เส้นทาง Thai Design in Animation & File

ในยุคที่แอนิเมชั่น (Animation) กำลังเฟื่องฟู ด้วยเหตุที่มีการประยุกต์เทคโนโลยีมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมหนังและโฆษณาได้เป็นอย่างดี ทั้งในแง่ช่วยลดต้นทุนการสร้างหนังฟอร์มยักษ์ระดับฮอลลีวู้ด หรือเติมอรรถรสให้หนังโฆษณามีสีสันเกินจริงได้ จากการใช้ซอฟต์แวร์แพ็กเกจร่วมกับคอมพิวเตอร์เพียง 1 เครื่อง

ความมหัศจรรย์นี้ส่งผลให้คนไทยหันมาสนใจงาน Animation หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ซอฟต์แวร์ในกระบวนการผลิตกว่า 80% และ Animation กำลังเป็นเทรนด์ใหม่ในตลาดมัลติมีเดีย ทั้งในงานโฆษณา ภาพยนตร์ และเกมที่กำลังสร้างสีสันให้ตลาดโลกอย่างรวดเร็ว

จนสามารถสร้างมูลค่าให้ตลาดซอฟต์แวร์สูงกว่าหลายหมื่นล้านบาทต่อปี แต่ทุกวันนี้ตลาดยังขาดแคลนบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ เพื่อเข้าไปรองรับการเติบโตของตลาดอีกมาก…แล้วคนไทยจะมีโอกาสเข้าไปเป็นหนึ่งในมันสมองของตลาดนี้ได้อย่างไร?

ค้นหาเส้นทางสู่ Animation Designer ได้จากเวที “Thai Design in Animation & Film” หนึ่งในหัวข้อสัมมนาที่ได้รับความสนใจสูงในงาน Thailand Animation & Multimedia 2006 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

“ก้านกล้วย” บทพิสูจน์ Thai Animation

นับว่า “ก้านกล้วย” เป็นภาพยนตร์การ์ตูนเรื่องยาวชิ้นแรกของไทยที่ใช้ Computer Graphic ในการผลิตงานทั้งหมด โดยบริษัท กันตนา แอนิแมชั่น จำกัดทุ่มทุนสร้างกว่า 100 ล้านบาท เพื่อให้ได้ภาพยนตร์การ์ตูนย้อนประวัติศาสตร์เรื่องยาวที่มีกำหนดออกฉายในเดือนมีนาคม 2549 นี้ หลังจากเคยนำร่องเสนอการ์ตูนแอนิเมชั่น “สุดสาคร” ผ่านจอแก้วไปก่อนหน้านี้

คมพิญญ์ เข็มกำเนิด ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์แอนิเมชั่น “ก้านกล้วย” อธิบายว่า เหตุผลที่ “ก้านกล้วย” ตั้งใช้เวลาและทุนการผลิตมากเกินที่กำหนดไว้ เนื่องจากงานภาพยนตร์ Animation ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับนักพัฒนาคนไทย รวมทั้งทีมพัฒนาของกันตนาฯ

ในช่วงกำหนดแผนการผลิต ใช้การคาดคะเน เพราะยังไม่เคยมีใครผลิตงาน Animation เป็นภาพยนตร์เรื่องยาวขนาดนี้ออกมาก่อน ส่งผลให้ต้องใช้เวลาในการศึกษา และยืดเวลากระบวนการผลิตออกไป

“ช่วงแรกเราเตรียมงบไว้เพียง 40-50 ล้านบาท และคิดว่าน่าจะใช้เวลาผลิตไม่เกินปีครึ่ง แต่พอลงมือทำจริง เป็นไปไม่ได้ เพราะงาน Animation ต้องใช้ซอฟต์แวร์ในกระบวนการผลิต ทั้งงานออกแบบ ดีไซน์คาแร็กเตอร์ แล้วนำสิ่งที่ได้มาสร้างเป็นเรื่องราว จึงต้องใช้เวลาเกือบ 3 ปี”

นั่นเป็นสิ่งที่ทีมนักพัฒนาคนไทยค้นพบ และต้องทำการบ้านหนักขึ้น ด้วยการศึกษาข้อมูล แผนงาน กระบวนการผลิตจากภาพยนตร์การ์ตูนในต่างประเทศ ซึ่งได้ข้อสรุปว่างาน Animation ในระดับภาพยนตร์ต้องใช้เวลา และต้นทุนสูง โดยเฉพาะต้นทุนเทคโนโลยีและบุคลากร

