เปิดเส้นทาง “สิงคโปร์” บุกไทย

เส้นทางการเดินทางของทุน “สิงคโปร์” เข้ามายังประเทศไทย ไม่เพียงเพราะความแข็งแกร่งของความเป็นชาติสิงคโปร์เท่านั้น หากแต่เพราะได้พันธมิตรที่ดีอย่าง “ไทย” ร่วมมืออย่างเต็มที่ ผนวกกับความจำเป็นของระบบเศรษฐกิจไทยในบางช่วงบางตอนของประวัติศาสตร์ไทย ส่งผลให้สิงคโปร์กระจายตัวอยู่ในหลายอุตสาหกรรมไทยปัจจุบัน

41 ปีแห่งความหลัง

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสิงคโปร์หากนับตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2508 ที่มีการสถาปนาทางการทูตระหว่างประเทศ ขณะนี้นับเป็นเวลานาน 41 ปี ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศบันทึกไว้ว่าปัจจุบันไทย-สิงคโปร์ มีความร่วมมือทางด้านต่าง ๆ จนพัฒนาไปเป็นลักษณะ “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” หรือ Strategic Partner ในการดำเนินการเชิงรุกในภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ เช่น การเร่งรัดรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนตามแนวทาง 2+X และความร่วมมือเพื่อลดช่องว่างทางการพัฒนาแก่ประเทศสมาชิกใหม่อาเซียน (กัมพูชา ลาว เวียดนามและพม่า)

สำหรับจุดแข็งไทยและสิงคโปร์ต่างมีศักยภาพที่เอื้อประโยชน์ต่อกันเป็นอย่างดี โดยไทยมีทรัพยากรธรรมชาติ มีแรงงานจำนวนมากและมีพื้นที่กว้างใหญ่ ส่วนสิงคโปร์ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติและพื้นที่น้อย แต่มีความก้าวหน้าทางด้านทรัพยากรมนุษย์ เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมระดับสูง เมื่อมีการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน จึงได้มีการนำจุดแข็งของทั้งสองประเทศมาใช้ร่วมกัน

ลงขันชินคอร์ป 2532

เมื่อต่างฝ่ายต่างเปิดกว้างการลงทุน ไทยจึงเป็นที่สนใจสำหรับนักลงทุนสิงคโปร์ หลายอุตสาหกรรมเริ่มมีหุ้นส่วนเป็นบริษัทจากสิงคโปร์ ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี และเงินทุนอย่างกลุ่มบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (หรือในอดีตใช้ชื่อบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด) ที่มีกลุ่มบริษัทสิงคโปร์เทเลคอม จำกัด เข้ามาถือหุ้นเพื่อให้บริการสื่อสารข้อมูล ในปี 2532 ในช่วงที่รัฐวิสาหกิจไทย อย่างองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย หรือทีโอทีในปัจจุบันหาช่องว่างทางกฎหมายเปิดสัมปทานให้เอกชนเข้ามาลงทุนธุรกิจสื่อสาร

หรือหลังเกิดวิกฤตทางการเมืองในช่วงพฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ที่มีกองทุน GIC (Government of Singapore Investment Corp.) เข้ามาถือหุ้นในช่วงปี 2538 ในยุคที่นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเวลาที่เศรษฐกิจไทยกำลังเติบโตอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ขยายเพดานหุ้นต่างชาติลงทุนแบงก์ไทย

กระทั่งในช่วงเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจในปี 2540 รัฐบาลไทยต้องประกาศใช้นโยบายค่าเงินบาทลอยตัวเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ยิ่งเป็นโอกาสให้ทุนจากสิงคโปร์เข้ามาได้มากขึ้น เพราะความจำเป็นของระบบเศรษฐกิจไทยเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มธนาคาร ที่ขาดความน่าเชื่อถือ ต้องเร่งเพิ่มทุน แต่งตัวใหม่ด้วยการหาพันธมิตรร่วมทุน กระทั่งต้องมีคำสั่งขยายเพดานเพิ่มสัดส่วนหุ้นต่างชาติในธนาคารไทยได้ ตามฎหมายการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505

หลายธนาคารจึงปรากฏให้เห็นอย่างปัจจุบันที่กลายเป็นธนาคารลูกครึ่ง ที่ค่อนไปทางเชื้อสายสิงคโปร์มากกว่า อย่างธนาคารยูโอบี ที่เข้าไปเทกโอเวอร์ธนาคารเอเชีย ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ ที่ต่อมาได้ควบรวมกิจการกับธนาคารทหารไทย และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือไอเอฟซีที

STEER เปิดทาง 5 สาขาธุรกิจ

ความร่วมมือระหว่างไทยกับสิงคโปร์ยังได้จัดตั้งรูปแบบเพื่อยืนยันถึงความสัมพันธ์ร่วมกันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2545 เรียกว่า Singapore-Thailand Enhanced Economic Relations (STEER) ผลักดันความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในอุตสาหกรรม 5 สาขา ตาม ได้แก่ การเกษตรและอาหาร การท่องเที่ยว การบริการทางการเงิน อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนประกอบยานยนต์และการขนส่ง โดยสิงคโปร์เป็นเจ้าภาพจัดประชุมครั้งแรกเมื่อปี 2546

