“ได้เวลาของการเปลี่ยนแปลง” เป็นคำพูดที่แสดงจุดยืนของอ.ส.ม.ท.ยุคใหม่จากปากของมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ
ในงานแถลงข่าวเปิดตัว “MODERN RADIO” มิ่งขวัญประกาศชี้ย้ำทิศทางเพื่อพัฒนาเป็นโมเดิร์นเรดิโอ ในรูปแบบของ concept station โดยเปิดตัวคลื่น FM 107 The Metropolis โดยชูเอา Retro Station ที่เปิดเฉพาะเพลงยุค 70’s -80’s บวกจุดแข็งของข่าวภาคภาษาอังกฤษจากทั่วโลก โดยมีเป้าเพื่อหวังเป็นคลื่นคนเมือง
ต้องถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของอ.ส.ม.ท. ในการประกาศการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ในวงการวิทยุ เพื่อ synergize สื่อทั้งหมดที่มีอยู่ โดยเฉพาะสำนักข่าวไทย เพื่อก้าวสู่ยุคใหม่ ในการเตรียมสร้างองค์กรมหาชนโดยการเข้าตลาดหลักทรัพย์ เป็นการดึงเอาทรัพยากรที่มีอยู่มาบริหารเองเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด อันเป็นแนวความคิดหลัก
คลื่น 107 F.M. ได้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นเบอร์แรก ใน 7 คลื่นทั้งหมด ที่อยู่ในกรุงเทพ เปลี่ยนคอนเซ็ปท์เป็น “FM 107 METROPOLIS” โดยได้ เบิร์ด กุลพงศ์ บุนนาค อดีตนักร้องชื่อดัง (เบิร์ดกับฮาร์ท) ด้วยประสบการณ์ในฐานะอดีต MD ของบริษัทโซนี่มิวสิค ประเทศไทย เข้ามารับทำหน้าที่บริหารคลื่น ที่เน้นเพลงเฉพาะช่วงยุค 70’s ถึง 80’s
แต่เดิม 107 F.M. เป็นคลื่นเพลงสากล และพูดภาษาอังกฤษมานานแล้ว แต่ห่างหายจากการทำแบรนด์ดิ้งมานาน
“คือว่าถ้าเราคิดจะทำ 107 แบบเดิม เราก็ไม่รู้จะเปลี่ยนไปทำไม จะไปแข่งกับเขาตรงไหน ดังนั้นการวาง position คงอยากวาง positioning ไว้เหมือนกัน แต่โดย segment แล้ว คิดว่าทุกคนวางไว้กว้างเกินไป” กุลพงศ์มองว่าจริงๆแล้ว ยังมี silence majority บางกลุ่มอยู่ที่ตลาดวิทยุโดยทั่วไปเมินอยู่
แต่เดิมการมองตลาดของผู้ฟังเพลงผ่านคลื่นวิทยุโดยส่วนใหญ่ มักค่อนข้างเป็นไปในลักษณะที่เหมือนๆกันในสายตากุลพงศ์ คือ เน้นที่ง่ายๆ ช้าๆ ฟังสบายๆ เพื่อเอาใจกลุ่มผู้กลุ่มใหญ่ไว้ก่อน
การคิดในมุมกลับ เป็นการตั้งคำถามว่า ถ้ามองคลื่นนี้ว่าจะเปิดเพลงให้คนกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีใครเปิด มันน่าจะเป็นกลุ่มไหน
“ก็น่าจะเป็นอายุ 35–45 เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าในปัจจุบันนี้เขาไม่มีเพลงเหล่านั้นฟัง” ความคิดของเขา จึงเป็นการเปิดเพลงฮิตในยุคสมัยนั้นๆของผู้ฟัง (CHR – Contemporary Hit Radio) ก็คือใช้ความเป็น Retro เข้ามา” โดยมองว่ากลุ่มคนอายุ 30-40 ขึ้นไป เป็นกลุ่มที่มี dispose of income สูง คือมีเงินใช้ แม้วัยจะผ่านช่วงการเป็น “trend leader” มาแล้วก็ตาม
การวาง positioning ของคลื่นเกิดใหม่ นอกจากการมองกลุ่มเป้าหมายโดยดู segmentation ของตลาด ว่ายังมีตรงไหนที่ว่างอยู่ บนหน้าปัดคลื่นมีอะไร และสุดท้ายทำแล้วกลุ่มเป้าหมายนี้เขาจะซื้อโฆษณาเราหรือเปล่า
