7 หมื่นล้านแบรนดิ้ง ”ทักษิณ”

“วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่จะถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ประเทศไทย ในตลาดทุน และกลุ่มชิน”

“บุญคลี ปลั่งศิริ” ประธานกรรมการบริหาร หรือซีอีโอ กลุ่มบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวเปิดการแถลงข่าวชี้แจงการเข้ามาเทกโอเวอร์กลุ่มชินคอร์ป โดยบริษัทเทมาเส็กโฮลดิ้งส์ จำกัด จากสิงคโปร์ ด้วยมูลค่าสูงสุด 73,300 ล้านบาท และหากรวมหลังการตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อย (Tender Offer) แล้วมูลค่าเกินกว่าแสนล้านบาทอย่างแน่นอน

วันประวัติศาสตร์ 23 มกราคม 2549 “บุญคลี” ไม่ได้เดินขึ้นเวทีคนเดียว เพื่อตอบข้อซักถามของกองทัพนักข่าวทั้งไทย และเทศ รวมเกือบ 300 คนแล้วเท่านั้น แต่ยังมี ”เอส. อิสวาราน” กรรมการผู้จัดการดูแลด้านการลงทุนของเทมาเส็ก “วิชิต สุรพงษ์ชัย” ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ “พงส์ สารสิน” ตัวแทนนักลงทุนไทย ในฐานะเจ้าของใหม่ กลุ่มชินคอร์ป

นอกจากนี้ ”สุวรรณ วลัยเสถียร” ยังมาในฐานะตัวแทนหรือโฆษกของตระกูลชินวัตร และดามาพงศ์ และม.ล.ชโยทิต กฤดากร ซีอีโอจากบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินการเทกโอเวอร์ครั้งนี้

ทั้ง ”พงส์-วิชิต-สุวรรณ-เอส .อิสวาราน” ต่างมีสีหน้าที่เคร่งเครียด ยิ่งถูกคำถามของนักข่าวยิงอย่างต่อเนื่อง ยิ่งคิ้วขมวดมาก ขณะที่ ”บุญคลี” แม้จะดูไม่สดใสนัก แต่ก็พยายามผ่อนคลาย เพราะดูเหมือนจะรู้สถานะของตัวเองเป็นอย่างดี ที่แม้แต่ในเอกสารข่าวแจกครั้งนี้ ก็ยังไม่ปรากฏชื่อของ”บุญคลี”

อนาคตของชินคอร์ป หลังเปลี่ยนเจ้าของเป็นเทมาเส็กแล้ว ณ วันนี้ ผู้ที่อยู่ในสปอตไลต์ บนเวที ไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่าทิศทางของชินคอร์ป และบริษัทลูกทั้งหมดจะเป็นอย่างไร มีเพียงคำพูดของตัวแทนเทมาเส็กที่บอกว่า ”ต้องใช้เวลาในการทำแผนกลยุทธ์ธุรกิจอีกระยะหนึ่ง”

เช่นเดียวกับเงินกว่า 7 หมื่นล้านบาท ที่สองตระกูลได้รับภายใน 10 นาที โดยไม่ต้องเสียภาษีประมาณ 4,000 ล้านบาท ตามที่กฎหมายเปิดช่องไว้ “สุวรรณ” ผู้ที่โด่งดังและเชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายภาษี การลงทุน และเขียนหนังสือ ”พ่อสอนให้ลูกรวย” ก็ไม่สามารถตอบแทนได้ เพียงแต่บอกว่าขณะนี้เงินส่วนหนึ่งจะบริจาคเพื่อช่วยสังคม และการศึกษา พร้อมยืนยันว่าการตัดสินขายของของคนทั้งสองตระกูลนี้ เป็นความเคลื่อนไหวที่มาจากเหตุผลทางธุรกิจโดยแท้

ในวันเดียวกันนี้เอง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ก่อตั้งชินคอร์ปก็ได้เปิดปากถึงสาเหตุการขายหุ้น หลังจากหลีกเลี่ยงตอบคำถามมานานว่า “เป็นการตัดสินใจของลูกๆ เป็นการทำเพื่อพ่อ เพื่อให้พ่ออยู่วงการเมืองอย่างสบายใจ”

เป็นการเคลื่อนไหว เพื่อลดความเกี่ยวพันระหว่างวิถีชีวิตการเมืองกับธุรกิจ จากที่พ.ต.ท.ทักษิณเคยทำมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2542 ช่วงตั้งพรรคไทยรักไทย และปูฐานหาเสียง ที่หากจำกันได้ช่วงนั้นพ.ต.ท.ทักษิณได้เปลี่ยนชื่อบริษัทที่ขึ้นต้นด้วย ”ชินวัตร” ทั้งหมด เหลือเพียง ”ชิน” เป็นคำขึ้นต้นเท่านั้น

และก่อนประกาศบทสรุปดีลครั้งนี้ ช่วงกลางปี 2548 ”พ.ต.ท.ทักษิณ”ประกาศลั่นในวงนักธุรกิจคนสนิทว่า ”ใครมีเงินก็มาซื้อได้เลย” และช่วงปลายปีอีกครั้งในพบปะสังสรรค์กับคอลัมนิสต์ระดับบิ๊กว่า ”จะขายแล้ว” หลังฉลองครบรอบก่อตั้งบริษัทได้ 23 ปี

นับว่าปฏิบัติการขายหุ้นเพื่อล้างข้อครหา “ผลประโยชน์ทับซ้อน” วลีแทงใจ ”พ.ต.ท.ทักษิณ” ครั้งนี้ นอกจากทำให้ทั้งสองตระกูลได้เงินมหาศาลแล้ว ยังถือเป็นการแบรนดิ้ง ”พ.ต.ท.ทักษิณ” อีกครั้ง เพื่อแสดงให้เห็นว่า เลือกแล้วที่จะวางตำแหน่งตัวเองไว้บนเส้นทางการเมืองอีกยาวนาน

การลงทุนบริษัทสื่อสารของเทมาเส็ก

สิงคโปร์เทเลคอม 63%
สิงคโปร์เทคโนโลยี่ส์ เทเลมีเดีย 100%
สิงเทล ออฟตุส 63%
มีเดีย คอร์ป 100%
เทเลคอมมาเลเซีย 5%
สตาร์ฮับ 63%
โกลบอล ครอสซิ่ง 71%
พีที อินโดแสท 41%
อีคินิกซ์ 35%

Website

www.shincorp.com
www.temasekholdings.com.sg