Seoul Street แมกกาซีนใหม่ สายพันธุ์ กิมจิ

Korea Fever เกาหลีฟีเวอร์ ไม่เพียงแต่ร้อนแรงในซีรี่ส์ละคร หนังใหม่ รวมไปถึงพ็อกเกตบุ๊ก แต่กระแสยังแผ่ซ่านไปยังตลาดแมกกาซีน ซึ่งก่อให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ “Korea Magazine” ในเมืองไทยฉบับแรก โดย “แจ่มใส” ค่ายสำนักพิมพ์ ผู้นำตลาดพ็อกเกตบุ๊กนิยายวัยใส ขวัญใจขาฮิตเกาหลี

“แจ่มใสเป็นผู้นำตลาดพ็อกเกตบุ๊ก และมีฐานคนอ่านจำนวนมาก อีกทั้งกระแสเกาหลียังไม่ถึงจุด peak ยังน่าจะไปได้อีกนาน ดังนั้นแมกกาซีน Soul Street จึงออกมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการได้ไม่ยาก” ศศกร วัฒนาสุทธิวงศ์ บรรณาธิการแมกกาซีนและผู้อำนวยการสายงานธุรกิจสิ่งพิมพ์ แจ่มใส พับลิชชิ่ง จำกัด บอกกับ ทีมงาน POSITIONING

เหตุผลสำคัญที่ทำให้แจ่มใสตัดสินใจออกแมกกาซีนเกาหลีครั้งแรก ศศกรบอกว่า มาจากกระแสเกาหลีในเมืองไทยกำลังได้รับความสนใจ แต่ยังไม่มี content ในสื่อต่างๆ ที่นำเสนอเรื่องราวได้เต็มที่ ตามแมกกาซีน หนังสือพิมพ์ หรือสื่อ ก็เพียงแต่นำเสนอเนื้อหาแทรกไม่กี่หน้า ข้อมูลส่วนมากเอามาจากแหล่งไม่กี่ที่ ทำให้เนื้อหาส่วนใหญ่ไม่แตกต่างกันมากนัก

“สำหรับ Seoul Street ซื้อลิขสิทธิ์ข้อมูลจากแมกกาซีนบันเทิงของเกาหลี ที่ชื่อ interview ซึ่งมีชื่อเสียงมากในตลาด โดดเด่นด้วยเนื้อหาข่าวแวดวงทุกประเภท ภาพยนตร์ ละคร เพลง วงการโฆษณา และใน Seoul street ก็จะนำเนื้อหาบางส่วนแปลจากแมกกาซีนโดยตรง โดยเฉพาะบทสัมภาษณ์ดารา นักร้อง เบื้องหลังการถ่ายทำ ข้อมูลละคร หนังใหม่ และส่วนที่เพิ่มเติมเข้าไปเอง โดยเฉพาะเรื่องวัฒนธรรม ภาษา ดังนั้นเนื้อหาในเล่มนี้ค่อนข้างครบถ้วน แฟนๆ ที่ชื่นชอบเกาหลีจะชื่นชอบ”

Seoul Street เล่มแรกออกวางตลาดวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นฉบับปฐมฤกษ์ ส่วนฉบับต่อไป กำหนดวางแผงประจำทุกวันที่ 28 ของเดือน จุดเด่นของแมกกาซีนอยู่ที่นำเสนอเนื้อหาข่าวคราว ความเคลื่อนไหววงการบันเทิงเกาหลี ในสัดส่วน 60 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือ 40 เปอร์เซ็นต์เนื้อหาส่วนวัฒนธรรม ไลฟ์สไตล์การกิน ท่องเที่ยว แฟชั่น และสอนภาษา รูปอิมพอร์ตโดยตรงมาจากเกาหลี มีจำนวน 208 หน้า ราคาจำหน่าย 100 บาท

บุกเบิก Internet Novel

สำหรับพ็อกเกตบุ๊ก “แจ่มใส” หันมาจับตลาดนิยายแปลเกาหลี “Internet Novel” แนวใหม่แนวแรกของวงการนิยายไทยราวปี 2547 โดยออกผลงานเรื่อง “หนุ่มฮอต สาวเฮี้ยว รักเปรี้ยวอมหวาน” ของนักเขียน “ควียอนี ” นักเขียนมือหนึ่งของเกาหลี ผลงานเธอมักถูกนำไปสร้างเป็นละคร ภาพยนตร์ เช่น Romance of their own, He was cool ซึ่งค่าย Right Beyond ได้ซื้อลิขสิทธิ์เข้ามาแล้ว แต่ยังไม่ได้ฉาย

