ท่ามกลางบรรยากาศจอแจในงานอีเวนต์เปิดตัวสินค้า บรรดาสื่อมวลชนและแขกเหรื่อเพลินกับการจับกลุ่มคุยและค็อกเทล แต่แล้วทุกคนก็ถูกปลุกให้ไปรวมความสนใจกันที่เวทีเมื่อมีเสียงพิธีกร “สวัสดีครับ เอ้า! คนไหนหน้าตาดี ส่งเสียงกันหน่อย!” จากนั้นโฟกัสก็มุ่งไปที่เวทีด้วยสาระทางการตลาดและมุกฮาตลอดรายการ ด้วยดีเจรายการวิทยุชื่อดังจากฮอตเวฟที่ชื่อ “พีเค” ปิยะวัฒน์ เข็มเพชร
“มุกตลกจะช่วยให้แขกในงานสนใจเวทีและสิ่งที่เราถ่ายทอดมากขึ้น ถ้าเริ่มด้วย…สวัสดีครับ ผมพีเค มันก็จืด เรียกความสนใจคนได้ไม่เท่าไร” พิธีกรอีเวนต์ที่งานชุกที่สุดคนหนึ่งในไทยบอกเหตุผลที่ต้องมีลูกเล่นลูกฮาอยู่เสมอในทุกงานที่รับ
“ผมรักงานพิธีกรอีเวนต์ มันเป็นงานสำคัญ เพราะเงินหลายล้านของเจ้าของสินค้า การเตรียมงานเป็นเดือน ทีมงานเป็นร้อย ทุกอย่างจะมารวมกันโชว์ในช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมง และเราคือคนที่ต้องเอาทุกส่วนมาดำเนินรายการ” ปิยะวัฒน์เอ่ยอย่างภาคภูมิใจในงาน
“ก่อนจะพูดอะไรให้คนอื่นเชื่อ เราเองต้องเชื่อตามนั้นก่อน” เหนือกว่ามุกตลกใดๆ เคล็ดลับสำคัญเมื่อรับงานทุกครั้งคือ ปิยะวัฒน์จะขอข้อมูลต่างๆ จากเจ้าของสินค้าให้มากที่สุด และถ้าเป็นไปได้ก็ขอตัวอย่างสินค้ามาใช้เองระยะหนึ่ง เช่น สบู่ ซึ่งไม่ว่าโดยส่วนตัวเขาเองจะชอบหรือไม่ชอบ แต่ก็จะได้รู้ถึงจุดเด่น บุคลิกลักษณะเฉพาะของสินค้าหรือบริการตัวนั้นๆ สามารถถ่ายทอดออกมาอย่างเข้าใจด้วยตัวเอง ไม่ใช่เพียงท่องบท
“เรื่องผิดพลาดเป็นของธรรมดา ไม่ว่าจากพิธีกรเองอ่านยี่ห้อสินค้าผิด ไปอ่านของคู่แข่งผมก็เคยแล้ว หรืองานเบื้องหลัง คิวไฟผิด เป็นไปได้ทุกอย่าง” ปิยะวัฒน์ยอมรับถึงบทเรียนที่เคยผ่านมา พร้อมย้ำเทคนิคแก้ไขว่า “สิ่งสำคัญเมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องเนียน อย่าไปทำให้กลายเป็นเรื่องตลก ต้องทำให้คนดูไม่รู้ สังเกตไม่ออกว่ามีอะไรผิดพลาดเลยต่างหาก”
ลูกเล่นลูกฮาที่ดูเหมือนคิดสดๆ ได้ตลอดเวลานั้น ปิยะวัฒน์รวบรวมสั่งสมมาเป็นเวลานานจากนิสัยที่ชอบดูทีวีมาตั้งแต่ใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐฯ 17 ปีมาจนทุกวันนี้ในไทยก็ยังเก็บรวบรวมข้อมูลจากตัวอย่างพิธีกรหรือดีเจรุ่นพี่ๆ หลากหลาย รวมถึงแหล่งมุกตลกต่างๆ อยู่เสมอ
“ผมอยู่อเมริกา เรียนไปด้วยทำงานหาเงินใช้เองไปด้วยตั้งแต่เด็กจนโต ทำงานที่ Wendy’s Hamburger ตั้งแต่อายุ 11 เป็นร้านของเพื่อนพ่อ จนถึงอายุ 18 ก็ได้เป็นผู้จัดการร้าน” ปิยะวัฒน์เป็นคนไทยที่ไปใช้ชีวิตที่สหรัฐฯ ตั้งแต่ยังเด็กจนถึงเรียนจบปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจแล้วทำงานด้าน Computer Network ที่สหรัฐฯ อยู่ระยะหนึ่ง ก่อนจะลาออกกลับไทยเพื่อตามหาฝันที่จะได้ทำงานเพลงออกอัลบั้มบนการคัดค้านของพ่อแม่
“รักกันให้ดีนะ ให้นานนะ อยู่กันดีดี” เพลงดังแนว R&B ของวง Zane ในเครือแกรมมี่เมื่อสองปีก่อน เป็นอัลบั้มที่ปิยะวัฒน์ภูมิใจในฐานะสมาชิกของวงและได้ร่วมร้องด้วย “ก่อนจะได้ออกอัลบั้มชุดนี้ ผมกับเพื่อนๆ ส่งเดโมไปหลายค่ายมาก ถูกทิ้งลงตะกร้าไปหลายครั้งหลายแห่งกว่าจะได้ออก”
