บทเรียน K-marketing on scree

แม้ภาพยนตร์เกาหลีเข้ามาดึงความสนใจจากคอหนังไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ในมุมมองของผู้กำกับหนังไทยแล้ว กระแสนี้ไม่ได้ทำให้รู้สึกหวั่นไหวแต่อย่างใด

“ย้ง” ทรงยศ สุขมากอนันต์ 1 ใน 6 ผู้กำกับ “แฟนฉัน” และผลงานล่าสุด ”เด็กหอ” ให้มุมมองว่า ไม่รู้สึกว่าเราถูกแยกกลุ่มคนดู เพราะรู้สึกว่ายิ่งมีหนังเกาหลี ฮ่องกง ญี่ปุ่นเข้ามาเยอะๆ ก็ยิ่งชอบ รู้สึกว่ายิ่งเป็นผลดีกับหนังไทย สำหรับผม เพราะหนังเอเชียมีลักษณะบางอย่างร่วมกัน ให้ความรู้สึกว่าเป็นหนังไทย เกาหลี ฮ่องกง ญี่ปุ่น แม้จะแตกต่างเรื่องเชื้อชาติ แต่ก็มีความเป็นเอเชียอยู่ ถ้าเข้ามาปลุกกระแส ก็จะทำให้คนชอบหนังเอเชียด้วย จะทำให้หนังไทยมีผลพลอยได้ไปด้วย ถ้าจะมองไปจริงๆ แล้วหนังเอเชียต่างจากหนังฮอลลีวู้ด โดยวีธีการเล่าเรื่องแตกต่าง เรื่องราวที่ต้องการเล่าก็ต่างกัน

ส่วนที่หนังเกาหลีบูมมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น”ย้ง” บอกว่าโดยส่วนตัวเฉยๆ กับหนังเกาหลี มีบางเรื่องชอบ มีบางเรื่องไม่ชอบ รู้สึกว่าหนังเกาหลี เป็นอารมณ์เหมือนหนังญี่ปุ่น บูมมา ก เป็นกระแสป็อป ผมว่าหนังญี่ปุ่นลึกซึ้งกว่าเกาหลีเยอะ ผมรู้สึกว่าคนทำหนังญี่ปุ่นผ่านชีวิตมาเยอะ เวลาทำหนังละเมียดละไมกว่าเกาหลี หนังเกาหลีเพิ่งขึ้นมา แต่ที่เห็นชัดเจนคือผู้กำกับเกาหลีมีไดเร็กชั่นของตัวเองชัดเจน ไดเร็กชั่นแรงมาก โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ความลุ่มลึกละเมียดละไม สู้กับญี่ปุ่นที่ผ่านช่วงเวลายาวนานไม่ได้

ยกตัวอย่างเรื่องโอล์ดบอย ของเกาหลี ถ้าวัยรุ่นจะชอบโอล์ดบอย เพราะความแรงของไดเร็กชั่น แต่หนังญี่ปุ่นบางเรื่องมีความลุ่มลึกให้ความรู้สึกนั่งดูแล้วน้ำตาไหล เล่าเรื่องแบบเรียบๆ ธรรมดา แต่โคตรรู้สึกเลย

หรือแม้ว่าหนังเกาหลีจะเล่นกับความรู้สึกของคนดูได้บ้าง แต่ ”ย้ง” ก็บอกว่า ”ผมอาจอคติก็ได้ ว่าหนังเกาหลีที่ทำให้ผมรู้สึกได้ มันมีกลิ่นอายของญี่ปุ่นอยู่ มันมีวิธีการเล่าแบบญี่ปุ่น ถ้าถามผม คิดว่าญี่ปุ่นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากกว่า เห็นหนังเกาหลีลึกซึ้งก็เห็นกลิ่นอายแบบญี่ปุ่น ซึ่งอาจะได้รับอิทธิพล แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาก๊อบปี้นะ”

จุดเชื่อมโยงที่ทำให้เกาหลีสามารถส่งออกหนังได้ เพราะโดยแมสเสจของงานไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่าไหร่ อย่างกรณีหนังเพื่อนสนิท เป็นหนังรัก ขายเมืองนอกยากเย็นเหลือเกิน แต่พอเป็นหนังผี หนังบู๊ขายได้ มองกลับกันถ้าเป็นหนังรัก เกาหลี ญี่ปุ่นขายได้เยอะ จึงไม่ใช่เพราะหนังรักขายไม่ได้ จริงๆ ขายได้ แต่มาจากประเทศอะไร ญี่ปุ่น เกาหลี ขายได้ เพราะคนเอเชียคุ้นเคย รู้จักดาราเหล่านี้แล้ว มาฉายแล้วเราอยากเข้าไปดู และการประสบความสำเร็จอีกส่วนหนึ่งมาจากความสำเร็จในประเทศตัวเองก่อน ที่คนของเขามีความเป็นชาตินิยมสูง เห็นได้จากในบ็อกซ์ออฟฟิศ ที่ทำเงินสูงสุดเป็นหนังของเกาหลีเอง หรือแม้แต่ของญี่ปุ่นเอง และรัฐบาลเองก็สนับสนุน มีสถาบันสอนจริงจัง

ขณะที่ทัศนะของผู้กำกับรุ่นใหญ่ อย่าง ”ปรัชญา ปิ่นแก้ว” ที่ถือว่าประสบความสำเร็จจากการที่สามารถส่งออก ”องค์บาก” และ ”ต้มยำกุ้ง“ เป็นอย่างยิ่ง ให้ความเห็นว่าอุตสาหกรรมเกาหลีโตมากอยู่แล้วเมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมหนังไทย โดยหนังเกาหลีปีหนึ่ง 100 กว่าเรื่อง แต่ของไทยมีประมาณ 40 เรื่องต่อปี ขณะที่มีจำนวนประชากรประมาณ 60 ล้านคน พอๆ กัน แต่คนดูหนังของเขามีจำนวนมาก แต่ของไทยมีคนดูเฉลี่ย 1 ล้านต่อเรื่องแค่นั้น

พออุตสาหกรรมของเขาโตมาก ก็เป็นธรรมดาที่ต้องขยายตลาดไปทั่วโลก ก็ง่ายที่จะเข้ามาขยายในบ้านเรา ในช่วงแรกๆ อาจยังไม่เห็นความสำเร็จเท่าไหร่นัก อย่างหนังบู๊เรื่อง “Shiri” แต่ปัจจุบันเด่นกว่าหนังของฮ่องกงแล้ว

ตอนนี้หนังอาจจะยังไม่เติบโตรุนแรงมากนัก แต่เท่าที่เห็นซีรี่ส์ผ่านทีวีจะมาแรง และมาเยอะมาก และทำให้เกิดกระแสความชื่นชอบละครเกาหลีขึ้นมามาก

ความเชื่อของ ”ปรัชญา ปิ่นแก้ว” ยังบอกด้วยว่าการเติบโตของธุรกิจบันเทิงเกาหลีจะไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงของประเทศอื่นซบเซา

“วงการหนังต้องแข่งกับตัวเองมากกว่า เพราะลักษณะการดูหนังไม่ใช่ดูหนังเราแล้ว ไม่ดูหนังของเขา หนังดียังไงคนก็ดู เพราะเป็นการโตด้วยตัวเอง ไม่ใช่ทำลาย ซึ่งโดยธรรมชาติคนก็ดูหนังของตัวเองกันทั้งนั้น ขอให้ทำให้ดี คนเกาหลีเขาดูหนังเกาหลี ก็เพราะคุณภาพของเขาดีทำให้เขาเติบโต ซึ่งหนังไม่ใช่สินค้าอุปโภคบริโภค ที่คนใช้ยี่ห้อหนึ่งแล้วจะไม่ใช่ใช้อีกยี่ห้อหนึ่ง

“สุดท้ายในมุมมองของ ”ปรัชญา ปิ่นแก้ว” ก็เห็นว่าสิ่งที่ช่วยส่งเสริมให้หนังเกาหลีประสบความสำเร็จ คือการนำมาร์เก็ตติ้งมาเป็นองค์ประกอบสำคัญ

“ใครคิดเป็น คิดเก่ง ก็ต้องจับให้ถูกทางด้วย”

ทางด้านมุมมองของ ”เอก เอี่ยมชื่น” โปรดักชั่น ดีไซเนอร์ ของเรื่อง ”ฟ้าทะลายโจร” มองว่าหนังเกาหลีประสบความสำเร็จมาจากการเริ่มต้นจากความสำเร็จของหนังรัก ที่มีดาราเป็นจุดขาย นอกจากความสามารถแล้วเรื่องหน้าตา ดารา ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ต้องตาต้องใจรสนิยมของคนไทย แต่ก็เชื่อว่าไม่น่าจะกระทบกับอุตสาหกรรมหนังไทย เพราะเราต่างมีวัฒนธรรมคนละแบบ แต่ของคนไทยเองก็ต้องปรับตัว ซึ่งก็เชื่อว่าทุกคนปรับอยู่แล้ว โดยเฉพาะการปรับบทซึ่งเป็นหัวใจของหนังให้แน่น

เวลานี้ที่เป็นช่วงรอยความฮิต และความฮิตที่ฮอตสุดๆ เช่นนี้ “เอก เอี่ยมชื่น” มองว่า ”วงการหนังไทยคงยังต้องใช้เวลาสักพัก เพราะตอนนี้ยังคงล้มลุกคลุกคลานอยู่ ตั้งตัวกันยังไม่ค่อยติด”