ถึงคราว “มะลิ” แบรนด์ไทยที่ประสบความสำเร็จในตลาดนมข้นหวาน นมยูเอชทีมานานกว่า 40 ปี ต้อง “ผนึกกำลัง” ร่วมกับพันธมิตรต่างชาติอีกครั้ง (ครั้งแรกกับออสเตรเลีย) คือ คัมพินา ซึ่งเป็นบริษัทในรูปแบบสหกรณ์นมจากเนเธอร์แลนด์ ดีลนี้ถูกจัดอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางแขกกว่า 50 คน ในบ่าย วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา โรงแรม อินเตอร์คอนติเนนตัล
การร่วมทุนของมะลิและคัมพินาครั้งนี้ เป็นการต่อยอดความร่วมมือที่เคยมีมาในอดีตให้กว้างออกไปอีก หลังจากคัมพินาเคยจ้างให้อุตสาหกรรมนมไทยผลิตนมยูเอชที อลาสก้า มาก่อนที่จะประกาศเป็นพันธมิตร จัดตั้งบริษัทใหม่ล่าสุด ทีดีไอ คัมพินา จำกัด ขึ้นมา ใช้เม็ดเงินลงทุนกว่า 500 ล้านบาท ในสัดส่วน 50:50
มะลิมีจุดแข็งในแง่ความพร้อมโรงงานผลิตและวัตถุดิบ แต่ยังขาดเทคโนโลยี ในขณะที่คัมพินากลับโดดเด่นในเรื่องเทคโนโลยีการผลิตนม ความรู้ และประสบการณ์ ที่ก้าวหน้า แต่ยังขาดความแข็งแกร่งในการผลิตและฐานลูกค้า ดีลนี้จึงเป็น การปิดจุดอ่อนและเสริมจุดแข็งของกันและกัน ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าที่จะลดลง
พินิจ พัวพันธ์ กรรมการ บริษัทอุตสาหกรรมนมไทย บอกว่า อุปสรรคสำคัญที่กำลังเผชิญอยู่เวลานี้ คือ ต้นทุนการผลิตที่สูง เนื่องจากต้องนำเข้านมผงเพิ่มสูงขึ้นเป็น 2,500 เหรียญสหรัฐต่อตัน จากเดิม 1,400 เหรียญสหรัฐต่อตันเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา
การร่วมมือกับคัมพินาจากเนเธอแลนด์ ซึ่งได้ชื่อว่ามีเทคโนโลยีและโนว์ฮาวขึ้นสูงในเรื่องการผลิตนม การยืดอายุนม และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ จะช่วยให้ต้นทุนการผลิตลดลง และช่วยแข่งขันทั้งในตลาดภายในและต่างประเทศได้
ต่อจากนี้ ทีดีไอ คัมพินา จะเป็นฐานผลิตนมยูเอชที และนมพลาสเจอร์ไรส์ โดยผลิตภัณฑ์นมยูเอชทีที่เคยผลิตในนามบริษัท อุตสาหกรรมนมไทยจะย้ายมาผลิตที่บริษัทร่วมทุนนี้ มีกำลังการผลิตที่วางไว้ประมาณ 131 ล้านลิตรต่อปี ป้อนตลาดทั้งในประเทศเป็นส่วนใหญ่ และที่เหลือส่งออกไปในแถบอินโดจีน
“เมื่อต้นทุนผลิตต่ำลง ขีดความสามารถที่จะแข่งขันกับคู่แข่งในประเทศก็เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบที่เห็นได้ชัดในระยะสั้น ส่วนเป้าหมายภายใน 2 ปี กลุ่มบริษัทจะก้าวขึ้นเป็นอันดับสองของตลาดแทนที่เนสท์เล่” จัสเตนัส แซนเดอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ค่าย คัมพินา อินเตอร์เนชั่นแนล บอกถึงเป้าหมาย
Did you know
คนไทยมีอัตราการบริโภคนมเพียง 20 ลิตรต่อคนต่อปีเท่านั้นซึ่งถือว่ายังต่ำอยู่ ขณะที่ประเทศสิงคโปร์มีการบริโภค 58 ลิตรต่อคนต่อปี ส่วนยุโรป 140 ลิตรต่อคนต่อปี ทำให้ตลาดยังมีการขยายตัวได้อีกมาก