นับเป็นโจทย์สามด้านที่ต้องการวาง “Positioning” ที่ตอบคำถามของ Metropolis Radio ที่ใช้ยืนจุดแข็งด้านข่าวของอ.ส.ม.ท. ที่ไม่มีที่ไหนทำได้ นำเสนอข่าวสารในที่ส่งตรงจาก จาก 6 สำนักข่าวชั้นนำของทั่วโลก คือ CNN (Atlanta) VOA (DC) BBC (London) ABC (Melbourne) NHK (Tokyo) และ TNA (สำนักข่าวไทย กรุงเทพฯ)
“เป็น 15 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นจุดแข็งที่สุดของคลื่น” กุลพงศ์มองว่า ในส่วนของข่าวนั้นเป็นการยากที่คลื่นอื่นจะเลียนแบบ ความสำคัญของเพลงที่อยู่หลังข่าวจึงต้องติด จนให้คนฟังต่อ สำหรับคนที่ต้องการเข้ามาฟังข่าวอย่างเดียว เขาก็จะฟังอย่างอื่นๆ ที่อยู่ในคลื่นด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผังรายการให้ความสำคัญ
นอกจากนั้นในแง่ของ secondary target ที่ถือว่าเป็นผลพลอยได้ของคลื่น ก็ได้คนรุ่นใหม่ที่ต้องการฟังและหัดในแง่ภาษา โดยมีเพลงที่เพราะเป็นจุดขาย “เพราะเพลงเหล่านี้เป็นอมตะ แก่ขนาดไหน เด็กขนาดไหน ฟังเมื่อไหร่ก็เพราะ”
“ถ้าเรามองดีๆ ณ วันนี้ ในโลกมีคนเอาเพลงเก่าๆกลับมาทำเยอะ บีจีส์ ก็มีออสก้าร์ เดอลาฮัวย่า มีบอยโซนเอามาร้อง มีเยอะที่เอามาทำใหม่ ร้องใหม่” ที่เน้นเอาใจตลาดคนรุ่นใหม่
โดยทั่วไป ลักษณะของคลื่นจึงเป็นคลื่นแนว AC (adult contemporary) อย่าง 89 หรือ 106.5 กรีนเวฟหรือซอฟต์ เน้นเพลงเก่าๆ ฮิตๆ สำหรับวัยทำงาน
“หลักง่ายๆแค่นั้นเอง ก็คือ เปิดแล้วต้องคุ้นหู ต้องรู้จัก” กุลพงศ์กล่าวถึงวิธีการเลือกเพลง
“แต่ถ้าเปิดแล้วไม่ได้คุ้นหู ไม่ได้ชอบมาก ภายใน 2 เพลงมันต้องมีเพลงที่ขับรถไปร้องไปได้เลยด้วย แต่ถ้าเปิดแล้วร้องได้ทุกเพลง แสดงว่าคุณจับกลุ่มเล็กเกินไปแล้วหละ แต่มันต้องรู้จักทุกเพลงนะ ไม่ใช่ว่าเปิดมาแล้วงงว่าเพลงอะไร เราอยู่ในยุคนั้นไม่เห็นจะได้ยินเลย”
โดยรวมแล้ว playlist ในคลื่นนี้ ยังจะต้องหา common theme อยู่บ้าง “ถ้าเล่นแต่เพลงร็อค คนที่ไม่ได้ฟังร็อคในสมัยนั้น เขาก็ไม่ชอบ มันต้องทำให้เขารู้สึกพอดีๆ ฟังได้ แต่มีเพลงอื่นที่ชอบบ้าง อย่างโดยรวมใน Playlist มีเพลงในยุค 60’s เข้าไปใส่บ้างประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่จริงๆมันมีเพลง 60 เพราะๆมากแต่ไม่อยากให้ดูแก่ไป” เลยเลือกที่จะนำเสนอ 70-80งห มากกว่า หรืออาจจะเป็นการรวมยุคในช่วงสุดสัปดาห์ที่มี theme พิเศษ กับ weekend special
ในแง่ความรู้สึกของคนฟังกับความรู้สึกแบบ Retro “อย่างแรกคนที่ได้ฟังจะรู้สึกดีใจที่ ไม่ได้ฟังมาตั้งนาน ไม่เห็นมีใครเล่นให้ฟังเลย หรือรู้สึกว่าความหลังมันจะกลับมา…เป็นธรรมชาติของคนที่มีอายุแล้ว ดูอย่างพวกเราเองก็ได้ ฟังเพลงบางเพลงจะถึงนึกสถานที่ ว่าสมัยก่อนทำอะไร ทำงานกับใคร มีแฟนคนไหน ไปเที่ยวสนุกที่ไหน”
F.M. 107 นับว่าเป็นคลื่นวิทยุที่มีระดับเป็นสินค้าไฮเอนต์ เป็น position ตั้งแต่ B+ ขึ้นไป รวมถึงมี Target Segment ที่ชัด เน้นเป็น Concept Station เพื่อให้สามารถสร้างเป็นคอมมูนิตี้แบบใหม่ผ่านทางวิทยุ เริ่มเปิดให้ฟังกันเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา เป็นเบอร์แรกที่จะตามมาอีก 60 คลื่นของอ.ส.ม.ท. เมื่อรวมกับต่างจังหวัด