การประชุมครั้งที่ 2 ไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 22-23 พฤศจิกายน 2548 มีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายไทย ส่วนหันหน้าคณะฝ่ายสิงคโปร์คือ นาย Lim Hng Kiang รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรม และเห็นชอบร่วมกันในการเพิ่มปริมาณการค้า การลงทุนระหว่างกัน รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวจากประเทศที่สามโดยเฉพาะจากจีน เป็น 2 เท่าของตัวเลขในปัจจุบันภายในปี 2553 หรือมีจำนวน ล้านคนและส่งเสริมความร่วมมือด้านสินค้าอาหารและเกษตร การขนส่งและลอจิสติกส์ และอสังหาริมทรัพย์

รูปธรรมความร่วมมือทางธุรกิจระหว่าง ไทย-สิงคโปร์ เป็นผลพวงที่เกิดขึ้นจากการประชุม STEER ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ก็คือ การที่บริษัท TCC LAND ของเจ้าสัว “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ได้เปิดทางให้บริษัทแคปปิตอลแลนด์ บริษัทในเครือเทมาเส็กเป็นของรัฐบาลสิงคโปร์ เข้ามาเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ จัดตั้งบริษัทร่วมทุน ที.ซี.ซี. แคปปิตอลแลนด์ ถือหุ้นด้วยสัดส่วน ไทย-สิงคโปร์ 60/40 ร่วมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในไทย

นอกจากนี้จากข้อมูลของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ยังระบุถึงความร่วมมือด้วยว่า ทั้งสองประเทศมีแผนงานยุทธศาสตร์เพื่อยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Strategic Roadmap for Enhanced Economic Partnership) ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในสาขาต่างๆ เพื่อเป็นพื้นฐานการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันในอนาคต โดยเพิ่มมูลค่าการลงทุนจาก 600 ล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน เป็น 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2553

บทสรุปความร่วมมือระหว่างไทย-สิงคโปร์ จากการประชุม STEER ครั้งที่ 2

-สาขาสินค้าเกษตรและอาหาร ขยายการร่วมทุน (Joint Venture) ในสาขาสินค้าเกษตรและอาหารที่มีศักยภาพไปยังตลาดประเทศที่สาม

-ด้านพลังงาน ศึกษาความร่วมมือในการพัฒนาเชื้อเพลิง Bio Fuel

-การท่องเที่ยว ร่วมส่งเสริมการท่องเที่ยวรูปแบบ Two Countries, One Destination และศึกษาความเป็นไปได้ของ Single Visa เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางให้แก่นักท่องเที่ยวจากประเทศที่สามที่ต้องการเดินทางมาท่องเที่ยวทั้งในไทยและสิงคโปร์ สามารถยื่นขอวีซ่าได้ ณ สถานทูตไทยหรือสิงคโปร์ในต่างประเทศที่ใดที่หนึ่งได้

-ความร่วมมือด้านวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม ร่วมกันสร้างหุ้นส่วนทางธุรกิจเพื่อก้าวไปสู่การทำการค้าในระดับสากลในสาขาสำคัญ ได้แก่ อาหารและภัตตาคาร สปาและผลิตภัณฑ์สปา การซ่อมบำรุงและรักษายานยนต์ ธุรกิจเสริมสวยและสุขภาพ น้ำมันและก๊าซ เป็นต้น

-ด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) การส่งเสริมการค้าและการลงทุนไปยังประเทศที่สาม

-ลอจิสติกส์และการขนส่งทางอากาศ และการขนส่งทางน้ำ โดยร่วมจัดตั้งคณะทำงานเพื่อส่งเสริมการร่วมทุนและพัฒนาเครือข่ายลอจิสติกส์และโซ่อุปทาน (Supply Chain) เช่น ศูนย์กระจายสินค้า การส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยเรือเดินสมุทรในเส้นทางไทยกับสิงคโปร์ ส่งเสริมให้มีการร่วมทุนให้บริการลอจิสติกส์ในต่างประเทศที่ไทยและสิงคโปร์มีความสนใจ เช่น จีน เวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชา เป็นต้น และดึงสถาบันการศึกษาร่วมศึกษาวิจัยระบบลอจิสติกส์

-การศึกษา มีแผนงานเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยแลกเปลี่ยนคณาจารย์ นักวิจัย และนิสิตนักศึกษาของทั้งสองประเทศ

-ตลาดทุน ร่วมมือในการผลักดันซื้อขายอนุพันธ์ระหว่างกัน และสนับสนุนการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กับ Temasek Holding ของสิงคโปร์ร่วมทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในลักษณะที่เป็นเครือข่ายวิสาหกิจ (Cluster)

-เครือข่ายวิสาหกิจพิเศษ (Special Development Cluster) ไทยกับสิงคโปร์จะอำนวยความสะดวกให้มีการร่วมทุนระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในบางพื้นที่ที่เป็นเขตพิเศษ (Special Zones) หรือ Development Cluster เช่นงานวิจัยและพัฒนา

-รับทราบความร่วมมือกลุ่มบริษัทอมตะที่ลงนาม MOU กับSingapore Ascendas เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมทุนจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ (Science Park) ในเขตพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกด้วย