แดจังกึม…ท้ารบร้านอาหารญี่ปุ่นด้วยแฟรนไชส์

อิทธิพลของ Korea Power ออกฤทธิ์ไปแทบทุกด้าน ปลายปี 2548 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน korean cusine ดูจะเป็นประเด็นที่น่าสนใจโดดเด่นไม่แพ้วัฒนธรรมอื่นของเกาหลี “แดจังกึม” ละครเด่นเย็นนี้ของช่อง 3 คือปรากฎการณ์ที่ตอกย้ำกระแสนิยมเกาหลีในไทยอย่างเด่นชัด และทำให้กระแสอาหารเกาหลีได้รับการพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าแดจังกึมจะแตกร่างเป็นร้านอาหารนับสิบแห่งที่กรุงโซล ประเทศเกาหลี ด้วยการซื้อลิขสิทธิ์ชื่อ และแอบใช้บ้าง และในเมืองไทยเอง “แดจังกึม” ก็ปรากฏโฉมให้ลิ้มรสแล้วที่เซ็นทรัล พระราม 3 โดยได้รับสิทธิ์ในการชื่อนี้อย่างถูกต้องในเมืองไทย…แย่งซีนภัตตาคาร Kongju โรงแรมปทุมวัน ปริ้นเซส และร้านอาหารเกาหลีกว่าสิบร้านในแถบสุขุมวิท 12 ไปซึ่งๆ หน้า อย่างน้อยๆ เห็นชื่อก็สะดุดแถบไม่ต้องถามให้ยากเลยว่าเป็นร้านอาหารเกาหลีหรือไม่

ร้านอาหารเกาหลี “แดจังกึม” เป็นธุรกิจของ 2 พี่น้องเกาหลี Yoon-Sook Lee ผู้เป็น Director และ Bok-ki Min ซึ่งเป็น Franchising Mananer ที่เริ่มธุรกิจร้านอาหารเกาหลีในเมืองไทยเป็นแห่งแรก

พวกเขาลงทุนซื้อลิขสิทธิ์ชื่อแดจังกึมมาใช้ เพราะเล็งเห็นกระแสที่อาจช่วยผลักดันให้ร้านเป็นที่รู้จักภายในระยะเวลารวดเร็ว อีกทั้งความสอดคล้องกับบทบาทของตัวละครซึ่งเป็นแม่ครัวฝีมือเอกย่อมเหมาะสมที่จะนำมาตั้งเป็นชื่อร้านอาหาร

นอกจากนี้ยัง think big ด้วยการวางแผนขยายธุรกิจด้วยแฟรนไชส์เป็นหลัก แต่เบื้องแรกจะลงทุนเองก่อน เน้นโดยขยายตามศูนย์การค้าเซ็นทรัลทุกสาขา หลังกระแสคนไทยคลั่งกิมจิเพิ่มมากขึ้น พวกเขามั่นใจว่าการทำอาหารเกาหลีแบบต้นตำรับเป็น korean traditional food และศักยภาพของการเปิดร้านในศูนย์การค้าจะช่วยให้ดึงดูดผู้บริโภคคนไทยให้มาลิ้มลองและเป็นขาประจำได้

“ด้วย positioning ที่แตกต่างของร้านแดจังกึมซึ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายคนไทยประมาณ 95% ขณะที่ร้านอาหารเกาหลีแห่งอื่นๆ ในเมืองไทย มักเจาะกลุ่มคนเกาหลีเป็นหลัก และนั่นคือเหตุผลที่แดจังกึมมุ่งเปิดในศูนย์การค้า ในปี 2549 นี้จะเปิดอีก 3 สาขา ที่เซ็นทรัลพระราม 2 เซ็นทรัล เวิลด์ พลาซ่า และอีก 1 สาขากำลังอยู่ในระหว่างเจรจา อยากเปิดที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว และเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า แต่ตอนนี้ยังไม่มีพื้นที่ว่าง นอกจากนี้พฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยนิยมเลือกอาหารจากเมนูที่หลากหลาย ไม่เหมือนคนเกาหลีนิยมรับประทานอาหารเกาหลีเพียง 3-4 รายการ ทางร้านจึงสนองความต้องการนี้ด้วย”

