ปพนธ์ รัตนชัยกานนท์ มิสเตอร์ Lifestyle ผู้มี DNA นักการตลาด

ไลฟ์สไตล์ชายส่วนใหญ่มักจะสนใจเรื่องเกี่ยวกับรถยนต์ เทคโนโลยี ดนตรี และกีฬา เพื่อใช้เวลาว่างในการผ่อนคลาย สังสรรค์ เพื่อเพิ่มสีสันให้ชีวิต หรือแม้แต่สร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ เช่นเดียวกับ “ปพนธ์ รัตนชัยกานนท์” ชายผู้ประยุกต์ไลฟ์สไตล์ที่ชื่นชอบด้านเพลง และรถมาเป็นงานประจำในชีวิตได้อย่างลงตัว

“ผมชอบการฟังเพลง เรียนเครื่องเสียง และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่มากับเพลง จนอยากซื้อเครื่องเล่นแผ่นที่มีในร้าน Cofee @ true ที่ข้าวสารไปเก็บไว้เล่นที่บ้าน เพราะผมเป็นคนชอบฟังเพลงทุกแบบ โดยเฉพาะเพลง Hip Hop ผมฟังเพลงพวกนี้เยอะมาก ตั้งแต่ประมาณ 10 ปีก่อนสมัยที่ยังไม่ฮิตในบ้านเรา ที่เราชอบเพราะตอนนั้นไปเรียนอยู่บอสตัน สหรัฐอเมริกา เหตุผลที่ชอบฟังเพลง เริ่มจากอยากพัฒนาภาษาอังกฤษ จึงเลือกเรียนภาษาจากเพลง ทั้งแนว Hip Hop และ R&B หรือเพลง Jazz ผมก็ชอบจนตอนหลังผมสะสมแผ่นไว้เต็มห้องไปหมด จนทำให้ผมมีเพลงเกือบทุกแนวไว้เป็น collection เต็มไปหมด”

ปพนธ์ หนุ่มใหญ่วัย 39 ปี ที่สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ด้านบริหารจัดการจาก ABAC และปริญญาโท ด้านสื่อสารการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ จากสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุผลที่ใฝ่ฝันอยากเป็นมืออาชีพด้านการตลาดและโฆษณา จึงเริ่มงานครั้งแรกในตำแหน่ง Project Manager (IMC) ที่บริษัทเอเยนซี่ค่าย Lintas หลังจากกลับมาเมืองไทยในปี 2535 สนุกกับการทำงานอยู่ประมาณ 1 ปี ต้องออกมาช่วยกิจการธุรกิจอาร์ตดีไซน์อยู่ประมาณ 5 ปี

แต่ความใฝ่ฝันในใจยังไม่มอดดับ จึงเลือกจังหวะที่ธุรกิจครอบครัวสามารถดำเนินต่อไปได้แล้ว มาสมัครงานด้านโฆษณาที่บริษัท Grey Advertising ก่อนจะย้ายไปทำงานด้านเพลงตามความชอบที่ บริษัท เบเกอรี่ มิวสิก กรุ๊ป ในตำแหน่ง Chief Operating Office ซึ่งงานตรงนี้ ปพนธ์ ทำได้ดี และสามารถนำประสบการณ์ในชีวิต และไลฟ์สไตล์ที่คุ้นเคยกับเพลงมาตั้งแต่วัยรุ่น มาพัฒนางานเพลงได้เกือบ 50 อัลบั้ม ก่อนจะถูกชวนมาทำงานที่ Mazda ในปี 2543

“ฟังแล้วอาจะตลกที่รถในดวงใจผม คือ Mazda ผมมีโอกาสขับรถครั้งแรก ตอนเรียนอยู่ปี 1 เทอม 2 ที่ ABAC บางนา ซึ่งไกลจากบ้านที่อยู่เกือบๆ ฝั่งธนบุรี คุณพ่อเลยอนุญาตให้ผมซื้อรถคันแรก เป็นรถมือสองที่หาซื้อตามเต้นรถ ผมดีใจมาก และด้วยความชอบรถ Sport อยู่แล้วจึงเลือกซื้อรถ Sport เปิดประทุนของ Honda Civic แต่ไม่ทันได้ใช้ เพราะคุณพ่อไม่อนุญาต ให้เหตุผลว่าเรายังไม่ได้หาเงินใช้เอง และรับผิดชอบตัวเองไม่ได้ จึงไม่ควรใช้รถแพง และดีขนาดนั้น

ผมจึงใช้รถคันแรกเป็นยี่ห้อ Mazda 626 –Cooper แล้วก็มีแบรนด์ Mazda ในดวงใจมาตลอด ผมเป็นคนเปลี่ยนรถบ่อย อยากขับคับใหม่ไปเรื่อยๆ จึงชอบเล่นรถมือสอง ขนาดยอมขายขาดทุนคันละ 5-7 หมื่น หรือบางทีก็เป็นแสน เพื่อเอาเงินไปหมุนซื้อคันใหม่มาขับ เพราะความชอบ ทำให้ผมมีโอกาสขับรถมาหลายยี่ห้อมาก จนเป็นผลดีให้ผมสามารถนำมาประยุกต์ใช้ตอนเป็นผู้บริหารอยู่ Mazda”

