ไพบูลย์ ปีตะเสน เดี่ยวมือแปล “แดจังกึม”

อดีตนักเรียนทุนเกาหลีที่คลุกคลีกับภาษา วัฒนธรรม เกาหลีมานานนับสิบปี ปัจจุบัน “อาจารย์ไพบูลย์ ปีตะเสน”จัดเป็นนักเชี่ยวชาญเกาหลีชื่อดังของเมืองไทย เพราะนอกจากเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัย โรงเรียนสอนภาษาเกาหลีแล้ว อาจารย์หนุ่มคนนี้ยังได้สวมบท “นักแปลตัวอย่าง” ทำหน้าที่ถ่ายทอดอักษรเกาหลีมาเป็นอักษรไทยได้อย่างลึกซึ้งถึงแก่น โดยเฉพาะผลงานล่าสุด “แดจังกึม” นิยายยอดฮิตติดชาร์ตหนังสือต่อเนื่องหลายสัปดาห์

“เหตุผลหนึ่งที่หันมาจับงานแปลนิยายเพราะอยากให้นักศึกษา คนที่รู้ภาษาเกาหลี เห็นว่างานแปลก็เป็นช่องทางอาชีพหนึ่ง ซึ่งมันมีระเบียบ วิธีการทำ ไม่ใช่อยากทำก็ทำ แต่ต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้อ่าน เลยลงมือทำเพื่อเป็นตุ๊กตาให้นักศึกษาเห็นงานนักแปล ถึงแม้ว่าทำงานประจำอยู่บริษัทยังไม่พร้อมมาก ก็ทำเป็นงานอดิเรก ปีหนึ่งอาจแปล 1 เล่ม อีกทั้งยังสามารถพัฒนาเป็น “อาชีพ” ได้” ไพบูลย์ ปีตะเสน บอกกับ POSITIONING

ในอาชีพ “นักแปล” ตัวอย่างที่ต้องการเป็นแบบให้ลูกศิษย์ ทำให้อาจารย์หนุ่มท่านนี้ทำงานแปลได้หลากหลายแนว ที่โดดเด่นมีผลงานผ่านสายตากันไม่นานมานี้ คงจำกันได้ดีกับ “ซัมซุง” หนังสือแนวฮาวทู ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากคอนักอ่านหนังสือแนววิชาการ

และนวนิยายชื่อดังจากเกาหลี ที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ออกฉายในเมืองไทยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา My wife is boss (เมียผมเป็นยากูซ่า)และ Taegukgi “ นิยาย (Fiction) เล่มแรกที่ผมลงมือแปล คือ เรื่อง My wife is boss ที่ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อ เมียผมเป็นยากูซ่า ในเครือสยามอินเตอร์ บุ๊คส์ จัดเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่เข้ามาเมืองไทย เพราะอ่านแล้วผมรู้สึกสนุก ได้ดูภาพยนตร์ก็สนุก”

จากความสนุกก็กลายเป็น “ความสุข” อีกครั้ง เมื่อค่ายสยามอินเตอร์ บุ๊คส์ ได้มอบภารกิจแปลนิยายย้อนยุค “ แดจังกึม” ซึ่งเป็นผลงานที่เขายอมรับว่าไม่ง่ายเลย เพราะเป็นนวนิยายที่มีภาษาโบราณ และต้องใช้เวลาราว 7-10 วันต่อการแปล 1 เล่ม

“แดจังกึมมีภาษาที่ยาก เพราะเป็นภาษาโบราณ ที่ยากก็คือ มันต้องแปล หาคำโบราณเกาหลีให้เป็นโบราณสไตล์ไทย อย่างคำ ” ครับ” เป็น “ขอรับ” หรือ “ค่ะ” เป็น “เจ้าค่ะ” ให้สอดคล้องกับไทย เล่มแรกใช้เวลาแปลประมาณ 10 วันเพราะต้องใช้เวลาปรับให้เข้ากับสไตล์ แต่มาเล่ม 2-3 ใช้เวลาน้อยลงประมาณ 7 วันต่อเล่ม ซึ่งตอนแรกสำนักพิมพ์กำหนดเวลาให้ประมาณ 10 วันต่อเล่ม แต่เนื่องจาก feedback ดีมาก คนอ่านอยากอ่านเร็วขึ้น จึงจำเป็นต้องเร่งแปลให้เร็วขึ้น”

