ถ้าไม่ใช่โชคชะตา หรือฟ้าลิขิต น่าจะเป็นดีเอ็นเอจากพ่อ (จิมมี่ หว่อง) ซึ่งทำให้หญิงสาวคนนี้…จอย หว่อง ทายาทคนสำคัญของ Family Tattoo เมืองไทย เดินอยู่สายอาชีพศิลปะรอยสัก และมีบทบาทสำคัญให้วงการ Tattoo ไทย ต้อง ตื่นตะลึง!!
ร้านเล็กๆ ไม่กี่ตารางเมตร ในซอยสุขุมวิท 5 มีป้ายภาษาอังกฤษ JOY WONG TATTOO & BODY PIERCING ที่นี่เอง เป็นเสมือนห้องทำงาน ซึ่งค่อยๆสร้างชื่อเสียงให้เธอเป็นที่รู้จักในวงการศิลปะะการสัก โดยได้รับการยอมรับว่าเป็น “คลื่นลูกใหม่แห่ง Tattoo” ในเมืองไทย
หากไม่มีภารกิจ ทุกๆ วัน ตั้งแต่สามสี่โมงเย็นเป็นต้นไป เธอจะมานั่งทำงาน สักให้ลูกค้าที่นัดหมายไว้กับเธอ
ชื่อของ จอย หว่อง เริ่มเป็นที่สนใจและเป็นที่รู้จักของมวลชนมากขึ้น โดยเฉพาะบทบาทในการทำหน้าที่จัดงาน “มหกรรมศิลปะรอยสักนานาชาติ” ครั้งที่ 1 นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และเป็นงานระดับ Festival ระดับโลก ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10-12 กุมภาพันธ์ 2549 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านการสักจากทั่วโลกมาร่วมงาน
ในวงการศิลปะบนเนื้อคน ชื่อของจอย หว่อง ไม่ใช่เป็นคนแปลกหน้าเลย แม้เธอจะมีอายุเพียง 24 ปี แต่เกือบทุกคนในวงการต่างรู้จักเธอดีว่า เป็นทายาทคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 4 คนของจิมมี่ หว่อง ผู้บุกเบิกการสักด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยเจ้าแรกของเมืองไทย
ที่มากไปกว่านั้นคือ ตระกูลหว่อง ซึ่งประกอบไปด้วย พ่อ และลูกๆ 4 คนนั้น ประกอบอาชีพด้านการสักทั้งหมด จึงได้รับการกล่าวขานว่า เป็นหนึ่งในสอง Family Tattoo ของโลก ซึ่งมีครอบครัว Philip Leu ของสวิตเซอร์แลนด์ อีกหนึ่งตระกูลที่คนในครอบครัวประกอบอาชีพการสักทั้งหมด
ชีวิตของจอย เติบโตขึ้นในห้องเช่าแถวประตูน้ำ บ้านหลังเล็กๆ เกือบ 20 ปีที่แล้ว ที่นั่นเอง ได้บ่มเพาะความเป็นนักศิลปะด้านการสักแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว
จอย เล่าว่า เกือบทุกวันที่เธอต้องนอนอยู่ข้างเครื่องสัก เห็นพ่อทำงาน ได้ยินเสียงเครื่อง ได้สูดกลิ่นสี ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นความเคยชิน ซึ่งแทรกซึมเข้าไปสู่ความเป็นตัวตนของเธอ
“ครั้งหนึ่ง พ่อไม่อยู่ ห้องเช่าที่บ้านเงียบกริบ จอยนอนไม่หลับ ไม่ได้ยินเครื่องสักทำงาน รู้สึกเหมือนว่าชีวิตขาดบางอย่างไป จอยรู้ดีว่าตั้งแต่วันนั้น วัฒนธรรมการสักแทรกเข้าไปในสายเลือดของเธออย่างเต็มตัวแล้ว”
ชีวิตวัยเด็กของจอย ไม่โสภาสถาพรมากนัก ครอบครัวของเธอก็เหมือนครอบครัวสู้ชีวิตอื่นๆ ที่ดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ และดูจะลำบากยากเย็น เมื่อการทำอาชีพรับจ้างสักในช่วงสิบปีก่อนไม่ได้การยอมรับในสังคม เป็นอาชีพสีเทาๆ ซึ่งถูกมองว่า เป็นศิลปะแบบนอกรีต
ภาพลักษณ์เทาๆ ของการทำอาชีพนี้ ไม่ได้ทำให้พ่อของเธอหมดกำลังใจ แต่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้พ่อของเธอทุ่มเทและฝันว่าอยากจะสร้างความสำเร็จในอาชีพนี้ให้ได้ในวันข้างหน้า