“งาน Wall Disney 1 ก็ต้องใช้เวลาเกือบ 5 ปี หรือบางแห่งก็ 3 ปี แต่เขาใช้ทุนมากกว่าเราเกือบ 3 เท่า”
ดังนั้นกันตนาฯ จึงดึงทีม Animation Design ที่มีประสบการณ์ในต่างชาติเข้ามาสอนงานคนไทย เพื่อวางโครงสร้างงาน “ก้านกล้วย” ในเบื้องต้น กลายเป็นโอกาสดีให้ทีมกันตนาฯ ได้เรียนรู้ และนำเทคนิคมาประยุกต์ใช้ในสไตล์ไทยๆ ได้ง่ายขึ้น ก่อนจะเดินหน้าผลิตงานที่เหลือเกือบ 80% ให้จบ

ตรงนี้สร้างความท้าทายให้ทีมผลิต “ก้านกล้วย” ไม่น้อย เพราะเป็นงานชิ้นสร้าง Profile พิสูจน์ฝืมืองาน Animation ให้ได้คุณภาพไม่ด้อยไปกว่านานาชาติ เพื่อสร้างโอกาสและเป็นใบเบิกทาง Thai Animation ก้าวไปสู่ตลาดระดับโลก จึงไม่ง่ายนักที่มือใหม่หัดขับอย่างงาน “ก้านกล้วย” จะผ่านฉลุยเป็นที่รู้จักในตลาดอย่างรวดเร็ว

แต่หากไม่มีจุดเริ่มต้นอนาคต Thai Animation อาจจะเป็นเพียงหนึ่งจินตนาการที่ถูกบรรจุไว้ในประวัติศาสตร์ไทยเท่านั้น

ชูจุดขายเอกลักษณ์ไทย

“โอกาสที่หนังไทยจะไปตีตลาดต่างประเทศได้นั้น ต้องสื่อเอกลักษณ์ความเป็นไทยออกมาได้ชัดเจน เพื่อสร้างความต่างในตลาด ตัวเอย่างเช่น “นางนาค” และ “บางระจัน” ที่เคยสร้างชื่อในตลาดระดับโลกมาแล้ว”

ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “องค์บาก” และ “ต้มยำกุ้ง” อธิบายว่า ภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่องไม่ได้ขายเอกลักษณ์ไทยทื่อๆ แต่เลือกสื่อเฉพาะวัฒนธรรมไทยที่น่าสนใจ และมั่นใจว่าขายได้เลือกหยิบนำเสนอให้โดนใจตลาด อาทิ บรรยากาศเรือนไทยริมน้ำที่ปัจจุบันคนไทยเองแทบจะลืมไปแล้ว การแต่งกาย ทรงผมก็ควรเน้นความสมจริง เช่นเดียวกับการสร้างฉากหรือเลือกสร้างบรรยากาศให้ได้อารมณ์เดียวกัน

ในความเป็นจริงอาจจะไม่สามารถหาฉากได้จริง จึงต้องนำเทคโนโลยีซอฟต์แวร์หรือเทคนิคด้าน Graphic Design เข้ามาช่วย เพื่อสร้างความสมจริงให้กับภาพยนตร์ โดยเฉพาะฉากย้อนยุคในเรื่อง “นางนาค” และ “บางระจัน” ต้องใส่ใจกับรายละเอียดให้สมจริง จึงต้องรีเสิร์ช และข้อมูลที่อ้างอิงมากขึ้น เพราะฉาก 90% ในหนังประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ต้องสร้างขึ้นมาใหม่

“ที่ผ่านมาหนังไทยรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาเยอะ ชนิดก๊อบปี้ได้แม้กระทั่งรอยยิ้ม จนไม่รู้สึกแตกต่าง สังเกตหนังไทยที่ขายได้ก็เน้นเอกลักษณ์ไทย อาทิ องค์บาก ที่เราเลือก Shop เอกลักษณ์ไทยขึ้นมาขาย รวมกับงานดีไซน์ ทั้งฉาก แสง สี และการแต่งกาย แม้กระทั่งท่าแม่ไม้มวยไทยยังต้องเลือกเฉพาะท่าที่ไม่คล้ายมวยกังฟู เพื่อให้ได้เอกลักษณ์ไทยที่แตกต่างจริงๆ”