“เมืองไทยไม่เคยมีนิยายสไตล์นี้มาก่อน การเล่าเรื่องที่ใช้ภาษาพูด มีสัญลักษณ์ที่ใช้ทางอินเทอร์เน็ตใส่เพื่อเพิ่มอารมณ์ความรู้สึกของเรื่องก็เริ่มมีเด็กไทยเขียนเรื่องแนวนี้ในสไตล์ตัวเอง โดยใช้ชื่อตัวละครเกาหลี ญี่ปุ่น หรือไทย เราเห็นว่างานเขียนของเด็กรุ่นใหม่ก็มี “คุณภาพ”

จัดเป็นงานที่ได้รับแรงบันดาลใจครั้งแรกจากเกาหลี แต่ออกมาในรูปนิยายไทย มีสไตล์การเขียนใกล้เคียงกัน แจ่มใส “เห็นโอกาส” จึงได้จับผลงานเหล่านั้นมารวมเล่ม เริ่มแรกใช้ชื่อ “Korean Love Series”จากนั้นเปลี่ยนเป็น Jamsai Love Series รู้จักกันดีเป็นนิยายแนวให้อารมณ์แบบกุ๊กกิ๊ก มีกลุ่มเป้าหมายอ่านเป็นวัยรุ่น

จากนั้น แจ่มใสได้ขยายแนวเพิ่ม มุ่งกลุ่มนักอ่านผู้ใหญ่ที่ชอบดูละคร ภาพยนตร์เกาหลี ตามด้วยการเปิดซีรี่ส์ “Sweet Asian” ซึ่งเป็นนิยายมุ่งจับกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยขึ้นไป จนถึงคนวัยทำงาน

จุดเด่นนิยายเกาหลี ศศกรบอกว่า เป็นงานเขียนที่ทำให้ผู้อ่านสามารถอินกับเนื้อเรื่องได้ดี เช่นกับกับตัวละครที่เกาหลีทำออกมา ซึ่งอาจเป็นผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่มีความรักแบบสาววัยรุ่น ผู้ชายอาจ perfect แต่มาตกหลุมรักผู้หญิงธรรมดา ทำให้คนอ่านสามารถนำตัวเองเข้าไปแทนคาแร็กเตอร์ตัวละคร และสามารถเป็นได้

“โดยเฉพาะการดำเนินเรื่องค่อนข้างรวดเร็วมาก และมีจุดขัดแย้งตลอดให้ความรู้สึกว่าน่าติดตาม บางครั้งก็เดาตอนจบเรื่องไม่ได้ จัดเป็น “เสน่ห์แบบเกาหลี ” ที่ทำให้นิยายถูกใจคนรุ่นใหม่”

ในมุมคนทำหนังสือ ศศกรมองว่า การเข้ามากระแสเกาหลีฟีเวอร์ “กลับบูมอีกครั้ง” ช่วงซีรี่ส์ละคร “Full House” ออกฉายทางช่อง 7 ทำให้ทั้งละครทีวี หนังสือเกื้อกูลกัน รวมไปถึงเพลงเกาหลีก็มาเพิ่มความแรงของกระแสฟีเวอร์มากยิ่งขึ้น”

“แจ่มใสหันมาจับนิยายเกาหลี หลังจากกระแสเกาหลีระลอกแรกเข้าในรูปละครซีรี่ส์ ภาพยนตร์ ทั้ง Autumn in My Heart, Winter Love Song หายไปแล้ว หนังเกาหลี My Sassy Girl ก็ออกจากโรงหนังไปแล้ว ส่วนไอทีวีก็ถอดเอเชี่ยนซีรี่ส์ไปแล้ว ทำให้กระแสเกาหลีช่วงนั้นค่อนข้างเงียบมาก แต่ทีมงานแจ่มใสอ่านแล้วมองว่า “มันไปได้” ก็เลยตัดสินใจทำ