ช่วงเวลาทำงานนี้แม้ต้องเร่งรีบ และทำงานอย่างหนัก ซึ่งแตกต่างจากการทำงานแปลทั่วไปอย่างสิ้นเชิง เพราะงานเหล่านั้นมักใช้เวลานานนับเดือน “ปกติผมใช้เวลาแปลทั่วไป หากเป็นงานแปลหนังสือแนวฮาวทูใช้เวลา 2 เรื่องต่อเดือน ส่วนนิยายใช้เวลา 1 เดือนต่อ 1 เล่ม แต่สำหรับ “ แดจังกึม” ใช้เวลา 7-10 วัน ซึ่งถือว่าใช้เวลาน้อยมาก ส่วนหนึ่งเพราะผมเคยดูซีรี่ส์ละครมาก่อน และสิ่งทีเดียวที่ทำให้ผมทำงานแปลแดจังกึม 7 วันได้ เพราะ มีความสุขในการทำงาน”

อาจารย์นักแปลเล่าช่วงเวลาทำงานให้ฟังว่า “มักใช้เวลาทำงานในตอนกลางคืน ตลอดทั้งคืน เข้านอนในช่วง 6 โมงเช้า ตื่นนอนราวประมาณเที่ยงตรง พอกินข้าวเสร็จแล้วก็ลงมือทำงานเลย ดังนั้นเวลาทำงานจึงเริ่มตั้งแต่เที่ยงวันยันหกโมงเช้าตลอดสัปดาห์ ส่วนสำคัญที่ไม่ค่อยทำงานแปลกลางวัน เพราะมีสิ่งรบกวน ทั้งโทรศัพท์ ธุระอื่นๆทำให้ไม่ค่อยมีสมาธิแปลเท่ากับการทำงานกลางคืน”

การทำงานครั้งนี้ยังทำให้อาจารย์ได้เรียนรู้วิธีทำงานของนักเขียนเกาหลีชื่อดังแห่งยุคที่ทำงานอย่างทุ่มเทกว่าจะได้ชิ้นงานเอกออกมา “นักเขียนเกาหลีแม้จะเขียนแนว fiction หรือนิยาย เขาจะค้นคว้า ทำการบ้านมาเยอะ “แดจังกึม” เป็นเรื่องราวเด็กผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งกำพร้าพ่อแม่ เกิดในยุคสมัย 500 ปีมา ซึ่งเป็นเกาหลียุคผู้ชายยังเป็นศักดินาใหญ่ ผู้หญิงที่มาจากสกุลทาส ไม่มีสิทธิ์ โอกาสเติบโตเป็นใหญ่ แต่สุดท้ายก็มาเป็นแม่ครัวชาววัง ต่อมาก็เป็นแพทย์ประจำตัวกษัตริย์

อีกทั้งยังสร้างความประทับใจให้เขาไม่น้อย เพราะยังได้ความรู้ในเชิงลึกในเรื่องอาหารและยาของเกาหลีอย่างสนุกสนาน ผ่านการเล่าเรื่องในรูปแบบนวนิยายที่ชวนติดตาม “ตัวอย่าง ตอนอาจารย์นางเอกสอนให้ทำงานให้แดจังกึมโดยใช้ดอกไม้ ซึ่งคนเขียนบรรยายละเอียด สรรพคุณดอกไม้แต่ละดอก รับประทานแล้วทำให้ระบบหายใจดีขึ้นอย่างไร ทำให้ระบบท้องโล่งอย่างไร หรือคนที่ดื่มสุรามาแล้ว ให้ใส่ใบนี้ลงไปซุปน้ำแกง

อีกทั้งยังสอนให้เรื่องการทำอาหารไม่ใช่ทำเพียงเพื่ออร่อยเท่านั้น แต่ต้องดูว่าคนทานรับได้หรือเปล่า บางคนชอบรสเค็ม บางคนชอบรสเปรี้ยว ก็ต้องปรับให้เข้าแต่ละคน หรือแม้กระทั่งตอนท้ายที่นางเอกเป็นหมอ ซึ่งต้องมีการ “แมะ” หรือการจับชีพจร ซึ่งหนังสือเล่มนี้บอกละเอียดว่า มีกี่จุดบ้างในร่างกายคนเรา จุดไหนฝังเข็มได้หรือไม่ หรือถ้าคนป่วยเป็นเด็กจะใช้วิธีการอย่างไรว่าอาจใช้วิธีคู่กับไฟและยา นั่นหมายความว่า ผู้เขียนต้องศึกษามาพอสมควร”

ดังนั้น ในส่วนผู้แปล ก็ต้องทำการบ้านเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องเกร็ดความรู้ วัฒนธรรมเกาหลีดั้งเดิม ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องอธิบายความเสริมลงไปจำนวนมาก ทำให้เขาต้องทำการบ้านเพิ่มมาก เพราะหากไม่ทำการบ้านเพิ่มเติม เรื่องที่แปลซึ่งสนุกอาจออกมาไม่สนุกก็ได้ “ผมก็ต้องไปหาซินแสจีน ซึ่งในเมืองไทยไม่มีหมอเกาหลี ว่าจุดชีพจรแต่ละจุดเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกใจที่เชิงอรรถของนิยายแดจังกึมจึงมีมากถึง 70 เชิงอรรถต่อเล่ม หากรวมทั้ง 4 เล่ม จะมีเชิงอรรถร่วม 200 เชิงอรรถเลยทีเดียว