แต่ “เอกลักษณ์ไทย” ก็ไม่จำเป็นต้องยึดฟอร์มเดียวกับอดีตเสมอไป เพราะงานดีไซน์เป็นศิลปะที่ต้องพัฒนาขึ้นใหม่ได้ แต่ต้องไม่ทิ้งความเป็นเอกลักษณ์ไทย หรือเรียกว่างานใหม่ว่า “ไทยประยุกต์” ก็ได้

ปรัชญา มองว่า ตรงนี้จะสร้างโอกาสให้หนังไทยสามารถเข้าไปตีตลาดต่างประเทศได้ เพราะคนไทยเลือกขายความแตกต่าง

ขณะเดียวกันบุคลากร Production Designer หรือ Animation Designer จะต้องเรียนรู้ประสบการณ์ให้หลากหลาย เพื่อฝึกฝนตัวเองให้มีคุณภาพ และพร้อมจะปรับเปลี่ยน หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้ตามที่ตลาดต้องการ อาทิ Production Design ในงานโฆษณา เกม หรือสร้างฉากในภาพยนตร์ฟอร์มเล็กก่อน เพื่อปูทางสู่งานชิ้นโบแดงในอนาคต

Production Design คนไทยสร้างได้

“อาชีพ Production Design เกิดขึ้นในวงการโฆษณา และแพร่หลายไปสู่งานพรีเซนเตชั่นรูปแบบต่างๆรวมทั้งถูกนำมาใช้ในวงการภาพยนตร์ไทยไม่นานนัก เริ่มทดลองครั้งแรกในเรื่อง 2499-อันธพาลครองเมือง และนางนาค ก่อนจะแพร่หลายไปสู่เรื่องอื่นๆ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตที่ใช้เม็ดเงินสูง และยังสร้างฉากได้เกินจริง”

เอก เอี่ยมชื่น Production Designer ภาพยนตร์เรื่อง “ฟ้าทะลายโจร” อธิบาย

พร้อมให้มองว่าเชิงธุรกิจว่า งานดีไซน์ในรูปแบบไทยๆ ไม่ได้มีอยู่จริง เพราะเทคนิคการใช้เทคโนโลยี และออกแบบได้เรียนรู้มาจากต่างประเทศทั้งนั้น ตั้งแต่ในอดีตที่รับวัฒนธรรมการออกแบบจากอินเดียหรือจีนจนถึงปัจจุบันที่รับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาอย่างเต็มที่เกือบ 100%

เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะสร้างงาน Thai Design ให้แตกต่างต้องมี Thai Style หรือใส่จิตวิญญาณของความเป็นไทยลงไปในงานทุกชิ้น เพื่อสร้างเสน่ห์ให้งาน อาทิ ฉากคนกินหมาก หรือตำน้ำพริก ก็สามารถสื่อได้ความเป็นไทยได้ แม้จะไม่มีบรรยากาศกลางทุ่งนาหรือชนบท

นั่นเพราะจริงๆ แล้วฉากด้านหลังสร้างขึ้นมาได้ เอก ยกตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง “นางนาค” ที่ฉากส่วนใหญ่สร้างขึ้นแทรกกับฉากจริง ตั้งแต่ฉากต้นมะพร้าวริมคลอง ความเก่าของเรือนไทย หรือผักตบชวาในน้ำ เพื่อให้งานรู้สึกมีชีวิต และไม่ผู้ชมจับได้ว่าได้สร้างฉากขึ้นมาใหม่

“หนังแนวย้อนยุคหรือประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องสมจริงเสมอไป เสน่ห์มันตรงเราสามารถนำสิ่งที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้กับอะไรก็ได้ เพื่อให้รู้สึกลงตัวและเหมาะสม เช่น บางครั้งผมนำกระป๋องเปล่ามาใส่ต้นใหม่ แล้วหาฉากหรือดินมากลบ เพื่อให้ฉากนั้นดูเป็นธรรมชาติก็ได้”

โฆษณาขุมทรัพย์งาน Production

นอกจากนี้ ปรัชญา ปิ่นแก้ว ยอมรับว่า ขณะนี้งาน Production Design ในภาพยนตร์ไทยยังมีการใช้น้อยมาก เพราะยังไม่มีภาพยนตร์เรื่องไหนกล้าลงทุนกับการใช้เทคนิคพิเศษฟอร์มใหญ่ๆ ได้มากพอ แตกต่างจากตลาดต่างประเทศ เพราะต้องใช้ต้นทุนสูงและคนไทยยังมั่นใจว่าทำออกมาแล้วจะขายได้