แรงฝันจากพ่อ เริ่มฉายความหวังมาสู่ที่ตัวเธอ วันหนึ่งตอนอายุ 11 ปี พ่อได้พาจอยและพี่ชายเดินทางไปร่วมงานประกวด Tattoo ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่นั่นเอง ได้เกิดแรงบันดาลใจบางอย่างงอกเงยขึ้นโดยไม่รู้ตัว มีหนังสือเล่มหนึ่งมาสัมภาษณ์พ่อ และมีคำพูดหนึ่งในบทสัมภาษณ์ ได้เอ่ยขึ้นว่า “ลูกสาวคนนี้ก็สักเป็น”
คำพูดเปรียบเหมือนแรงยุ สื่อที่งานวันนั้นเริ่มสนใจ จอยยอมรับว่าครั้งนั้นสักไม่เป็นเลย พ่อไม่เคยสอน แค่เห็นเป็นกิจวัตรประจำวัน แต่สัญชาตญาณบางอย่างบอกให้เธอกล้าที่จะหยิบเครื่องสักออกมาสร้างจินตนาการของเธอ
เธอจำได้ว่า ได้สักลายไทย ลายกนก และพยัญชนะไทย ให้ฝรั่งที่นั่นดู ตามประสาเด็กในวัยสิบกว่าขวบ และเธอได้รับรางวัล “คลื่นลูกใหม่” สำหรับนักสักมือใหม่
รางวัล กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เธอสนใจและฝึกฝนในศิลปะด้านนี้เพิ่มขึ้น เหมือนน้ำที่ไหลลงสู่ลำธาร ทุกๆ วันที่เธอไปเรียน บางวันเธอขออนุญาตครูประจำชั้นกลับบ้านก่อนเวลา เพื่อมาทำงานด้านสัก
ไม่แปลกที่จอยบอกว่าเป็นสิ่งแรกในชีวิตที่เธอทำได้ และสร้างความภูมิใจให้เธอมากที่สุด ก็คือ การสร้างรอยสักนั่นเอง
นับจากวันนั้นถึงวันนี้สิบกว่าปีของการทำงานอยู่บนเนื้อคน เธอสักให้บุคลลที่มีชื่อเสียงมากมาย โดยเฉพาะศิลปินนักร้องดัง ไบโอนี่, ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล, ญา ญ่า ญิ๋ง รวมทั้งกลุ่มไฮโซดังๆ ในเมืองไทยหลายคน
งานสัก เป็นงานศิลปะ ต้องสร้างอารมณ์ มีความละเมียด ใช้สมาธิสูง จอยเล่าว่า ครั้งหนึ่งเคยถูกว่าจ้างให้สักติดต่อกัน 3 วัน ได้รับค่าตอบแทนสูงถึงหลักล้านบาท
แต่สิ่งที่เธอภาคภูมิใจที่สุดในวันนี้ คือ การผลักดันให้เกิดงาน “มหกรรมศิลปะรอยสักนานาชาติ” ครั้งที่ 1
ใช่, งานนี้ยิ่งใหญ่ระดับประเทศ จึงไม่ใช่เรื่อง่ายเลยกับการสร้าง และผลักดันให้เกิดขึ้น ส่วนสำคัญที่เกิดแรง คือ สายป่านของพ่อกับมืออาชีพในต่างประเทศ ซึ่งสั่งสมไว้ในอดีต ทำให้ TATTOO CONVENTION เกิดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ระดับโลก
เธอบอกว่าเป็นงานที่หนักหนาสาหัสที่สุด และภาคภูมิใจที่สุดเท่าที่ชีวิตเคยทำมา โดยหวังว่าอยากให้วงการสักได้ยกมาตรฐานสู่ความเป็นสากล มีการจัดระเบียบธุรกิจการประกอบอาชีพสักให้มีมาตรฐาน มีจรรยาบรรณการสักที่ถูกต้อง และที่สำคัญ ธุรกิจประเภทนี้จะ “ออกดอกออกผล” ให้เป็นประเทศไทยเป็นศูนย์กลางแฟชั่นการสักลายของเอเชีย
ความท้าทาย สำหรับบทบาทผู้ก่อตั้งมหกรรมศิลปะรอยสักนานาชาติ ยังเพิ่งเริ่มต้น จอยทิ้งท้ายว่า งานเลี้ยงแม้จะมีวันเลิกรา แต่รับรองไม่มีครั้งเดียวแล้วจบ ยังต้องมีครั้งสองสามและสี่ไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดมาตรฐานและได้รับการยอมรับต่อไป
Profile
Name : น.ส.รุ่งวิภา แซ่ออง หรือ จอย หว่อง
Age : 24 ปี
Educations : มัธยม โรงเรียนวัฒนศิลป์
Career Highlights : เจ้าของร้าน JOY WONG TATTOO & BODY PIERCING สุขุมวิท ซอย 5
Family : ครอบครัว หว่อง มีพี่น้อง 4 คน พี่สาวคนโต ชื่อ จู หว่อง เปิดร้าน TATTOO 29 พล่าซ่า อยู่ตรงข้ามมาบุญครอง พี่ชายคนรองชื่อ จุ๊กกู หว่อง เปิดร้าน TATTOO อยู่แถวประตูน้ำ พี่คนที่สาม แจ็ค หว่อง เปิดร้านอยู่ชั้น 7 มาบุญครอง