ไฮไลต์บางเรื่องที่น่าสนใจ ซึ่งเขาได้อธิบายเพิ่มลงไป ซึ่งหากใครที่อ่านหนังสือก็จะได้ความรู้ในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อธรรมเนียมโบราณของชาวเกาหลี

“บางเรื่องคนเกาหลีเข้าใจ แต่คนไทยไม่เข้าใจเช่น การเข้าไปเป็นนางในวังฝ่ายใน ต้องเป็นสาวพรมจรรย์ เพราะถือเป็นผู้หญิงของกษัตริย์ ต้องบริสุทธิ์ ซึ่งเวลาพิสูจน์ว่า เป็นสาวบริสุทธิ์หรือไม่ ต้องใช้เลือดจากปลายเท้านกแก้วมาหยดลงที่มือ ถ้าหากมันคั่งอยู่ที่มือแสดงว่า “สาวพรมจรรย์” โดยมันเป็นความเชื่อเกาหลีว่า เดิมนกแก้วคือ นางฟ้าที่ไปหลงรักแม่ทัพคนหนึ่งแล้วถูกสาป หรือตำแหน่งต่างๆ ในราชสำนัก ซึ่งก็ต้องอธิบายรายละเอียดให้เห็นภาพ”

ดังนั้น หนังสือแดจังกึมจึงแตกต่างไปจากละครทีวี เพราะผู้แปลได้บอกรายละเอียด ทำเป็นเชิงอรรถอธิบายไว้ล่างสุดของหน้า เพื่ออยากเป็นต้นแบบ “มองผิวเผินอาจคิดว่านิยายไม่จำเป็นต้องซีเรียสเชิงอรรถมากมายนัก แต่ในฐานะคนทำงานแปลก็อยากให้ถูกต้อง ครบถ้วนให้กระจ่างที่สุด เพราะผู้อ่านไทยหลายคนไม่ค่อยคุ้นเคยกับเรื่องเกาหลี

เมื่อถามถึงความประทับใจในวรรณกรรมแดจังกึม อาจารย์นักแปลบอกว่า ชอบภาพรวมทั้งหมด เพราะเป็นเรื่องราวชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งกำพร้าพ่อแม่ อาศัยอยู่ชนชั้นต่ำสุดของสังคม แต่ด้วยความมีวิสัยทัศน์ ความมุ่งมั่น และความพยายามหาความรู้จนสามารถก้าวไปสู่จุดสูงสุดของผู้หญิง ซึ่งไม่เคยคิดว่าใครจะทำได้มาก่อน เพราะสมัยก่อนมีกฎระเบียบกีดกันและยากมาก แต่แดจังกึมสามารถทำได้

ที่สำคัญซึ่งผู้เขียนได้บอกไว้ “ความดีให้ตัวคน” บางครั้งเวลาทำความดีแล้วรู้สึกท้อแท้ เพราะถูกกลั่นแกล้ง จากคนไม่ดี ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่ผู้เขียนบอกย้ำเสมอ “มีความสุขกับการทำดี” “สนุกกับการทำดี” ฉะนั้นจึงไม่เบื่อทำความดี เพราะไม่ได้หวังอะไรจากการทำความดี ถึงแม้มีคนไม่หวังดีกลั่นแกล้งก็ไม่ย่อท้อที่อยากจะทำความดีต่อไป

“แดจังกึม เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงๆ ในประวัติศาสตร์เกาหลี เพียงแต่นำใส่สีสัน ถูกกลั่นแกล้งตลอด เวลาทำความดี ซึ่งอาจเป็นพล็อตเรื่องนักเขียนที่จงใจ และเนื้อเรื่องสอนให้ไม่ย่อท้อในการทำความดี ความมุ่งมั่นที่อยากจะเป็นอะไรก็ให้ศึกษาอย่างจริงๆ จังๆ อย่างแดจังกึม ตอนฝึกเป็นหมอก็เอาตัวเองไปทดลองดื่มยา ก่อนที่ให้ยากับคนอื่น โดยทั้งหมดเป็นเรื่องที่คนธรรมดาก็สามารถลงมือทำ และมีความสุขกับมันได้”

ดังนั้น จึง “ไม่แปลก” เลยที่เรื่องราวหญิงสาวคนนี้ “จอมนางแห่งวังหลวง” แดจังกึมจึงเข้าไปนั่งในใจคนดู คนอ่าน แทบทุกวัยอย่างน่าประทับใจ!!!