ปพนธ์ เล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดีว่า “ก่อนผมจะได้มาทำงานที่ Mazda ผมแปลกใจมากที่รู้ว่ากว่าเขาจะเลือกผม เขาต้องให้คนสืบประวัติหาข้อมูลผมอย่างละเอียด รู้ว่าผมเป็นคนใช้ Mazda ใช้มาทั้งหมดกี่คัน มีประวัติการขับรถยังไง และรู้จักรถในระดับไหน ซึ่งโชคดี เพราะทุกอย่างที่เขาต้องการตรงกับความชอบของผม แต่ก็ไม่ได้ตัดสินใจมาทันที ผมใช้เวลาคุยอยู่เกือบ 6 เดือน”

เขาจึงได้รับเลือกให้มาเป็นผู้บริหาร Mazda ในตำแหน่ง Marketing and Sales Director เพื่อดูแลกิจกรรมการตลาดและโฆษณา จนเขาสามารถเปลี่ยนภาพลักษณ์แบรนด์ให้เป็นวัยรุ่น และอินเทรนด์มากขึ้น จากแคมเปญการตลาด Zoom-Zoom ที่เลือก ตั๊ก-บงกช และ พลอย ไลลา มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับแคมเปญของ Mazda หรือการทำตลาดรถรุ่น Limited Edition ที่ Mazda ยอมผลิตรถสีเหลืองเป็นครั้งแรก ด้วยจำนวนเพียง 100 คันทั่วโลก แล้วโดนใจตลาด กลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่รถยนต์หลายค่ายอยากเดินตาม

“การทำงานอยู่ Mazda แตกต่างจาก Bakery เพราะที่ Mazda ผมมีโอกาสทำการตลาดที่สร้าง Impact เป็นที่ยอมรับในระดับต่างประเทศ จากการขอผู้บริหารฝรั่งทำรถรุ่นพิเศษ Protige ของ Mazda ใช้สีเหลืองทั้งคันเป็นครั้งแรกออกมาแค่ 100 คัน ตอนนั้นราคาประมาณ 800,000 กว่าบาท (ปัจจุบันราคาไม่ตกมากอยู่ที่ประมาณ 600,000 บาท) ปรากฏว่าขายหมด และสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับการทำตลาดรถยนต์ไทย รวมทั้ง Mazda ในต่างประเทศด้วย”

ปพนธ์ อธิบายว่า “นั่นเกิดจากผมใช้กลยุทธ์ Emotional เพื่อสร้างความรู้สึกที่แตกต่างให้กับผู้บริโภค” หนึ่งในความชอบที่ปพนธ์ประยุกต์ไฟล์สไตล์เป็นงานคุณภาพได้อย่างดี

แต่ด้วยบุคลิกที่เป็นคนใจร้อน ทำอะไรไม่อยากให้คั่งค้าง ทำให้เป็นคนค่อนข้างจริงจัง เพื่อให้งานออกมาเร็ว และดีที่สุด “ตอนอยู่ Mazda ผมต้องดูแลการตลาด โฆษณา และแคมเปญ ครั้งหนึ่งผมเครียดกับการคิดโฆษณา ทำงานติดต่อกันหลายวัน แต่คิดไม่ออก เครียดมาก จนเก็บไปฝันแล้วทำออกมาเป็นแคมเปญได้”

นอกจากนี้ เขายังมีมุมชีวิตที่น่าสนใจ และเป็นตัวอย่างให้หลายคนน่าเก็บไปประยุกต์ใช้ ด้วยการย้อมมองความสำเร็จ หรือพิจารณาการทำงานในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เพื่อปรับปรุงหรือพัฒนางาน และชีวิตให้ดีขึ้น หรือเป็นไปตามเป้าหมาย

“ปกติผมต้องทบทวนตัวเองทุกสิ้นปี จึงเลือกแบ่งเวลาส่วนหนึ่งในวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี เพื่อนั่งทบทวนชีวิต และเป้าหมายที่วางไว้หรือยัง เป็นไปได้หรือไม่ ถ้าไม่ใช่ ผมจะมองหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อพรางตัวเองไปสู่เป้าหมายให้ได้ แต่ถ้าสิ่งที่ทำดีอยู่แล้ว จะมุ่งพัฒนาให้มีคุณภาพมากขึ้น”

เขาอธิบายจุดเปลี่ยนสู่เส้นทางนักการตลาดว่า “การเป็นเจ้าของกิจการต้องรับผิดชอบเยอะ คิดอยู่ตลอดเวลา เวลาพักผ่อนแทบจะไม่มี แต่การทำงานในฐานะผู้บริหารมืออาชีพ ผมจะใช้เวลาทุมเทกับการทำงานให้เต็มที่ หลังจากนั้นจะให้เวลากับตัวเองเต็มที่ในการพักผ่อน ดังนั้นเส้นทางนี้จึงเหมาะกับผมที่สุด”