ในระหว่างช่วงที่เขายื่นตัวอย่างเพลงเดโมให้กับแกรมมี่ มีรุ่นพี่ที่รู้จักกันตั้งแต่ที่สหรัฐฯ ทำงานอยู่ในนั้น เห็นแววเสียงสำเนียงการพูดที่สนุกสนานทั้งสองภาษาไทยอังกฤษ แม้งานเพลงจะยังไม่ได้ออกก็น่าจะเป็นดีเจได้ จึงชวนให้ลองจัดรายการตัวอย่างลงเทปเอาไว้ และไปฝึกภาษาไทยมาให้ดีเสียก่อน ซึ่งปิยะวัฒน์เองก็ต้องเรียนและฝึกภาษาไทยอยู่ถึงหนึ่งปีก่อนที่แกรมมี่จะรับเข้ามาเป็นดีเจ
ก่อนจะได้จัดรายการทางวิทยุ เอไทม์เป็นบริษัทที่จัดอีเวนต์บ่อยครั้ง ปิยะวัฒน์จึงได้เริ่มต้นงานพิธีกรอีเวนต์จากจุดนั้น ไม่ว่าจะงานโปรโมตรายการตามที่ต่างๆ จนถึงงานใหญ่ๆ อย่างคอนเสิร์ตที่มีคนดูนับหมื่นๆ ซึ่งเขาย้อนเล่าอย่างภูมิใจว่า “คอนเสิร์ตเป็นงานที่ทำให้ผมมั่นใจขึ้นมาก งานที่ภูมิใจที่สุดช่วงนั้นคืองานคอนเสิร์ตไทยเกาหลี ต้องจัดรายการสองภาษา มีคนสำคัญมากมาย คนดูเยอะ เวทีใหญ่ ผ่านงานระดับนี้มาได้ทำให้เราไม่กลัวอะไรอีก”
ในเมื่อรายการวิทยุมีสปอนเซอร์มาก ก็ต้องมีการลงเสียงอ่านสปอตวิทยุ เมื่อลูกค้าเจ้าของสินค้าพอใจในงานอ่านสปอตของปิยะวัฒน์ ก็เริ่มมีการติดต่อโดยตรงให้รับงานอีเวนต์ทางการตลาด ปากต่อปากร่ำลือกันถึงลีลาพูดจาสนุกสนานกันต่อๆ ไปทำงานงานมากมายเข้ามาไม่หยุดหย่อน
มารยาทสำคัญอย่างหนึ่งที่ปิยะวัฒน์ยึดถือ คือหากรับงานของสินค้าใดบ่อยๆ แล้ว ก็จะไม่รับงานของแบรนด์คู่แข่ง เพื่อแสดงความจริงใจและเคารพต่อเจ้าของสินค้าที่ไว้ใจเขามาเป็นระยะเวลายาวนาน
ตลอด 4 ปีที่รับงานมา ปิยะวัฒน์มองงานอีเวนต์ปัจจุบันว่าพัฒนาจากแรกที่เขาเห็นมากในเรื่องของเวที ฉากหลังไม่มีม่านหรือฉากแข็งๆ นิ่งๆ อีกต่อไป แต่เป็นแสงสีเร้าใจ จอแอลซีดีเป็นสิบๆ จอ จะเป็นพิธีกรหรือแขกในงานสมัยนี้ก็ตื่นตาตื่นเต้นกับงานกว่าสมัย 4-5 ปีก่อนอย่างมาก
จุดแข็งของความเป็น “พีเค” ที่ปิยะวัฒน์มั่นใจคือความสนุกสนานจาก “มุกฮามุกเหน็บมุกแซว” ที่ขำและไม่หยาบ กับความสามารถในการดำเนินรายการสองภาษาไทยอังกฤษได้อย่างรื่นไหล เขาเองยอมรับว่าทุกวันนี้ผู้จ้างมักจะให้เขาจัดแต่งานที่ออกโทนวัยรุ่นหรือหนุ่มสาว แต่เขาเองยังคงศึกษาไม่หยุดหย่อนจากรุ่นใหญ่ๆ เพื่อจะก้าวขึ้นไปรับงานผู้ใหญ่ๆ หรือที่เป็นทางการมากๆ ต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้
Profile
Name :ปิยะวัฒน์ เข็มเพชร
Age :33 ปี
Education :ปริญญาตรี BBA International Business มหาวิทยาลัย Hofstra, นิวยอร์ก
Career Hilights
– ผู้จัดการร้านฟาสต์ฟู้ด Wendy’s ที่ New York, สหรัฐฯ
– Network Consultant ธนาคาร State Bank of Long Island ที่ New York, สหรัฐฯ
– ดีเจคลื่นต่างๆ ของ A-time ในเครือ GMM Grammy ล่าสุด Hotwave
– พิธีกรรายการทีวีในเครือ GMM Media
– พิธีกรงานอีเวนต์ทั้งของเครือ A-time และภายนอกหลากหลายแบรนด์และประเภทสินค้า