สำหรับคนในแวดวงการศึกษาจากเวทีสัมมนาเรื่อง “Digital Content for Educational Purpose” ต่างมองเห็นชัดเจนว่าคนทำงานในแวดวงคอมพิวเตอร์กราฟิก (Computer Graphicหรือ CG) มีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง และหลายสถาบันทั้งรัฐและเอกชนต่างมีหลักสูตร เพื่อผลิตนิสิต นักศึกษาออกมาป้อนตลาด แต่ตลาดในเมืองไทยเองกลับไม่เติบโตเท่าไหร่นัก แม้ว่าอุตสาหกรรมสื่อ ทั้งหนัง ละคร และโฆษณาในยุคนี้ ต่างจำเป็นต้องใช้ CG เข้ามาช่วยเพื่อเพิ่มสิ่งที่ต้องการ หรือลบบางสิ่งออก ยิ่งไปกว่านั้นหากอุตสาหกรรม Animation ในเมืองไทยเติบโต คนที่เชี่ยวชาญ CG จะเป็นพื้นฐานอย่างดีสำหรับ Animator ในฐานะผู้สร้างจินตนาการของมนุษย์ให้เป็นรูปเป็นร่าง
แต่ในวันนี้ความพร้อมและผลผลิตที่เกิดขึ้นจากสถาบันการศึกษาไทยนั้นเป็นอย่างไร
“หลักสูตรจากหลายที่ หลายมหาวิทยาลัย พยายามสร้าง Animator ที่รู้ทั้งการเป็น Artist และ Technician แต่ก็ผลิตได้ยาก เพราะทักษะที่สำคัญคือเรื่องคณิตศาสตร์ ที่ต้องอาศัยการคำนวณ ซึ่งความจริงหาก Animator ไทยสร้างสรรค์งานโดยใช้ซอฟต์แวร์ของต่างประเทศก็สามารถทำได้ แต่ในที่สุดก็ต้องใช้ซอฟต์แวร์ของเขาตลอด อย่างความสำเร็จของหนัง Animation อย่าง Toy Story ก็ใช้ซอฟต์แวร์ของเขาเอง ทำให้ชนะหนังฟอร์มใหญ่ได้ “ศ.ดร.ภาวดี สมภักดี อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็น และยังมีมุมมองว่างาน Animation ยังมีคุณค่าสำหรับงานด้านวิทยาศาสตร์ อย่างทางการแพทย์ ซึ่งผลงานที่สำคัญคือการสร้างภาพกะโหลกศีรษะมนุษย์ การสร้างภาพของเนื้อเยื่อ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการเรียนแพทย์
สิ่งที่ทำให้วงการ Animation ในเมืองไทยยังไม่เติบโตนักเมื่อเทียบกับต่างประเทศนั้น ศ.ดร.ภาวดีบอกว่าปัญหาอยู่ที่การจ้างด้วยเงินเดือนถูก เด็กหลายคนจบปริญญาตรีในเมืองไทยแล้ว เมื่อไปทำงานได้เงินเดือนไม่สูงอยู่ที่หมื่นต้นๆ ได้ระยะหนึ่งก็ไปเรียนต่อ เด็กเก่งหลายคนได้รางวัล เหรียญประกวดเต็มบ้าน แต่ได้เงินเดือนน้อย พอไปเรียนต่างประเทศได้งานที่นั่นแล้วก็ไม่กลับมาเมืองไทย
สอดคล้องกับดร.พิษณุ คนองชัยยศ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในส่วนที่ว่างาน CG นั้นคนที่วาดรูปไม่เป็นก็เข้ามามีส่วนร่วมได้ แต่ Animation ที่ประสบความสำเร็จมักมีการเขียนซอฟต์แวร์ของตัวเองขึ้นมาใช้ เปรียบได้กับช่างแต่งหน้าที่มักต้องคิดค้นพู่กันของตัวเอง ช่างแต่งหน้าที่ดังๆ มักจะมีอุปกรณ์ส่วนตัว เป็นเทคนิคเฉพาะตัว อย่างหนังในฮอลลีวู้ดทุกเรื่องจะมีทฤษฎีใหม่ออกมา อย่างเรื่อง Terminator 3 ที่ทำให้การแสดงเสมือนจริงมาก เรื่อง Monster Inc.โชว์ขน หรือเรื่อง Final Fantasy ที่โชว์ผมสะบัดอยู่บ่อยๆ เป็นความภูมิใจของ Animator ที่สามารถคิดขึ้นได้ จนคนดูหนังเองอาจสงสัยว่าทำไมต้องสะบัดผมอยู่บ่อยๆ แต่ถ้าในวงการจะรู้ว่ามันเป็นความภูมิใจ
คำแนะนำของดร.พิษณุ คือหากใครที่สนใจในด้านนี้ต้องรู้จักคอมพิวเตอร์ทุกอย่างก่อน ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ หากจะว่าไปแล้วเด็กหลายคนที่เข้ามาเรียนในสายคอมพิวเตอร์นี้ เมื่อถามว่าทำไมถึงเลือกเรียน ส่วนใหญ่จะตอบว่าอยากทำเกม เพราะชอบเล่นเกม แต่สุดท้ายจบออกมาทำงานในสายนี้น้อยมาก ส่วนใหญ่ไปศึกษาและทำงานในต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม บทสรุปจากผู้ที่ปูฐานสำหรับ Animator ไทยจากงาน TAM ปีนี้ยังคงมีความหวัง โดย ดร.กมล จิราพงษ์ หัวหน้าภาควิชาดิจิตอลอาร์ตส์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม มองเห็นว่าแม้เด็กไทยจะไปได้ดีในต่างประเทศ และที่ประเทศไทยเองยังอยู่ในจุดเริ่มต้น เพราะต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีเหล่านี้มาจากต่างประเทศ แต่ 3 ปีที่ผ่านมาที่มีงาน TAM ก็แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยน่าจะทำได้ใน scale ที่ใหญ่ขึ้น และอยู่ในระดับเอเชียได้ เพราะอย่างน้อย สิ่งที่นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวไว้ในวันเปิดงาน TAM ปีที่ 3 เมื่อกลางเดือนมกราคม 2549 ว่ารัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีไม่น้อย