ปพนธ์ ยึดหลักการตลาดที่ดี คือ “คุณต้องการสร้างแบรนด์หรือขายสินค้าใด คุณต้องรักในแบรนด์นั้น เพราะเมื่อคุณรักในสิ่งที่ทำ คุณจะสามารถพรีเซนต์ และทำงานนั้นๆ ได้ดี” พร้อมอธิบายกลยุทธ์การทำงานให้ฟังว่า “ตอนผมทำงานอยู่ Mazda ผมจะปลูกฝั่งให้ทีมงานกว่า 800 คนมี DNA ของ Mazda อยู่ในตัว สร้างให้เขารู้สึกภูมิใจในแบรนด์ Mazda เพื่อให้เขาสามารถพรีเซนต์สิ่งดีๆ ของ Mazda ออกมาได้มากที่สุด และยอดขายจะตามมา และก็ใช้ได้ผล”

เช่นเดียวกับที่ปพนธ์มารับบทบาทใหม่ในฐานะผู้ช่วย CEO (ศุภชัย เจียรวนนท์) True Corporation เพื่อดูแลธุรกิจใหม่ที่สร้าง Emotional Trust ให้กับผู้บริโภคไม่จำกัด True อยู่แค่สินค้าเทคโนโลยี จึงต้องปรับสู่ Consumer ไลฟ์สไตล์มากขึ้น จนเกิดร้าน True Internet และ True Coffee ที่มีร้านต้นแบบอยู่ ถนนข้าวสาร (Coffee @True) กลายเป็นโมเดลใหม่ของธุรกิจ True Lifestyle ที่มีแผนขยายสาขาให้ครบ 22 แห่งในสิ้นปีนี้ และได้ตั้งบริษัท True Coffee ขึ้นมาในเดือนพฤษภาคม ก่อนเปลี่ยนเป็น บริษัท True Lifestyle เพื่อเตรียมบริหารจัดการร้านสาขา และร้านแฟรนไซส์ที่จะเริ่มเปิดในต้นปีหน้า

“ผมใช้หลักการเดิม คืออบรมพนักงานในความดูแลกว่า 80 ชีวิต ให้ทุกคนมี DNA ของ True เพื่อให้พวกเขาเป็น มิสเตอร์ True Lifestyle สร้างบุคลิกใหม่ให้มีใจรักบริการและมีไตล์เป็นของตนเอง แตกต่างจากผู้ให้บริการอื่นๆ ที่มีทำงานเป็นหุ่นยนต์ และพูดประโยคเดิมทุกครั้ง เพื่อตอนรับผู้บริโภคที่เดินเข้ามาในร้านเท่านั้น แต่เราจะมีชีวิตที่เป็นกันเองมากกว่านั้น”

แม้ปพนธ์รับบทบาทใหม่นี้เพียงแค่ 5 เดือนเศษๆ แต่ด้วยการทุ่มเท และใส่บุคลิกความเป็นไฟล์สไตล์ที่มีอยู่ในตัวเองลงไปกับงานอย่างเต็มทุกวัน จนเขากลายเป็น “มิสเตอร์ ทรู ไลฟ์สไตล์” ไปอย่างไม่รู้ตัว และพร้อมจะถ่ายทอด DNA ไปสู่พนักงานรุ่นใหม่ๆ เพิ่มขึ้นทุกวัน

“เราไม่ได้ fix บุคลิกของพนักงาน แค่ให้เขาเป็นตัวของตัวเอง เช่นพนักงานคนชายคนหนึ่ง เขาผมยาวเลยใส่ที่คาดผมในที่ทำงาน พอดีผมกับคุณศุภชัยเดินไปแล้วเห็น เขาตกใจมาก ถอดที่คาดผมและทำหน้าสำนึกผิด แต่จริงๆ แต่คุณศุภชัยชอบ เพราะนี่หละบุคลิกที่สื่อให้เห็นไลฟ์สไตล์ที่ชัดเจน เลยอนุญาตให้เขาใส่ต่อไป และเขาก็ทำงานไป ร้องเพลงไปอย่างมีความสุข”

Profile

Name: ปพนธ์ รัตนชัยกานนท์
Age: 39 ปี
Education:
2534 ปริญญาโท Communication Advertising and Public Relation จาก Emerson College, Boston Massachusetts, USA
2533 ประกาศนียบัตรวิชาชีพ Advertising of Public จาก The Advertising Club of Greater Boston
2532 ปริญญาตรี Management มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
2528 มัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนอัสสัมชัญคอมเมิร์ซ
Career Highlights:
ปัจจุบัน Assistant to president / CEO บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
2548-2543 Marketing and Sales Director บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด
2543-2542 Chief Operating Office บริษัท เบเกอรี่ มิวสิก กรุ๊ป
Group Account Director and General Manager บริษัท Grey Advertising Thailand and Whizzbang Arts
2541-2536 Managing Director บริษัท เดอะพริ้นท์อินเตอร์เนชั่นแนล และบริษัท ดีไซน์ อาร์ต
2535-2536 Project Manager (IMC) บริษัท Ammirati Puris Lintas (Thailand)
Family:
สมรสแล้ว มีบุตรสาว 2 คน