Feedback คนอ่านเวลานั้น จัดว่าขานรับดี โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่อาจเบื่อนิยายไทย ที่ไม่ค่อยมีอะไรแปลกใหม่ อีกทั้งบางเรื่องถูกสร้างเป็นละครซีรี่ส์ ทำให้คนอ่านรู้สึกอยากอ่านและอยากดูยิ่งขึ้น มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างทีมงานสำนักพิมพ์ คนอ่านด้วยกัน จนในเว็บไซต์แจ่มใสและเว็บบอร์ด กลายเป็น community “แฟนเกาหลี” แบบเด่นชัดยิ่งขึ้น

“สำหรับกลุ่มแฟนคลับนิยายเกาหลีส่วนมากเป็นวัยรุ่น ทั้งระดับมัธยมต้น มัธยมปลาย จนถึงวัย 40 -50 ปี และมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ชอบดูซีรี่ส์ละครมาก่อน กับกลุ่มที่ชอบอ่านหนังสือมาก่อน ทำให้ทั้งซีรี่ส์ละคร หรือภาพยนตร์ กับหนังสือมันเสริมซึ่งกันและกัน”

สูตรพิชิตกิมจิ

ด้านการรักษาฐานลูกค้า “แจ่มใส” ใช้การตลาด “จัดอีเวนต์” ปีละ 1 ครั้ง โดยในปีแรกจัดที่สุขุมวิทพลาซ่า แหล่งรวมสินค้า ร้านอาหารเกาหลีที่ใหญ่ที่สุด และเป็นช่วงแรกที่เพิ่งเปิดตลาด จึงอยากรู้ว่า คนอ่านนิยายแปลเกาหลี แนวนี้ เป็นใครบ้าง และปีที่ผ่านมาได้จัดที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ใช้ธีมงานว่า “Jamsai Love Series Party” เชิญนักเขียนเกาหลี “เชยูรี” เจ้าของผลงาน “ข้ามขอบฟ้า มาหาหัวใจ”

ปัจจุบันแจ่มใสได้ผลิตผลงานแปลเกาหลีไปแล้วประมาณ 30 เรื่อง โดย “หนุ่มฮอต สาวเฮี้ยว” เป็นนิยายแปลเกาหลีเรื่องแรก และประสบความสำเร็จมากที่สุดมียอดพิมพ์ร่วม 3 หมื่นเล่ม

สูตรสำเร็จแจ่มใส ไม่ใช่เพียงการทำตลาดแบบโดนใจคนอ่าน แต่ยังมากจาก “กระบวนการคัดเลือกผลงานสไตล์ แจ่มใส” มีทีมงานทั้งคนไทยที่รู้จักภาษาเกาหลีอ่านและแนะนำมา รวมทั้งพันธมิตรที่เกาหลีส่งข้อมูลเรื่องที่น่าสนใจ และทำตรวจเช็กข้อมูลตอบรับต่อเรื่องนั้นที่เกาหลีเป็นอย่างไร ยอดขายเป็นอย่างไร ความคิดเห็นของคนอ่าน จากนั้นก็อ่านเรื่องย่อ หรือปริมาณ 1 ใน 3 ของเรื่องว่า สำนวนดีหรือไม่ น่าติดตามมากน้อยเพียงไร

“บางเรื่อง นักอ่านแนะนำสำนักพิมพ์น่าจะทำ แต่หากทีมงานพิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมคนไทยก็จะไม่ทำ มีเรื่องหนึ่งที่คนอ่านเชียร์มาก แต่ไม่ผ่านเพราะนางเอกของเรื่องตั้งท้องตั้งแต่อายุ 15 ปี เลยต้องพิจารณาให้รอบคอบเหมือนกัน”

อีกส่วนหนึ่งที่แจ่มใสถือว่าเป็นจุดขายสำคัญ ที่จัดเป็นเอกลักษณ์สไตล์แจ่มใสไปแล้วคือ การออกแบบปกการ์ตูน สดใส ซึ่งนิยายเกาหลีส่วนมากมีการออกแบบเกาหลีในสไตล์ที่ใกล้เคียง หรือเหมือนกัน ซึ่งแจ่มใสนำมาใช้เมื่อตีพิมพ์เป็นฉบับภาษาไทย บางเรื่องนำมาทั้งหมด ยกเว้นบางปกไม่ได้ ก็จะให้นักวาดไทยออกแบบทำเอง