ส่งผลให้งาน Production Design ในไทยถูกนำมาใช้ในธุรกิจโฆษณาเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นหนังโฆษณาฟอร์มเล็กที่ใช้ต้นทุนไม่สูง สะดวก และมีกระบวนการทำงานที่สั้น จึงเป็นที่นิยมมากกว่า

“จริงๆ แล้วงาน Production Design เป็นที่รู้จักในตลาดโฆษณามานานแล้ว แต่ไม่ค่อยมีคนหยิบยกขึ้นมาพูด อาจจะเป็นเพราะเป็นงานเบื้องหลังมากกว่า แต่เมื่อนโยบายของประเทศสนับสนุนงานด้าน Animation Design งาน Production ก็เป็นส่วนหนึ่ง และสร้างเม็ดเงินให้นักพัฒนาไทยได้จริง”

พร้อมยอมรับว่าบุคลกรด้าน Production Design ในไทยมีคุณภาพ และมีฝีมือเทียบเท่าต่างประเทศ สังเกตจากปริมาณคนไทยจำนวนมากที่ถูกดึงตัวไปทำงานในต่างประเทศ เพราะ Thai Design มีความคิดสร้างสรรค์ และสร้างานได้ละเอียดกว่าต่างชาติ

Animation แบรนด์ไทยขายได้

ริชาร์ด จาคอบส์ (Richard Jacobs) Offroad Picture บริษัท Circle of Confusion, สหรัฐอเมริกา ให้หลักคิด 2 ประการ คือ งานภาพยนตร์ไทย หรืองาน Thai Animation ที่ต้องการผลิตเพื่อส่งออกนั้น จะต้องเป็นงานคุณภาพที่คิดว่าดีที่สุด เพื่อสร้างโอกาสแข่งขันในเชิงพาณิชย์ได้ และบวกกับความคิดสร้างสรรค์ด้านเทคนิคพิเศษของคนไทยที่น่าจะสร้างโอกาสในตลาดระดับโลกได้

อาทิ ภาพยตร์เรื่อง “องค์บาก” และ “ต้มยำกุ้ง” ก็ได้สร้างความฮือฮาไม่น้อย สังเกตได้จากนักแสดงนำ “จา-พนม ยีรัมภ์” ก็กลายเป็นขวัญใจคนอเมริกันได้เช่นกัน

แต่ในเบื้องต้น Animation Design ในประเทศไทย ควรมุ่งไปสู่การรับจ้างผลิตงานจากตลาดใหญ่อย่างอเมริกา หรือประเทศที่มีตลาดใหญ่ๆ อาทิ เกาหลี และญี่ปุ่น เป็นต้น เพื่อสร้างโอกาสในการเรียนรู้เทคนิค และแนวคิดการทำตลาด และนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับแนวคิดของคนไทย ซึ่งจะช่วยให้พัฒนาฝีมือได้เร็วขึ้น

โดยเฉพาะงานด้านโฆษณาผ่านสื่อ TV (โทรทัศน์) เพราะเป็นสื่อที่มีความถี่ปรากฏแก่สายตาผู้ชมได้บ่อย และเครือข่าย Animation ผ่าน TV กำลังจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นต้องนำเสนอเทคนิคใหม่ๆ เพื่อสร้างสีสันให้งานกว่า 80% มีคุณภาพและหลากหลาย แตกต่างจากงานดีไซน์ด้าน Cartoon เพียงเดียว

เพราะนั่นจะช่วยลดความเสียงในการทำงาน และสร้างโอกาสในการหารายได้ จากตลาดใหม่ๆ ได้มากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าตลาดโฆษณาจะยาก และแข่งขันสูง ซึ่งนั่นก็เป็นโอกาสให้สามารถคิดงานใหม่ๆ ด้าน TV Animationได้มีคุณภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ตลาด Game Online ยังเป็นตลาดที่น่าสนใจ และมีความเป็นไปได้สูง เพราะปัจจุบันงานคุณภาพส่วนใหญ่มาจากตลาดเอเชีย อาทิ เกาหลี และญี่ปุ่น ซึ่งคนไทยควรจะเข้าไปเรียนรู้ และพัฒนาคุณภาพชิ้นงานให้ตรงใจตลาดได้