แม้ chef ที่นี่จะไม่ใช่แดจังกึม หรือซังกุงสูงสุดคนใดๆ ในท้องเรื่องละครดัง แต่ก็เป็นเชฟเกาหลีที่มีประสบการณ์ยาวนาน กอปรกับราคาอาหารที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกับร้านอาหารญี่ปุ่น เช่น Fuji และ ZEN

ทำให้พวกเขามั่นใจว่า “แดจังกึม” มีโอกาสอยู่ไม่น้อยที่จะเป็นแบรนด์ร้านอาหารลำดับต้นๆ และได้รับความนิยมไม่แพ้ร้านอาหารญี่ปุ่นทั้ง 2 แห่ง ข้างต้น ที่มีสาขาครอบคลุมแทบทุกศูนย์การค้า

ด้านดีไซน์ของร้าน ได้รับการออกแบบและตกแต่งที่ไม่หวือหวา ออกจะดูราบเรียบเมื่อเทียบกับร้านอาหารเอเชียอื่นๆ หากมองผ่านๆ ไม่เห็นภาพประดับฝาผนังขนาดใหญ่ ที่เป็นรูปพระ-นาง ละครแดจังกึม และภาพอื่นๆ ที่สื่อถึงความเป็นเกาหลีแล้ว ก็ไม่อาจทราบได้เลยว่านี่คือร้านอาหารเกาหลี

“คิดว่าคนไทยชอบนั่งแบบสบายๆ โต๊ะและเก้าอี้จึงเป็นแบบสมัยใหม่ ไม่ใช่ลักษณะการนั่งแบบเกาหลีดั้งเดิม ซึ่งต้องนั่งกับพื้น แต่สำหรับสาขาต่อไปอาจจะตกแต่งร้านให้เป็นสไตล์เกาหลีมากขึ้น”

สำหรับเมนูยอดฮิตที่คนไทยนิยม คือ ซี่โครงหมูหมัก เป็นจานร้อนที่ Min ชื่นชอบมากเช่นกัน แกงส้มกิมจิ ก็เป็นเมนูเด่นที่ทางร้านอยากแนะนำ ขณะที่แนวทางการสื่อสารกับผู้บริโภคเบื้องแรก คือ การติดป้ายเชิญชวนหน้าร้าน โดยเฉพาะเมนู lunch set ซึ่งมี เยินเซ็ง สาวสวยเพื่อนสนิทแดจังกึม มาเชิญชวนให้ลิ้มรส พร้อมกับ educate ผู้บริโภคไปในตัวเกี่ยวกับ side dish จำพวกกิมจิ ซึ่งคิดค่าบริการรวมกับ main dish เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งหาก side dish หมดก็สามารถเติมฟรีได้ (ร้านอาหารเกาหลีเกือบทั้งหมด เติม side dish ให้ฟรีเช่นกัน)

และอีกไม่นาน food model ที่สั่งทำจากเกาหลีจะบินตรงมาถึงเมืองไทย เพื่อเรียกน้ำย่อยหน้าร้าน

กระนั้นแม้จะได้ชื่อที่เป็นกระแสนิยมแต่ขณะนี้ยังไม่มีแผนโปรโมตร่วมกับละคร เพราะขณะนี้ร้าน Kongju ได้ทำ co-marketing ร่วมกับละครแดจังกึมแล้ว อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ 2 พี่น้องนักธุรกิจคู่นี้ ตระหนักดี คือ คุณภาพและรสชาติตลอดจนการบริการ ซึ่งจะต้องฝึกฝนพนักงานอย่างเข้มข้น รวมถึงผู้ช่วย chef ซึ่งเป็นคนไทย แต่ละคนล้วนผ่านการเรียนรู้ในการทำอาหารเกาหลีกว่า 3 ปี

ต้องติดตามกันต่อไปว่า เมื่อละครแดจังกึมลาจอในเดือนมีนาคม ทิศทางของร้านนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป