การสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของรัฐบาลเกาหลีใต้ เป็นเรื่องที่คนตามข่าวรับรู้กระแสเทรนด์โลกทราบกันดีอยู่แล้ว ด้วยความที่ภาพยนตร์และละครซีรี่ส์เกาหลี แพร่ระบาดไปทั่วทั้งตลาดบันเทิงเอเชีย และตลาดบันเทิงยุโรป รวมไปถึงตลาดอเมริกาที่กำลังให้ความสนใจกับผลงานบันเทิงจากเกาหลีใต้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่สิ่งที่ผู้คนรับรู้ก็มีอยู่เพียงเท่านั้น มีน้อยคนนักที่จะรู้ว่ารัฐบาลเกาหลีใต้ให้การสนับสนุนกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในบ้านตัวเองอย่างไร สนับสนุนแค่ไหน สนับสนุนอะไรบ้าง แล้วมีเงื่อนไขอะไรหรือเปล่า
จุดเริ่มต้นของความช่วยเหลือที่รัฐบาลเกาหลีต้องเข้าให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศ เพราะสมัยที่เกาหลีเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น ภาพยนตร์เกาหลีส่วนใหญ่ถูกทำลายไปในสงคราม ภาพยนตร์เรื่องใหม่ๆ ที่สร้างขึ้นหลังจากนั้นก็ยังคงได้รับผลกระทบ เพราะญี่ปุ่นยังคุมเข้มเซ็นเซอร์ทั้งเนื้อหาและทุนสร้าง อิทธิพลของญี่ปุ่นยังครอบงำอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีอยู่หลายปี ถึงขนาดมีการห้ามไม่ให้คนเกาหลีสร้างภาพยนตร์ภาษาเกาหลีออกมาฉายในโรงอย่างเด็ดขาด
จนกระทั่งมีสนธิสัญญาสงบศึกปี 1953 ประธานาธิบดี Rhee Syng Man ประกาศให้ยกเว้นภาษีต่างๆ ในโรงภาพยนตร์ โดยหวังจะฟื้นฟูอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเกาหลี เปิดรับความช่วยเหลือทั้งด้านเทคโนโลยี และอุปกรณ์การถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศ นับจากนั้นอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเกาหลีก็เฟื่องฟูขึ้นทันตา โดยแนวของภาพยนตร์เน้นไปในเรื่องของหนัง Melo-Drama หรือภาพยนตร์แนวสะเทือนอารมณ์ทั้งหลาย รวมทั้งภาพยนตร์แนว Action ซึ่งมีการหยิบเอาวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตของคนเกาหลีมาสร้างเป็นบทภาพยนตร์ที่กินใจคนดู
อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีทรุดตัวลงอีกครั้ง ประมาณปี 1970 ประชาชนเกาหลีหันมาให้ความสนใจกับรายการในทีวีมากกว่าการออกไปดูภาพยนตร์นอกบ้าน ประกอบกับรัฐบาลได้เข้ามาเข้มงวดกับการตรวจพิจารณาอนุมัติการสร้างภาพยนตร์ จนกระทั่งปี 1980-1992 อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีจึงกลับมาดีขึ้น ประชาชนหันมาให้ความสนใจกับการชมภาพยนตร์ในโรงมากขึ้น
โดยในปี 1988 อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลี ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ 2 ครั้ง คือ เมื่อหัวหน้ากองทัพ โร ตี วู ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่อนุญาตให้ลดความเข้มงวดของกฎหมายในการตรวจพิจารณาอนุมัติสิ่งบันเทิงและวิทยุ และอีกครั้งหนึ่ง คือเมื่อมีการยกเลิกข้อกำหนดที่เข้มงวดของการนำเข้าภาพยนตร์จากต่างประเทศ
การยกเลิกและลดความเข้มงวดข้อกำหนดและกฎหมายของรัฐบาล ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตภาพยนตร์ของเกาหลีได้ทั้งผลดีและผลเสียไปพร้อมๆ กัน ผลดีคือตลาดมีการแข่งขันมากขึ้น ผู้สร้างภาพยนตร์เกาหลีได้พัฒนาการสร้างภาพยนตร์เพื่อให้สร้างแข่งขันกับภาพยนตร์จากต่างประเทศ
ส่วนผลเสีย คือ ผู้ชมหันไปให้ความสนใจกับภาพยนตร์จากต่างประเทศมากขึ้น ทำให้ภาพยนตร์เกาหลีสูญเสียตลาดส่วนใหญ่ให้กับภาพยนตร์จากต่างประเทศไปในที่สุด จนทำให้รัฐบาลเกาหลีที่เข้ามาแทรกแซงกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์อีกครั้ง และครั้งนี้เองที่ส่งผลมาจนถึงตลาดรวมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีปัจจุบัน ที่ขยายวงกว้างออกไปยังตลาดต่างประเทศ ไม่ได้จำกัดวงอยู่เพียงแค่ในตลาดเกาหลีเท่านั้น
สิ่งที่รัฐบาลเกาหลีเริ่มเข้ามาแทรกแซงอีกครั้ง คือการกำหนดจำนวนวันเข้าฉายของภาพยนตร์เกาหลี ว่าต้องฉายอย่างน้อย 106 วันใน 1 ปี หลังจากนั้น ได้มีการกำหนดว่าในปริมาณภาพยนตร์ที่เข้าฉายในโรงทั้งหมด ต้องมีสัดส่วน 1 ใน 4 ของจำนวนโรงที่ฉายภาพยนตร์เกาหลี และรัฐบาลยังให้เงินสนับสนุนกับผู้สร้างภาพยนตร์ปีละ 10 เรื่อง เรื่องละประมาณ 20 ล้านบาท จากการสนับสนุนตรงนี้แหละที่ทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีเฟื่องฟูมาถึงทุกวันนี้ และทำให้เกิดบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ทั้งเก่าและใหม่ขึ้นในเกาหลีมากกว่า 1,000 บริษัท มีภาพยนตร์เกาหลีออกสู่ตลาดประมาณ 70-80 เรื่อง
ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของเกาหลี สามารถทำรายได้จากภาพยนตร์เข้าประเทศได้ถึง 54 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยทุกๆ ปีภาพยนตร์สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้เพิ่มมากขึ้นเฉลี่ยปีละ 13% โดยตลาดใหญ่ของภาพยนตร์เกาหลีคือ ญี่ปุ่น ที่ทำรายได้ให้กับเกาหลีมากถึง 65% ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงกันนั้นเอง ส่วนรายได้ในประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 500-600 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่หนังจากฮอลลีวู้ดสามารถทำรายได้ประมาณ 30% ของรายได้หนังทั้งหมดในเกาหลี
นอกจากการได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาล ผู้สร้างภาพยนตร์ของเกาหลีเอง ก็สามารถสร้างจุดขายของภาพยนตร์ได้โดดเด่นโดยผู้บริหารของบริษัท iHQ, INC. หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ของเกาหลี บอกว่า แนวภาพยนตร์ของเกาหลีที่ได้รับความนิยมจากทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศมาก เป็นเพราะความที่ผู้สร้างและผู้กำกับ สามารถผสมผสานเอาความเป็นตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ซึ่งต่างจากภาพยนตร์ของญี่ปุ่นและฮ่องกง ที่ผู้กำกับส่วนใหญ่มีความเป็นอเมริกันมากเกินไป แนวหนังจะใกล้เคียงกับภาพยนตร์จากฮอลีวู้ด ซึ่งมีอเมริกันเป็นเจ้าตลาดใหญ่อยู่แล้ว
นอกจากนี้ผู้สร้างของเกาหลียังสามารถหยิบเอาวัฒนธรรมของเกาหลี มานำเสนอในรูปแบบความบันเทิงที่หลากหลายไม่จำกัดแนวของภาพยนตร์ไปในแนวใดแนวหนึ่ง นักแสดงเองก็มีความหลากหลาย ทำให้ผู้ชมไม่รู้สึกเบื่อได้ง่ายๆ โดยจะเห็นได้จากคนเกาหลีเอง ที่หันมาเลือกชมภาพยนตร์เกาหลีเพิ่มมากขึ้น ทำให้รายได้ของภาพยนตร์เกาหลีรายๆ เรื่องแซงหน้ารายได้ของภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์จากฮอลีวู้ด อาทิ ภาพยนตร์เกาหลีเรื่อง Typhoon ที่สามารถสร้างรายได้นำ ภาพยนตร์เรื่อง King Kong ไปอย่างสวยงาม
สำหรับแนวภาพยนตร์ของเกาหลี เฉลี่ยเป็นหนังผี (Horror) ประมาณ 10% ตลก (Comedy) 20% รักสะเทือนอารมณ์ (Melo-Drama) 30% แอคชั่น(Action) 10% และหนังหลายรสชาติ ผสมโน่นผสมนี่เข้าด้วยกันอีก (Mix) 30%
ส่วนแนวภาพยนตร์ที่คนเกาหลีเขาชอบมากๆ คือ ภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับความรักและสงครามเกาหลี หรือแนวเรื่องที่เกี่ยวกับการต่อสู้ของชีวิตคนเกาหลีจริงๆ โดยภาพยนตร์ทุกๆ แนวของเกาหลี ล้วนมีเนื้อหาและการนำเสนอที่เป็นพราะภาพยนตร์ที่ถูกสร้างออกมาส่วนใหญ่เข้าถึงชีวิตจิตใจของคนดูได้อย่างแท้จริง และยังลามระบาดไปถึงจิตใจคนดูในประเทศอื่นๆ อีกด้วย
จริงๆ กระแสความนิยมภาพยนตร์เกาหลีในบ้านเรา เริ่มต้นมาจากกระแสละครซีรี่ส์ แต่ตลาดซีรี่ส์ถ้าเทียบกับภาพยนตร์แล้วยังต่างกันมาก เพราะซีรี่ส์จะขายได้เฉพาะในตลาดเอเชียด้วยกัน ขณะที่ภาพยนตร์เกาหลีสามารถขยายตลาดได้ทั่วโลก
ความรุดหน้าของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลี ไม่ได้มีเพียงแค่ตลาดในเอเชียด้วยกันเท่านั้น หากแต่อิทธิพลของภาพยนตร์เกาหลีกำลังแพร่ระบาดไปถึงยุโรปและอเมริกาแล้ว โดยปีนี้จะมีภาพยนตร์ของเกาหลีเข้าชิงรางวัลออสการ์กับเขาด้วย เส้นทางแห่งความสำเร็จของภาพยนตร์เกาหลี
นอกจากเนื้อหาของบทที่หลากหลาย และโดนใจคอภาพยนตร์แล้ว ในแง่ของการส่งเสริมตลาด เรื่องนี้บริษัทผู้ผลิตเองให้ความสนับสนุนเต็มที่ โดยจะเห็นได้ว่า เขาไม่เพียงแต่สร้างภาพยนตร์และทำตลาดผ่านภาพยนตร์เท่านั้น หากแต่ดาราแสดงทั้งหลาย ยังมีงานแสดงอื่นๆ ที่หลากหลาย เช่น การสนับสนุนให้ดารานักแสดงเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้า การขยายงานไปสู่เวทีนายแบบนางแบบ และศิลปินนักร้อง ซึ่งถือเป็นสูตรสำเร็จของนักแสดงทั้งหลาย เพราะนอกจากจะนำชื่อเสียงของนักแสดงมากระตุ้นให้คนสนใจภาพยนตร์เรื่องๆ นั้นแล้ว ยังสามารถเปิดการแสดง หรือโชว์ตัวดารา เรียกรายได้เพิ่มได้อีกด้วย
บริษัท เจวายพี เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด บริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์และละครซีรี่ส์จากเกาหลีใต้ และยังเป็นค่ายเพลงของนักร้องนักแสดงชื่อดัง “เรน” บอกว่า การเข้ามาเปิดการแสดงของเรนในเมืองไทย วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2549 นั้น ถือเป็นเส้นทางหนึ่งของการขยายตลาดบันเทิงเกาหลีของบริษัท และก่อนการแสดงคอนเสิร์ต จะมีละครซีรี่ส์ของเรน เรื่อง A love to Kill ซึ่งเรนนำแสดงออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ด้วย และเมื่อเรนมาถึงเมืองไทย ยังมีการเข้าร่วมกิจกรรมกับบริษัทผู้จัดคอนเสิร์ตของไทย รวมทั้งทำกิจกรรมเพื่อสังคม ซึ่งเป็นความประสงค์ของทั้งศิลปินเอง และบริษัทต้นสังกัด
ส่วนบริษัท iHQ, INC. จะร่วมกับ บริษัท โรส วิดีโอผู้ซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์เรื่อง Daisy นำดารานักแสดง พร้อมทั้งผู้กำกับของภาพยนตร์เรื่อง Daisy เข้ามาร่วมโปรโมตภาพยนตร์ในเมืองไทย ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ โดยผู้บริหารของ iHQ, INC. บอกว่า บริษัทยินดีที่จะสนับสนุนด้านการตลาดกับภาพยนตร์ของเขาอย่างเต็มที่ นอกจากการทำตลาดในประเทศเกาหลีเองแล้ว ในตลาดต่างประเทศจะมีการส่งดารานักแสดงและผู้กำกับไปร่วมโปรโมต ส่วนค่าใช้จ่ายในการทำตลาดจะเป็นหน้าที่ของบริษัทผู้ซื้อลิขสิทธิ์ในประเทศนั้นๆ เป็นผู้ดูแล
ความสำเร็จที่งดงามของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลี ไม่ได้จบอยู่เพียงแค่อุตสาหกรรมภาพยนตร์เท่านั้น แต่สิ่งที่พ่วงต่อมากับภาพยนตร์คือวัฒนธรรม การกินอยู่ ข้าวของเครื่องใช้ของเขา ที่กำลังซึมลึกเข้าสู่คนดูทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไทย ที่เปิดรับวัฒนธรรมของประเทศอื่นๆ ด้วยความภาคภูมิใจ จนลืมไปว่าบ้านเมืองตัวเองก็มีวัฒนธรรมที่ดีงามอยู่มากมายที่ต้องเร่งพัฒนาและรักษาไว้ให้คงอยู่ หากรัฐบาลไทยยังนิ่งเฉยกับการเปิดรับอยู่เช่นนี้ เห็นทีไม่เพียงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยที่จะถอยหลังเข้าคลอง แต่วัฒนธรรมไทยของเราก็จะถูกกลืน หรือแปลงร่างเป็นรูปแบบวัฒนธรรมใหม่ๆ ขึ้นมาก็ได้