขารู้ว่าผู้บริหารที่นี่ให้ความสนใจกับตรงนี้และกับคนทำงาน เราไม่ได้ให้ค่าเขาแค่ตรงเงินเดือน เอามาผูกมัด เราให้อิสระในการทำงาน ให้ค่าความคิดของเขา ให้ได้แสดงตัวตนของเขา คำตอบนี้ง่ายนิดเดียว ให้เขามีความสุขกับงานที่เขาทำ
– บรรณาธิการของ GM ต้องมีส่วนผสมอย่างไรบ้าง
ต้องเข้าใจ ยึดหลักที่มันพอดี เราไม่ได้จะให้เนื้อหาเป็นแบบนี้ โดยที่ไม่สนใจว่าตลาดเป็นอย่างไร
ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้เน้นการตลาดมากจนหนังสือไม่มีตัวตนเป็นของตัวเอง มันอยู่ที่ว่าจะผสมผสานอย่างไรให้พอเหมาะพอควร ต้องมีประสบการณ์ตรงนี้จริงๆ ถึงจะผสมผสานกันได้
– มีวิธีการที่ทำให้บรรณาธิการเข้าใจ และหล่อหลอมเป็น GM
โดยธรรมชาติ และวัฒนธรรม เขาก็จะเข้าใจ และสิ่งที่เราทำไม่มีอะไรมากมาย และเขารู้ว่าสิ่งที่ทำ มันทำให้บริษัทอยู่ได้ หมายถึงความมั่นคงของเขา บางครั้งพอมีการตลาดมากๆ เข้า ผมกลับเป็นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นสิ่งที่บริษัทไม่ต้องการ เราไม่ต้องการการตลาด 100 % และคุณต้องหลอมความคิดเขาด้วย เพื่อให้เข้าใจตรงกัน
– มองตลาดนิตยสารในภาพรวมต่อไปว่า ต้องมีองค์ประกอบอะไร
สิ่งหนึ่งที่บอกชัดๆ ก็คือ คนจะมาทำนิตยสารจะแตกต่างจากแต่ก่อน มักจะเป็นคนที่อยากทำหนังสือ แล้วก็เอาบ้านไปจำนองมาลงทุนทำ แต่เวลานี้จะมีแต่ค่ายใหญ่มาเล่น เพราะเขามองว่า การมาทำนิตยสาร เหมือนกับเป็นจะเป็นเรื่องของยักษ์ใหญ่ ต้องมีค่ายต้องมีวิสัยทัศน์ ผมคิดว่าคนที่มาอยู่ตรงนี้จะเป็นนักธุรกิจมากขึ้น จะมองการเจ้าของพื้นที่เอง ที่เห็นๆ ก็คือ สื่อจะปิดตัวเองจะน้อยลง มันต้องประคับประคองกันไป มันจะต่างจาก 10 ปีที่แล้ว ลงทุน
– เปรียบตัวเองในฐานะคนทำหนังสือว่าอย่างไร
เราเหมือนกับนักปลูกต้นไม้มากกว่า ถ้าใครไม่เคยปลูกต้นไม้ จะไม่รู้สึกหรอกว่ามีความสุขแค่ไหนที่เห็นว่ามันโต ไม่จำเป็นต้องสูงชะลูดถึงบอกว่ามันโต สิ่งที่จะบอกว่าต้นไม้โต มันอยู่ที่ราก ที่มันจะไชชอนไปเกาะแผ่นดิน ดูดซับน้ำ และอีกอย่างมันก็เป็นต้นไม้ของเรา ก็มีหลายคนก็เอาต้นไม้ที่ไม่เหมาะกับเมืองไทยเข้ามาปลูก เราไม่ได้รังเกียจหัวนอก เพียงแต่หนังสือที่ทำมันเป็น lifestyle เป็น know-how ทำไมเราต้องไปพึ่งหนังสือหัวนอก เราทำแบบนี้ มันอิสระกว่า
– ยังมีนิตยสารแนวไหนที่อยากจะทำ
ตอนนี้ยัง ความสนใจจะมุ่งไปที่ Woman Plus ก่อน ซึ่งหลังจากที่ออกสัก 6 เดือนแล้วเราจะรู้ว่าสบายหรือว่าเหนื่อย ถ้าสบายก็คิดต่อ แค่เล่มที่มีอยู่ก็สามารถแตกออกไปอีกได้ เป็นเล่มพิเศษอีกเยอะแยะมากมาย มันสามารถแตกได้ ดีกว่าเราจะไปเสี่ยงออกหนังสือหัวใหม่
– Lifestyle การใช้ชีวิต
เวลาพักผ่อน ถ้ามีเวลาจะไปเมืองนอก แต่ส่วนใหญ่ที่ไปก็จะหอบหิ้วหนังสือกลับมาเยอะมาก ประเทศที่ชอบมากเรื่องกราฟิกก็คือ ฝรั่งเศส แต่เรื่องเนื้อหา entertainment ก็จะชอบของอเมริกากับอังกฤษ เพราะจะเสพย์ศิลปิน ดารา กลุ่มเดียวกัน
ปัจจุบัน ลูกชายได้เข้าจะช่วยงานที่บริษัท ซึ่งจะดูเรื่องระบบเทคโนโลยีในออฟฟิศ แต่อย่างไรก็ตาม ปกรณ์ก็ยังยืนยันว่า ตัวเองยังหนุ่มอยู่ สามารถดูแลธุรกิจนี้ไปได้อีกนาน
Profile
Name : ปกรณ์ พงศ์วราภา
Age : 58 ปี
Education : มัธยมศึกษา โรงเรียนบำรุงวิทยา, นครปฐม
Career Highlights :
2508 – 2510 กองบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ ธงไทย
2511 – 2516 ฝ่ายขาย บริษัท เบทาโกร จำกัด
2516 – 2518 กองบรรณาธิการ นิตยสาร ลลนา
2518 – 2530 กรรมการผู้จัดการ บริษัท หนุ่มสาว เอ็นเตอร์ไพร้ส์ จำกัด (ผลิตนิตยสาร หนุ่มสาว)
2528 – 2530 กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไฮ-คลาส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ผลิตนิตยสาร Hi-Class)
2528 – กพ 2540 ประธานกรรมการบริษัท จีเอ็ม เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด
2539 – กพ 2547 ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็ม วิชั่น จำกัด
2542 – กพ 2547 ประธานกรรมการ บริษัท แม็กเวฟ จำกัด
2540 – ปัจจุบัน ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็ม มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน)